ภัยแล้ง! ภาคเหนือตอนล่าง แวะมองน้ำที่พิษณุโลก ก่อนไหลลงสมทบเป็นเจ้าพระยา

ภัยแล้ง! ภาคเหนือตอนล่าง แวะมองน้ำที่พิษณุโลก ก่อนไหลลงสมทบเป็นเจ้าพระยา

‘แวะมองน้ำที่พิษณุโลก ก่อนไหลลงสมทบเป็นเจ้าพระยา’

ทีมข่าวพลเมืองภาคใต้สำรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่ จ.พิษณุโลก ซึ่งมีเขื่อนสำคัญคือเขื่อนนเรศวรและเขื่อนแควน้อย ทั้งนี้ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีน้ำเข้าเขื่อนน้อย และสำหรับปีนี้พบว่าคลองชลประทานแห้งสนิท หลังระดับน้ำต่ำกว่าคลองส่ง 3-5 เมตร

ประพนธ์ คำไทย ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก กล่าวว่า น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนนเรศวรมาจากเขื่อนสิริกิติ์ วันละ 10 ล้าน ลบ.ม. แต่เหลือผ่านเขื่อนจริงๆประมาณ 9 ล้าน ลบ.ม. เพราะจะมีการใช้น้ำเหนือเขื่อนเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ กรมชลประทานนำได้น้ำมาจัดสรร ดังนี้ 1.เพื่ออุปโภคบริโภค 2.รักษาระบบนิเวศ และไหลสู่เจ้าพระยาผลักน้ำทะเล รักษาความเค็มในลุ่มเจ้าพระยา 3.การเกษตรที่ปลูกต่อเนื่อง เช่น ผลไม้ อ้อย

ปัจจุบันเขื่อนนเรศวรรักษาระดับน้ำอยู่ที่ 44.4 เมตร (รทก.) ซึ่งหากเป็นในช่วงปกติที่เก็บกับน้ำอยู่ที่ 47.8 เมตร (รทก.) เขื่อนจะสามารถส่งน้ำเขาระบบชลประทาน 2 ฝั่งของแม่น้ำน่านได้ โดยฝั่งซ้ายในเขตพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร ประมาณ 95,750 ไร่ ส่วนฝั่งขวาจะเป็นพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ยม-น่าน พลายชุมพล ดงเศรษฐี ท่าบัว พื้นที่ประมาณ 800,000 ไร่ ซึ่งส่งน้ำตั้งแต่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ผ่าน อ.เมือง อ.บางระกำ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เข้าสู่ จ.พิจิตร ไปสิ้นสุดที่ อ.ชุมแสง จ.นครสรรค์ คลองส่งน้ำสายใหญ่มีระยะทางประมาณ 176 กิโลเมตร และไหลลงรวมกับน้ำน่าน

รวมพื้นที่ชลประทาน 2 ฝั่งราวหนึ่งล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถส่งน้ำได้เลย

 

 

ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก กล่าวด้วยว่า กรมชลประทานจะตัดยอดน้ำทุกวันที่ 1 พ.ย.ของทุกปี ดูว่าน้ำในเขื่อนจะเหลืออยู่เท่าไร แล้วเอาน้ำจำนวนนั้นมาวางแผนการใช้ประโยชน์ ในกิจกรรมต่างๆ อันแรกก็คือ น้ำอุปโภคบริโภคให้เป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคือ เพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็ม และน้ำที่เหลือถึงนำมาจัดสรรสำหรับการเกษตร
 
“น้ำเพื่อการเกษตร เรามีการกำหนดแผน กำหนดเป้าหมายว่าน้ำมีเท่านี้จะสามารถปลูกพืชได้กี่ไร่ ปลูกข้าวได้กี่ไรในแต่ละปี ในฤดูแล้ง แต่ที่ผ่านมาปรากฎว่ามีการปลูกเกินแผนตลอด มีการนำน้ำที่เราสำรองไว้มาใช้ ทำให้เมื่อฝนไม่ตก น้ำก็ช๊อต (น้ำขาด) ทำให้แล้งมา 2 ปีติดต่อกัน”

ส่วนในแล้งปีนี้ สำหรับกรมชลประทาน ในเขื่อน 4 เขื่อนหลัง คือ สิริกิติ์ ภูมิพล แควน้อย และป่าศักดิ์ชลสิทธิ์จะมีน้ำอยู่ประมาณ 3,900 ล้าน ลบ. ม. และกรมชลประทานมีน้ำสำรองไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะอีก 1,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากไม่มีฝนในฤดูฝนเดือน พ.ย. ก็จะยังมีน้ำกินน้ำใช้ไปถึงเดือน ก.ค. 2559

 

 

ด้านหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก วันที่ 3 มี.ค.59 น้ำใช้การได้ 288 ล้าน ลบ.ม. เฉลี่ยประมาณ 32 % ซึ่งตอนนี้การปล่อยน้ำของเขื่อนวันละ 1ล้าน ลบ.ม. เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศ

น้ำจากเขื่อนแควน้อยไหลลงแม่น้ำแควน้อย ก่อนจะไหล่รวมลงแม่น้ำน่าน ที่ ต.มะขามเตี้ย อ.เมือง จ.พิษณุโลก ช่วยเติมแม่น้ำน่าน หากจะให้น้ำจากเขื่อนไหลเข้าสู่ระบบชนประทานจะต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนจากวันละ 1 ล้าน ลบ.ม. เป็น 3-5 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ซึ่งจะทำให้ภาคการเกษตรสามารถเพาะปลูกได้ แต่นั่นหมายถึงต้องเสี่ยงต่อน้ำไม่พอได้

ทั้งนี้ ต้นน้ำที่ไหลลงเติมเขื่อนแควน้อยมาจาก อ.นครไทย อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก และบางส่วนมาจาก อ.ด่านซ้าย จ.เลย ซึ่งวันนี้มีน้ำไหลลงเขื่อนเพียง 0.1 ล้าน ลบ.ม.

 

อนึ่ง จ.พิษณุโลกตั้งอยู่ที่ทางภาคเหนือตอนล่าง มีเขตติดต่อกลับจังหวัดข้างเคียงถึง 6 จังหวัด มีพื้นที่ทั้งสิ้น 6,759,909 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ถือครองทางการเกษตร 2,404,936 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 35.57 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเป็นพื้นที่ใช้ในการทำนา 1,452,434 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 60.39 ของพื้นที่ทำการเกษตร รองลงมาเป็นที่ไร่ 627,009 ไร่ และเป็นที่ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น 167,361 ไร่ (ข้อมูลเมื่อปี 2553) 

มีแม่น้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ มีแม่น้ำสายหลักสำคัญ 4 สาย คือ แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำวังทอง และแม่น้ำยม ซึ่งไหลผ่านพื้นนทำการเกษตรสำคัญในหลายอำเภอ

เขื่อนนเรศวร อยู่ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่านของกรมชลประทาน ตั้งอยู่ใต้เขื่อนสิริกิติ์ เป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่านระยะที่ 2 โดยเป็นเขื่อนทดน้ำในแม่น้ำน่าน ที่บ้านหาดใหญ่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนสิริกิติ์ที่อยู่ทางด้านเหนือน้ำประมาณ 176.00 กิโลเมตร และก่อสร้างระบบส่งน้ำเพื่อนำน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกสองฝั่งแม่น้ำน่านจำนวน 1,443,000 ไร่ บริเวณพื้นที่ในเขต จ.พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ตอนบน

ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เป็นเขื่อนรับน้ำจากแม่น้ำแควน้อย เป็นลุ่มน้ำสาขาย่อยฝั่งซ้ายของแม่น้ำน่าน มีต้นน้ำอยู่ที่ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ไหลผ่าน อ.วัดโบสถ์ บนนจบแม่น้ำน่านที่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก 

เขื่อนแควน้อยฯ เป็นอ่างเก็บน้ำอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 769 ล้าน ลบ.ม. โดยมีพื้นที่ผิวน้ำที่ระดับเก็บกักประมาณ 38,368 ไร่ สภาพพื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำแควน้อย ประมาณ 200,000 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ