ฟังเสียงประชาชนก่อนสังคมจะลุกเป็นไฟภายใต้อำนาจพิเศษ

ฟังเสียงประชาชนก่อนสังคมจะลุกเป็นไฟภายใต้อำนาจพิเศษ

สาคร สงมา มูลนิธิคนเพียงไพร
Climate Watch Thailand

อำเภอเนินมะปราง 1 ใน 9 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก ห่างจากจังหวัดพิษณุโลกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือบนเส้นทางหมายเลข 11 และเส้นทางหมายเลข 1295พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีวิถีชีวิตพึ่งพาแหล่งธรรมชาติ ปลูกไม้ผลเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ปลูกข้าวไว้กินเหลือขาย มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เทือกเขาหินปูน เขาลูกโดดรูปลักษณะแปลกตาจนมีคนขนานนามว่า“คุนหมิงเหมืองไทย” นับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความสำคัญลำดับต้นๆของจังหวัดพิษณุโลก

 

ชุมชนเขาเขียว ชุมชนเล็กๆที่มีที่ตั้งอยู่ในรอยต่อ 3 จังหวัด พิษณุโลก, พิจิตร, เพชรบูรณ์ การทำนาปลูกไม้ผล มะม่วงเพื่อส่งออก อาศัยอยู่กับธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีครัวเรือนที่อยู่อาศัยในชุมชน 230 ครัวเรือน  พื้นที่ทางการเกษตร 3,500 ไร่ พื้นที่ป่าชุมชนเขาเขียว 1,800 ไร่  เป็นที่มาของชื่อชุมชนเขาเขียวจากการที่มีนกเขาเขียวอย่างชุกชุมในอดีต เป็นแหล่งผลิตอาหารแหล่งที่สำคัญของจังหวัดพิษณุโลก มีประวัติการตั้ง ถิ่นฐานทั้งคนในพื้นที่และคนอพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน พ.ศ.2500 ในอดีตถือว่าเป็นพื้นที่  ชุกชุมด้วยโจรผู้ร้าย มีคนแก่แถวละแวกใกล้เคียงบอกว่า “ถ้าวัวควายหายในอดีตให้ไปตามไถ่คืนที่ชุมชนรอยต่อ 3 จังหวัด”ชุมชนเขาเขียวยังอยู่ในพื้นที่ที่มีการสู้รบความขัดแย้งทางความคิดในสมัยคอมมิวนิสต์และที่สำคัญพื้นที่เขาเขียวเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตมกฎกระทรวงฉบับที่ประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนในลุ่มน้ำ    วังทองฝั่งซ้าย ย่อมมีความหมายว่าอำเภอเนินมะปรางส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ชุมชนเขาเขียว   ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง ชุมชนสามารถสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้กับชุมชนตนเอง และเป็นแบบอย่างของชุมชนอื่นๆ

สภาปฏิรูปแห่งชาติกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน คือการทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2567 ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 กำหนดทิศทางการพัฒนาที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทย จากประเทศที่มีรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของประเทศไทย

แนวทางบางประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ “การสร้างความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เช่น การรักษาทุนทางธรรมชาติ, การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม,การลงทุนและการสร้างงานสีเขียว, การเพิ่มความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติคือแนวทางที่สร้างความหวังให้กับชุมชนที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นทิศทางและแนวทางสอดคล้องกับชุมชน

ชุมชนเขาเขียวต้นแบบของความ“มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” การทำนาเพื่อเก็บข้าวบริโภคเหลือขายการทำพืชไร่ในฤดูแล้งการปลูกไม้ผลเป็นพืชเศรษฐกิจการพัฒนาการปลูกมะม่วงเพื่อส่งออก อาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ พึ่งพิงอาหาร ผัก จากป่าและทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าจากการรักษาป่าธรรมชาติในรูปแบบ ป่าชุมชน เพื่อเป็นแหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยวชุมชน และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเพื่อลดโลกร้อน รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัว 451,501 บาทต่อปีต่อครัวเรือน และเป็นการผสมผสานชีวิตวัฒนธรรม มาใช้ประโยชน์ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ แห่เทียนขึ้นเขาเขียวรักษาป่าชุมชน ในขณะที่พื้นที่เขาเขียวมีปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ชุมชนยังปรับตัวและสามารถสร้างชุมชนที่น่าอยู่ ชุมชนเขาเขียว ชุมชนเนินมะปรางมุ่งสู่ความมีสุข มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ประเทศไทยตามสภาปฏิรูปแห่งชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 

ขณะการปฏิบัติในพื้นที่ที่สวนทางกัน การให้สัมปทาน อาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ 30 ฉบับ รวม 300,000 ไร่ ในพื้นที่พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 และที่สำคัญพื้นที่ชุมชน  เขาเขียว รวมอยู่ในพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษ ในขณะที่บทเรียนที่ชุมชนเขาหม้อในพื้นที่ตำบลเขาเจ็ดลูก  อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ประสบปัญหาได้รับผลกระทบจนคนในชุมชนอพยพออกจนกลายเป็นหมู่บ้าน วัด โรงเรียนร้าง จากที่เคยเป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์ปัจจุบันมีบ้านเรือนเพียง 4 หลังที่อาศัยอยู่จริง ข้าว ผัก น้ำ ไม่สามารถบริโภคได้ ซ้ำร้ายจากการตรวจร่างกายของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ของหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ พบสารโลหะหนักในร่างกายของคนที่อาศัยอยู่รอบเหมืองทองอัคราไมนิ่ง นี่คือบทเรียนที่ชุมชนได้ไปเรียนรู้ เยี่ยมเยือนคนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองที่ชุมชนเขาหม้อที่เป็นชุมชนใกล้เคียง

เสียงของคนเขาเขียว การรวมตัวเป็นกลุ่มอนุรักษ์เขาเขียว การปลูกป่า บวชป่า “แห่เทียนขึ้นเขา” การประสานกับนักวิชาการ  ในพื้นที่ การประสานกับภาคี การยื่นหนังสือคัดค้านต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  การร่วมรณรงค์ทั้งภายนอกชุมชนและการพัฒนาความเข้าใจของคนภายในทั้งชุมชนใกล้เคียงกับกลุ่มเยาวชน นี่คือการดิ้นรนเพื่อปกป้องชุมชนเขาเขียว พร้อมกับการเกิดความขัดแย้งภายในชุมชนระหว่างกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มผู้คัดค้านเหมืองทองในเวทีรับฟังความคิดเห็น ในขณะเดียวกันการรุกคืบของอัคราไมนิ่งร่วมกับทหารพยายามเข้าไปทำความเข้าใจกับคนในชุมชนถูกชาวบ้านปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงการตรวจพบโลหะหนักในร่างกายของคนรอบเหมืองทองคำ ยิ่งทำให้คนเขาเขียวตื่นตระหนกและเริ่มสื่อสารให้สังคมรับรู้ รวมทั้งผนึกกำลังกับคนเนินมะปราง คนทั้งประเทศรวบรวมรายชื่อคัดค้านเหมืองทองคำและพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่

รจนา นันทกิจ สารวัตรกำนันตำบลวังโพรง แกนนำกลุ่มอนุรักษ์เขาเขียวกล่าวว่า “เขาเขียว เนินมะปรางอยู่ใกล้เทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นแนวเขาหินปูนสวยงาม โดยเฉพาะเขาเขียวเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ มีอาชีพทำนาและส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้ หลายครอบครัวมีรายได้เป็นแสน จากการปลูกมะม่วง เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพิษณุโลก เสียดายความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงามของที่นี่เนินมะปรางเหมาะกับพื้นที่ทำการเกษตรและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตรและธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และยืนยันที่จะปกป้องเขาเขียวคัดค้านเรื่องเหมืองแร่ทองคำพร้อมกับพี่น้องในชุมชนด้วยชีวิต”  นี่คือบทสรุปเวทีเสียงประชาชนคนเนินมะปรางร่วมกำหนดอนาคตตนเองที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม   การพัฒนาของผู้ได้รับผลกระทบในอนาคตอย่างแท้จริง

การรวบรัดของรัฐบาลในปัจจุบัน การให้อาชญาบัตรพิเศษ การจัดรับฟังความคิดเห็นในขณะพื้นที่  ที่จะออกอาชญาบัตรพิเศษ 12 จังหวัด โดยกำหนดทำ 2 ครั้งในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและพิจิตร ทำให้เกิดคำถามกับสังคม จนทำให้เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ  เลื่อนออกไป แต่ในขณะเดียวกันการเสนอร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ……  ที่คณะรัฐมนตรีรับหลักการไว้     เมื่อ 21 ตุลาคม 2557 และมีสาระสำคัญเรื่องเขตทรัพยากรแร่ (Mining Zone) เป็นการเอื้อให้เกิดการขุดเจาะในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่หวงห้าม และที่สำคัญพื้นที่อำเภอเนินมะปรางมีที่ดินที่ไม่มีกรรมสิทธิ์

วิสัยทัศน์ระยะยาวของประเทศไทยและข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนคนเนินมะปราง เขาเขียว “มีความสุข มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มีรูปธรรมที่จับต้องได้และสามารถขยายเป็นต้นแบบของสังคม เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่การพัฒนาที่ไม่ได้พัฒนากำลังสวนทางกับเป้าหมายใหญ่ของประเทศ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การให้สัมปทานอาชญาบัตรพิเศษเหมืองแร่ทองคำ การให้สัมปทานให้ทำเหมืองแร่และการออกกฎหมายที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นฐานการผลิต เพื่อคนส่วนน้อย คือการทำลายวิถีชีวิตชุมชนเป็นการทำลายเป้าหมายระยะยาวของประเทศไทย คนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ต้องการ พระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ และให้ยุติการสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดพิจิตรที่ทำให้ชุมชนรอบเหมืองล่มสลาย สารเคมีตกค้างในพืชผลทางการเกษตรและแหล่งน้ำธรรมชาติ

กระบวนการมีส่วนร่วมที่ทำให้คนในสังคมแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม มีข้อเสนอและคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวจากนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการทำเขตเศรษฐกิจ การให้สัมปทานเหมืองแร่โปแตส เหมืองทอง เป็นแนวทางที่ไม่บรรลุวิสัยทัศน์ในระยะยาวของประเทศไทยได้

การคำนึงถึงเสียงและความต้องการของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในบรรยากาศพิเศษภายใต้อำนาจพิเศษที่ตัดสินใจเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นแนวทางที่คลี่คลายความขัดแย้งลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมฟังเสียงประชาชนก่อนที่สังคมจะลุกเป็นไฟภายใต้อำนาจพิเศษ อำนาจพิเศษถ้าใช้ เพื่อเอื้อประโยชน์กับพวกพ้อง กับกลุ่มทุนจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งและสร้างความเหลื่อมล้ำไม่รู้จบ

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ