ทุกๆ ปี มีประชากรในอินเดียมากกว่า 6 แสนคนที่เสียชีวิตเนื่องจากมลภาวะทางอากาศ
สาเหตุดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ คุณภาพอากาศได้เสื่อมโทรมลงไปมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกขึ้นในหมู่ประชาชน จากรายงานของทีมข่าวเอเชีย คอลลิ่ง หลายคนเชื่อว่า ตอนนี้กรุงนิวเดลีตามทันกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีนแล้วกับการเป็นเมืองที่มีมลพิษสูงสุดในโลก ติดตามรายงานจากทีมข่าวของเราในกรุงนิวเดลี
ที่ร้านขายของชำเล็กๆ ของเขาในชานเมืองเดลี ซาร์ฟาราซ อาห์หมัด วัย 55 ปีทำให้ร่างกายอบอุ่นด้วยชาร้อนถ้วยหนึ่งทสำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืดอย่างเขา ฤดูหนาวคือช่วงเวลาที่ยากลำบากในเวลานี้ของปี ควันและหมอกหนาถือเป็นเรื่องธรรมดาในเดลี มันรบกวนการจราจรทางอากาศและการเดินรถไฟให้ยุ่งยากไปหมด แต่ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดคือ สุขภาพของประชาชนอย่าง เช่นซาร์ฟาราซ เขาบอกกับทีมข่าวว่า “ที่นี่มันสกปรกมาก แม้กระทั่งจะหายใจคุณยังทำไม่ได้เลย มันมักจะมีกลิ่นเหม็นสุดๆ อยู่ในอากาศ และผมรู้สึกอึดอัดหายใจไม่ออก ผมเหนื่อยและอ่อนแอมาก หลายครั้งที่แม้แต่ยาก็ช่วยไม่ได้ เราไม่มีทางเลือก ก็ได้แต่อยู่ในเดลีต่อไป แม้ว่ามันจะไม่มีสถานที่ที่เหมาะจะใช้ชีวิตอยู่อีกต่อไปก็ตาม”
หลายคนที่อาศัยอยู่ภายในและรอบๆ เมืองหลวงแห่งนี้ มีความเห็นคล้ายกันกับกับ ซาร์ฟาราซ ระดับมลภาวะทางอากาศในเมืองที่เพิ่มขึ้นกำลังสร้างค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลขึ้นในระบบสาธารณสุข แอล เอ็น ดาร์ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ในเดลีให้ข้อมูลว่า โรคทางเดินหายใจ ได้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นปรากฏการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและส่งผลกระทบต่อคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก ที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่า สถิติด้านมลภาวะทางอากาศของเดลีนั้นชวนให้สิ้นหวังอยู่เสมอ แต่จากข้อมูลของดัชนีสิ่งแวดล้อมในปีนี้ นิวเดลีอาจขึ้งแซงหน้ากรุงปักกิ่งในการเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก นักสิ่งแวดล้อมอย่าง วิเวก วาทูปาดิเยย์ จากศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม กลับไม่รู้สึกประหลาดใจนัก เขาบอกว่า “ถ้าคุณดูกระแสต่างๆ ในระยะยาว จะเห็นว่า จีนมีการปก้ไขสถานการณ์ได้ดีอย่างดี เพราะข้อมูลด้านมลภาวะทางอากาศเท่าที่หาได้ในกรุงปักกิ่งเปิดเผยว่า สารพิษ พีเอ็ม–10 ลดลงไป 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ว่าที่ใดก็ตามในเดลี มันกลับเพิ่มขึ้นด้วยจำนวนเดียวกันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องจริงที่เราควรเอาใจใส่ในความพยายามลดระดับมลพิษลง และถึงจะไม่เปรียบเทียบ แต่เราก็ไม่ควรปฏิเสธว่า ระดับมลภาวะของเราสูงเกินไป และเราต้องยอมรับมัน”
เชื่อกันว่า การขนส่งเป็นต้นเหตุใหญ่ที่สุดเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศในเดลี มียานพาหนะมากกว่า 8 ล้านคันอยู่บนท้องถนนในเดลี และมียานพาหนะใหม่ๆเพิ่มขึ้นมากกว่าพันคันในทุกๆ วัน
เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว นิวเดลี เปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด บรรดารถเมล์ รถสามล้อ และแท็กซี่ ต่างก็เปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติอัด หรือซีเอ็นจีภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนคนขับรถสามล้ออย่าง อาร์เอส ยาดาฟ ได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพอากาศในเมืองนี้อย่างเป็นรูปธรรม “มันเคยมีควันหนาและฝุ่นจำนวนมากจนทำให้เดินทางลำบาก เราเคยแสบตาอยู่เสมอ แต่ก๊าซซีเอ็นจีได้เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ไปทั้งหมด มันช่วยลดปัญหาได้อย่างดีเยี่ยม” ยาดาฟกล่าว แต่มันก็อยู่ได้ไม่นานนัก วิเวก จากศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าประโยชน์จาก ซีเอ็นจี ถูกยกเลิกไป เนื่องจากการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากของยานพาหนะ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้น้ำมันดีเซล
เขาให้ข้อมูลเพิ่มว่ามลภาวะนี้อาจเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งได้ และเป็นอันตรายพอๆ กับบุหรี่ ถ้าดูตัวเลขการเติบโต ราวร้อยละ 50ของยานพาหนะใหม่ที่เพิ่มขึ้นในการจราจรของเดลี ต่างก็ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง เทียบกับเมื่อสิบปีก่อนที่มีเพียงแค่ ร้อยละ 2 เท่านั้นทนิวเดลี ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดอย่างทันที ต่อการเกิดขึ้นของสิ่งที่เขาอธิบายว่าเป็นหายนะทางสิ่งแวดล้อม
วิเวก กล่าวทิ้งท้ายว่า
“เราจะต้องพัฒนาการขนส่งและจัดเตรียมการเดินทางที่เชื่อมต่อกันได้ เรายังจำเป็นต้องควบคุมจำนวนยานพาหนะและมีมาตรการที่เกี่ยวข้องอย่าง ค่าจอดรถ ภาษีการจราจรในช่วงเร่งด่วน อย่างที่ทำในปักกิ่งและสิงคโปร์ ดังนั้น ในทางหนึ่ง เราจัดหาระบบขนส่งสาธารณะ และอีกทางหนึ่ง เรายังทำให้ผู้คนเคลื่อนที่กันไปได้ และสิ่งที่สำคัญคือเราจำเป็นต้องส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและการที่จะทำสิ่งนี้ได้ เราต้องเลิกใช้พลังงานสกปรกไปซะ”
เอเชีย คอลลิ่ง รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย