12/7/2565 9:30:06น. 145
การส่งเสริมและมีส่วนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสื่อชุมชนของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา เกิดขึ้นในหลายประเทศ บางประเทศใช้สถาบันการศึกษาในพื้นที่เป็นกลไกหลักในการกระจายอำนาจทางการสื่อสารให้กับคนในชุมชนได้เข้าถึง ใช้ประโยชน์และเป็นเจ้าของร่วมของระบบการสื่อสารที่คนในชุมชนออกแบบเอง บางมหาวิทยาลัยสนับสนุนให้ทีวีชุมชนไปตั้งอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย ให้การสนับสนุนด้านบุคลากร หรือการสนับสนุนงบประมาณที่มาจากค่าธรรมเนียมของนักศึกษา เช่น
มหาวิทยาลัย Concordia University Television (CUTV) Montreal, Canada จะจัดสรรค่าธรรมเนียมจากนิสิตร้อยละ 34 เซนต์ ต่อ 1 หน่วยกิต ให้กับโทรทัศน์ชุมชนในพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย
หรือประเทศสิงค์โปร์ ไม่ไกลจากไทย โทรทัศน์ท้องถิ่นของเขาดำเนินงานโดยการมีส่วนร่วมของกลุ่ม องค์กรต่าง ๆ ในชุมชนท้องถิ่น โดยสถานีฯ จัดสรรเวลาการออกอากาศครึ่งหนึ่งให้กับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนทางด้านนิเทศศาสตร์ใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้และฝึกปฏิบัติในการเรียนการสอนและสร้าประสบการณ์ทำงานจริงในฐานะสื่อวิชาชีพให้กับนิสิต
หรือกรณีของUniversity of La Verne ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ชุมชน LVTV-3 La Verne community TV ขึ้น โดยมีนักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์เป็นแกนหลักในการทำงานร่วมกับกลุ่ม องค์กรในชุมชน และเผยแพร่ผ่านทางเคเบิลทีวี Time warner
หันกลับมาที่มหาวิทยาลัยพะเยา ถือเป็นสถาบันการศึกษาหนึ่งในประเทศไทยที่โดดเด่นไม่แพ้ที่ต่างประเทศเลย นับเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้วที่สาขาการสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบุกเบิก จัดตั้ง และร่วมทดลองทำไปพร้อมกับกลุ่มชุมชนในพื้นที่ตั้งแต่การปักหมุดจนปัจจุบัน “พะเยาทีวี” ได้เติบโตและยืนอยู่ได้ด้วยพลังของกลุ่มชุมชน
แต่บทบาทของมหาวิทยาลัยพะเยาก็ยังคงคอยหนุนเสริมทางด้านองค์ความรู้ และการวิจัยหาแนวทางการพัฒนาระบบการสื่อสารชุมชนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน “พะเยาทีวี” กลายเป็นพื้นที่ปล่อยของของนิสิตของสาขา ที่ได้เรียนรู้ว่าการนำเสนอเนื้อหาที่ตอบสนองชุมชนอย่างมีคุณภาพที่แตกต่างจากแพลฟอร์มทีวีชุมชนในมหาวิทยาลัยของนิสิตทำเอง
รวมทั้ง “พะเยาทีวี” ยังเป็นแหล่งงานและแหล่งฝึกงานให้กับนิสิตและคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิดรุ่นต่อรุ่น ซึ่งเราเรียกความสัมพันธ์เป็นแบบหุ้นส่วน (Partnership) ที่ไม่มีใครเหนือกว่าหรือมีอำนาจนำ เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันนั่นก็คือยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชน
การมาเยี่ยมและพิสูจน์เชิงประจักษ์ว่า “พะเยาทีวี” หรือทีวีชุมชน มีศักยภาพและความพร้อมแค่ไหนและจะสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างไรของ ศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต” กสทช. ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 ถือเป็นการเยือนของผู้กำกับนโยบายด้านสื่อคนที่สองนับตั้งแต่ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. คนแรกที่มาเสวนาประเด็นการพัฒนาทีวีชุมชน ดิจิทัลเมื่อสิบปีที่แล้ว ณ มหาวิทยาลัยพะเยานั้น
ได้ทำให้คนทำงานและพี่น้องเครือข่ายของพะเยาทีวีมีความหวังพร้อมกับเสนอแนวทางให้กสทช. ว่าพวกเขาอยากจะได้เห็น พะเยาทีวี มีเลขช่อง และสามารถกดรีโมทดูทางจอโทรทัศน์ในห้องนั่งเล่นแล้ว เพราะไม่ใช่ทุกคนในชุมชนจะใช้หรือเข้าถึงโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ต… ก็ไม่รู้จะสมหวังแค่ไหน แต่ท่อนเพลงที่ ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง กสทช. ร้องมอบให้กับ “พะเยาทีวี” ว่า “หนทางเดินที่มีขวากนาม ถ้าเธอคร้ามถอยไปฉันคงเก้อ ฉันยังพร้อมช่วยเธอเสมอ เพียงตัวเธอไม่หนีไปเสียก่อน” เล่นเอาเครือข่ายบางคนน้ำตาซึมและฮึกเหิมมากขึ้น
การมาพบปะระหว่างเครือข่ายพะเยาทีวีกับกสทช. ครั้งนี้ ยังทำให้เครือข่ายและคนพะเยาทีวีเองได้กลับมาทบทวนและมองย้อนกลับไปถึงเส้นทางที่ผ่านมาว่า สื่อชุมชนแห่งนี้ ได้ทำอะไรให้กับชุมชนบ้าง เป็นประโยชน์หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพะเยาได้จริงแค่ไหนและจะก้าวต่อไปอย่างไร ที่จะทำให้ ทีวีชุมชน ไม่ได้เป็นเพียงทีวีในชุมชนเท่านั้น แต่เป็นสถาบันการสื่อสารที่เฝ้าระวัง สร้างการรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาค
ประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าพะเยาทีวี จะเดินทางมากี่ปี เราก็ยังเห็น มหาวิทยาลัยพะเยายังคงอยู่ตรงนั้นพร้อมเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่นเพิ่มเติมเข้ามาระหว่างทาง และตอนนี้ไม่เพียงแค่สาขาการสื่อสารสื่อใหม่เท่านั้นแล้ว แต่เรายังเห็นคณะนิติศาสตร์เข้ามาทำงานร่วมในฐานะผู้ผลิตรายการให้ความรู้ทางด้านกฎหมายที่ประชาชนฟังและเข้าใจได้ง่ายอย่างมีชีวิตชีวา
ทำให้ผู้เขียนเริ่มฝันอีกแล้วว่า จะดีแค่ไหน ถ้ามีศาสตร์หรือคณะหรือหน่วยงานอื่น ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตรายการ หรือนำเสนอเนื้อหาที่สำคัญและจำเป็นต่อชุมชนอย่างทันเวลา ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ กลยุทธ์การตลาดสมัยใหม่
สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน เทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับใช้ชีวิต การสื่อสารความเสี่ยง การดูแลสุขภาพ หรือการถามตอบเรื่องสุขภาพ ฯลฯ จากคณะที่เกี่ยวข้องเต็มหน้าจอ กลายเป็นพื้นที่ที่ ทั้งอาจารย์และนิสิต ใช้สร้างประสบการณ์เพื่อสร้างปัญญา ….แค่คิดก็สนุกและตื่นเต้นไปกับคนดูและคนทำแล้ว เข้าไปใช้และร่วมพัฒนาสื่อชุมชนเถอะ เขาอยู่ใกล้เราแค่นี้เอง