หาดแม่รำพึงบางสะพาน : เมื่อยามกำแพงกันคลื่นระบาด

หาดแม่รำพึงบางสะพาน : เมื่อยามกำแพงกันคลื่นระบาด

ชายหาดแม่รำพึง ชื่อชายหาดที่คนเมืองกรุง อาจเคยได้ยินชื่ออยู่บ่อยครั้งในฐานะที่เป็นชายฝั่งทะเลของภาคตะวันออก และอาจได้ยินชื่อ หาดแม่รำพึง ในฐานะชายหาดที่ประสบภัยน้ำมันดิบรั่วไหล เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ชื่อชายหาดแม่รำพึง ไม่ได้มีเพียงจังหวัดระยองแห่งเดียว แต่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ปรากฏชื่อหาดแม่รำพึง เช่นกัน 

หาดแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน ช่างแตกต่างจากหาดอื่น ในช่วงน้ำลงต่ำสุด หาดแม่รำพึงกว้างยาวสุดสายตา น้ำลดระดับลงทำให้เดินออกไปจากฝั่งได้ไกลหลายร้อยเมตร และความคึกคักของผู้คนริมชายหาดเริ่มปรากฏให้เห็น ตลอดแนวชายหาดแม่รำพึง อำเภอบางสะพานในช่วงน้ำลง มีผู้คนมากมายมาหาหอยริมชายหาด ทั้งหอยเสียบ หอยเพา และหอยตลับ อาวุธข้างกายเหมือนสำหรับหาหอย คือ ช้อน ทุกคนต่างตั้งใจขูดผิวทราย เพื่อค้นหาหอย เป็นวิถีชีวิตของคนริมชายหาดแม่รำพึงที่ปรากฏให้เห็นในช่วงน้ำลง

เมื่อยามน้ำขึ้นเต็มที่ หาดแม่รำพึงในบางช่วงอาจมีหน้าหาดแคบ บางจุดมีหน้าหาดเพียงแค่ 17 เมตร จากแนวถนนที่ตัดเลียบชายหาดแม่รำพึง ความแตกต่างของชายหาดในช่วงน้ำขึ้น และน้ำลง ที่หน้าหาดกว้างยาวต่างกันนั้น เป็นเสหน์ ของหาดแม่รำพึงบางสะพาน

ชายหาดแม่รำพึง กำลังมีกำแพงกันคลื่น

ช่วงปลายปี 2558 ถึง ต้นปี 2559 เกิดปรากฎการณ์ร่องความกดอากาศต่ำกำลังทำให้พื้นชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงหลายพื้นที่ ทำให้ท้องถิ่นหลายพื้นที่ในชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ทำหนังสือร้องขอโครงการไปยังกรมโยธาธิการฯ เพื่อร้องขอโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และหาดแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ อบต.แม่รำพึง ส่งหนังสือของการสนับสนุนเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลถึง 2 ฉบับ คือ

  1. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และขุดลอกริมคลองบางสะพาน ในพื้นที่ ม.8 ต.แม่รำพึง
  2. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายหาดแม่รำพึง ม.1 – ม.5 ต.แม่รำพึง เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกว่า 240 ครัวเรือนตลอดแนวชายฝั่งหาดแม่รำพึง หมู่ที่ 1 ถึง หมู่ที่ 5 ระยะทางประมาณ 13,800 เมตร ต่อมา อบต.แม่รำพึงได้มีหนังสือที่ ปข 71903/45 ลงวันที่ 17 มกราคม 2561 ถึงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอให้เร่งรัดการดำเนินงานแก้ไขปัญหากัดเซาะในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวนี้อีกครั้ง

ต่อมาในช่วงต้นเดือน ม.ค. 2562 เกิดพายุปาบึกพัดผ่านชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่ชายฝั่งจังหวัดนราธิวาส ถึง ชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ชายหาดและชุมชนริมชายฝั่ง ต่างได้รับผลกระทบจากพายุบาปึกกันถ้วนหน้า ไม่มากก็น้อย และหาดแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็ไม่ต่างกับหาดอื่น ๆ ที่เผชิญกับพายุที่พัดผ่านและสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือน ประชาชน และทรัพย์สินสาธารณะตลอดแนวชายหาดแม่รำพึง

ผ่านพ้นพายุไป ชาวบ้านต่างฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเรือนของตนเอง ชายหาดก็ค่อย ๆ ฟื้นฟูตนเอง แต่ของฝากที่พายุบาปึกน้ำมาให้ คือ จดหมายจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึง ถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง เรื่องขอการสนับสนุนเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง องค์การบริหารส่วนตำบลแม่รำพึงได้มีจดหมายถึงกรมโยธาธิการอีกครั้ง

หลังจากปี 2562 กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้สนองความต้องการของท้องถิ่นที่ร้องขอโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดแม่รำพึง โดยการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนจำนวน 4 ครั้ง และออกแบบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลหาดแม่รำพึง ภายหลังกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และออกแบบโครงการทำให้ชายหาดแม่รำพึง ได้รูปแบบโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ระยะที่ 1 ความยาว 966 เมตร จากบริเวณปากคลองบางสะพาน ถึงร้านหาดสมบูรณ์ โดยมีรูปแบบโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น 3 แบบ ได้แก่ กำแพงกันคลื่นแบบหินเรียง กำแพงกันคลื่นแบบลาดเอียง และกำแพงกันคลื่นแบบขันบันได โดยการออกแบบนั้นให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ชายหาดในแต่ละพื้นที่ตามบริบท

กำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง บนคำถามจากสาธารณะ

เดือนมีนาคม 2565 โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความยาว 966 เมตร โดยกรมโยธาธิการฯ กำลังเตรียมดำเนินการก่อสร้างบนชายหาดแม่รำพึง ชุมชนและสังคมก็เริ่มตั้งคำถามกับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง อย่างน้อยที่สุด คือ กำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึงมีความจำเป็นหรือไม่ และ บทเรียนจากพื้นที่อื่นๆที่เกิดกำแพงกันคลื่นทำให้ชายหาดหายไปจะเกิดขึ้นกับหาดแม่รำพึงหรือไม่ ?

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีหน้าที่สำรวจชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด จากการสำรวจเส้นสถานภาพชายฝั่งแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์พบว่า เป็นสภาพที่สมดุล ในปี 2563  พื้นที่ชายหาดแม่รำพึง ไม่พบการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง ลักษณะชายหาดเป็นแบบเลนปนโคลน ในช่วงน้ำขึ้นหน้าหาดกว้างประมาณ 20 เมตร แต่น้ำลงอาจกว้างมากถึง 1 กิโลเมตร จุดเสี่ยงคือ บริเวณกำแพงป้อมตำรวจที่พังชำรุด ความยาวประมาณ 200 เมตร จุดเสี่ยงดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นจากโครงสร้างกำแพงป้อมตำรวจเก่าที่ชำรุดเสียหาย ทำให้คลื่นปะทะโครงสร้างนั้น วิธีแก้ คือ รื้อกำแพงเก่าออก ก็สามารถทำให้ชายหาดตรงนั้นกลับมาปรับสมดุลได้อีกครั้ง

สำหรับแนวทางป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดแม่รำพึงทั้งระบบนั้น ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำหนดให้บริเวณหาดแม่รำพึง บางสะพาน ใช้มาตรการปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ คือการไม่กระทำการใด ๆ เพื่อปล่อยให้ชายฝั่งปรับสมดุลโดยธรรมชาติและการฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง  คือ การดำเนินการใด ๆ ให้ชายฝั่งฟื้นคืนสภาพตามธรรมชาติ เช่นการปลูกป่า ถ่ายเททราย

(ผอ. บุญจิรา เผดิมรอด ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง, เสวนาเชิงวิพากษ์ “อนาคตหาดแม่รำพึง เมื่อกำเเพงกันคลื่นมาถึง, 1 พฤษภาคม 2565)

นายนราวิชญ์ กิตติพงศ์ธนกิจ กลุ่ม saveหาดแม่รำพึงบางสะพาน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวประเด็นคัดค้านการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง มีข้อสังเกตกับโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึงว่า “การเกิดขึ้นของพายุบาปึก หรือ กรณีที่มีมรสุมกำลังแรงเกิดขึ้นกับหาดแม่รำพึงนั้น ไม่ได้เป็นเป็นภัยที่เกิดขึ้นทุกปี นานๆเกิดขึ้นครั้ง และกรณีที่เกิดพายุบาปึก ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน บ้านเรือนจากน้ำกัดเซาะชายฝั่งในช่วงพายุบาปึกพัดผ่านก็ได้ถูกบรรเทา เยียวยาความเสียหายไปหมดแล้ว ชายหาดก็ฟืนฟูคืนสภาพกลับมาเป็นเหมือนเดิม

ดังนั้น อะไรคือความจำเป็นของการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

ท่ามกลางการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึงนั้น บทเรียนจากหาดอื่นๆที่เกิดกำแพงกันคลื่นแล้ว อย่างเช่น ชายหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งทำให้ไม่เหลือสภาพชายหาด หาดทรายถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่นคอนกรีตยาวตลอดแนวชายหาดชะอำใต้ และยังกระทบต่อการท่องเที่ยวริมชายหาดชะอำที่ใช้ประโยชน์หาดทรายในการดำเนินกิจการในด้านการท่องเที่ยว หรือ หาดทรายแก้วที่สงขลา ซึ่งกำแพงกันคลื่นได้เปลี่ยนแปลงหาดทรายให้กลายเป็นคอนกรีต ประหนึ่งดังอ่างเก็บน้ำเค็ม และเกิดผลกระทบในช่วงมรสุมที่คลื่นกระโจนข้ามกำแพงกันคลื่นเข้ามาในแผ่นดินทำให้โครงสร้างสารณูปโภคต่าง ๆ ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น

ล่าสุดทางเพจ Beach for life ที่ติดตามประเด็นชายหาดมาอย่างต่อเนื่องระบุผ่านเพจว่า ตอนนี้ผ่านมากว่าครึ่งเดือนเเล้วที่ กลุ่ม saveหาดแม่รำพึง เดินทางไปยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดประจวบฯ โดยมีนายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่ม Saveหาดแม่รำพึง โดยมีข้อสรุปจากการพูดคุย คือ ให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เร่งประสานกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อเปิดเผยข้อมูลรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายใน 15 วัน และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่โครงการโดยเร็วที่สุด จนถึงเวลานี้ ผ่านไปกว่า 15 วันแล้ว ทางกลุ่ม Saveหาดแม่รำพึงบางสะพาน ยังไม่ได้รับความคืบหน้าในการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง ความยาว 966 เมตร ของกรมโยธาธิการและผังเมือง

ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เกิดนโยบายเปิดเผยข้อมูล (Open Data by default) ในอนาคต เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลโครงการของรัฐได้โดยสะดวก

การดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง ไม่เพียงมีคำถามถึงความไม่จำเป็นของโครงการรัฐในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และผลกระทบที่ตามมาต่อชายหาดและวิถีชีวิตของชุมชนหลังจากกำแพงกันคลื่นเกิดขึ้น แต่ยังสะท้อนถึงวิธีคิดของหน่วยงานรัฐในการป้องกันชายฝั่งด้วยโครงสร้างแข็ง มากกว่า การเรียนรู้ปรับตัวและอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

รายงานโดย อภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for life

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ