ภัยแล้งปีนี้กับ ‘ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา’ สิ่งที่เกษตรกรต้องเตรียมรับมือ

ภัยแล้งปีนี้กับ ‘ปรากฏการณ์เอลนีโญ-ลานีญา’ สิ่งที่เกษตรกรต้องเตรียมรับมือ

ในภาวะภัยแล้งที่ทุกภาคส่วนต่างจับตาอยู่ในทุกพื้นที่ สำหรับภาคเหนือตามข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันพบพื้นที่ที่น่าเป็นกังวลอยู่ในส่วนภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร และพิจิตร ซึ่งขณะนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง แหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอดเป็นจำนวนมาก

ทีมข่าวพลเมืองภาคเหนือสัมภาษณ์ ณัฐวุฒิ อุปปะ ในฐานะผู้ประสานงานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง และยังเป็นผู้ประสานงานศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จ.พิษณุโลก ถึงการเตรียมรับมือภัยแล้งในปี 2559 และปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนผิดปกติ

 

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงแล้งในประเทศไทย แน่นอนว่าคือปริมาณน้ำฝนลดลงซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ตัวอย่างที่เห็นคือกรณีอากาศที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน ในฤดูร้อนกลับมีอากาศที่หนาว ในฤดูฝนแต่ฝนที่เคยตกกลับไม่ตก ซึ่งในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างก็ประสบปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศ รวมทั้งในทวีปเอเซียนและประเทศไทย 

การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศหรือการแปรผันของอุณภูมิอากาศนี้มีผลต่อสิ่งมีชีวิตหลายอย่าง และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนเรา โดยเฉพาะการผลิตในภาคการเกษตร ฉะนั้นคิดว่าในส่วนของแล้ง นอกจากเราจะให้ความรู้เรื่องระดับน้ำและปริมาณฝนแล้ว เกษตรกรไทยต้องได้รับความรู้เรื่องปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศด้วย

ณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า ในฤดูแล้งนี้ประเทศไทยต้องอยู่กับฤดูแล้งอย่างน้อยๆ ถึงเดือนกรกฎาคม จึงจะมีฝนตก เพราะฉะนั้นคนที่จะลงทุนหรือเกษตรกรที่จะทำการเกษตรจะต้องคำนึงถึงปรากฏการณ์เอลนีโญเรื่องภาวะโลกร้อนด้วย คือจากเดิมฤดูกาลทำนาจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม ซึ่งข้อมูลทางการและข้อมูลทางวิชาคาดการณ์ว่าฝนจะตกประมาณเดือนกรกฎาคม ฉะนั้นการวางแผนการผลิตจะใช้ชุดความรู้เดิมไม่ได้แล้ว

“ที่บอกว่าเคยมีเคยเป็น มันจะใช้ไม่ได้ มันต้องมีการวิเคราะห์ว่าโลกอยู่ในปรากฏการณ์แบบไหน ต้องใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาช่วยว่า ฝนจะมาในช่วงไหน มากน้อยอย่างไร จากนี้ไปเกษตรกรจะต้องศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศมากขึ้น มากกว่าใช้ชุดความเชื่อเดิมๆ ถ้าเอาปรากฏการณ์เอลนีโญมาวิเคราะห์ก็จะทำให้ลดความเสียหายได้” ณัฐวุฒิให้ข้อเสนอ

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ณัฐวุฒิ กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างจากเดิมที่การทำนา ตรงนี้ต้องมองเชิงประวัติศาสตร์ว่าเมื่อก่อนทำนาครั้งเดียวในส่วนที่เป็นนาปี พื้นที่บางส่วนที่น้ำท่วมซ้ำซากก็จะทำนาหลังน้ำท่วม แต่ในช่วงหลังชาวนาจะโทษแต่นโยบายรัฐอย่างเดียวซึ่งก็คงไม่ได้ ชาวนาต้องโทษการปรับตัวของตัวเองด้วย โดยชาวนาต้องปรับตัวว่าสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศช่วงไหนที่เหมาะแก่การทำนา 

ข้อที่ 2 การที่ทำนาหลายรอบขึ้น โดยไม่ได้กังวล ไม่ได้คำนึงถึงสภาพภูมิอากาศนั้นกระทบต่อผลผลิตแน่นอน มันก่อให้เกิดแมลงที่เยอะขึ้น นำไปสู่การใช้สารเคมีที่เยอะ และทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เสี่ยงต่อการขาดทุนของชาวนา 

ข้อที่ 3 ชาวนาควรผลิตข้าวไว้กินเอง แทนที่จะผลิตข้าวตามนโยบายของรัฐบาล ที่ผ่านมา ชาวนาปรับตัวตามนโยบาย ซึ่งนโยบายที่ออกมาใช้แบบเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ได้สอดคล้องกับพื้นที่แน่นอน

ณัฐวุฒิ ตอบคำถามถึงการปรับตัวของเกษตรกรต่อปัญหาภัยแล้งว่า จากเดิมเกษตรกรต่อสู้กับธรรมชาติมาตลอด ไม่มีน้ำก็ใช้น้ำมันแลกน้ำคือสูบน้ำจากใต้ดินมาทำการเกษตร แต่เรื่องแล้ง เกษตรกรก็ยังไม่มีองค์ความรู้ถึงปรากฎการณ์ที่มันจะเกิด อย่างไรก็ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ทำข้อมูลในส่วนนี้ไว้ ทั้งนี้ หลังจากปรากฎการณ์ลานีญา ทำให้ฝนตกหนักมากในปี 2554 หลังจากนั้นโลกจะเข้าสู่ปรากฎการณ์แล้ง 

“จริงๆ แล้ว เกษตรกรหรือหน่วยงานจะต้องหาข้อมูลเพื่อเตรียมรับแล้ง ซึ่งมันไม่ได้เกิดปุบปับ มันค่อยๆ เกิด 2556 /2557 /2558 แต่เราก็มุ่งที่จะเอาชนะธรรมชาติมากกว่าการปรับตัว อันนี้เป็นประเด็นใหญ่ คือไม่มีน้ำก็สูบ มีแมลงก็ฉีด ซึ่งก็ขาดทุนกันไป ฉะนั้นก็ต้องปรับกัน เพราะจากนี้ไป เรื่องสภาพภูมิอากาศจะปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด” ณัฐวุฒิกล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ