ความรู้สึกแรกที่ได้ย่างเท้าลงไปแตะหาดแม่รำพึงคือความสงบ เงียบ ไม่มีเตียงผ้าใบ ไม่มีร้านรวงแออัด ไม่มีคนเดินขายอาหารทะเล และแทบไม่มีขยะให้เห็น มีเพียงธรรมชาติและอากาศที่บริสุทธิ์ บนชายหาดที่ทอดยาว ขุยทรายก้อนเล็ก ๆ ถูกขนขึ้นมาจากรูจิ๋วๆ ของเหล่าปูลม พวกมันกุลีกุจอทำงานผลุบขึ้นผลุบลงอย่างแข็งขัน ดูแล้วช่างเพลิดเพลิน
เรามีนัดหมายที่นี่กับ นราวิชญ์ กิตติพงศ์ธนกิจ เขาคือหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาปกป้องชายหาดบ้านเกิดของตัวเองในนามกลุ่ม Save หาดแม่รำพึงบางสะพาน เนื่องจากหาดแม่รำพึงแห่งนี้อยู่ในแผนการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาธิการและผังเมืองด้วย
เขาแจ้งกับเราทางปลายสายว่าเขาอาจจะมาล่าช้ากว่าเวลานัดหมายสักหน่อย เพราะต้องเคลียร์งานให้เสร็จ ซึ่งทีแรกเราเดาว่าเขาคงทำงานที่สำนักงานไหนสักแห่งเป็นแน่ ดีกรีวิศวกรโทรคมนาคมอย่างเขาคงหางานได้ไม่ยากนัก ทว่าเราเดาผิดถนัด หลังเรียนจบเขาทำงานในเมืองหลวงในสายงานที่เรียนมาเพียง 2 ปีเท่านั้น ก็หันหลังกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิดที่ อ.บางสะพาน ยึดอาชีพเกษตรกรทำสวนปาล์มต่อจากคุณปู่ ดังนั้นงานที่ว่าต้องเคลียร์ให้เสร็จ ก็คืองานตัดปาล์มในสวนนั่นเอง
คลังอาหารของคนบางสะพาน
นราวิชญ์ เล่าว่าแม้บ้านของเขาไม่ได้อยู่ติดหาดแม่รำพึงแต่เขานับที่นี่เป็นบ้านเกิด เป็นแผ่นดินแม่ที่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เล็กจนโต ตอนเด็กครอบครัวจะพามาวางอวนที่นี่เป็นประจำ มาจับปลาหาหอยหากุ้งไปกิน ยิ่งช่วงสงกรานต์จะสนุกมาก หาปลาหากุ้งได้ก็ทำกินกันสดๆ ที่ริมหาดเลย เขาไม่เพียงรู้สึกผูกพันกับหาดแม่รำพึงแต่ยังรู้สึกว่าชีวิตเขาเติบโตมาได้ด้วยอาหารจากอ่าวแห่งนี้
อ่าวแม่รำพึงนี้คือแหล่งอาหารของทุกคน ไม่ใช่แค่คนบางสะพานเท่านั้น เป็นแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์มากมาตั้งแต่อดีต ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ที่มีมากทั้งปริมาณและชนิดพันธุ์ มีช้อนคันเดียวนั่งขูดทรายบนชายหาดไม่นานก็ได้หอยไปกิน ลงน้ำไปหน่อย เหวี่ยงแหไม่กี่ทีก็ได้กุ้งได้ปลาไปกิน ปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ เขาบอกว่าอ่าวแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก
โคลนขี้เป็ด สวรรค์ของสัตว์น้ำวัยอ่อน
ความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวแม่รำพึงนั้น มีที่มาจากคลองสองสายที่ขนาบทั้งสองข้างของอ่าว ด้านหนึ่งคือคลองบางสะพาน มีต้นสายไหลลงมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ด้านหนึ่งคือคลองแม่รำพึง เป็นคลองที่ไหลผ่านป่าพรุแม่รำพึง ซึ่งเป็นป่าพรุที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตั้งแต่ปี 2562 และอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์
สายน้ำของคลองทั้งสองได้พัดพาเอาตะกอนและธาตุอาหารต่าง ๆ จากป่าเขาและป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์มาทับถมที่ปากอ่าว ส่งผลให้หาดแม่รำพึงเป็นชายหาดที่มีลักษณะเป็นโคลนปนทรายที่ชาวบ้านเรียกว่า “โคลนขี้เป็ด” นักท่องเที่ยวทั่วไปมักไม่ค่อยชอบชายหาดแบบนี้เพราะอาจไม่เหมาะกับการเล่นน้ำ แต่ถ้าหากเป็นนักท่องเที่ยวสายอนุรักษ์ที่อยากชมความหลากหลายของสัตว์น้ำนานาชนิดแล้วละก็ ที่นี่นับว่าเป็นสวรรค์เลยทีเดียว เพราะตลอดแนวชายหาดไล่เรียงลงไปในอ่าวจะมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ ปูลม หอยตลับ หอยขาว หอยไฟไหม้ ที่ระยะความลึกเพียง 1 เมตร ชาวประมงก็สามารถจับสัตว์น้ำได้หลายชนิด อย่างเช่น ปลากระบอก ปลาทู หรือกุ้งขาว กุ้งแชบ๊วย เป็นต้น
บ้านเกิดปลาทูไทย
อ่าวแม่รำพึงแห่งนี้คือแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก เป็นบ้านเกิดของสัตว์น้ำหลายชนิดโดยเฉพาะปลาทูไทย ซึ่งบริเวณอ่าวแม่รำพึงนี้พบปลาทูทั้ง ๒ ชนิด คือปลาทูตัวใหญ่หรือที่เรียกว่าปลาลัง และปลาทูตัวเล็กที่ชาวบ้านเรียกว่าปลาทูเตี้ย
ที่นี่ยังถือเป็นแหล่งกำเนิดปลาทูที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ของอาหารอย่างแพลงก์ตอน โดยในน้ำของอ่าวแม่รำพึง 1 ลูกบาศก์เมตร พบว่ามีปริมาณแพลงก์ตอนมากถึง 3 ล้านเซลล์ พบทั้งแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ แพลงก์ตอนเหล่านี้เป็นอาหารสำคัญของปลาทูตั้งแต่วัยอ่อนจนโตเต็มวัย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแม่ปลาทูจึงเลือกมาวางไข่ที่นี่ และมีการวางไข่ตลอดทั้งปี ในขณะที่แหล่งอื่นๆ อย่างหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี มีการวางไข่ในบางฤดูเท่านั้น
โดยแม่ปลาทูจะวางไข่บริเวณแหลมแม่รำพึง จากนั้นลูกปลาทูจะว่ายน้ำเข้ามาหากินที่บริเวณหน้าอ่าว ก่อนจะเดินทางขึ้นเหนือสู่อ่าวตัว ก. แถบ จ.สมุทรสงคราม สมุทรสาครและเพชรบุรี ซึ่งปลาทูราว 75 เปอร์เซ็นต์ ที่พบในอ่าวไทยเป็นปลาทูที่มีแหล่งกำเนิดจากอ่าวแม่รำพึงแห่งนี้
ทำไมต้อง Save หาดแม่รำพึง
ในประเด็นการเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึงนั้น นราวิชญ์เปรียบโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นว่าเหมือนโรคที่กำลังระบาดไปทั่วชายหาดของประเทศไทย และเขาเห็นว่าที่หาดแม่รำพึงนี้ไม่ได้มีปัญหาการกัดเซาะรุนแรง จึงลุกขึ้นมาตั้งคำถามถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าหากต้องแลกกับการสูญเสียธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของชายหาด
เขาให้ข้อมูลว่า “บริเวณที่มีร่องรอยการกัดเซาะราว 200 เมตร ที่เดิมเคยเป็นป้อมตำรวจนั้น ปัญหาเกิดขึ้นจากการสร้างกำแพงซึ่งเป็นโครงสร้างแข็ง เมื่อคลื่นที่ซัดเข้าปะทะกำแพงจึงทำให้เกิดการกัดเซาะดังกล่าว ภายหลังจากมีการรื้อกำแพงออก ชายหาดก็ถูกเติมเต็มให้สมดุลดังเดิม ส่วนการกัดเซาะรุนแรงอีกครั้งหนึ่งนั้นก็เป็นผลจากอิทธิพลของพายุปาบึกที่พัดผ่านตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่นราธิวาสจนถึงประจวบคีรีขันธ์เมื่อปี 2562 หลังพายุผ่านพ้นไป คลื่นทะเลก็ค่อยๆเติมตะกอนทรายกลับคืนสู่ชายหาดดังเดิมหรือมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ”
เขายังได้ค้นคว้าข้อมูลในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยพบข้อมูลจากกรมโยธาธิการและผังเมืองเอง ที่มีการศึกษาย้อนหลัง
16 ปี พบว่าหาดแม่รำพึงมีการกัดเซาะสูงสุดเฉลี่ยเพียง 70 เซนติเมตรเท่านั้น
นราวิชญ์ได้นำข้อมูลนี้ไปสอบถามกับกรมโยธาธิการและผังเมืองโดยตรงในเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งได้คำตอบว่าตัวเลขนี้ถือว่ามีการกัดเซาะน้อย สอดคล้องกับข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ได้ศึกษาสมดุลตะกอนของหาด ระบุชัดว่าหาดแม่รำพึงมีสถานะเป็น “หาดสมดุลตะกอน” คือตะกอนไม่ได้หายไปจากระบบ มีการกัดเซาะไปบ้างในฤดูมรสุม พอมรสุมผ่านไปน้ำก็พัดพาตะกอนมาเติมเต็มชายหาดเหมือนเดิม สำหรับหาดสมดุลตะกอนนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีแนวทางในการป้องการแก้ปัญหาการกัดเซาะโดยให้ใช้มาตรการสีเขียว คือการเลียนแบบธรรมชาติเพื่อดักตะกอนให้มาเติมเต็มในจุดที่ต้องการ จากข้อมูลนี้เขาจึงเชื่อหาดแม่รำพึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างกำแพงกันคลื่น เพราะการกัดเซาะที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกัดเซาะชั่วคราวที่สามารถจัดการแก้ไขได้เองโดยธรรมชาติ
ทางเลือกในการป้องกันแก้ไขการกัดเซาะ
ในการป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง นราวิชญ์เห็นว่ารัฐควรมีทางเลือกให้กับประชาชน เป็นทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เลือกว่าจะเอาหรือไม่เอาในสิ่งที่รัฐตัดสินใจแล้ว ประชาชนควรมีส่วนร่วมกับการสรรหาทางเลือกเหล่านั้นด้วย เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่และแก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งการแก้ปัญหาโดยใช้มาตรการสีเขียวนั้นก็สามารถทำได้หลายวิธี โดยเขาได้เสนอว่าการเติมทรายก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง
บริเวณปากคลองบางสะพานนั้น ในแต่ละปีจะมีตะกอนมาทับถมเป็นจำนวนมาก กรมเจ้าท่าต้องนำเครื่องจักรมาดูดทรายออกเพื่อให้สะดวกในการสัญจรของเรือประมง หากนำทรายนี้ไปถมตรงจุดที่มีการกัดเซาะก็จะแก้ปัญหาได้ทันทีโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นี่ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบหนึ่ง
สู้ด้วยข้อมูลบนพื้นฐานประชาธิปไตย
ถึงแม้จะมีข้อมูลพร้อมด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ทว่ารัฐก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะถอนโครงการออกไปแต่อย่างใด ขณะที่คนในชุมชนมีความเห็นแบ่งฝักฝ่ายเป็น 2 ขั้ว เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กลุ่มคนรุ่นใหม่ในนามกลุ่ม Save หาดแม่รำพึงบางสะพาน เริ่มสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ให้กับชาวบ้านได้รับรู้
เราก็ลงไปคุยกับชาวบ้านทีละบ้านเลย ไปเล่าให้เขาฟังการเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ ที่เราศึกษามา เช่นเรื่องสมดุลตะกอนคืออะไร เรื่องการกัดเซาะชายฝั่งมีสาเหตุมาจากอะไร ลักษณะการกัดเซาะเป็นอย่างไร ไปจนถึงเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างโครงสร้างแข็งหรือที่เรียกว่า end effect คือการกัดเซาะอย่างรุนแรงที่บริเวณหัวโครงการและท้ายโครงการ
ซึ่งนราวิชญ์มองว่าในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ชาวบ้านเองควรมีข้อมูลอย่างรอบด้าน การเห็นต่างไม่ควรถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามแต่ควรเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริง หากในท้ายที่สุดแล้ว ถ้าหากทุกคนมีความรู้มีข้อมูลเพียงพอ แล้วลงมติเห็นชอบให้สร้างกำแพงกันคลื่น เขาเองและกลุ่มก็ไม่ได้มองว่าเป็นความพ่ายแพ้แต่อย่างใด เขาพร้อมเคารพการตัดสินใจนั้นและยอมรับได้ เพราะนี่คือหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ นราวิชญ์กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย : เมธาปวัฒน์ เชิงทวี
ภาพถ่ายโดย : เมธาปวัฒน์ เชิงทวี