5 แอปฯ โหลดเลย แจ้งเตือน-แจ้งเหตุ รับมือน้ำท่วม

5 แอปฯ โหลดเลย แจ้งเตือน-แจ้งเหตุ รับมือน้ำท่วม

วิเคราะห์ได้เองไม่รอแล้วนะ ล่วงหน้ากับ 5 แอปพลิเคชันเตือนภัย ที่ช่วยบอกได้ว่า #มีฝนจะไหม?

จากสถานการณ์ “น้ำท่วม” ที่เกิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดคือ พายุดีเปรสชัน “มู่หลาน” ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือ เพื่อเป็นการป้องกันภัยให้ทันท่วงที องศาเหนือชวนคนเหนือและคนไทย ติดตามสถานการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ด้วย “แอปฯ เตือนภัยน้ำท่วม”

1. DPM REPORTER เตือนสาธารณภัยทุกรูปแบบ

แอปพลิเคชัน DPM REPORTER ถูกจัดทำและพัฒนาโดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบการแจ้งเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น อันจะนำไปสู่การมีศักยภาพในการรู้รับ ปรับตัว และฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งแอพฯ นี้จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ภัยไปยังประชาชนผ่านระบบ Smart Phone ในลักษณะ Private และ Public Channels มีการพัฒนาให้แอปฯ สามารถรับส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้ใช้งานกับแอดมินรวดเร็ว ทันเวลามากขึ้น 

“DPM REPORTER” มีฟังก์ชันต่างๆ คือ 

– ฟังก์ชันข่าวสาธารณภัย : รายงานสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ในรูปแบบภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ และรายละเอียดของภัยต่างๆ 

– ฟังก์ชันแจ้งเตือนสาธารณภัย : รวบรวมข่าวแจ้งเตือนภัยทุกประเภท และข้อมูลสรุปสาธารณภัยประจำวัน

– ฟังก์ชันรายงานข่าว : โดยเปิดให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมเป็นผู้รายงานสถานการณ์ภัยด้วยตนเอง

– ฟังก์ชันแผนที่ข่าว : แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าทั่วประเทศ

– ฟังก์ชันสถิติสาธารณภัย : รวบรวมการเกิดสาธารณภัยครอบคลุมตั้งแต่รายปี รายเดือน รายสัปดาห์ และรายวัน

2. NDWC เตือนภัยน้ำท่วม ดินถล่ม แผ่นดินไหว

แอปพลิเคชัน NDWC จัดทำและพัฒนาโดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลเตือนภัยพิบัติทุกรูปแบบ เช่น น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว ฯลฯ

โดยมีการรวบรวมข้อมูลภัยพิบัติจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ และยังเป็นช่องทางในการรายงานสถานการณ์สดในทุกพื้นที่ โดยใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีในการแจ้งเตือน

แต่ทั้งนี้ ผู้ที่จะส่งภาพหรือข้อมูลเพื่อเตือนภัยเข้าสู่แอปพลิเคชันเตือนภัยพิบัตินั้น จะต้องลงทะเบียน และผ่านการตรวจสอบจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ  เพื่อป้องกันข้อมูลไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อน ก่อนจะส่งข้อมูลแจ้งเตือนไปยังหอกระจายข่าว เว็บไซต์ เครือข่ายภาคประชาชน และสมาร์ทโฟน เพื่อให้รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ 

3. SWOC WL ตรวจวัดระดับน้ำ เฝ้าระวังภัยน้ำ

แอปพลิเคชัน SWOC WL จัดทำและพัฒนาโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถตรวจวัดระดับน้ำได้ด้วยตนเอง ด้วยการสแกน AR MARKER แล้ววัดระดับน้ำในบริเวณที่สนใจ แอพฯ นี้ใช้การประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ การติดตาม พยากรณ์สถานการณ์น้ำ การจัดสรรน้ำ การเฝ้าระวังเพื่อการเตือนภัยน้ำท่วม เป็นต้น

ระบบจะประมวลผลและส่งผลการประเมินพร้อมข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ เช่น สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน แนวโน้มของระดับน้ำในลำน้ำ กลับไปให้ผู้ใช้งานแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และเชื่อถือได้ โดยกรมชลประทานจัดทำจุดบริการ SWOC WL ทั้งสิ้นประมาณ 150-300 จุด  และในอนาคตจะขยายจุดตรวจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้ครอบคลุมลำน้ำต่างๆ ทั่วประเทศทั้ง 935 จุด

ประชาชนทั่วประเทศสามารถตรวจวัดระดับน้ำ ณ จุดต่างๆ ของลำน้ำที่ตนเองสนใจได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งได้รับข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของลำน้ำนั้นๆ จากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) เพิ่มเติมด้วย ระหว่างนี้มีการพัฒนาแอพฯ ให้มีฟีเจอร์ในการประมวลผล และรายงานแนวโน้มของสถานการณ์น้ำในลำน้ำที่ตรวจวัดให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันทราบ รวมถึงสามารถติดตามสถานการณ์น้ำของลำน้ำต่างๆ ทั่วประเทศได้อีกด้วย ซึ่งระบบ SWOC WL คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. 2564

4. ThaiWater เช็คสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ

แอปพลิเคชัน ThaiWater จัดทำและพัฒนาโดยคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้สำหรับติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศของประเทศไทย โดยต่อยอดมาจากโครงการระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย ในพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลเรื่องน้ำและอากาศได้ง่ายขึ้น ผ่านทางสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต

สำหรับฟีเจอร์ต่างๆ ที่น่าสนใจของแอปฯ นี้ ได้แก่ ข้อมูลสรุปภาพรวมเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและอากาศ ทั้งสถานการณ์พายุ ปริมาณฝนตก 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ระดับน้ำในลุ่มน้ำ ปริมาณน้ำในเขื่อน และคาดการณ์ฝนและคลื่นในอ่าวไทยล่วงหน้า 3 วัน

ฟีเจอร์เมนู “ฝน” : แสดงข้อมูลปริมาณน้ำฝนว่าแต่ละพื้นที่ของประเทศมีปริมาณฝนตกมากน้อยเพียงใด สามารถดูภาพรวมฝนตกทั่วประเทศในรูปแผนที่ได้

ฟีเจอร์เมนู “ระดับน้ำ” : แสดงข้อมูลของระดับน้ำที่สถานีวัดต่างๆ เมื่อกดเข้าไปดูข้อมูลของสถานีนั้น จะมีกราฟแสดงปริมาณน้ำย้อนหลัง 3 วัน และ 24 ชั่วโมง โดยกราฟจะแสดงข้อมูลระดับท้องน้ำและระดับตลิ่ง

ฟีเจอร์เมนู “เขื่อน” : แสดงข้อมูลเขื่อนต่างๆ ทั่วไทย ใช้ดูข้อมูลความจุอ่าง น้ำกักเก็บ น้ำไหลลง น้ำระบาย ของแต่ละเขื่อนได้

5. Water4Thai แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำรายวัน 

แอปพลิเคชัน Water4Thai จัดทำและพัฒนาโดยสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ(สบอช.) โดยข้อมูลภายในแอปพลิเคชันจะนำข้อมูลมาจาก สบอช. ทั้งหมด ซึ่งจะมีข้อมูลเรียลไทม์เรื่องของรายงานการเกิดฝนฟ้าคะนองในแต่ละจังหวัด รวมไปถึงสถานการณ์น้ำรายวัน สภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน ระดับน้ำในลำน้ำทั่วประเทศ ระดับน้ำในคลองของกทม.

อีกทั้งยังมีกล้อง CCTV คอยรายงานสภาพลุ่มน้ำสายต่างๆ รายงานปริมาณอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งว่ามีปริมาณน้ำกักเก็บไว้เท่าไหร่ และยังบอกเวลาน้ำทะเลหนุน ได้อีกด้วย 

ร่วมติดตาม และรายงานสถานการณ์ #สถานการณน้ำภาคเหนือ2565 App csitereport

ชวนพี่น้องทุกภาค ถ่ายภาพ วีดีโอ พร้อมเขียนแคปชั่น ระบุวัน เวลา สถานที่ รายงานเหตุการณ์น้ำท่วมหรือเฝ้าระวังในพื้นที่ของท่าน จากอิทธิพล #พายุมู่หลาน และจุดประสานความช่วยเหลือ ปักหมุดรายงานผ่าน แอพพลิเคชัน C-Site เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วมกับ Thai PBS https://www.csitereport.com/dashboard.

จุดไหนสถานการณ์น่าเป็นห่วง ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน สามารถแจ้งข่าวสารได้ทาง แฟนเพจ #องศาเหนือ หรือทางแฟนเพจ นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS)

อ้างอิง : 

facebook.com/NationalDisasterWarningCenter

thaihealth.or.th

autoinfo.co.th

eworldmag.com/swoc-wl-application

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ