เรื่อง / ภาพ คำปิ่น อักษร
ผ่านมาเกือบ 3 ปี หลังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเดินทางไปทำงานต่างประเทศเมื่อปี 2556 วันนี้ “ไพรสันติ” และเพื่อนๆแรงงานไทย ชาวจังหวัดชัยภูมิยังคงต่อสู้ท่ามกลางภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
สังคมแห่งการพัฒนา สังคมอีสานยุคของการเปลี่ยนผ่านที่หลายพื้นที่ต่างต้องปรับตัว และนำพาตัวเองและครอบครัวให้อยู่ได้ไปรอดในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ความหวังความฝันของเกษตรกรจึงไม่ใช่แค่การนั่งรอฤดูกาลอีกต่อไป บางคนหนีเข้ากรุงเพื่อหางานหาเงินมาเป็นทุนรอนในการทำเกษตร แต่เกษตรกรบางพื้นที่ต้องดีดตัวเองไปไกลถึงต่างแดน ด้วยหวังอยากมีอยากรวยเหมือนเฉกเช่นคนทั่วๆไป
“เราไม่มีงานทำหลังหว่านข้าวเสร็จ ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน จะเป็นช่วงที่ว่าง ข้าวรอเก็บเกี่ยวพอว่างคนก็อยากไป ไปเก็บบลูเบอร์รี่ใช้เวลาแค่สองเดือนเห็นคนอื่นไปได้เงินมาก็เลยอยากไปกัน” ไพรสันติ ชาวบ้านหนองทุ่ม ต.สะพัง อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ บอกเล่าถึงความมุ่งหวังเมื่อครั้งตัดสินใจไปทำงานในต่างแดนเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเขาและเพื่อนร่วมชะตากรรมหวังว่าการเป็นแรงงานในต่างแดน ค่าจ้างแรงงานจะแพงกว่าหากประหยัดอดออมก็จะสามารถมีเงินพอเหลือเก็บ
“ที่เขาไปเก็บผลไม้ เก็บบลูเบอร์รี่ เพราะว่าหลังจากที่ทำนาหว่านข้าวไว้แล้ว เราไม่มีงานทำหลังหว่านข้าวเสร็จ ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน จะเป็นช่วงที่ว่าง ข้าวรอเก็บเกี่ยว พอว่างคนก็อยากไป ไปเก็บบลูเบอร์รี่ใช้เวลาแค่สองเดือน เห็นคนอื่นไปได้เงินมา ก็เลยอยากไปกัน เพราะคนในหมู่บ้านไปกันเยอะ บางคนก็ขาดทุน บางคนก็ได้เงิน คนได้เงินก็มีคนขาดทุนก็มีเป็นส่วนใหญ่ บางคนก็ได้แค่ 1-2 หมื่น หักค่าแรงงาน ค่าเหนื่อยออกแล้วก็ไม่คุ้มอยู่ดี แต่ก็ยังนิยมไปกัน เพราะเป็นช่วงที่เราไม่ได้ทำงาน”
ปัจจุบันกลุ่มที่ไปเก็บเบอร์รี่ที่ประเทศฟินแลนด์กลับมาแล้ว แต่การกลับมาของพวกเขาไม่ได้ดังที่ใจหวัง หากแต่มีหนี้สินที่เป็นภาระหนักอึ้งเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะการเดินทางต้องมีค่าใช้จ่าย มีต้นทุน และแหล่งทุนที่พวกเขาสามารถเข้าถึงเพียงไม่กี่แห่ง คือ ธกส. สหกรณ์ และเงินนอกระบบ ซึ่งเป็นเพียงความหวังเดียวของเกษตกร แต่พวกเขาโชคร้ายเจอกับการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมส่งผลทำให้มีภาระหนี้สินผูกพันหลังจากกลับมาบ้าน
“เป็นหนี้ ธกส. อยู่ตอนนี้ กลัวเขามาทวง กลัวมาก คิดมากแล้วก็ทะเลาะกันบ่อยกับสามี เร่งเร้าให้เขาไปหาเงินมาใช้หนี้อยู่แบบนี้แหละ สามีก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนมาใช้หนี้ หนี้นอกระบบก็ไปกู้มา หนี้กองทุนเงินล้านก็ไปกู้มา เป็นหนี้อยู่แบบนี้แหละ เป็นลูกโซ่เลย เอาตรงนั้นมาใช้ตรงนี้สลับกัน” ความกังวลของภรรยาผู้เสียหายหนึ่งในเพื่อนร่วมชะตากรรมของไพรสันติ บอกเล่าผ่านน้ำเสียงและแววตา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างแดนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการถูกทำให้จนที่ชาวบ้านตกเป็นเหยื่อกลุ่มค้าแรงงานข้ามชาติ และยังถูกหลอกซ้ำอยู่อย่างนี้ พวกเขาต้องสูญเสียที่ดินและมีหนี้สิ้นเพิ่ม แต่ยังมีอีกหลายคนที่ปล่อยให้เรื่องเงียบหาย
ถึงวันนี้แม้เวลาจะผ่านไป กว่า 3 ปี “ไพรสันติ” และชาวบ้านอีก 50 ราย ยังอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องบริษัทจัดหางาน และรอฟังผลอย่างมีความหวัง โดยพวกเขาต้องเดินทางไปขึ้นศาลที่ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งหวังว่าจะมีความคืบหน้าและได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง