นั่งรอรถมา ชะเง้อดูเลขให้ดี หาที่นั่งให้มั่นคง แล้วรอถึงปลายทาง
การเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในแต่ละวัน โดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางหรือ “รถเมล์” ด้วยราคาที่เป็นมิตรและขับผ่านเส้นทางหลายสาย เลยเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่คนเลือกใช้เวลาเดินทางไปจุดหมายต่าง ๆ ของตนเอง
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงรถเมล์เรามักจะได้ยินถึงปัญหา อุปสรรคระหว่างการใช้อยู่เสมอ ทั้งตัวรถที่เก่าผุพัง พื้นเป็นรูมองทะลุเห็นถนน เป็นรถร้อนที่ทำให้คนหงุดหงิดระหว่างนั่ง ยิ่งฝนตกยิ่งอบอ้าว หรือการบริการของคนขับและประเป๋ารถเมล์ที่ไม่สุภาพ เราล้วนได้ยินสิ่งเหล่านี้จากผู้ใช้รถเมล์อยู่เสมอ และทำให้การเดินทางนั้นน่าเบื่อและไม่สนุกอีกต่อไป
ในประเทศไทย มีหน่วยงานที่ดูแลรถโดยสารประจำทางอยู่หลัก ๆ 2 หน่วยงาน
- รัฐวิสาหกิจ : องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก. มีเส้นทางเดินรถรวม 348 เส้นทาง มีจำนวนรถโดยสารทั้งสิ้น 7,478 คัน (ณ ธันวาคม 2564) แยกประเภทออกเป็น
1. รถธรรมดา (ครีม-แดง)
8 บาท ตลอดสาย
2. รถทางด่วน (ครีม-แดง) 10 บาท ตลอดสาย
3. รถบริการตลอดคืน (ครีม-แดง) 9.50 บาท ตลอดสาย
4. รถปรับอากาศ (ครีม-น้ำเงิน) ตั้งแต่ 12 บาท ขึ้นไปตามระยะทาง
5. รถปรับอากาศยูโรทู (เหลือง-ส้ม) ตั้งแต่ 13 บาท ขึ้นไปตามระยะทาง
6. รถปรับอากาศ (PBC) (ขาว) ตั้งแต่ 13 บาท ขึ้นไปตามระยะทาง
7. รถปรับอากาศ ใช้ก๊าซ (NGV 489) (ฟ้า)
2. เอกชน : Smart Bus/ Thai Smile Bus/ Grand City Bus/ เอกชนรายอื่น
ทั้ง Smart Bus, Thai Smile Bus และ Grand City Bus เป็นรถโดยสารประจำทางแบบใหม่ ขับด้วยพลังงานไฟฟ้า มีแอร์ปรับอากาศ ตัวรถกว้างและมีที่นั่งหลายที่ และมีชานต่ำให้สำหรับคนพิการใช้ ถือเป็นการพัฒนาใหม่ที่ดีที่ช่วยให้คนสามารถใช้รถเมล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยราคาค่าโดยสารเริ่มต้นตั้งแต่ 15 บาทขึ้นไป ตามระยะทาง
ความท้าทายระหว่างเดินทาง ก่อนจะถึงปลายทาง
การเดินทางด้วยรถเมล์ในแต่ละครั้ง ต้องเตรียมกายและใจให้พร้อม เพราะรถเมล์แต่ละสายก็มีความแตกต่างกันไป ทั้งลักษณะของรถเมล์ที่ต้องลุ้นว่าจะเป็นแบบร้อนหรือแอร์ ใหม่หรือเก่า อาจจะเจอคนขับและกระเป๋ารถเมล์ที่มาเป็นครอบครัว หรือเราอาจอยู่ในการแข่งขันระหว่างรถเมล์สองคันก็ได้ ฉะนั้นการขึ้นรถเมล์จึงเป็นเหมือนการผจญภัยอย่างหนึ่งที่เราไม่รู้เลยว่าจะเจอกับอะไรบ้าง
“ป้ายรถเมล์ที่ใกล้บ้านที่สุดมีสาย 42 นั่งไปลงพระราม 2 จะมีรถแอร์น้อยมาก ๆ ส่วนใหญ่เลยคือ รถเมล์พัดลมซึ่งร้อนมาก สภาพคือเก่า สกปรก บางทีคนขับก็ไม่สุภาพแต่เลือกไม่ได้ เพราะรถเมล์แอร์มาแบบสุ่มดวงมาก ส่วนรถเมล์สาย 93 นั่งไปลงพระราม 1 ยังดีที่มีรถเมล์แบบแอร์เย็น คันสีฟ้า ถือว่าใหม่แต่ชอบขับเบรคแบบจึ้ก”
ปริม เพื่อนสนิท
“เรานั่งรถเมล์มาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต ราคา 6.50 บาท จนมา 10 บาท ขึ้นทีไรหลับตลอดเพราะร้อนแล้วรถติดมาก ยิ่งเป็นคันเล็กสีส้มจะขับเร็วและอันตรายมาก ต้องจับแน่นๆ เคยเจอน่าจะสาย 77 ขับเร็วมากเหมือนแข่งกันกับรถเมล์อีกคันนึงแล้วเบรคกะทันหันหัวทิ่มลงไปกับพื้นเลยดีอยู่ใกล้รพ. เจอบ่อยมากพวกขับเร็ว ๆ อะ ถ้าจะให้ดีหน่อยก็ขึ้นคันแดงถูกกว่าแต่ก็ขับช้ากว่าคนเยอะด้วย สภาพรถเมล์แต่ละคันก็คือเก่ามาก เห็นตอนเด็กยังไงตอนนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น ดีหน่อยก็คือเป็นรถแอร์”
เกตุ สาวผู้นั่งรถเมล์ตั้งแต่เด็กจนโต
จากข้างบน เป็นเสียงสะท้อนปัญหาของกลุ่มคนที่ใช้รถเมล์ในการเดินทาง ส่วนใหญ่คือ สภาพของรถเมล์ที่เก่าและเป็นแบบร้อน ถึงปัจจุบันจะมีรถเมล์ใหม่ที่เป็นแอร์แต่ก็มีน้อย และลักษณะการบริการของคนขับรถและกระเป๋ารถเมล์ที่ไม่สุภาพ ขับเร็วหรือแข่งกับรถคันอื่น ทำให้เสี่ยงหรือเกิดอันตรายได้ระหว่างอยู่บนรถ
กิจกรรมแก้เหงา เราจะไม่เบื่อบนรถเมล์
เมื่อขึ้นมาบนรถเมล์ สแกนหาที่นั่งที่รู้สึกสบายใจ รอกระเป๋ารถเมล์เดินมาพร้อมเสียงของก๊อบ ก๊อบของกระบอกตั๋วเก็บเงิน บอกจุดหมายที่จะลงแล้วจ่ายค่าโดยสาร
ระหว่างทางเราเห็นว่า ผู้โดยสารแต่ละคนได้สร้างโลกของตัวเองขึ้นมา เพื่อหลบหนีจากโลกแห่งความจริง บางคนเลือกฟังเพลย์ลิสต์ที่ชื่นชอบ บางคนนอนรอจุดหมายปลายทาง หรือมองนอกหน้าต่างเพื่อชมทิวทัศน์ ต่างคนต่างทำกิจกรรมของตนเองระหว่างรอจุดหมาย
“นอนอย่างเดียวระหว่างรถติด แถมอากาศร้อนด้วย ขนาดตื่นมาอีกทียังไม่ถึงไหนเลย”
“ทำได้แค่ฟังเพลงเลย ไม่กล้าทำอย่างอื่น เพราะกลัวเลยป้าย”
“พอขึ้นรถมา เราจะเปิดโทรศัพท์ เข้าแอพดูหนังหรือฟังเพลงที่ชอบ ไม่ค่อยคุยกับใครถึงแม้เพื่อนหรือคนรู้จักนั่งมาด้วยกัน”
ในอีกมุมจะเห็นว่า การใช้รถเมล์ของผู้โดยสารแต่ละคนต่างมีกิจกรรมของตนเองระหว่างนั่งรอไปยังจุดหมายปลายทาง โดยการฟังเพลง การนอนหรือดูหนังก็ตาม รถเมล์จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้เห็นถึงความหลากหลายของวิธีการหลบหนีจากปัญหาของรถเมล์ที่เกิดขึ้นในสังคม
ผู้คนมากมาย ที่เคลื่อนตัวไปบนรถเมล์
สถิติในปี พ.ศ. 2563 พบว่า จำนวนผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง มีทั้งหมด 773,345 คน/วัน (ข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2556- พ.ศ. 2563) แบ่งเป็น
- รถปรับอากาศ 376,569 คน
- รถธรรมดา 396,866 คน
แม้จำนวนผู้ใช้จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ก็ยังคงเป็นขนส่งสาธารณะที่คนใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
ข้อมูลจาก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
ในการเดินทางจะเห็นว่า “ระหว่างทาง” นั้นมีเรื่องเล่าและเหตุการณ์ที่ทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหารถเมล์ ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน และไม่ตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบัน ผ่านประสบการณ์ของผู้คนที่ใช้รถเมล์นั่งไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งสภาพรถที่เก่า รถติด และการบริการ เรามักจะเห็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางและปลายทาง แต่ระหว่างทางเองก็มีปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขเช่นกัน
ผู้ว่าฯ คนใหม่ของกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เองมีนโยบายที่จะพัฒนาด้านขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะส่วนของรถเมล์โดยจะปรับปรุงป้ายรถเมล์ทั่วกรุงและพื้นที่โดยรอบ, ให้ข้อมูลเส้นทางเดินรถแต่ละสาย, ติดตั้ง CCTV เพื่อความปลอดภัย, เพิ่ม/ปรับเส้นทางวิ่งสาธารณะ, ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้ทุกกลุ่ม
หากนโยบายและการแก้ปัญหาจากข้างต้นเกิดขึ้นจริง จะทำให้เราที่เคยได้ยินเรื่องเล่าระหว่างการเดินทางที่มีแต่ปัญหาแสนจะน่าเบื่อหมดไป และเปลี่ยนเป็นเรื่องเล่าระหว่างทางที่สนุกและน่าจดจำของผู้คนแทน