คณะวิทยาการสื่อสารร่วมกับวิทยาลัยอิสลามศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีจัดการประชุมนานาชาติเรื่องการสื่อสารความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2557 เพื่อเป็นแนวทางในการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มภาคประชาสังคมได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสันติภาพให้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งในสังคม สะท้อนเสียงของคนในพื้นที่ด้วยสันติวิธี
ขอบคุณภาพจาก คุณปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้
นายอับดุลอาซิส ตาเดวิน ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สมาชิกภาคประชาสังคมชายเเดนใต้ กล่าวว่า “เราได้ลงพื้นที่จัดเวทีแลกเปลี่ยนและให้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพและปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งใน 10 ปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งและสูญเสียเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในพื้นที่ เราอยากให้เป็นเหมือนเดิมหรือเราอยากแก้ไขปัญหาให้สงบ ให้อยู่ร่วมกันได้ทั้งไทยพุทธ-มุสลิม”
นาย ARRAN WATTANA ผู้อำนวยการฝ่ายการรณรงค์ PERMAS ให้ความเห็นว่าภาคประชาสังคมเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ บริบทความขัดแย้งนี้มีคู่กันอยู่แล้วก็คือกลุ่มที่มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความขัดแย้งกันอยู่แล้ว แต่ภาคประชาสังคมนี้จะเป็นการรวมตัวของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อที่จะประสานให้มีส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่บ้านเกิดของตัวเอง “เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของพวกเราทุกคน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคือภาระหน้าที่ของเราทุกคนโดยเฉพาะภาคประชาสังคม”
นายอนาชิ จันทร์พงษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขต ปัตตานี ให้ความเห็นว่า งานภาคประชาสังคมชายแดนใต้เป็นตัวแสดงสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเพราะอดีตที่ผ่านมากลุ่มที่เข้ามามีบทบาทก็มีแค่รัฐและผู้เห็นต่างที่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมิได้ฟังเสียงของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ กลุ่มภาคประชาสังคมเป็นเหมือนตัวกลางในการเชื่อมประชาชนเข้ากับรัฐและBRN ที่พยายามจะดึงเสียงของประชาชนออกมาให้มากที่สุด เพื่อจะหาทางออกในกระบวนการสันติภาพ