ฟังเสียงประเทศไทย: อนาคตรถเมล์มหานคร

ฟังเสียงประเทศไทย: อนาคตรถเมล์มหานคร

ปิดตำนานเมล์ร้อนสาย 8 เดือน ส.ค.นี้

สาย 7 รถ ขสมก. วิ่งวันสุดท้าย 28 ก.พ.65 โอนให้เอกชนวิ่ง “รถแอร์”

1 ก.ค.นี้ สมาคมรถโดยสาร ลดเที่ยววิ่ง-หยุดเดินรถ เซ่นพิษน้ำมันแพง

หายไป ควบรวม เปลี่ยนมือ รื้อเส้นทาง ปรับเลขสายรถเมล์… นี่คือสถานการณ์รถเมล์ไทยกำลังเผชิญ และนำมาสู่ความกังวลของประชาชนผู้ใช้บริการ

แม้ “รถเมล์” จะเป็นบบระบบขนส่งมวลชนหลักของคนกรุงเทพฯ และมีผู้โดยสารหลายแสนคน ต่อวัน แต่ ขสมก. ก็ยังประสบภาวะขาดทุน คุณภาพการบริการ ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ ความปลอดภัย ยังถูกตั้งคำถาม ส่วนแผนปฏิรูปรถเมล์ ที่กรมการขนส่งทางบก ประกาศใช้เมื่อปี 2562 ก็มีคำถามจากผู้ใช้บริการจำนวนมากถึงทิศทางและอนาคตของรถเมลไทย

รายการฟังเสียงประเทศไทย จึงเปิดพื้นที่รับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อหาทางออก และนำไปสู่การแก้ปัญหาบนฐานข้อมูล (Data base) ในวงแลกเปลี่ยน เพื่อฟังเสียงประเทศไทย

00000

ระดมความเห็นคนออนไลน์

00000

ความเห็น Soundcheck #ฟังเสียงประเทศไทย : ขอ 3 คำ ร่วมแก้ปัญหารถเมล์ไทย เพียงสแกนผ่าน QR CODE หรือ คลิกลิงก์ https: wordcloud.csitereport.com addans?token=dbd55b1d14afeb1acf3c612e687ab76f

00000

ประวัติศาสตร์รถเมล์มหานคร

00000

ย้อนประวัติศาสตร์ ไปทำความรู้จักระบบขนส่งมวลชน หรือกิจการรถเมล์ในกรุงเทพ

เริ่มต้น เมื่อ ปี 2450 โดยนายเลิศ เศรษฐบุตร หรือ พระยาภักดีนรเศรษฐ ใช้ม้าลากจูงรถ เปิดบริการประจำทางสายแรกของประเทศในชื่อรถเมล์นายเลิศ วิ่งจากสะพานยศเส สี่พระยา จนถึงสีลม และจากสีลม ถึงประตูน้ำ ต่อมาปี 2456 พัฒนามาเป็นรถเมล์สองแถววิ่งแทนรถม้าลาก การที่รถเมล์ของนายเลิศทาสีขาวผู้คนจึงเรียกกันติดปากว่า “รถเมล์ขาว”

ปี 2475 การประกอบอาชีพการเดินรถโดยสารประจำทางได้ขยายตัวขึ้น เมื่อรัฐบาลมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี พร้อมทั้งได้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนคร และธนบุรี ตั้งแต่ ปี 2480 เป็นต้นมา มีรถเมล์วิ่งในกรุงเทพฯ มากขึ้น เพื่อรองรับจำนวนผู้คน กิจการ และธุรกิจต่าง ๆ นอกจากรถของเอกชน รัฐวิสาหกิจและราชการ ก็มาทำการเดินรถด้วย รวมมีผู้ประกอบการเดินรถโดยสารประจำทาง ในกรุงเทพฯ ขณะนั้น 28 ราย

ปี 2497 รัฐบาลออก พ.ร.บ.การขนส่ง เพื่อควบคุมกิจการรถเมล์ โดยต้องขอใบอนุญาตประกอบการขนส่ง บริษัทต่าง ๆ ได้สัมปทานเดินรถทั่วกรุงเทพฯ จำนวน 24 บริษัท มีสายการเดินรถ 46 สาย

ปี 2502 มีประกาศนโยบายงดการเดินรถรางไฟฟ้าทุกสายในกรุงเทพฯ เพราะจำนวนรถบนถนนมากขึ้น และรถรางวิ่งช้า ทำให้กีดขวางการจราจร และให้ยกเลิกรถ 3 ล้อ ที่ใช้แรงคนถีบ ทำให้รถเมล์ประจำทางเป็นที่ต้องการมากขึ้น มีรถวิ่งจากกรุงเทพฯ ถึงปริมณฑล เช่น ปากน้ำสมุทรปราการ สามพราน นนทบุรี และปทุมธานี มากถึง 105 สาย

ปี 2516 ในยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันขึ้นทั่วโลก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาในประเทศ กระทบค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบกิจการรถเมล์

ปี 2518 สมัยรัฐบาล หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มีการรวมกิจการรถโดยสารเป็นรัฐวิสาหกิจ เรียกว่า “บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด” เพื่อแก้ปัญหาการเดินรถทับเส้นทาง แย่งผู้โดยสาร และการบริการที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

แต่บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด ดำเนินการไปได้เพียงไม่นาน

ปี 2519 ในสมัยรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ออกพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้ง “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ” หรือ ขสมก. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม โดยรวมรถโดยสารทั้งหมดจาก บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด มาอยู่กับ ขสมก.

ขสมก. เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม มีภารกิจ จัดบริการรถโดยสารประจำทาง ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ตามนโยบายของรัฐบาลในด้านการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยไม่หวังผลกำไร

ปี 2559 มีมติ ครม. ให้ยกเลิกมติ ครม.เดิม เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 ที่ระบุให้ ขสมก.เป็นผู้เดินรถเพียงรายเดียว และรถร่วมฯ เอกชน จะต้องทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก. เปลี่ยนเป็นให้รถร่วม ขสมก. ขอใบอนุญาตกับกรมการขนส่งทางบกแทน ส่วน ขสมก.เป็นเพียงผู้ประกอบการเดินรถรายหนึ่ง

ข้อมูล เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2560 ระบุว่า ขสมก. บริการรถโดยสารประจำทาง วิ่งรับ-ส่งประชาชน ในเส้นทางต่าง ๆ รวม 457 เส้นทาง มีจำนวนรถ ทั้งสิ้น 14,336 คัน

00000

ปัญหาปัจจุบันรถเมล์มหานคร

00000

มาถึงวันนี้ รถเมล์ไทย ได้ให้บริการมานานกว่า 1 ศตวรรษ ก่อนที่จะตั้งคำถามถึงอนาคตของรถเมล์ไทย เรามามองปัญหากำลังเผชิญอยู่ ไปพร้อม ๆ กัน

  • ปัญหาหนี้สะสมแสนล้าน

ขสมก. ขาดทุนตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จากการใช้งบ 370 ล้านบาท ซื้อรถจากผู้ประกอบการรายเดิม 2,703 คัน มาใช้ในกิจการเดินรถ แต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพียง 329.20 ล้านบาท

ส่วนรายได้หลักของ ขสมก. มาจากค่าโดยสารที่ตั้งราคาไว้ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และมีแนวโน้มลดลง ตัวเลขจากปีงบประมาณ 2562 รายได้ค่าโดยสาร เฉลี่ยอยู่ที่ 11.3 ล้านบาทต่อวัน ส่วนปีงบประมาณ 2563 รายได้ ลดลงไปอยู่ที่ 9.2 ล้านบาทต่อวัน

ขสมก. มีผลดำเนินงานขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ฐานะทางการเงินขาดสภาพคล่องมาโดยตลอด ปัจจุบันมีหนี้สะสม กว่า 130,000 ล้านบาท

  • ปัญหารถเก่า ไม่มีคุณภาพ แต่ต้องจ่ายแพง

จากปัญหาขาดทุนและภาวะหนี้สิน ส่งผลต่อการจัดหารถโดยสารใหม่ มาทดแทนรถเก่า ที่ปลดประจำการ และทำให้ ขสมก.มีจำนวนรถไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน

ตุลาคม 2563 ถึงพฤษภาคม 2564 ขสมก. มีรถโดยสารประจำการ ทั้งหมด 3,005 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถที่มีอายุการใช้งานเกิน 20 ปี จำนวน 2,075 คัน คิดเป็นสัดส่วน 69% ของจำนวนรถประจำการทั้งหมด ซึ่งรถโดยสารเก่า ทรุดโทรม จึงมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ในอัตราที่สูงตามมา

  • รอรถนาน ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน

ปัจจุบัน ขสมก. มีรถโดยสารประจำการ จำนวน 2,885 คัน ลดลงจากเดิม ประมาณ 200 คัน เนื่องจากสิ้นสุดสัญญาเช่า และ ขสมก.ไม่สามารถนำรถออกวิ่งให้บริการได้ทั้งหมด เพราะต้องสำรองรถโดยสาร 5% สำหรับกรณีฉุกเฉิน ทำให้มีรถโดยสารออกวิ่งในแต่ละวัน ประมาณวันละ 2,740 คัน

นอกจากนั้น ขสมก. เองก็ยังขาดพนักงานขับรถโดยสาร อีกกว่า 700 คน

  • รถร่วมวิ่งทำยอด ไร้ความปลอดภัย

รถเมล์สาย 8 เส้นทางแฮปปี้แลนด์ สะพานพุทธ ขึ้นชื่อว่าเป็นเส้นทางที่ขับรถได้น่าหวาดเสียว และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า เนื่องจาก เป็นเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก แต่จำนวนรถไม่เพียงพอ ขสมก.จึงต้องเปิดให้เอกชนมาร่วมบริการ การที่มีรถเมล์หลายบริษัท ร่วมวิ่งใน 1 เส้นทาง แต่ไม่มีการแบ่งระยะเวลา และข้อกำหนดในการเดินรถที่ชัดเจน ทำให้รถเมล์แข่งกันทำยอด แย่งกันรับผู้โดยสาร เพื่อให้เกิดรายได้มากที่สุด เป็นที่มาของความไม่ปลอดภัย

ล่าสุด รถเมล์สายตำนานนี้ต้องปิดฉากลง หลังให้บริการเดินรถมากว่า 90 ปี โดยเป็น 1 ใน 77 เส้นทาง ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติสัมปทานเดินรถ ของรถร่วม ขสมก.

  • การปฎิรูปรถเมล์เที่ยวล่าสุด

แผนปฏิรูปรถเมล์ และนโยบายรถเมล์ 1 สาย 1 ผู้ประกอบการ ของกรมการขนส่งทางบก ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อปรับปรุงสายเดินรถ และทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการรถเมล์ที่มีคุณภาพ แต่การปรับโครงสร้างการเดินรถใหม่ เพื่อลดการทับซ้อนของรถเมล์ ทำให้รถเมล์หลายสายเริ่มหายไป ประชาชนได้รับผลกระทบ เพราะถูกลดตัวเลือกในการเดินทาง และบางคนต้องจ่ายค่าเดินทางแพงขึ้น ขณะที่ ค่าแรงขั้นต่ำ ยังคงเท่าเดิมมาตลอด 3 ปี

อีกหนึ่งปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น คือ การปรับเปลี่ยนหมายเลขสายรถเมล์ ซึ่งกรมการขนส่งทางบก ชี้แจงว่า เป็น แผนปฏิรูปเส้นทาง ตามแผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทาง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

เลขสายรถเมล์ใหม่ แบ่งเป็น 4 โซน ตามหลักการแบ่งพื้นที่การเดินรถ ของจุดต้นทาง ตามทิศของกรุงเทพมหานคร คือ เลขตัวแรก บอกเลขโซน และเลขตัวหลัง บอกเลขสายรถ

กรมการขนส่งทางบก ให้ข้อมูลว่า หมายเลขใหม่นี้ จะทำให้รู้ว่า รถเมล์สายนี้ มีต้นทางจากถนนสายใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ทุกกลุ่ม เพื่อให้เข้าใจว่า กำลังจะเดินทางจากไหนไปไหน

00000

เส้นทางอนาคตรถเมล์มหานคร

00000

ขณะที่ ระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ เต็มไปด้วยสารพัดปัญหา การขนส่งระบบราง อย่างรถไฟฟ้า ถูกให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ

หลังแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 4 ปี 2535 ถึง 2539 เริ่มมีโครงการก่อสร้างรถรางไฟฟ้า กทม. เริ่มลดความสำคัญของรถเมล์ แล้วมุ่งไปที่รถไฟฟ้าแทน มีการเพิ่มจุดเชื่อมให้ระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ เข้าหารถไฟฟ้ามากขึ้น

ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 12 ปี ระหว่าง ปี 2552 ถึง 2563 เป็นครั้งแรก ที่มีการแบ่งระบบขนส่งสาธารณะ ออกเป็น 2 ส่วน โดยชูให้ระบบรถบนราง หรือ รถไฟฟ้า เป็นระบบหลัก และให้ระบบรถบนถนน เช่น รถเมล์ เป็นระบบรอง

และแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556 ถึง 2575) แม้จะมีแผนปฏิรูปเส้นทางและคุณภาพรถเมล์ แต่รถไฟฟ้าได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของระบบขนส่งมวลชนหลัก ที่ กทม. ให้การสนับสนุนมากกว่า

ต้องยอมรับว่า แม้รถเมล์จะมีค่าบริการที่สอดรับกับรายได้ของประชาชนมากที่สุด แต่ก็ต้องแลกกับเวลาที่ต้องเสียไป ในการเผชิญรถติด ผลสำรวจของ Boston Consulting Group หรือ BSG ระบุว่า คนกรุงเทพฯ ต้องเสียเวลาไปบนท้องถนน นานถึง 72 นาทีต่อวัน ซึ่งเท่ากับเสียเวลาไปราว 24 วัน ต่อปี เนื่องจากมีรถยนต์วิ่งบนถนน มากถึง 5.8 ล้านคัน นับว่า เกินพื้นที่ที่ถนน สามารถรองรับได้ ถึง 4.4 เท่า

00000

3 ฉากทัศน์

00000

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และการก้าวไปข้างหน้าของรถเมล์ไทย รายการ ฟังเสียงประเทศไทย ชวนประชาชนผู้ใช้บริการรถเมล์  มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง และมองหาอนาคตรถเมล์มหานครร่วมกัน ในฐานะที่รถเมล์เป็นระบบขนส่งมวลชนที่ประชาชนควรเข้าถึงได้มากที่สุด โดยประมวลข้อมูลมาเป็น 3 ฉากทัศน์ ให้ลองเลือกโหวต

ฉากทัศน์ที่ 1 รัฐสนับสนุน ร่วมด้วยช่วยกัน

ขสมก. ยังคงเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ รองรับการเดินทางของผู้มีรายได้น้อย ทำให้รถเมล์เป็นบริการขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยปรับปรุงคุณภาพ การบริการ และขยายเส้นทางเดินรถให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

รัฐต้องลงทุนอุดหนุนมากขึ้น เพื่อให้ ขสมก. มีสภาพคล่องทางการเงิน และสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ ขสมก. ต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กรซึ่งมีขนาดใหญ่และต้นทุนการดำเนินงานสูง

ส่วนบริการของเอกชนได้รับการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน และมีการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น เช่น การมีตั๋วร่วม ทุกระบบ

มีหน่วยงานกลางกำกับดูแลคุณภาพ และวางแผนการพัฒนารถเมล์ โดยเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายบริการร่วมกับขนส่งมวลชนอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

000

ฉากทัศน์ที่ 2 เอกชนนำ แข่งขันเสรี

รัฐเน้นอุดหนุนขนส่งมวลชนระบบราง เพื่อเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งมวลชนหลัก และเปิดให้เอกชนรายใหญ่ เข้ามามีบทบาทให้บริการรถเมล์มากขึ้น

ราคาค่าโดยสาร มีการปรับให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาด้านการบริการ และการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อให้เดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ต้องอยู่ในระดับที่ประชาชนจ่ายได้

สำหรับผู้มีรายได้น้อย ยังคงมีบริการขั้นพื้นฐานของรัฐที่ทั่วถึง ครอบคลุม มีคุณภาพ และมีมาตรการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ให้เข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะทุกระบบ

มีหน่วยงานกลางเป็นผู้กำกับดูแลคุณภาพและการบริการ ทำให้เกิดการแข่งขัน และค่าบริการไม่สูงจนเกินไป

000

ฉากทัศน์ที่ 3 เอกชนจับมือรัฐ ประชาชนร่วมกำกับ

เอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมกับ ขสมก. มากขึ้น เพื่อให้การบริการที่ครอบคลุมความต้องการ

โดยมีกลไกที่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และส่งเสริมผู้ประกอบการรายเล็ก ให้เดินรถได้อย่างมีประสทธิภาพ ขณะที่ ขสมก. ต้องปรับแผนการให้บริการเดินรถใหม่ และมีแผนสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม

มีหน่วยงานกลางเป็นผู้กำกับดูแลอย่างมียุทธศาสตร์ และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นและวางแผนการพัฒนาโครงข่ายรถเมล์ ที่เชื่อมโยงกับบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ

แต่การดำเนินการยังคงใช้งบประมาณของรัฐ ขณะที่กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม นั้นทำให้ต้องใช้เวลามากในการตัดสินใจ

00000

ระดมมุมมอง ต่อภาพอนาคต

00000

ดูคลิปเต็ม : เสวนาฟังเสียงประเทศไทย: มองหาอนาคต รถเมล์มหานคร https: www.facebook.com citizenthaipbs videos 6478632395498577

000

พูดคุยและร่วมรับฟังข้อมูลในเสวนาฟังเสียงประเทศไทย: มองหาอนาคต รถเมล์มหานคร กับ

O รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

“ระบบขนส่งสาธารณะในมุมผมรัฐต้องเป็นคนทำ รัฐต้องเป็นหลีดเดอร์ ในส่วนเอ็กซ์ตร้า รถยนต์ส่วนตัว ให้ภาคเอกชนเขาทำ แล้วเอกชนจะมาช่วยได้ไหม ได้ โมเดลประเทศไทยก็ทำ เอกชนมาช่วยได้ ภายใต้อัตราและมาตรฐานในฐานะบริการสาธารณะ รัฐสนับสนุนพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก”

“ในการให้บริการของรัฐในระบบโครงสร้างใหญ่ให้คนทั้งประเทศ วันที่ภาคเอกชนเข้ามาได้ ก็ต้องให้เขาเข้ามาในเกณฑ์ของรัฐ แต่ ขสมก. หายไปไม่ได้ ขสมก.ยังต้องทำหน้าที่บาลานซ์ในการบริการต่างๆ เพื่อให้ภาคเอกชนดึงราคาไว้ เหมือนกรณีที่มีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นมากมาย แต่การเคหะแห่งชาติยังต้องอยู่ เพราะทำหน้าที่ในบางเงื่อนไข ในบางสถานการณ์ และเป็นการแข่งกับภาคเอกชนไม่ให้มีการผูกขาด” รศ.ดร.พนิต

000

O คุณวิภาวี กิตติเธียร จากทีม Mayday

“3 ฉากทัศน์นี้ ความต่างของมันเลยคือเราเชื่อมั่นในใครให้มามีอำนาจ มีความสามารถในการบริหารจัดการมากกว่ากัน สุดท้ายประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบเพิ่มเติมได้ด้วย

มีกี่คนแล้วที่ย้ายออกจากกรุงเทพฯ เพราะเบื่อรถติด คนกรุงเทพฯ ที่ไปอยู่เชียงใหม่ คนกรุงเทพฯ ที่ไปอยู่ภูเก็ต มีคนกี่กลุ่มที่คิดแบบนั้น เมืองของเราเองให้บริการประชาชนและตอบสนองความต้องการได้มากน้อยแค่ไหน วิถีชีวิตเราเปลี่ยนไป เราเป็นโกลบอลไลเซชันมากขึ้น

3 ฉากทัศน์นี้มันจึงอยู่ที่ว่า เราคิดว่าใครคือผู้บริการของเรา ที่เราเชื่อมั่น สุดท้ายแล้วเมืองมันสามารถตอบโจทย์ความต้องการเราได้ ทำให้เหตุผลที่เราย้ายไปที่อื่นเพราะเราชอบทะเล ไม่ใช่เพราะเราเบื่อรถติด” วิภาวี

000

O จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

“มันเหมือนเราฟังเพลง ก็จะมีเสียงแหลม เสียงกลาง เสียงทุ้ม ดังนั้นจะเป็นเสียงแหลม เสียงกลาง เสียงทุ้ม ผมมองว่ามันเป็นความผสมผสานให้เกิดความกลมกล่อมที่สุด”

“รัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมหรือภาควิชาการ มีบทบาทของใครของมัน ทำอย่างไรเราจะบูรณาการความร่วมมือกันได้ทั้ง 3 ภาคส่วนนี้ เพราะเป้าหมายสุดท้ายของโครงการนี้คือให้ประชาชนอยู่ดีกินดี เดินทางสะดวก ปลอดภัย มีเงินเต็มกระเป๋า ภาคเอกชนก็มองว่าเป้าหมายของเขาคือมิชชั่นด้านผลกำไร เป้าหมายภาครัฐคือต้องกลมกล่อมและประณีประนอมที่สุด

เราก็อยากจะเป็นผู้นำนะ แต่เราจะนำอย่างไรในเมื่อเรายังไม่พร้อม เราไม่จำเป็นต้องชนตลอด เราถอยได้ ถ้าการถอยครั้งนี้มันทำให้ประชาชนอยู่บนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

“ขสมก. เราเองเป็นหน่วยงานที่คิดว่าอย่างไรก็ยุบยาก การยุบไม่ได้เป็นการแปรรูป ไม่ได้เป็นการแปรสภาพ แต่ ขสมก.เราเองถือว่าเป็นหน่วยงานที่ต้องจัดให้มีบริการสาธารณะรองรับประชาชนทุกคน สิ่งที่เราต้องทำคือการพัฒนาการให้บริการที่ดีที่สุด อย่างต่อเนื่อง” จอมดวง

000

00000

ชวนโหวต

00000

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกฉากทัศน์ “อนาคตรถเมล์มหานคร” ผ่านแบบสอบถามด้านล่างนี้

https: thailandlive.csitereport.com vote?token=fbc7b2972dd87f12d9026b2308775944

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ