Climate Change: ยุทธศาสตร์รับมือและบทบาทรัฐสภาไทย

Climate Change: ยุทธศาสตร์รับมือและบทบาทรัฐสภาไทย

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มเข้าสู่ระดับวิกฤต หากไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทย จึงตื่นตัวในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศ สู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และ Thai Climate Justice for All (TCJA) สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนา “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ยุทธศาสตร์ของไทยและบทบาทของรัฐสภา” เมื่อวันอังคารที่ 21 มิ.ย.2565

สัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความร่วมมือจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยให้ก้าวหน้า โดยเฉพาะการสร้างโอกาสในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) จากฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของไทย

จิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ยุทธศาสตร์ระยะยาว การพัฒนาสู่คาร์บอนต่ำของประเทศไทย

จิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อเดือน พ.ย. ค.ศ. 2021 ว่าไทยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 สผ.ได้เร่งแปลงเป้าหมายดังกล่าวให้เป็นแผนงานรูปธรรม เช่น ปรับยุทธศาสตร์ระยะยาวการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 จากระดับปกติภายในกรอบเวลาปี ค.ศ. 2030  

จิรวัฒน์ ระติสุนทร ได้อภิปรายว่า การยกระดับยุทธศาสตร์ระยะยาวดังกล่าวให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อทั้งสภาพแวดล้อมและบทบาทเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากนานาชาติหรือการกีดกันทางการค้า เช่น ในอนาคต สหภาพยุโรปอาจพิจารณาคิดราคาคาร์บอนที่ประเทศเจ้าของสินค้าปล่อย ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวและเดินหน้าพัฒนาอย่างจริงจังโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงงบประมาณจาก ส.ส. ส.ว. ให้มีส่วนในการพิจารณางบประมาณให้พึ่งพาพลังงานสะอาดมากขึ้น

จิรวัฒน์ ให้ข้อมูลว่าในปี 2019 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และคาดว่าจะปล่อยเพิ่มขึ้นจนถึงปริมาณสูงสุดที่ 368 ล้านตันคาร์บอนฯ ในปี ค.ศ. 2025 ซึ่งหลังจากรัฐบาลไทยประกาศเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 หมายความว่าในอีก 43 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องลดการปล่อย

เกียรติ สิทธีอมร รองประธานคณะกรรมการการต่างประเทศ สภาผู้เเทนราษฎร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความท้าทาย ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ 

เกียรติ สิทธีอมร รองประธานคณะกรรมการการต่างประเทศ สภาผู้เเทนราษฎร ระบุว่า เรื่องสภาพภูมิอากาศเป็นโจทย์ใหญ่ระดับประเทศ การออกกฎหมายที่ดีที่สุดสักฉบับ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะต้องใช้ทรัพยากรบุคคลแต่ละกระทรวง ภาคประชาชน เอกชน รวมทั้งเทคโนโลย เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบโจทย์ ซึ่งทั้งหมดต้องอยู่กรอบเวลาที่ไม่สายเกินไปด้วย

“ปัจจุบันทิศทางแผนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเขียนไว้ชัด และทำตรงตามแผนทุกครั้ง แต่ยังดีไม่พอ เพราะยังไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง งบไม่เคยตรงแผน แผนไม่เคยตรงงบ และงบไม่มีวันที่จะพอ”  

เกียรติ สิทธีอมร  ระบุเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องในประเทศเท่านั้น แต่เรื่องระหว่างประเทศยังเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันระหว่างประเทศว่า ถ้าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งกันไว้ มันจะเกิดอะไรขึ้น พร้อมเสนอว่า ส่วนแรก  ประเทศไทยต้องแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายกรณีเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน โดยออกเเบบ business model ที่ เป็น good business  เข้าไปแก้ไขปัญหา เเล้วปล่อยแบงค์ให้กับธุรกิจสีเขียว ถ้าทำเช่นนี้ได้ เอกชนจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เสนอข้อคิดเห็นต่อหมวดต่าง ๆของ ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไว้อย่างละเอียดในร่างกฎหมายดังกล่าว ดังนี้ 

หมวดแรก ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญแค่การทำรายงานบัญชีก๊าซแต่ยังไม่มีการดำเนินการตามที่ข้อตกลงปารีสบอก ขาดเจตนารมณ์เป้าหมาย หากเทียบกับ Climate Change Act (2008) ของอังกฤษ 

ในหมวดแรกได้ระบุการแบ่ง quarter แต่ละปีอย่างชัดเจนว่า อังกฤษมีเป้าหมายจะลดก๊าซลงอย่างไร กี่ปี และจะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่จะต้องรับผิดชอบ และหากเมื่อเทียบกับปี 1990 จำนวนก๊าซจะต้องลดน้อยลง 100% เมืองไทยควรจึงปักธงเป้าหมายดังกล่าวนี้ในร่าง พ.ร.บ. เพื่อให้แผนงานต่าง ๆ มีจุดเป้าหมายเดียวกัน

หมวดสอง การตั้งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ควรมีคณะกรรมการที่ขับเคลื่อนนโยบายและแผนการเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Emissions เพิ่มอำนาจหน้าที่หน่วยงานที่ดำเนินการและปฏิบัติตามนโยบาย หรือ หน่วยงานวิชาการ กลไกการติดตามผลการดำเนินงานโดยภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาคประชาสังคมที่จะคอยติดตามผล

หมวดสาม แผนแม่บท เมืองไทยมีแผนแม่บทอยู่แล้วสำหรับการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายนี้ควรทำแผนให้ชัดเจน มีรูปธรรมมากขึ้น

หมวดสี่ ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก พ.ร.บ. ควรเปิดเผยข้อมูลรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ของแต่ละโรงงานจากภาคองค์กร

หมวดห้า การลดก๊าซเรือนกระจก ขาดการระบุทิศทางกำหนดที่ชัดเจนว่าจะดำเนินอย่างไร ไม่มีมาตรการหรือกลไกสำหรับภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เทียบกับยุโรป มีการใช้มาตรการ European Union Emission Trading Scheme (EU-ETS) ระบุไว้

หมวดหก การปรับตัว ควรกำหนดมาตรการเชิงรุกให้สอดคล้องกับผลการประเมินความสูญเสียและความเสียหาย การพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยในการปรับตัว เพิ่มศักยภาพของประชาชนในการปรับตัวและสร้างสังคมที่ยืดหยุ่น จัดการระบบนิเวศ ความหลากหลายชีวภาพ

หมวดเจ็ด มาตรการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน

บทเฉพาะกาล ควรใส่ประโยชน์ของการมี พ.ร.บ. นี้ ยกระดับร่างกฎหมายนี้ เชื่อมโยงเนื้อหากับความตกลงปารีส การเติบโตทางเศรษฐกิจและลดก๊าซให้สอดคล้องกัน

นิติพล ผิวเหมาะ โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร

ด้าน นิติพล ผิวเหมาะ โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า รัฐบาลไทยจากอดีตถึงปัจจุบันไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเลย เห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ตัวอย่างเช่นในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลตั้งงบด้านสิ่งแวดล้อมไว้แค่ 3.9% ของวงเงินงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท โดยให้งบประมาณกรมควบคุมมลพิษจัดการกำจัดขยะในทะเลหลักแสนบาทเท่านั้น

ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความขัดแย้ง จากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัจจุบันนี้ วิกฤตจากสภาวะภูมิอากาศ (Climate Crisis) เปลี่ยนแปลงเป็นวาระระดับชาติที่ทั่วทั้งโลกให้ความสำคัญและตื่นตระหนักกับการแก้ไข อย่างไรก็ดี บทบาทหน้าที่ในการรับผิดชอบการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละชาติหรือประเทศนั้นวางอยู่บนพื้นฐานและปัจจัยที่แตกต่างกัน หรือที่เรียกว่า Common But Differentiated Responsibilities (CBDR)

การวางนโยบาย หรือร่างกฎหมายภายใต้ปัจจัยดังกล่าวนี้ จึงเป็นโจทย์ที่น่าพิจารณาว่าสภาไทยจะออกแบบนโยบายเพื่อรับมือกับข้อถกเถียงระดับโลก และรับมือกับช่องว่างของการขับเคลื่อนต่อปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ไม่เป็นธรรมได้อย่างไร

ดร. อัศมน ลิ่มสกุล จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า ประเทศไทยมีการศึกษาเรื่องความขัดแย้งจากผลกระทบสภาพภูมิอากาศน้อยมาก ขณะเดียวกันโดยในประเทศไทยเองยังมีกลุ่มคนชายขอบ เกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มสตรี ชนเผ่าเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะได้รับผลกระทบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะภูมิอากาศ เช่น จำเป็นต้องปรับวิถีชีวิต หรือวิถีชุมชนให้เอื้อต่อการลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น กลุ่มคนเหล่านี้จึงควรได้รับความเป็นธรรมและช่วยเหลือจากระดับภาครัฐเช่นกัน

ธารา บัวคำศรี Green Peace ประเทศไทย

ธารา บัวคำศรี จาก Green Peace ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส ต้องมี “การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (systemic change)” ให้เป็นศูนย์อย่างแท้จริง (real zero) เพื่อความยั่งยืนและเป็นธรรมมากขึ้น ป้องกันการครอบงำของบริษัทข้ามชาติเหนือสิทธิบัตรพันธุ์พืชและสิ่งมีชีวิตที่จะทำลายศักยภาพการปรับตัวจากวิกฤตภูมิอากาศของเกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มสตรี ชนเผ่าเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ควรคุ้มครองและสนับสนุนสิทธิชุมชนและประชาชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำ และชายฝั่งที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจแบบเกื้อกูล (supportive economy)

พร้อมเสนอให้คณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ของรัฐสภาผลักดันประเด็นวิกฤตจากสภาพภูมิอากาศเป็นวาระหลักในการทำงาน และใช้กลไกของรัฐสภาประสานทุกภาคส่วนในสังคมทั้งภาคการเมือง ภาคประชาชน ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาให้มาทำงานในเรื่องนี้ร่วมกันเป็น“ชุมชนนโยบายว่าด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุดแม้มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เพื่อจัดลำดับความสำคัญกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซ ผลักดันประเด็นวิกฤตสภาวะภูมิอากาศเป็นวาระหลักและผนวกข้อเสนอของภาคประชาชน เศรษฐกิจยั่งยืน และตระหนักถึงภูมิปัญญา องค์ความรู้ท้องถิ่นในการต่อกรกับความเปลี่ยนแปลง เอื้อหนุนชุมชนนโยบายว่าด้วยวิกฤตสภาวะภูมิอากาศ หน่วยงานรัฐ ข้าราชการ ภาคประชาชน ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ สมาชิกวุฒิสภาและคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติและการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่าคณะอนุกรรมาธิการฯ เล็งเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวเร่งให้ความขัดแย้งในด้านต่าง ๆ ปะทุขึ้นทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนกลุ่มเปราะบางที่มีศักยภาพในการปรับตัวน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ 


“การเชื่อมต่อกับภาคประชาสังคมเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภา โดยส่วนตัวอยากส่งเสริมในการทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเครือข่าย จึงขอรับข้อเสนอที่ให้รัฐสภามีบทบาทเป็นผู้ประสานกับภาคส่วนต่าง ๆ และเราน่าจะมีโอกาสได้พูดคุยกันมากขึ้นในอนาคต” สุวพันธุ์ กล่าว

cr: ภาพข่าวรัฐสภา

มาตรการด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อรองรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในไทยยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ชวนน่ากังวลต่อแผนงานลดคาร์บอนของประเทศไทย โดย ศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ได้เสริมถึงข้อวิพากษ์ต่อร่างกฎหมาย พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมว่า ขาดการระบุเป้าหมายที่แน่นอนและชัดเจน ไม่ได้กล่าวถึง carbon tax หรือ carbon pricing นอกจากนี้สถานะทางการเงินของกองทุนสิ่งแวดล้อมยังมีรายได้ไม่แน่นอนและยังไม่ได้รับงบประมานแผ่นดินตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยกองทุนสิ่งแวดล้อมเองก็มีเป้าหมายการหารายได้เพิ่มเติมเพียงแค่ 350 ล้านบาท ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินนโยบายทางสิ่งแวดล้อมใด ๆ ตามที่ร่างพ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมได้กำหนดภารกิจเอาไว้

ปัญหาดังกล่าวนี้จึงอาจยังเป็นข้อจำกัดในการดำเนินแผนยกระดับสู่การลดคาร์บอนที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ไม่สร้างความดึงดูดให้ภาคเอกชนหรือบริษัทใด ๆ มาร่วมลงทุนลดก๊าซเรือนกระจกได้ และจะทำให้ไม่มีงบประมาณจริงจังที่มุ่งสู่สังคุมคาร์บอนต่ำ

ศิริกัญญา เสนอว่า ควรพิจารณาการเก็บภาษี เช่น ภาษีบรรจุภัณฑ์จาก Circular Economy เพื่อสมทบทุนรายได้กองทุนให้มีรายได้ที่สม่ำเสมอและพร้อมต่อยุทธศาสตร์การลดคาร์บอนระยะยาวมากขึ้น นอกจากนี้ ในเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี มีแผนงานยุทธศาสตร์จัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำนวนทั้งสิ้นรวม 1,500 ล้านบาทโดยประมาณ ซึ่งใน 1,200 ล้านบาทนั้นเป็นงบของกรมอุตุนิยมวิทยาซื้อเครื่องวัดลมเฉือน เครื่องตรวจอากาศ ติดตามสนามบินต่าง ๆ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และจำนวนที่เหลือถึงจะเป็นงบประมาณของการจัดทำรายงาน ดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจริง ๆ เพียง จำนวน 400 ล้านบาท

พร้อมย้ำว่าทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารล้วนมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร

ศิริกัญญา กล่าวถึงกฎหมาย 3 ฉบับที่เห็นว่ามีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของไทย ได้แก่ 1) ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดทำโดย สผ. และขณะนี้อยู่ระหว่างการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ 3) พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 

“ดิฉันจะสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ต่อเมื่อมีการบรรจุเป้าหมายและแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก และมีกลไกเรื่องการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate financing) ที่ชัดเจน” ศิริกัญญา กล่าว  

ในส่วนของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ศิริกัญญาสนับสนุนให้มีการแก้ไขหมวดของกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้กองทุนฯ มีรายได้ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยและสม่ำเสมอ เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า ในฐานะ ส.ส. จะคอยติดตามทวงถามเรื่องการจัดสรรงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งศิริกัญญาระบุว่า “ไม่มีงบประมาณที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง”

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ โดยมีทางสำนักงานนโยบายและแผนการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคอยรับฟังความเห็นสาธารณะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนานโยบายไปสู่ยุทธศาสตร์สู่สังคมคาร์บอนต่ำและแผนงาน Net Zero 2050 ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้

ส่วนหลังจากงานนี้ องค์กรที่ร่วมจัดจะนำเนื้อหาและความเห็นจากเวที ไปประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยบทบาทของรัฐสภาในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผ่านงานด้านนิติบัญญัติ และการติดตามตรวจสอบการดำเนินนโยบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

#ClimateChange #โลกร้อน #รัฐสภา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ