ส่องความท้าทาย แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

ส่องความท้าทาย แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

ภาคเอกชนและเครือข่ายประชาสังคม ร่วมเวทีเสวนา “แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน แผนที่ 2: ความท้าทายข้างหน้า” หลายองค์กรชี้ กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเครือข่ายยังไม่เพียงพอ เตรียมเร่งถกต่อเพื่อเสนอปรับแผน 2 ก่อนประกาศใช้ในปี 2566

22 ส.ค. 2565 –  แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคธุรกิจจัดทำแผนนี้ขึ้น เพื่อเป็นข้อปฏิบัติว่า ภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่ไม่ว่าจะดำเนินการลงทุนหรือการทำธุรกิจอะไรก็ตาม ต้องอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิมนุษยชน และภาคประสังคมสามารถเข้าถึงการชดเชยเยียวยาจากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจได้ โดยแผนแรกประกาศใช้ตังแต่วันที่ 29 ต.ค. 2562-2565 และขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการทำแผนฉบับที่ 2

เสวนาออนไลน์ เรื่อง “แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แผนที่ 2: “ความท้าทายข้างหน้า” จึงถูกจัดขึ้น เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2565 โดยชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากการลงทุนทางธุรกิจ ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch) และ องค์กรด้านสิทธิระหว่างประเทศ อาทิ Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA) International Commission of Jurists (ICJ) United Nations Development Programme (UNDP) และ European Union (EU)  เพื่อหารือเกี่ยวกับ แผน NAP ถึงจุดอ่อนหรือช่องว่างของแผน เพื่อเสนอคำแนะนำในการปรับปรุง

เครือข่ายภาคประชาสังคมจากทั่วประเทศได้ร่วมประชุมหารือกันถึงเนื้อหาของแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา ใน 5 หัวข้อสำคัญ คือ ภาพรวม การบังคับใช้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน,แรงงาน, สิ่งแวดล้อมฯ, นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการลงทุนข้ามพรมแดนและบรรษัทข้ามชาติ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอ เตรียมเสนอต่อกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการร่างแผน NAP ฉบับที่ 2  ซึ่งมีแผนบังคับใช้ในปี 2566 – 2570 

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการ ภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐ หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ รวมทั้งตัวแทนน่วยงานของสหประชาชาติ ร่วมให้ข้อเสนอแนะด้วย

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ให้ความเห็นต่อ แผน NAP ฉบับที่ 1 ประเด็น การมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ว่ายังอ่อนแอในการทำงานร่วมกัน เนื่องจากแต่ละหน่วยงานดังกล่าวยังตีความคำว่า “การมีส่วนร่วม” แตกต่างกันชัดเจน ทว่า การเปิดให้มีส่วนร่วมมีมากขึ้น การเรียกร้องมีมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

ดร. อมรา จึงเสนอ ว่าควรมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบสักหน่วยงาน จัดให้มีการอบรม เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นวางแผน ขั้นดำเนินการเดิน ขั้นติดตาม และประเมินผล ทั้งนี้ควรจัดการให้กว้างขวางขึ้น ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่มากขึ้น 

และยังวิจารณ์ถึงตัวชี้วัด ทั้ง  NAP แผนที่ 1 และ 2 ว่าเป็นตัวชี้วัดเชิงปริมาณมากเกินไปต้องการให้มีตัวชี้วัดเชิงกระบวนการการมีส่วนร่วม และมีตัวชี้วัดเชิง out come เพราะที่ผ่านมามีตัวชี้เชิง out put เป็นส่วนใหญ่ 

ดร.เสรี นนทสูติ กรรมการอิสระในคณะกรรมการกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ดร.เสรี นนทสูติ กรรมการอิสระในคณะกรรมการกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights – CESCR ของ UN กล่าวว่า สถานะของ NAP ประเทศไทยทำได้ดีมากในแง่ของการใช้ NAP เป็นแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคาดหวังร่วมกันของเครือข่าย แต่ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมเข้าไปมากกว่านี้ อีกทั้ง NAP ยังมีปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้คน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมาทบทวนกันอีกครั้ง 

“ผมคิดว่าเราลืมพูดไปเรื่องหนึ่ง คือ ต้นตอของปัญหาการคุ้มครองสิทธิของมนุษย์ เนื่องจากเมื่อไหร่ก็ตามที่มีกลุ่มคนจะออกมาคุ้มครองสิทธิของตัวเอง ทางรัฐกลับใช้เครื่องมือฟ้องปิดปากของพวกเขา โดยใช้ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานหมิ่นประมาท(มาตรา 326) ผมคิดว่าตรงนี้เราควรมาทบทวนกันใหม่” ดร.เสรี กล่าว 

ดร.เสรี ระบุเพิ่มเติมว่าเครื่องมือที่จะเข้ามาสร้างกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องนี้ได้ คือ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าโทษทางอาญาเป็นเรื่องล้าสมัยมาก และนอกจากนี้ยังมี พ.ร.บ.หลักเกณฑ์จัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายด้วย ดังนั้น เราอาจจะต้องใช้เครื่องมือทั้งสองอย่างที่ว่า มาประเมินผลสัมฤทธิ์ของประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยโทษอาญาของข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้ขจัดที่ต้นต่อของปัญหาได้

ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) ซึ่งมาจากสมาคมภาคองค์กรธุรกิจทุกขนาดจากหลายภาคอุตสาหกรรมกว่า 100 องค์กร ระบุว่า ที่ผ่านมาได้พยายามขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ต้น จนตอนนี้นำไปสู่การจัดตั้งสถาบันอบรมว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และในฐานะภาคธุรกิจขอย้ำว่าภาคธุรกิจเองมีความตั้งใจจริงในการที่ทำงานสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน แต่ยอมรับว่าอาจจะยังไม่สามารถดำเนินให้เป็นไปตามความคาดหวังของ หลาย ๆ ภาคส่วนได้ ทั้งภาคสังคม นักลงทุน ลูกค้า เพราะภาคธุรกิจยังต้องดำเนินบนกติและกฎเกณฑ์จำนวนมากของเรื่องธุรกิจเอง 

ดร.เนติธร กล่าวว่า ภาคธุรกิจยังขาดการติดอาวุธด้านความรู้หรือแหล่งข้อมูลเพียงพอว่าในการจะดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน จำเป็นต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง ถือเป็นช่องว่าง ที่ต้องช่วยกันเติมเต็ม เพื่อให้ภาคธุรกิจทำงานอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยคาดหวังว่าภาคประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะสะท้อนมุมมอง หรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้รับรู้รับทราบ

ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานบริหารมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานบริหารมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้ข้อมูล ขณะนี้ NAP แผนที่ 1 ยังไม่มีการประเมินจากการประกาศใช้เลย แต่ NAP แผนที่ 2 ก็เข้ามาแล้ว ปัญหาคือ ความเห็นของภาคประชาสังคมทั้งแผน 1-2 มันมีความใกล้เคียงกัน นั่นสะท้อนถึงการปฏิบัติที่ไม่ต่างกัน เราจึงจำเป็นต้องมีการนำเสนอเรื่องนี้ต่อไป 

ส.รัตนมณี ระบุอีกว่า ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในวงเสวนาวันนี้ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เรื่องเหล่านี้ยังเป็นปัญหาและไม่มีการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงออกมา เพราะไม่มีการสร้างบรรทัดฐานที่ชัดเจนและถูกต้อง เนื่องจากแต่ละภาคส่วนให้การนิยามของการมีส่วนร่วมต่างกัน 

คลิก : รับชมการเสวนา แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน แผนที่ 2: “ความท้าทายข้างหน้า” ย้อนหลัง

ความเป็นมาของแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

แผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) เกิดขึ้นจากความริเริ่มของรัฐบาลที่ตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ที่สืบเนื่องมาจากการประกอบธุรกิจ รัฐบาลจึงมีความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเชื่อมโยง นโยบาย กฎหมาย กฎ ระเบียบและมาตรการต่างๆ ในประเทศ พันธกรณีระหว่างประเทศ กับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจ กับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ทั้งในมิติการกำหนด หน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองประชาชน (Protect) ในการกำหนดความคาดหวังต่อภาคธุรกิจให้ประกอบธุรกิจด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชน (Respect) และกำหนดหน้าที่ของภาครัฐและภาคธุรกิจในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ด้านสิทธิมนุษยชนจากการประกอบธุรกิจ (Remedy) ซึ่งเป็นสามหลักการสำคัญตามกรอบแนวทางหลักการ UNGPs

โดยมีกระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้เริ่มดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ นี้มาตั้งแต่ปี 2559 ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อเป็นเป้าหมายปฏิบัติงานให้กับภาคธุรกิจส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันทำงานบนพื้นฐานป้องกัน บรรเทา แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการเข้าถึงการชดเชยเยียวยาจากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

อย่างไรก็ตาม NAP แผนที่ 1 ซึ่งประกาศใช้โดยมติคณะรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้มีสถานะเป็นกฎหมายหรือข้อบังคับที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า บทบัญญัตินั้นยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะบังคับใช้ทางกฎหมาย ประกอบกับเสียงส่วนใหญ่ยังคงวิพากษ์วิจารณ์ว่า NAP แผนที่ 1 ไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนและยังขาดความเป็นรูปธรรม ทำให้ NAP แผนที่ 2 เปิดตัวออกมาเพื่อรับการวิพากษ์ และรับฟังความเห็นจากประชาชน ผ่านทางเว็บไซต์ ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

อ้างอิง http://reg3.diw.go.th/policy/wp-content/uploads/2020/01/download.pdf
 

NAP

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ