ภาษาแม่ : สร้างเยาวชนต้นกล้า นำพาสู่ปฏิรูปการศึกษาไทย

ภาษาแม่ : สร้างเยาวชนต้นกล้า นำพาสู่ปฏิรูปการศึกษาไทย

เครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมืองร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมความคิดเห็น ผลักดันการใช้ภาษาแม่ในการเรียนการสอน สู่นโยบายระดับกฎหมาย เพื่อรองรับและสนับสนุน แนวคิดดังกล่าว 

เมื่อวันที่ 21และ 22 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาชุมชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้จัดเวทีสมัชชาเครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ  “ภาษาแม่ : ประตูสู่ความสำเร็จของการจัดการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง และการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่สู่การปฏิรูปการศึกษาไทย” ร่วมกันระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายเพื่อเสนอต่อ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับเรื่องไปดำเนินการ ทางเครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมืองจะมีการติดตามกันต่อไป  เพื่อผลักดันสู่ระดับนโยบายในการออกกฎหมายรองรับและสนับสนุนแนวคิดการใช้ภาษาแม่  เป็นการศึกษาทางเลือกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง ที่มีเด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 13 ชนเผ่า

ที่ผ่านมาเด็กและเยาวชนชนเผ่ามีการคลุกคลีอยู่กับภาษาถิ่นของตัวเองมาตั้งแต่เกิด เมื่อต้องเข้ามาเรียนในระบบการศึกษาไทย ที่เน้นการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาไทยเป็นหลักทันทีนั้น ก็พบปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างครูและนักเรียนที่มีชาติพันธุ์ต่างกัน การอธิบายเนื้อหาทำได้ยาก ทำให้เด็กอาจไม่เห็นผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร

ทางโรงเรียนห้วยหาน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย จึงนำภาษาไทยและภาษาม้ง มาช่วยในการเรียนการสอน ผ่านครูที่เป็นชนเผ่าม้งเช่นเดียวกัน โดยจะนำครูชาติพันธุ์ม้ง ไปอบรมการผลิตสื่อสำหรับเด็ก และเข้าสู่กระบวนการเตรียมความพร้อมของครูในด้านต่างๆ แล้วมาทำหน้าที่แปลเนื้อหาภาษาไทยให้เด็กเข้าใจ นอกจากนี้ยังมีการสอนภาษาม้งควบคู่กับภาษาไทย เป็นการอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเองไม่ให้สูญหายไปอีกด้วย จากการที่โรงเรียนห้วยหาน ใช้ภาษาม้ง เข้ามาประยุกต์กับการเรียนการสอน ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้านคุณภาพของเด็ก

นายปริญญา สาระคนธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยหาน บอกว่า ทางโรงเรียนเข้าสู่โรงเรียนทวิภาษา หรือการนำภาษาแม่มาใช้ในการเรียนการสอนของเด็กคู่ไปกับภาษาไทยมา 5 ปี ทำให้เด็กชาติพันธุ์ในโรงเรียนห้วยหาน มีการเข้าใจและคิดวิเคราะห์เนื้อหาที่เรียนได้ดีขึ้น กล้าคิดกล้าแสดงออกมาขึ้น พูดภาษาของตัวเองและพูดภาษาไทยคล่องกว่าเดิม เห็นได้จากการแข่งขันทักษะวิชาการกับโรงเรียนอื่น

โรงเรียนห้วยหานเป็นอีกแห่ง ที่นำภาษาแม่มาเป็นส่วนหนึ่งทางการศึกษา แต่ยังมีอีกหลายโรงเรียนสนใจและให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้ จึงมีการผลักดัน สู่ระดับนโยบาย ทางด้านกฎหมาย การจัดเวทีครั้งนี้ จึงเป็นการขยายความร่วมมือระหว่างเครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆและสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ได้ระดมแนวคิดเพื่อปฏิรูปการศึกษาที่รอบด้านและคลอบคลุมต่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาระบบการศึกษาไทยในภาพรวม ดังนี้ 

1.ปฏิรูปเป้าหมายทางการศึกษาหรือกระบวนทัศน์ เน้นเป้าหมายสร้างพลเมืองคุณภาพดี สังคมเข้มแข็ง มีการเรียนรู้ที่หลากหลาย เน้นเรียนรู้ด้วยตนเอง มีทักษะชีวิต คิดวิเคราะห์เป็น มีจิตอาสา มีความภาคภูมิใจในท้องถิ่น และรากเหง้าตัวเอง

2.ปฏิรูปการกระจายอำนาจหรือโครงสร้าง เปลี่ยนการศึกษาที่ผูกขาดจากส่วนกลาง มีการกระจายอำนาจจัดการศึกษาให้เด็กและเยาวชนที่สอดคล้องกับท้องถิ่น ชุมชน โดยให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่น สถานศึกษาของรัฐและเอกชน สถานศึกษาสังกัด อปท. สถาบันศาสนา องค์กรวิชาชีพ สถานประกอบการ องค์กรชุมชนและเอกชน ร่วมถึงหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ภาครัฐมีหน้าที่ทางด้านนโยบาย สนับสนุนและติดตามผลให้พรรคการเมืองลงสัตยาบันร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาที่ไม่ต่อเนื่อง และควร ออกกฎหมายที่เอื้อต่อการปฏิรูปการศึกษาในอนาคตด้วย

4.ปฏิรูปกลไกการจัดการศึกษา โดยให้มีการตั้งองค์กรอิสระด้านการศึกษาระดับชาติ ที่เกิดจากการมีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อนแผนการศึกษาแบบองค์รวม ให้ความรู้ สร้างความเข้มแข็งแก่องค์กร หน่วยงาน กลุ่ม หรือชุมชนที่มีการจัดการศึกษาต่างๆ

5.ปฏิรูปการบริหารจัดการ (หลักสูตร ตัวชี้วัด การประเมินผล การจัดสรรงบประมาณ) บริหารกำลังบุคลากรให้มีความสอดคล้องกับบริบทสถานศึกษา คืนหลักสูตรไปที่ชุมชน ปรับตัวชี้วัดประเมินผลเป็นรายบุคคล ยกเลิกการใช้คะแนนเป็นตัวชี้วัด แต่วัดผลด้วยศักยภาพ จัดประเมินทุกระดับ ทั้ง ครู นักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง มีการกระจายงบประมาณ โดยกระจายให้ผู้จัดการศึกษา 80 % ลดงบประมาณบุคลากรเหลือ 20 % โดยงบประมาณการศึกษาให้ขึ้นตรงกับท้องถิ่น และทุกระดับในท้องถิ่นมีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารงบการศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลและขาดโอกาสมากขึ้น

6. ปฏิรูประบบการผลิตและบุคลากรทางการศึกษา ครูต้องเป็นผู้จุดประกายและดึงศักยภาพนักเรียนออกมา สร้างหลักสูตรครูใหม่ ตั้ง มหาวิทยาลัยครูแห่งชาติ เพื่อผลิตครูคุณภาพ มีจิตวิญญาณความเป็นครูจริงๆ

7.ปฏิรูปการศึกษาเพื่อการสื่อสาร ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ เผยแพร่ความรู้ให้สังคมตระหนักและมองเห็นปัญหาการศึกษามากขึ้น เพื่อให้เกิดการแก้ไข

การใช้ภาษาแม่ในการเรียนการสอน เป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาไทยที่เห็นเป็นรูปธรรม จากการสอบถาม วิไลลักษณ์ เยอเบาะ หัวหน้ากลุ่มงานฟื้นฟูวัฒนธรรมและการศึกษาทางเลือก สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย/IMPECT บอกว่า ตอนนี้ได้มีการร่วมมือกับทาง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่(อบจ.) เป็นความร่วมมือกันทางกลไกเครือข่ายระดับจังหวัด เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ อยากให้ทาง อบจ. ไปช่วยดูพื้นที่การทำงานที่เกิดขึ้นจริง โดยมีโรงเรียนชุมชนมอวาคี ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนต้นแบบ ซึ่งกว่า 20 ปี ผู้ปกครองในชุมชนพยายามทำหลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตให้กับลูกหลานในชุมชน แต่ยังมีข้อกำจัด จึงมีการถอดบทเรียน เพื่อช่วยกันพัฒนาให้เป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษาแม่นำร่อง ในวันที่ 2-3 เมษายน 2558 ณ เมืองทองธานี กรุงเทพฯ 

ทางด้าน นายบุญเลิศ บุรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การส่งเสริมวัฒนธรรมหรือให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างเท่าเทียม เป็นสิ่งที่ควรให้การสนับสนุน โดยเฉพาะการศึกษาที่เท่าเทียม เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ถือว่ามีคุณค่ามากสำหรับจังหวัดเชียงใหม่

วิไลลักษณ์ เยอเบาะ ยังบอกอีกว่า จากความคิดเห็นของเครือข่าย โดยให้ทางเครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง คอยสนับสนุน ส่งเสริมขยายไปยังชุมชนอื่น และช่วยพัฒนาบุคลากรครู รวมถึงหลักสูตร ที่ต้องสร้างเป็นกลไกพื้นฐานวัฒนธรรมให้แต่ละพื้นที่ และต้องคอยเชื่อมกับภาคีภายนอก เพื่อผลักดันการจัดการศึกษาในชุมชนบนฐานชุมชน เป็นต้น  

ทั้งนี้ภายในงาน ยังมีการลงนามสัญญาความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางกับมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อปฏิบัติและผลักดันการใช้ภาษาแม่ในการเรียนการสอนที่สอดคล้องสถาบัน ชุมชน และท้องถิ่นอีกด้วย 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ