Food Industry Asia (FIA) หรือ องค์กรอุตสาหกรรมอาหารแห่งเอเชีย ประเทศสิงคโปร์ ได้ร่วมมือกับ บริษัท มินห์ วี แอดเวอร์ไทซิ่ง เซอร์วิส และ เอ็กซิบิชั่น จำกัด จัดงาน FUNCTIONAL FOOD MYANMAR 2016 หรือ งานแสดงสินค้าและนิทรรศการด้านผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ณ โรงแรม โรส การ์เด้น เมืองย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ การศึกษาวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้ง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านวิชาการและการตลาด ตลอดจนเป็นเวทีสำคัญในการเจรจาธุรกิจการค้า และจัดแสดงผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ และบริการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การพัฒนาและเติบโสสู่ก้าวย่างใหม่แห่งอาหารเพื่อการดูแลและรักษาสุขภาพในอนาคต
กรุงเทพฯ – วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 นายโรแมง มาร์เซลิ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ นางสาว ซาบริน่า ฮง ผู้จัดการโครงการ บริษัท มินห์ วี แอดเวอร์ไทซิ่ง เซอร์วิส และ เอ็กซิบิชั่น จำกัด พร้อมด้วยผู้นำด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อาทิ ดร. ธาน ทัน เสียน ผู้บริหาร บริษัท จูน ฟาร์มาซูติคัลส์ จำกัด และ ดร. ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวแนวโน้มและโอกาสของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในตลาดเอเชีย ในงาน FUNCTIONAL FOOD MYANMAR 2016 พร้อมด้วยผู้ประกอบการชั้นนำจากประเทศไทยที่สนใจเข้าร่วมจัดแสดงงานกว่า 40 ราย
ดร. ธาน ทัน เสียน ผู้บริหาร บริษัท จูน ฟาร์มาซูติคัลส์ จำกัด กล่าวว่า “The International Food Information Council (IFIC) หรือ สภาข้อมูลอาหารนานาชาติ ได้นิยามความหมายของ functional food คือ อาหารที่มีสารอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกเหนือจากมีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ช่วยป้องกันโรค และรักษาโรคได้ ประโยชน์ต่อสุขภาพของสารเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น สารในกระเทียม ช่วยลดปริมาณคลอเลสเตอรอลในเลือด และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน สารบางชนิดป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น ทั้งนี้กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนี้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์อาหารที่เพิ่มสารต่างๆ ทั้งกลุ่มวิตามิน อาหารบำรุง เครื่องดื่ม ขนมปัง ผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ต สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมกลุ่มขนมปังนี้ กำลังเติบโตขึ้นอย่างมากในเอเชียแปซิฟิกในปี พ.ศ. 2557 มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 4.8 และคาดว่าในปี พ.ศ. 2562 จะเติบโตขึ้นเป็นร้อยละ 5.4 หรือประมาณ 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกัน กลุ่มผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ตเสริมสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศญี่ปุ่น ไทย เกาหลีใต้ นวัตกรรมกระบวนการผลิตทำให้เกิดส่วนผสมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ส่งผลให้อัตราการเติบโตคาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 11 หรือประมาณ 7.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2562
ดร. ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวเสริมว่า “นอกจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแล้ว อีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามองนั่นคือ สมุนไพรไทย มีการนำเครื่องเทศและสมุนไพรไปประยุกต์ใช้ในลักษณะต่างๆ ทั้งเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เครื่องสำอางสมุนไพร นวดและอบตัวด้วยสมุนไพร ไปจนถึงเครื่องดื่มและยาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ปัจจุบัน มูลค่าการส่งออกสมุนไพรไทยอยู่ในหลักแสนล้านบาท โดยสมุนไพรไทยในกลุ่มอาหารเสริม มีมูลค่าการใช้และส่งออกรวมกว่า 80,000 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์ มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ทั้งยังมีสมุนไพรกลุ่มสารสกัด กลุ่มที่ใช้ในอาหารสัตว์และกลุ่มที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอีกด้วย การเข้าไปเปิดตลาดในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่น่าจับตามอง”
นายโรแมง มาร์เซลิ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มินห์ วี แอดเวอร์ไทซิ่ง เซอร์วิส และ เอ็กซิบิชั่น จำกัด และในนามองค์กรอุตสาหกรรมอาหารแห่งเอเชีย กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “งาน FUNCTIONAL FOOD MYANMAR 2016 เป็นงานที่รวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการด้านอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและยาชีวภาพ เพื่อสุขภาพและความงาม ครอบคลุม อุปกรณ์ห้องปฏิบัติการ (Laboratory) ผลงานวิจัยและพัฒนา กระบวนการและวิธีการบำบัดรักษา วัตถุดิบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยาชีวภาพ ผักและอาหารสะอาด (clean food) รวมถึงบริการด้านอาหารและสุขภาพที่เกี่ยวข้อง จากผู้ประกอบการชั้นนำทั่วโลกมาจัดแสดง ขณะเดียวกัน เป็นเวทีเจรจาธุรกิจการค้าสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในแถบอาเซียนนอกจากนี้ ภายในงานยังจัดให้มีการประชุมและเสวนาวิชาการด้านผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยเชิญแพทย์ นักโภชนาการ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เพื่อเป็นเวทีในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่อไปในอนาคตอีกด้วย
การจัดงานครั้งนี้ คาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการทั่วโลกสนใจเข้าร่วมชมงานกว่า 2,000 ราย ร่วมแสดงงานกว่า 50 องค์กร จาก 10 ประเทศ อาทิ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอื่นๆ
สิทธิประโยชน์ด้านภาษีธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าไปลงทุนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า
1. บริษัทที่มีการลงทุนในพม่าหรือร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้าหรือการบริการ จะได้รับการยกเว้นภาษี 5 ปี ติดต่อกัน นับตั้งแต่วันเริ่มกิจการ
2. หากมีการนำเงินของบริษัทไปลงทุนในกองทุน จะได้รับการลดหย่อนภาษี และสามารถนำผลกำไรมาลงทุนได้ใหม่ภายใน 1 ปี
3. ค่าเสื่อมของเครื่องจักร อุปกรณ์ อาคาร สินทรัพย์ หรือ เงินทุนอื่นๆ สามารถนำมาประเมินภาษีเงินได้
4. ธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตและส่งออกสินค้า สามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 50%
5. นอกจากนี้ ยังได้สิทธิลดหย่อนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยและกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาธุรกิจในพม่า โดยกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของการดำเนินธุรกิจนั้นๆ
6. หากมีการลงทุนมากกว่า 1 บริษัทในพม่า และหากบริษัทใด บริษัทหนึ่งมีรายได้ที่ต่ำกว่าอีกบริษัท สามารถนำรายได้ของบริษัทที่ต่ำกว่าเพื่อการยื่นภาษีได้
7. ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ในช่วงระหว่างที่บริษัทกำลังก่อสร้าง
8. ได้รับการยกเว้นภาษีการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตในช่วง 3 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจ หรือ การลดหย่อนภาษีสำหรับการค้าเพื่อการส่งออก
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมแสดงสินค้าและบริการภายในงาน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ info@veas.com.vn หรือ http://www.functionalfood-myanmar.com
นายโรแมง มาร์เซลิ (ที่สองจากขวา) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ นางสาว ซาบริน่า ฮง (แรกซ้าย) ผู้จัดการโครงการ บริษัท มินห์ วี แอดเวอร์ไทซิ่ง เซอร์วิส และ เอ็กซิบิชั่น จำกัด พร้อมด้วยผู้นำด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริม อาทิ ดร. ธาน ทัน เสียน (แรกขวา) ผู้บริหาร บริษัท จูน ฟาร์มาซูติคัลส์ จำกัด และ นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ (ที่สองจากซ้าย) รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แถลงข่าวแนวโน้มและโอกาสของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในตลาดเอเชีย ในงาน FUNCTIONAL FOOD MYANMAR 2016 ระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ณ โรงแรม โรส การ์เด้น เมืองย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า พร้อมด้วยผู้ประกอบการชั้นนำจากประเทศไทยที่สนใจเข้าร่วมจัดแสดงงานกว่า 40 ราย