มหาวิทยาลัยแดนใต้เสนอโมเดลกระจูดทะเลน้อยแก้จน

มหาวิทยาลัยแดนใต้เสนอโมเดลกระจูดทะเลน้อยแก้จน

พัทลุง : 4 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง นำเสนอโมเดลแก้จนจังหวัดภาคใต้ ที่เป็นการวิเคราะห์ศักยภาพและดึงจุดเด่นที่แตกต่างตามสภาพบริบทและเงื่อนไขการสนับสนุนการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่ ผ่านโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำกลุ่มจังหวัดภาคใต้ (พัทลุง ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) ที่ดำเนินการร่วมภายใต้โครงการขยายผลการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ลงปฏิบัติการร่วมกับภาคีทั้งท้องที่ ท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้คนจนในพื้นที่ดำเนินการนั้นสามารถพึ่งพาตนเอง วิเคราะห์ต้นทุนและศักยภาพด้านอาชีพ โดยมีเป้าหมายให้คนจนกลุ่มเป้าหมายนั้นหลุดพ้นจากความยากจน

ระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายน 2565 โครงการขยายผลการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดย การสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดเวทีสัมมนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ พัทลุง ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาสณ ศรีปากประรีสอร์ท ตำบลพนางค์ตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา บพท. ทีมวิจัยกลาง นักวิจัยพื้นที่จากมหาวิทยาลัย 4 แห่ง (พัทลุง ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส) ผู้แทนวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ รองเลขาธิการ ศอ.บต.(นายบุญพาศ รักนุ้ย)  ผู้ทรงคุณวุฒิ.(นายกฤษดา สมประสงค์) รองประธานสมาพันธ์ SME (ไทย) (นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน และนำเสนอโมเดลแก้จนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ และสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่

เสวนาโมเดลแก้จนผ่านบทเรียน “Lenoi Craft Phattalung” :

นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง หัวหน้าโครงการขยายผลการพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ หารือเรื่องความคาดหวังการดำเนินการ ทั้งเรื่องบทบาทของสถาบันการศึกษากับการแก้ไขปัญหาความยากจน และความคาดหวังของ บพท. ต่อการดำเนินงานในพื้นที่ พร้อมทั้งทำความเข้าใจรายละเอียดของโมเดลแก้จน(OM) ที่มีการวิเคราะห์มีความโดดเด่นในพื้นที่ การทำ Pro POOR VC และ SLF รวมถึงการดำเนินการเพื่อการพัฒนา ส่งต่อ และเชื่อมร้อยระบบร่วมกับกลไกภาครัฐ ภาควิชาการ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย การทำงานร่วมกันในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภายใต้ ระหว่างขบวนองค์กรชุมชน สถาบันการศึกษา และกลไกของรัฐในพื้นที่ เช่น ศอ.บต. และ พอช. เป็นต้น

กระจูดแก้จน สร้างรายได้ กระจายโอกาส สู่ครัวเรือนยากจน จังหวัดพัทลุง

กระจูดเป็นพืชพื้นถิ่นของป่าพรุ การยกระดับกระจูดให้เกิดมูลค่าทางผลิตภัณฑ์สำหรับคนจน จึงต้องดึงศักยภาพของภาคธุรกิจมาเสริม เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เข้าใจ เป็นการเพิ่มโอกาสให้คนจนที่ได้รับการช่วยเหลือมาเป็นผู้ร่วมกำหนดการช่วยเหลือและสร้างอาชีพ เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

รศ.ดร. สมัคร แก้วสุกแสง รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยทักษิณ หัวหน้าโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดพัทลุงนำเสนอการขับเคลื่อนโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.พัทลุง ว่า จากการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ มีการบันทึกความร่วมมือ (MoU) กับ ศจพ.จ. และ 24 หน่วยงาน ได้มีกระบวนการสำรวจข้อมูลคนจนในพื้นที่พบว่า จังหวัดพัทลุงมีข้อมูลคนจน จำนวน 14,342 คน เป็นพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ 11 อำเภอ 65 ตำบล 8 เขตเทศบาล มีการขับเคลื่อนร่วมกับ U2T การทำงานกับนวัตกร และกลไกภาคประชาสังคม จนสามารถค้นหาได้ทั้งพื้นที่ เกิดการสอบทานข้อมูล และระบุพื้นที่ดำเนินการ โดยพิจารณาจาก 1) การดำเนินการค้นหาพื้นที่ 2) ดูทั้งความหนาแน่น 3) การมีกลไกสนับสนุน และ 4) ความเป็นไปได้ในการประสบความสำเร็จ จึงเลือกพื้นที่กรณีศึกษาใน ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นหน่วยวิจัยในการพัฒนาโมเดลแก้จน(OM) มีการวิเคราะห์ฐานทุน 5 ด้านของครัวเรือนในพัทลุง พบว่า มิติที่ต่ำสุด คือ มิติสังคม เศรษฐกิจ และมนุษย์ ส่วนทุนทางกายภาพและทรัพยากรธรรมชาติ มีค่าคะแนนที่ 2.2 เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ได้ต่ำมาก ดังนั้น ในส่วนที่ต่ำสุด 3 ด้าน ทำให้เกิดการวิเคราะห์ OM ที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหา โดยที่นี้เสนอ “กระจูด” ในพื้นที่ ต.ทะเลน้อย และดูเรื่อง Quick Win เป็นหลัก เนื่องจากมีทุนความรู้ ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบ

“ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง มีครัวเรือนคนจน จำนวน 198 ครัวเรือน มีการดำเนินการที่ใช้กลไกต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านกลุ่มคนจน อบต. และเทศบาล มีการวางแผนเพื่อพัฒนาโมเดลแก้จน ผ่านหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพคนจนกลุ่มเป้าหมาย อาทิ สร้างแบรนด์ การจัดการออนไลน์ การออกแบบโลโก้ การคำนวณต้นทุนและการตั้งราคาสินค้า และการนำสินค้าเข้า Modern Trade และหลักสูตรพัฒนาทักษะกระบวนการทำกระจูด ไม่ว่าจะเป็นการทอ ย้อมสี พัฒนาลายที่เป็นอัตลักษณ์ การปัก และการตรวจสอบคุณภาพ และการส่งเสริมตลาด การออกแบบโครงการช่วยเหลือคนจนอย่างตรงเป้า (OM) มีการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานการผลิต พร้อมกับการพัฒนาและเชื่อมโยงขยายให้กว้างขวางและครบวงจร  จากการดำเนินการในระยะ 3 เดือน คนจนเป้าหมาย 40 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มเติม จาก 188,700 บาทต่อเดือน เป็น 256,050 บาทต่อเดือน และมีการขยายพื้นที่ตลาดเป็น modern trade พบว่า มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าคนละ 4,000 บาทต่อเดือน ในชื่อผลิตภัณฑ์ “Lenoi Craft Phattalung” สร้างพลัง สร้างรายได้ และสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ นำเครื่องมือหรือกลไกการสื่อสารสาธารณะมาสนับสนุนเพิ่มเติม”

นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า โอกาสที่เห็นจากการพัฒนาโมเดลแก้จน “กระจูด” นั้นเห็นว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการส่งเสริมการปลูกกระจูด(โครงการพระราชดำริ) ในพื้นที่ทะเลน้อย และผสานกับการประกาศเขตห้ามล่า รวมถึงการฟื้นฟูการปลูกกระจูดใหม่ ทำให้เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่สามารถพัฒนาและต่อยอดได้ การที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เชื่อมโยงให้ วิสาหกิจชุมชน Varni Southern Wickery ที่เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ มีประสบการณ์ ช่วยเป็นพี่เลี้ยง สร้างความเข้มแข็งในเรื่องการพัฒนาความรู้ทักษะทั้งการผลิตและการตลาดได้

“กลุ่มคนจนเป้าหมาย จำนวน 198 ครัวเรือน ที่พบจาก ต.ทะเลน้อย สามารถที่จะขยายโมเดลกระจูดนี้ไปที่ ต.พนางค์ตุง ได้ OM กระจูดเป็นตัวที่สามารถใช้ฉุดคนจนได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ จาก คนที่มีความพร้อม 40 คนเริ่มต้น และพัฒนาความเข้มแข็ง โดยเสริมทักษะ การบริหารจัดการต่าง ๆ จ.พัทลุง มีจุดเด่นการพัฒนาหัตถกรรม โดยมีขบวนชุมชนที่เข้มแข็ง ผลักดันเข้าสู่แผนพัฒนาพื้นที่ รวมถึงในพื้นที่ภายใต้  สามารถเชื่อมโยงกับอีก 3 จังหวัด มีเนื้อที่สามารถขยายเพาะพันธุ์กระจูดไปได้”

นายมนัทพงษ์ เซ่งหวด ทายาสรุ่นที่ 5ตัวแทนวิสาหกิจชุมชน Varni Southern Wickery เล่าว่า มหาวิทยาลัยทักษิณได้ทำการสำรวจข้อมูลคนจน และเล็งเห็นว่ากระจูดเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาพัฒนาในการแก้ไขปัญหาความยากจน ทำให้มีการดำเนินการร่วมกันโดยชวน Vani ที่ทำธุรกิจแปรรูประจูดขายในพื้นที่ทะเลน้อย ที่ควรทำหน้าที่สนับสนุนแก้ไขปัญหาความยากจน เพราะที่ผ่านมาคนจนจะผลิตและแปรรูปอยู่หลังบ้าน เป็นเพียงแรงงานผลิตแล้วส่งให้กับคนกลาง และอาจจะเสียเปรียบเรื่องกลไกราคา จึงมีแนวทางในการพัฒนาเพื่อสร้างความโดดเด่นของสินค้า ทั้งการใช้สีธรรมชาติ การลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ประกอบการ และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และฉุดคนจน

“การทำงานร่วมกันจนทำให้คนจนในพื้นที่พัฒนาจนเกิดแบรนด์ “เลน้อยคราฟท์” โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ใช้ทุนวัฒนธรรม ทั้งบัวแดง มโนราห์ และอื่นๆสร้างลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยออกแบบเป็นลายทะเลน้อย เพื่อสร้างความแตกต่าง และจุดขายของการทำงาน เป็นการยกระดับสินค้า อาทิ เสื่อจากเดิมทอขายได้ ผืนละ 100-150 บาท เป็น 1,000-1,500 บาท ในการดำเนินการร่วมกันนี้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้จากผู้ประกอบการอื่นๆ สร้างเครือข่าย แรงบันดาลใจ การพัฒนา ทักษะและเทคนิคต่างๆ ทั้งการควบคุมคุณภาพ การดูแลเรื่องการตลาด โดยระหว่างการอบรม ก็มีรายได้ควบคู่ไปด้วย และมองถึงการผลักดันเรื่องวิธีคิดราคาที่เป็นจริง ค่าแรง และการใช้ความพยายามต่าง ๆ ในการดำเนินการ การทบทวนค่าแรงที่เป็นจริง และสร้างระบบการตลาดต่างๆ ที่จะทำให้กลุ่มคนจนนี้เป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคตต่อไป”

นางกรรณิการณ์ นวลแก้ว ผู้แทนกลุ่มเป้าหมายจากงานวิจัยฯ ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เล่าเพิ่มเติมว่า หลังจากได้ร่วมโครงการตนเองนั้นได้ประสบการณ์ มีการเปลี่ยนวิถีจากการใช้เคมี เป็นธรรมชาติ หลังจากเข้ากลุ่ม Vani ทำให้การขายลูกดิบ ในราคาที่สูงขึ้น เดิม ขายได้ 40 บาท ตอนนี้ขายได้ 75 บาท และ Vani ช่วยให้สินค้าในกลุ่มของเราขยายตลาดในต่างประเทศ โดยส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และอยากจะขอหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยดูแลเรื่องการหาวัตถุดิบหรือต้นทุนกระจูด เนื่องจากตอนนี้มีวัตถุดิบน้อย ผลิตไม่ทัน

ข้อเสนอแนะกับการพัฒนาโมเดลกระจูดทะเลน้อยแก้จน

นายจาดูร อภิชาตบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิ มองว่า กรณีกระจูด มีการต่อยอด และคิดถึงห่วงโซ่คุณค่าเพิ่มเติม ทีมวิจัยมีกระบวนการแม่นยำในระบบข้อมูล ทั้งการเก็บ การวิเคราะห์ และการนำเสนอต่าง ๆ ส่วนของการจัดการข้อมูลของงานวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ และทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ และสามารถพัฒนาไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นจริง ดังนั้น ต้องแสดงพลังของการใช้ข้อมูลที่ดี ที่มาจากการจัดการ จัดเก็บที่ดี และสร้างประโยชน์กับการทำงาน และการบริหารต่างๆ

นางสาวจิริกา นุตาลัย ที่ปรึกษาโครงการ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะว่า การเห็นรูปธรรมโมเดลแก้จนของกระจูดอย่างชัดเจน โดยเชื่อมโยงทุนมนุษย์ การเชื่อมร้อยคนจนในกลุ่ม และขยายวงไปสู่ส่วนอื่น ๆ  การทำงานของ Vani ขยายความร่วมมือ เชื่อมโยงกับเครือข่ายต่าง ๆ และการเพิ่มทุนสังคมอย่างชัดเจน ในขณะที่ Vani มียอดการจำหน่ายเพิ่มเติม จากการหนุนเสริมความรู้ของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เช่น การพัฒนาและทำกระจูดที่ย้อมสีธรรมชาติ ขยายฐานการตลาดต่างประเทศได้ดี มีผลต่อเพิ่มทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนต่อเศรษฐกิจ และการขยายผลต่าง ๆ ไปยังระบบตลาดขนาดใหญ่

นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิ (คนที่ 2 จากทางขวา)

นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวเสริมว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนทำให้เกิดการพบปะ เรียนรู้มายาวนาน มีการทำงานกระจูดที่ป่าพรุควนเคร็ง มาตั้งแต่ปี 2545 ทำให้เห็นว่า พืชกระจูดเป็นส่วนสำคัญในการจัดการปัญหาความยากจน โดยข้อมูลต้องวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งเรื่องการใช้สารเคมี สิ่งตกค้าง และนำมาใช้ทำกระบวนการกับสังคมเป็นการร่วมมือระหว่างกลุ่มในพื้นที่ และนอกพื้นที่ และพลังของการแก้ไขปัญหานี้ เราเห็นถึง 4 พลัง จตุพลัง ทั้ง ท้องถิ่น ท้องที่ วิชาการ และประชาชน ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของ พอช. ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนนั้นเข้มแข็ง เป็นแกนหลักในการพึ่งพาตนเอง และพร้อมที่จะขับเคลื่อนงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหา

นายบุญพาศ รักนุ้ย รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า หลังจากที่มีการกำหนดฐานข้อมูล TP Map ขึ้น มีความพยายามแก้ไขปัญหาความยากจนในหลายภาคส่วน ส่วนของการดำเนินการของ Vani มีการใช้กลุ่ม และชุมชนเป็นตัวตั้ง การดำเนินการในพื้นที่ ศอ.บต. มีการดำเนินการโครงการนำร่อง 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือน และเพิ่มเติมงบประมาณ ดูแลครัวเรือนละ 1 แสนบาท การพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนใน TP Map จะเป็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกันให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจริงจัง ควรเพิ่มเติมเรื่องการดำเนินการภาครัฐ หรือกลไกในระดับพื้นที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นทั้งระบบ มีการขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า การทำงานเห็นตัวอย่างที่ไม่เคยเห็นที่อื่นๆ คือ Pro POOR VC ซึ่งเดิมมีคำว่า Pro POOR Policy อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอื่นๆ ในขณะที่หลายๆ มาตรการที่ผ่านมา อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยว งบประมาณที่กระจายลงไปด้านล่าง ไม่ได้มากนัก พลังพิเศษของการทำงานครั้งนี้คือ การยกคนจนให้หลุดพ้นจากความยากจน โดยให้โอกาส สร้างเครือข่าย และหลังจากใส่เงื่อนไข เพิ่มตลาด เทคโนโลยี ทักษะ โอกาสเรียนรู้ และเครือข่ายต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น โดยส่วนนี้ ความรู้และทักษะมาจากเครือข่าย แต่สถาบันการศึกษาช่วยเชื่อมร้อย ทำให้เกิดเครือข่าย การถ่ายโอนความรู้ ทักษะ การบริหารจัดการต่าง ๆ การทำความเข้าใจธรรมชาติของการทำงาน จุดแข็ง ระหว่างกัน อาทิ มองภาคเอกชนให้ขาด แล้วเชื่อมโยง หรือดึงศักยภาพในการทำงานเชื่อมระหว่างกัน เสนอให้ภาครัฐวิเคราะห์ และมองตรงนี้ให้ชัด จากนั้นให้พิจารณาแนวทางการส่งเสริม แต่ต้องดูเครื่องมือที่รัฐมีจริง ๆ การดูเรื่อง scaling-up โดยในกรณีที่เป็นพื้นที่ หรือกลุ่มเป้าหมายใหญ่ ๆ หลากหลาย ต้องทำให้มีลักษณะเฉพาะ และเข้าใจภาวะทับซ้อนของความยากลำบาก อาทิ ด้อยโอกาส ยากจน พิการ และอื่นๆ โดยส่วนนี้เป็นการทำงานเป็นคณะทำงานรายกรณี (team case) ซึ่งก็ท้าทายกรณีที่กว้างและใหญ่ ดังนั้น ต้องพยายามจัดระบบหรือระดับความสำคัญ ในการดำเนินการ งานนี้เชื่อมโยงเรื่อง inclusive growth และ BCG การมองระบบ การเชื่อมโยงการอนุรักษ์ หรือดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เป็นประโยชน์

นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ รองประธานสมาพันธ์ SME เสนอแนะเพิ่มเติมว่า การทำงานกับเอกชน คือ การนำระบบมาช่วยฉุด Chain คนจน โดยการพัฒนาต่อยอดทั้งการสร้างความคงทน (stability) ของสี อายุของการใช้ การจดทะเบียนต่างๆ รูปแบบของวิสาหกิจที่ช่วยเหลือชุมชน ควรได้รับการพิจารณาให้ความาสำคัญกับการมี social credit เพื่อเป็นการจูงใจธุรกิจอื่นๆ ให้หันมาช่วยเหลือสังคม หรือชุมชน และสามารถช่วยเหลือธุรกิจดังกล่าวกรณีที่มีปัญหา การพิสูจน์ข้อมูล แสดงให้คุณสมบัติของกระจูดแบบ 360 องศา อาทิ การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และมีเคล็ดลับของการผลิตเพื่อพัฒนาต่อยอด การทำ encapsulate กลิ่นที่มาจากต้นเสม็ดขาว กับกระจูดในพื้นที่

นายแก้ว สังข์ชู นายกสมาคมเครือข่ายสวัสดิการชุมชน จ.พัทลุง กล่าวว่า การตั้งโจทย์วิจัยและแก้ไขปัญหาคนจนทำได้ชัด การเชื่อมจิตวิญญาณ สังคม เข้าด้วยกัน คนยากจน และคนลำบากขาดโอกาส สิ่งที่ดี การทำอะไรที่ไหน ตอบโจทย์ให้ได้ว่าเป็นโจทย์ของคนที่นั่น การทำงานวิจัย สร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง สร้างนักวิจัยชุมชนขึ้นมาผ่านหลักวิชาการ และการสร้างเครื่องมือต่อเนื่อง ให้การทำงานขยายผล สร้างคนด้อยโอกาสให้มีโอกาสในการทำงาน และการทำงานกับฐานสวัสดิการชุมชน ข้อมูลสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านมูฮัมหมัด อายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้/อดีตผู้ก่อตั้งศูนย์ข่าวอิศราภาคใต้ กล่าวว่า บทบาทสื่อมวลชนเห็นถึงเรื่องระหว่างทางหรือกระบวนการเป็นสิ่งสำคัญ ข้อมูลวิจัยที่เก็บเป็นระบบ คลี่คลาย และทำให้เห็นลักษณะที่เป็นไปได้ ของการวางแผน การปฏิบัติ เพื่อทำให้เกิดการบริหารองค์กรมากกว่าการบริหารโครงการ การสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคม ที่ทำงานในพื้นที่ และสร้างความไว้วางใจ ทำให้งานขับเคลื่อนได้จริง มีพลัง การทำความเข้าใจกับวิธีการย่อยความรู้ ทำให้เป็นความรู้แบบชาวบ้าน และเสนอให้หาทางให้สื่อท้องถิ่นเกี่ยวข้อง หรือให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น การสื่อสารภายในแม้ว่าดี แต่ไม่ได้หมายถึงการสื่อสารภายนอกจะดีด้วย ดังนั้น ต้องทำควบคู่กัน

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)  กล่าวว่า การตรึงกรอบการวิจัยเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดย บพท. เป็นหน่วยให้ทุนสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านกระบวนการวิจัย การยกระดับ สร้างภูมิปัญญา และแลกเปลี่ยน การใช้คำว่า “คนยากลำบาก” หรือ “ครัวเรือนด้อยโอกาส” “ครัวเรือนยากลำบาก” เป็นการพัฒนา และยกวิธีคิด โดยวัดที่ความเข้มแข็งของชุมชน หรือกลุ่มเป้าหมาย ดูความยั่งยืน การพัฒนาระบบต่างๆ การทำแพลตฟอร์มขจัดความยากจนใน 20 จังหวัด เน้นให้มีการส่งออกความรู้ โดย (1) การทำให้แม่นยำ (target-based) (2) การยอมรับข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน (3) การวิเคราะห์ความยากลำบาก โดยฐานทุนที่เป็นจริง เพื่อให้เกิดความเป็นเจ้าของ และร่วมกันขับเคลื่อน หรือพัฒนา OM

ปฏิบัติการ “สนามคนจน” : กระบวนการสร้างความรู้ ยกระดับสู่บทเรียนและโมเดลแก้จน

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตนิรัตน์ รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวถึงบทบาทมหาวิทยาลัยทักษิณกับการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดพัทลุงว่า การส่งต่อความช่วยเหลือเชิงคุณภาพนั้น ต้องมีกระบวนการที่สามารถส่งต่อและขับเคลื่อนให้เกิดความน่าเชื่อถือทั้งเชิงกระบวนการ ข้อมูล รวมไปถึงการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล ที่หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้งานได้ และข้อมูลที่เกิดขึ้นและได้มาแล้วจะเกิดความตระหนักร่วมกันตามภารกิจความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น พอช. ศอ.บต. เพื่อให้เกิดการส่งต่อและช่วยเหลือ ก่อให้เกิดการทำงานตามภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ จะทำให้เกิดการพัฒนาและผลักดันสู่นโยบายในพื้นที่ รวมถึงนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โมเดลแก้จน เป็นกระบวนการสร้างความรู้ ยกระดับความรู้สู่บทเรียนและโมเดลแก้จน ที่มีศักยภาพ มีรูปธรรม สัมผัสได้ กินได้ ชาวบ้านรู้สึกว่าเกิดประโยชน์กับเขาจริงๆ และหากสกัดและสร้างความรู้สู่พลังคนจนที่เป็นแรงผลักจากความจน จะนำไปสู่การกระทำการ สามารถเข้าใจ วิเคราะห์บทบาทของตนเอง รู้ว่าตัวเองเป็นใคร จะทำอะไร ทำให้เขาได้รับรู้และสามารถที่จะขับเคลื่อนไปได้ เป็นปฏิบัติการใน “สนามคนจน” ที่มีทั้งผู้เล่น มีพี่เลี้ยง และองค์กรหนุน เป็นการเติมพลังและความมั่นใจในการปฏิบัติการ และสร้างคุณภาพร่วมกันได้ เพราะความจนนั้นซับซ้อนมาก การเค้นพลังออกมา จะทำให้คนจนเห็นตำแหน่งแห่งที่ของตนเองมากขึ้น ซึ่งมองว่าจะต้องเป็นการเชื่อมต่อผสมผสานเชื่อมโยงใน 3 มิติ/เรื่อง คือ ภูมินิเวศ ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิจัยและนวัตกรรม เกิดเป็นความรู้ชุมชน สิ่งที่สำคัญคือ การสร้างการสนับสนุน 3 ส่วน ไม่ว่าจะเป็นคน-กลุ่ม พี่เลี้ยงและองค์กรหนุนเสริม ที่จะต้องมีความเข้าใจในบทบาทในการส่งเสริมให้กระบวนการนั้นเกิดคุณภาพมากขึ้น

“โมเดลแก้จนที่ทะเลน้อย ไปไกลมากกว่าการยังชีพพื้นฐาน แต่เป็นการมองถึงการจัดการตนเองและรับกลุ่มมากขึ้น และยกระดับสู่การประกอบการ ที่มองถึงการจัดสวัสดิการชุมชน ผ่านกระบวนการรวมกลุ่มของคนจนในพื้นที่ ร่วมกับภาคีในท้องถิ่นมากขึ้น เป็นการมองถึงกระบวนการแก้จนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นการทำงานที่กว้างขึ้น และลึกขึ้น ด้วยกระบวนการดังกล่าว หากเราทำเรื่องดังกล่าวนี้สำเร็จ เป็นการทำให้เกิดระบบการเกื้อกูลกันในชุมชน เกิดการเห็นอกเห็นใจ เริ่มตระหนักร่วม ว่าคนจน ไม่ใช่คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในหมู่บ้าน แต่ทำให้เกิดโอกาส อยู่ในระนาบเดียวกัน มีศักดิ์ศรี คุณูปการจากโครงการดังกล่าว เป็นการเปิดประตูและสร้างหน้าต่างแห่งโอกาสให้คนจนได้คิดมากกว่าเรื่องของตนเองมากขึ้น”

แนวทางต่อไปเป้าหมายต่อไปของวิทยาเขตพัทลุงคือ การทำศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.พัทลุง นำพื้นที่นาร้าง 15 ไร่ มาดำเนินโครงการเปลี่ยนนาร้างเป็นพลังและพื้นที่ผลิตแบบมีส่วนร่วมตำบลพนางตุง จ.พัทลุง และร่วมกับเทศบาลเมืองพัทลุง พัฒนาโจทย์วิจัยและนวัตกรรมผู้สูงอายุ และ Smart Leaning City “Phatthalung Global Leaning City” เป็นการขับเคลื่อนงานพัฒนาร่วมกับท้องถิ่น เพื่อสร้างเมืองพัทลุงที่ทันสมัยทันต่อสถานการณ์

มหาวิทยาลัยใกล้ชิดพื้นที่ เสนอโมเดลแก้จนกลุ่มจังหวัดภาคใต้

ในเวทีดังกล่าวนี้ มีการเสนอโมเดลแก้จน เพิ่มเติมจาก 3 วิทยาลัยกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย โมเดลนวัตกรรมส่งเสริมธุรกิจการเกษตรแบบผสมผสาน จาก มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา , โมเดลแก้จน การผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นจากผัก โมเดลแก้จนนวัตกรรมการเลี้ยงผึ้งชันโรงเพื่อผลิตน้ำผึ้งชันโรงเกรมพรีเมี่ยม โมเดลแก้จน การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยไส้เดือนคุณภาพสูง จาก มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และ โมเดลธุรกิจตาลีอายร์ยั่งยืน : แกงกูตุ๊โบราณ จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ทุน 5 ด้าน และข้อมูล รวมถึงศักยภาพที่มีในพื้นที่ นำมาสู่การคิดและพัฒนาโมเดลแก้จน ที่สอดรับกับบริบทของพื้นที่

อย่างไรก็ตามจากการแลกเปลี่ยนบทเรียนและประสบการณ์ทั้งจากการลงพื้นที่โมเดลกระจูดแก้จน พัทลุง รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะจากแง่มุมทั้งจากขบวนองค์กรชุมชน ภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องที่ท้องถิ่น รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นองค์กรหรือหน่วยงานในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งลดความเหลื่อมล้ำในการแก้ไขปัญหาความยากจน ส่งผลให้เห็นถึงการนำข้อมูลที่ได้ ผสานกับศักยภาพทุนที่มี นำมาสู่การวิเคราะห์และยกระดับเพื่อเป็นนวัตกรรม สร้างความมั่นคงในอาชีพ คุณภาพชีวิต และการส่งต่อ พร้อมด้วยการให้การช่วยเหลืออย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนจนในพื้นที่ รวมถึงการเล็งเห็นบทบาทของมหาวิทยาลัยใกล้ชิดพื้นที่ ในการสร้างโอกาสเพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ