อยู่ดีมีแฮง : เสียงจากสวนลุงโหนกนานาพันธุ์ ทำเกษตรอย่างไรท่ามกลาง “โลกรวน”

อยู่ดีมีแฮง : เสียงจากสวนลุงโหนกนานาพันธุ์ ทำเกษตรอย่างไรท่ามกลาง “โลกรวน”

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” คือโจทย์เสวนาในงานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้านปี 2565 โดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายเกษตรกรทางเลือก ณ บ้านสวนซุมเเซง จ.มหาสารคาม ซึ่งจัดในวันที่ 6-7 มิถุนายน 2565 เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงแนวทางรับมือกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นที่น่าสนใจจากวงเสวนาที่หยิบยกมาฝากวันนี้คือเรื่องของ “การปรับตัวของเกษตรกร เพื่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หัวข้อ การจัดการระบบเกษตรนิเวศน์ แลกเปลี่ยนโดย ดร.จตุพร เทียรมา  อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ทำสวนในพื้นที่บ้านของตนเองและเก็บบันทึกการตกของฝนเพื่อประเมินความ “รวน” ของโลกใบนี้

โลกรวน ผมรู้ได้อย่างไรว่ามันรวน ผมไปเอาข้อมูลมาจากไหน ?

“อันนี้เป็นตัวเลขน้ำฝนที่ตกรายปีและรายเดือนที่ผมเก็บบันทึกในพื้นที่ของผมเอง ผมเอามาให้ดู 4 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2564 เส้นนี้คือปริมาณการตกของฝนที่มันเปลี่ยนแปลงไปตลอด 30 ปี ตามการตกแต่ละปีของจังหวัดมหาสารคาม ผมต้องบอกก่อนนะครับว่า ผมพยายามใช้ข้อมูลในพื้นที่ของผม เราได้มีพื้นที่และเราได้ทำการเกษตร บริเวณพื้นที่ที่ผมดูแลอยู่ 10 ไร่ และเราก็เอาค่าเฉลี่ย 30 ปี มาทำเป็น 0 ให้เป็นค่ากลาง ซึ่งค่าเฉลี่ยในแต่ละเดือนก็ดูที่ตัวเลขขวามือ ทีนี้ถ้าฝนมันตกตามค่าเฉลี่ยมันจะเป็นเส้นตรง คราวนี้ที่มันรวนเพราะมันเป็นเส้นตรง แปลว่ามันไม่ใกล้เคียงหรือมันไม่เท่ากับค่าเฉลี่ยของ 30 ปีที่เราเก็บไว้และมาหาค่าเฉลี่ย

ผมยกตัวอย่างเมื่อปี 61 เส้นสีส้มถ้าหากว่ามันต่ำลงมาข้างล่างจากเส้นตรง คือมันมีค่าติดลบ คือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่มันตก แต่ถ้าเส้นมันสูงกว่าเส้นตรง แปลว่าฝนตกเกินกว่าค่าเฉลี่ย ทีนี้เรามาดูความแก่วงของมัน สิ่งมันแกว่งมาก สิงหาคม-กันยายน สีเทาคือปี 62 ยังจำพายุโพดุลได้ไหมครับ ถ้าเดือนสิงหาคมตามเฉลี่ยมันควรจะตกแค่ 232 มิลลิเมตร แต่มันตกเพิ่มไปอีกเกือบ 250 มิลลิเมตร ดังนั้นไม่แปลกใจที่น้ำท่วม มันเกินไปเท่าตัวนึง แต่พอมาดูเดือนสิงหาคมปี 61มันควรจะตก 232 มิลลิเมตร แต่ดันตกอยู่แค่ 100 กว่ามิลลิเมตร แกว่งไหมครับแบบนี้ รวนสิ นี่คือความรวนของมันที่เกิดจากโลกร้อน

“พอเห็นมันแกว่งแบบนี้ ถ้าเรายังขืนทำเกษตรแบบเดิมเพื่อรอฝน ผมคิดว่าน่าจะลำบาก บางทีปลูกเมษายน-พฤษภาคม เจอข้าวตายแล้ง มาปลูกใหม่มิถุนายน-กรกฎาคม เจอน้ำท่วม เพราะข้าวมันเพิ่งขึ้นรอบที่ 2 ได้แค่นิ้วถึงสองนิ้ว มันก็เจอทั้งแล้งและทั้งท่วม” 

แล้วเราจะรับมือกับมันอย่างไร ?

“เราต้องมาดูปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ผมจะดึงมาแค่ 2 ปัจจัยที่ไปสัมพันธ์กับโลกร้อน แล้วก็ความรวนของฝน คือ

1.อุณหภูมิ พืชต้องการดินที่มีอุณหภูมิเหมาะสม อุณหภูมิที่พืชต้องการมันก็มีอยู่ 2 ส่วนคือเหนือดินและใต้ดิน ส่วนเหนือดินเราควบคุมไม่ได้ แต่ส่วนใต้กดินผมคิดว่าเราทำได้ 

2.ความชื้น หรือน้ำนั่นแหละ เวลาเราพูดถึงน้ำ เราจะพูดถึงความชื้น มันก็มีความชื้นจากน้ำผิวดินและความชื้นจากน้ำในดิน ผมคิดว่า 2 ส่วนนี้เราจัดการได้ ในเรื่องของน้ำ 

เมื่อครู่ผมลืมบอกว่าถึงแม้ว่าการตกของฝนจะรวน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 30 ปี แต่มันแปลกมาก เวลาเราเอาน้ำฝนที่ตกในแต่ละปีมาดู พอรวมกันแต่ละแต่มันใกล้เคียงกับ 1,264 มิลลิเมตรคือค่าเฉลี่ย 30 ปี ดังนั้นปริมาณน้ำในแต่ละปีเกือบจะไม่ได้ลดลงเลย แต่ที่มันเปลี่ยนแปลงไปคือความรวนของมัน เวลาเราปลูกข้าว เราต้องการน้ำอย่างน้อย 4 เดือน พฤษภาคม-กันยายน ถ้าปลูกข้าวอย่างเดียว แต่ถ้าเราทำพืชสวนหรือพืชไร่ เราจำเป็นต้องใช้น้ำทั้งปี แล้วเราจะทำยังไงถ้าระบบชลประทานเราแทบจะไม่มี แล้วผมมองยังไงกับการรับมือความรวนที่ว่านี้ สิ่งแรกที่ผมมองเห็นคือเราต้องจัดการน้ำให้ได้ โดยเฉพาะน้ำผิวดิน เพราะเรามีน้ำผิวดินอยู่แล้วในแต่ละปี คือน้ำฝน อันนี้เราจัดการได้แน่ ๆ ถ้าเราจัดการมัน แต่ถ้ายังไม่มีทุนจัดการค่อยว่ากันอีกที แต่ถ้าเราจะมาแก้ว่าเราต้องการความชื้น หาความชื้นจากน้ำผิวดิน อันนี้แก้ไขได้ อาจจะต้องลงทุนหรือใช้วิธีการอื่น ๆ เอาน้ำผิวดินไปแก้ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ 

เวลาเราพูดถึงโลกรวน เรามักจะมองว่าน้ำเราไม่มี น้ำไม่พอ น้ำเปลี่ยนแปลงไปไม่ตกต้องตามฤดูกาล แต่เราลืมนึกถึงเรื่องของดิน เพราะเราคิดว่าพืชต้องการน้ำในการเจริญเติบโต เราก็ไม่ได้มองว่าน้ำผิวดิน ที่จะช่วยให้มีน้ำไปทำให้พืชเจริญเติบโต เราไม่ได้คิดว่าดินจะช่วยเก็บน้ำอุ้มน้ำไปช่วยพืช เราก็เลยไม่ค่อยพูดถึง เวลามันแล้ง ดินมันแข็งดินมันแน่น พืชก็ไม่เจริญเติบโตใช่ไหมครับ เราก็มองแค่ไหน แต่ถ้าเราเอาน้ำไปใส่ดิน ผมพูดเลยครับ พืชจะเจริญเติบโตแน่ เดี๋ยวหญ้ามันขึ้นของมันเอง ต่อให้มันดินวางเปล่า ๆ หญ้ามันก็ขึ้นได้ แค่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการปรับตัวรับมือกับโลกรวนแล้ว

อันนี้เป็นตัวอย่างจากสวนของผม ที่จะบอกว่าเอาน้ำไปแก้ไขปัญหาดินได้อย่างไร นี่คือที่ดินผมกำลังปลูกป่าอยู่ ฝั่งซ้ายมือเป็นนาข้าวประมาณ 2 ไร่ ทั้งหมดนี้มีที่ดินอยู่ประมาณ 10 ไร่ นาข้าวมี 2 ไร่เอง จาก 10 ไร่ น้ำประมาณ 1 ไร่กว่า ๆ เราเอาดินทำขึ้นสูงถ้าฝนตกน้ำไหลหน้าดิน ลงในนาเลยทันทีไหลลงมาเลย หลังจากนั้นพอไหลลงนา ถ้าเราไม่อยากให้อยู่ในนาเราก็ปล่อยไปสู่ร่องสวน ถ้าเต็มร่องสวนแล้ว ไหลเข้าสระพอเต็มสระแรกก็เข้ามาสู่สระที่สอง เราพิสูจน์แล้วว่า 8 ปีที่ผ่านมาเราไม่เคยขาดน้ำ และเราใช้เฉพาะน้ำฝนจริง ๆ 6,000 ลูกบาศก์เมตรที่เราใช้ต่อปี

ทีนี้เรามีน้ำแล้ว ลองนึกถึงสภาพนิเวศที่ผมจัดไว้ ให้น้ำมันหมุนเวียน ให้น้ำมันเก็บ ขั้นต่อมาเมื่อเราได้น้ำแล้ว ให้น้ำไปแก้ไขเรื่องดิน ทุกที่ที่มีน้ำ เราจะปลูกพืชผิวน้ำด้วย จอก แหน พอโตแล้วเราก็ขนมันขึ้นมาใส่เข้าไปในดิน ไม่ต้องไปซื้อ พยายามสร้างภายในระบบของเรานั่นแหละ พอเรานึกถึงอินทรียวัตถุเรามักจะนึกถึงไปไกล ไปเอาปุ๋ยคอกบ้าง ต้องไปคิดอะไรมากมาย พอคิดเสร็จเลิก ไม่มีแรง ไม่มีเวลา ไม่จำเป็นต้องมีปุ๋ยหมักก็ได้ ระบบนิเวศในป่าไม่เห็นว่าเราจะต้องทำปุ๋ยหมักให้มันเลย มันก็ยังสวยงาม ถ้ากระบวนการธรรมชาติมีวัตถุดิบเหล่านี้ เดี๋ยวสิ่งมีชีวิตทางธรรมชาติมาทำงานของมันเอง 

“ผมฟันธงว่าถ้าเรายังทำวิถีแบบเดิม เราจะต้องเหนื่อย แต่การจัดการระบบนิเวศอาจจะไม่ต้องเหมือนกัน ไม่ต้องเป็นเหมือนสวนของผม แต่เราต้องรู้จักว่าเราจะปรับปรุงพื้นที่อย่างไร ให้อยู่ได้ ท่ามกลางสภาวะที่เปลี่ยนไปแบบนี้”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ