ทะเลไม่มีรั้ว

ทะเลไม่มีรั้ว

 

ทะเลไม่มีรั้ว

16 มีนาคม 2557

ผ่านมาแล้วร่วมแปดเดือน หลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ซึ่งส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อท้องทะเลบริเวณอ่าวไทยรวมไปถึงเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนตลอดแนวชายฝั่ง

ทีมงานนักข่าวพลเมืองได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับชาวชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง กลุ่มแม่ค้ารถเร่ แม่ค้าชายหาดและกลุ่มประมงจำพวกหาหอย หาอาหารทะเล บริเวณหาดแม่รำพึง อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วในครั้งนั้น แม้พวกเขาไม่ได้ทำมาหากินหรืออาศัยอยู่บริเวณอ่าวพร้าวหรือเกาะเสม็ดแต่ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
 

 “ภาพใหญ่แล้วมันมีอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด แต่จริงๆแล้วมันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเสม็ด ห่างถึง 20 ไมล์ทะเล แต่ในส่วนนี้ไม่มีใครพูดถึง ส่วนมากก็จะไปทำข่าวอ่าวพร้าวกับเกาะเสม็ดอย่างเดียว เมื่อน้ำมันรั่วกว่าจะมาถึงหาดแม่รำพึงก็ใช้เวลาประมาณ 2 วัน วันแรกที่รั่วก็ยังไม่ถึง จากเดิมมันยังไม่ถึงเกาะช่วงนั้นน้ำทะเลลง  แต่พอจังหวะน้ำขึ้นปุ๊บมันก็พัดกลับมาคืน มันก็เลยแผ่ขยาย จากเดิม 3 – 4 วันแรกจะมีข่าวแต่อ่าวพร้าวกับเกาะเสม็ด แล้วก็บอกว่า น้ำมันที่เข้าอ่าวพร้าวกับเกาะเสม็ดมีเพียงแค่ 20 % แล้วถามว่าอีก 80% อยู่ที่ไหน ถ้าไม่อยู่ตรงนี้…”  อุดมศักดิ์ หลอดทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่ว จ.ระยอง ช่วยให้ภาพความเกี่ยวโยงของทั้งสองพื้นที่แก่ทีมงาน

บรรเจิด ศิริลพ ชาวประมงเรือเล็ก ซึ่งปกติออกเรือหาปลาในบริเวณเกาะมันนอก เกาะมันใน ส่วนหนึ่งของปากอ่าวแกลง บอกเล่าเรื่องการออกเรือหาปลาในช่วงที่ผ่านมา ว่า

“เมื่อก่อนเคยออกทะเลไปเนี่ยขั้นต่ำวันละ 2,000บาทไม่เคยขาด แต่เดี๋ยวนี้ออกไปปั่นหมึกมันก็ไม่ได้ ครั้งสุดท้ายหมดน้ำมัน 1,200 ได้หมึกมาแค่ 3 กิโลกรัม คิดแบบเหมารวม เราส่งขายให้แม่ค้าก็ตีราคาไปโลละ 140 บาท 3 กิโลได้เงินเท่าไหร่ ก็คิดแค่นี้”

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากสภาทนายความ เกียรติภูมิ นิลสุข เลขานุการคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดี และปฏิบัติ ลงพื้นที่ร่วมให้คำปรึกษากับชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้วย

“ต้องบอกว่าในส่วนของชาวบ้านที่นี่ ผมแบ่งเป็นสามกลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือชาวบ้านที่ทำประมง ออกหาปลา หาสัตว์ทะเล ชาวบ้านกลุ่มที่สองคือแม่ค้า ที่เกี่ยวข้องกับการค้าอาหารทะเล ซึ่งเขาได้รับผลกระทบ เนื่องจากพอมีน้ำมันดิบรั่วเขาก็ไม่สามารถขายอาหารได้ เข้าใจว่าประชาชนคงจะไม่เชื่อมั่นในอาหารทะเลของที่นี่ ทำให้รายได้หายไปค่อนข้างเยอะ ส่วนประมงแน่นอนว่าสัตว์ทะเลหายไปจากบริเวณนี้ค่อยข้างเยอะ ส่วนหนึ่งก็ตาย ที่ไม่ตายก็ย้ายไปที่อื่น พื้นที่ที่เขาเคยทำประมงไม่สามารถดำเนินการได้ เขาต้องไปไกลมากเพื่อที่จะประกอบอาชีพของเขาได้ แล้วก็รายจ่ายต่างก็ศูนย์ และยังได้จำนวนไม่เท่าก่อนเกิดเหตุ กลุ่มที่สามคืออาชีพรับจ้างต่างๆ รวมถึงแม่ค้าริมชายหาด อาชีพรับจ้างก็จะต่อเนื่องกับประมงด้วย เช่น ถอดเกล็ดปลา แกะปลาหมึก หรืออาชีพรับจ้างที่ติดไปกับเรือประมง พวกนี้คือกลุ่มคนที่ไม่มีเรือเป็นของตัวเอง และอาชีพอื่นๆ ค้าขายริมทะเล ที่ไม่เกี่ยวกับสัตว์ทะเล เมื่อนักท่องเที่ยงไม่เชื่อมั่น รายได้เขาก็ขาดหายไป”

แม้เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่ว จ.ระยอง และชาวชุมชนบริเวณรอบหาดแม่รำพึงจะได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากรายได้ที่สูญไป แต่สิ่งที่สำคัญที่ทุกคนเห็นตรงกันมากไปกว่านั้น คือ ความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ให้กลับมาเป็นดังเดิม พร้อมกับมาตราการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำดังกล่าว เพราะพวกเขาเชื่อว่าทะเลเป็นทรัพยากรที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการดูแล

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ