ฟังเสียงประเทศไทย : เช็กอินสตูล กับอนาคตการท่องเที่ยว

ฟังเสียงประเทศไทย : เช็กอินสตูล กับอนาคตการท่องเที่ยว

อุทยานธรณีสตูลจะเป็นแหล่งดึงดูดหลักที่ทำให้ผู้คนนึกถึงสตูล

เราจะเป็นประตูอาเซียนที่จะนำนักท่องเที่ยวทั้งอันดามัน และประเทศเพื่อนบ้าน มาเลเซีย อินโดนีเซีย เข้ามา 

การท่องเที่ยวโดยชุมชน 90% เป็นวิสาหกิจชุมชนที่เป็นมุสลิม สามารถรองรับ Halal Tourism

ธรณีโลกสตูล เป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาชุมชน

อยากให้ทุกคนนึกถึงสิ่งที่เป็นทรัพยากรที่เราควรจะดูแล ไม่ใช่เราพัฒนาจนกระทั่งเราลืมผู้คน

นี่เป็นเสียงสะท้อนของคนสตูลในรายการฟังเสียงประเทศไทย ที่อยากเห็นอนาคตของการท่องเที่ยวที่มีหลากหลายทางชีวภาพเป็นต้นทุนที่ดีอยู่เเล้วมาพัฒนาบต่อยอดด้วยองค์ความรู้สมัยใหม่เเละตอบโจทย์คนสตูลเเละตอบโจทย์ความยั่งยืน

ถ้าพูดถึง “สตูล” เรื่องความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวนั้น จังหวัดสตูลไม่น้อยหน้าจังหวัดอื่นในประเทศไทย เพราะสตูลเป็นเมืองเก่ามากประวัติศาสตร์ มีอาณาเขตติดกับมาเลเซียและมีพื้นที่ติดทะเลฝั่งอันดามัน มีเกาะอยู่ในเขตพื้นที่ร่วมร้อยเกาะ ที่สำคัญมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทำให้สตูลได้รับการประกาศเป็น “อุทยานธรณีสตูล”(Satun Geopark) เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกในเมืองไทย

ไม่แปลกที่สตูลจะเป็นจุดหมายของท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แล้วคุณล่ะ ถ้าเก็บกระเป๋ามา “เช็กอินสตูล สิ่งแรกที่คุณนึกถึงคืออะไร” ? ทะเลสวยๆ น้ำตกวังสายทอง ฟอสซิล อุทยานธรณีโลก เกาะหลีเปะ ขนมบุหงาบูดะ ขนมพื้นเมือง ฯลฯ ซึ่งก่อนหน้านี้เราชวนตั้งคำถาม Soundcheckในโลกออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กแลต๊ะ สามารถเข้าไปร่วมตอบกันได้คะ

สตูล ชื่อของจังหวัด มาจากคำว่า “สโตย” ซึ่งเป็นภาษามลายูที่หมายถึงกระท้อน ผลไม้ขึ้นชื่อประจำจังหวัดที่ปลูกมากในหลายชุมชน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูนสลับกับพื้นที่ราบ มีลำน้ำสายสั้นๆ ไหลผ่านโดยรอบ มีเกาะท่องเที่ยวอยู่กว่าร้อยเกาะ เยอะเป็นอันดับสี่ของประเทศ

จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดเล็กๆ มีผู้คนอาศัยอยู่ราวๆ สามแสนคนและกว่าร้อยละ 70 นับถือศาสนาอิสลามสามารถเดินทางมาตัวเมืองสตูลได้สองเส้นทาง จากสงขลาและตรังไม่มีเที่ยวบินและสถานีรถไฟตรงเข้าจังหวัด ต้องขับรถมาเท่านั้น 

ข้อมูลจากภาคการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2558  รายได้หลักเปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรม ประมง ผลไม้และการค้าชายแดน มาเป็นท่องเที่ยวและบริการ ทำรายได้เข้าจังหวัดกว่าปีละ 9,000 ล้านบาทและมีทิศทางเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เกิดกลุ่มท่องเที่ยววิสาหกิจชุมชนมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ  สตูลเริ่มกลายเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ หลังยูเนสโกประกาศให้อุทยานธรณีสตูลเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าทางธรณีวิทยาระดับโลกในปี 2561

สถานการณ์โควิด-19 และการหยุดชะงักของเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังทำให้สตูลเจอข้อท้าทาย

  • ภัยคุกคามทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาตรการทางการค้า รวมถึงการแข่งขันทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น  รายได้หลักจากภาคเกษตรประมงลดลง
  • สัดส่วนแรงงานภาคท่องเที่ยวมีไม่เพียงพอกับขยายตัวของนักท่องเที่ยว
  • โจทย์การพัฒนาและเชื่อมระบบโลจิสติกส์ที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่
  • สตูลอยู่ในแผนพัฒนาการบริหารจัดการแร่ ๒๐ ปี เพื่อประกอบการหินอุตสาหกรรมที่สวนทางกับต้นทุนของพื้นที่
  • การรักษาสถานะการเป็นสมาชิกเครือข่ายอุทยานธรณีโลกที่ปฎิบัติตามกรอบและเงื่อนไขที่ทางยูเนสโกกำหนดไว้

โอกาสที่จะทำให้ “สตูล” สามารถพัฒนาต่อได้

  • การประกาศเป็นอุทยานธรณีโลก ทำให้สตูลเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วทุกมุมโลก พัฒนาเป็นศูนย์กลางเรียนรู้และท่องเที่ยว
  • นโยบายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ไทย-ซาอุดีอาระเบียในช่วงต้นปี เป็นโอกาสดึงดูดนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง สามารถการพัฒนาศูนย์กลางการท่องเที่ยว “ฮาลาล” อย่างครบวงจร
  • ยุทธศาสตร์จังหวัดติดประเทศมาเลเซียสามารถเชื่อมต่อการพัฒนาทั้งด้านการท่องเที่ยว และการค้าชายแดนใต้
  • การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยวและการค้าสำคัญของจังหวัด สามารถกระจายรายได้สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น

ดูข้อมูลข้อเท็จจริง

เช็กอินสตูล กับอนาคตการท่องเที่ยว

ฉากทัศน์ที่ 1  ศูนย์กลางการท่องเที่ยว “ฮาลาล”

ยกระดับสตูลเป็น ศูนย์กลางการท่องเที่ยว “ฮาลาล” ที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม รองรับนักท่องเที่ยวมุสลิมจากจังหวัดใกล้เคียงและอาเซียน จัดการตั้งแต่การเดินทาง อาหารไปจนถึงที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ 

  • Up-Re skill แรงงานภาคบริการด้านภาษาอังกฤษ มลายู อาหรับ  
  • พัฒนาตลาดและส่งเสริมหลักสูตรการบริการตามมาตรฐานฮาลาล
  • ลงทุนสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงทุกพื้นที่  ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลา

ฉากทัศน์ที่ 2  ประตูท่องเที่ยวสู่อันดามัน รองรับกลุ่มประเทศอาเซียน พัฒนาโลจิสติกส์เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าระดับกลางทั้งทางอากาศอากาศ บก-ทางน้ำ

พัฒนาจุดเด่นเกาะหลีเป๊ะ,อุทยานสตูลจีโอปาร์ค และสามารถเชื่อมต่อไปยังกลุ่มท่องเที่ยวอันดามัน ถ้าทำได้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น ชาวบ้านมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ชุมชนขายนักท่องเที่ยวได้กระจายรายได้ถึงมือ เกษตรกรรม ประมง ผลไม้ประจำถิ่น กระท้อน จำปะดะ แต่สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องส่งเสริมความรู้การท่องเที่ยว อบรมมัคคุเทศก์ อาหารฮาลาล และท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการจัดการ บริหารตามข้อบัญญัติกฎหมายของท้องถิ่น และพัฒนาโครงสร้างที่พัก ถนน รีสอร์ทให้สอดคล้องกับกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลางกับการพัฒนาสมัยใหม่ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่จำเป็นต้องสูญเสียทรัพยากรสิ่งแวดล้อมไปบางส่วน ความเสี่ยงการเดินทางที่มีผู้คนเดินทางเข้ามามากขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 3  แหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับอุทยานธรณีโลกสตูล (Satun Geopark) เป็นที่รู้จักในระดับโลก

ชุมชน จังหวัด โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับมรดกทางธรณีวิทยา ทำงานร่วมกับจังหวัด หน่วยงานภาครัฐในการเตรียมความพร้อม ทั้งความเข้าใจ การให้ความรู้ สร้างไกด์พื้นที่ ส่งเสริมอาชีพพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วทุกมุมโลก มีการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างสมาชิกเครือข่ายของอุทยานธรณีโลก ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนและท้องถิ่น เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหน ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าได้รับการปกป้องคุ้มครอง เกิดเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งศึกษา วิจัย ของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้แผนพัฒนาจังหวัด อาจมีความเสี่ยงในการประเมิน จะต้องปฎิบัติตามกรอบและเงื่อนไขที่ทางยูเนสโกกำหนดไว้  มีการตรวจประเมินทุก 4 ปี ถ้าบกพร่องในการบริหารจัดการ ก็จะถูกถอดออกจากการเป็นสมาชิก

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล มีรายได้ เติบโตแซงหน้าภาคเกษตรกรรม แต่มีชะงักลงบ้างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และในช่วงที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จังหวัดสตูลจะเติบโตไปข้างหน้าภายใต้ทุนที่ตัวเองมี ในทิศทางไหน วันนี้ทางไทยพีบีเอสชวนชุมชนเเละผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 30 คน และชวนคีย์แมน 4 ท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาชวนมองสตูลกับอนาคตการท่องเที่ยว กับคุณเจตกร หวันสู ประธานสภาท่องเที่ยว อบจ.สตูล คุณไพศาล หลีเส็น รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสตูล  คุณจักรกริช ติงหวัง ประธานท่องเที่ยวชุมชน จ.สตูลและคุณ อับดุลกอฟฟาร์ หลีเยาว์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม

ภาพอนาคตกับทิศทางการท่องเที่ยว จ.สตูล คิดว่าควรจะเป็นอย่างไร?

“ด้วยศักยภาพสตูล ค่อนข้างมีบริบท มีประวัติศาสตร์ที่เชื่อมกันกับเพื่อนบ้าน เราเชื่อมโยงกับทางตอนเหนือของมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นทางปะลิส เคดาห์หรือไทรบุรี ความเชื่อมโยงของรากฐาน ไทย-มุสลิม ในพื้นที่สตูล ค่อนข้างที่จะสอดรับกับประเด็น Halal Tourism อยู่พอสมควร”

เป็นคำพูดของ เจตกร หวันสู ประธานสภาท่องเที่ยว อบจ.สตูล ในมุมประเด็นความเป็นสตูลกับเรื่องความเป็น Halal Tourism คิดว่าจริง ๆ แล้วสตูลค่อนข้างที่จะมีข้อมูลทางกายภาพและข้อมูลเชิงวิชาการตลอดจนพื้นที่ค่อนข้างสอดรับกันพอสมควร ด้วยบริบทที่ผ่านมาจะเห็นว่าความเป็นอัตลักษณ์ของคนสตูลค่อนข้างที่จะเปิดรับและมีมิตรไมตรีกันเเละกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาก่อนปี 62 เรามีตัวเลขนักท่องเที่ยวมาเลเซียเข้ามาในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ แต่ตัวเลขทั้งหมดไม่ได้ผ่านช่องทางปกติของพื้นที่สตูล จะมีผ่านช่องทางด่านนอกและด่านพื้นที่อื่น ๆ เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้ามาสตูลเพื่อหาความเป็นอัตลักษณ์ฮาลาลในอนาคตอันใกล้ ผู้ประกอบการ พี่น้องในพื้นที่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจบริบทใหม่ นั่นก็คือเรื่องการจัดการฮาลาล ที่นี้เราร่วมกำหนด aganda มาสู่ภาคปฏิบัติที่สอดรับเรื่องของการท่องเที่ยวได้ดี

เนื่องจากสตูลมีหลายอำเภอ บางอำเภอสามารถพูดมลายูได้ นอกเหนือจากคนที่เป็นมัคคุเทศก์บางส่วน และอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะผู้คนประมาณ 2,000 กว่าคนโดยประมาณ

ผมเข้าใจว่า ถ้าเราจะรองรับความเป็นศูนย์กลางของฮาลาลในอนาคต เรามีกลุ่มตลาดค่อนข้างสูง และตัวเลขที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมาเลเซียเข้าประเทศไทยเกือบ 2 ล้านกว่าคน ตัวเลขรายได้ในพื้นที่สตูลไม่ต่ำกว่า 9 พันกว่าล้าน มองว่า การUp skill ของผู้คนในสตูล สถาบันการศึกษาต้องเข้ามาช่วยรองรับและเติมเต็ม โดยเฉพาะในเรื่องหลักการศาสนาและHalal Tourism

คนในอุตสาหกรรมเรามีจำกัดในอนาคตเราจะรับคนหลายพื้นที่ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ระหว่างไทย – ซาอุดิอาระเบีย ถ้าจ.สตูล มองประเด็นนี้ให้เป็นการสร้างคนในอนาคต เพื่อได้Skill ในเรื่องของการให้บริการที่ดี นอกจากการเป็นเมืองต้อนรับที่ดีแล้ว เราอาจเป็นเมืองที่ส่งแรงงานที่ดีในพื้นที่สตูลออกสู่สากลได้

คุณเจตกรกล่าวต่อว่า ถ้าสตูลมีความคิดเรื่องนี้ จังหวัดต้องมีการจัดตั้ง สถาบันร่วมกับองค์กรจัดการเรียนรู้ หรือวิทยาลัยชุมชนแต่ต้องประกาศชัดเจนว่า สตูลจะขับเคลื่อนเรื่อง Halal Tourism เราต้องมีศูนย์หรือองค์กรที่จัดการร่วมกัน เราจะทำความคิดนี้ให้กับผู้คน ให้กับน้องเยาวชน เมื่อจบมาตนเองสามารถทำงานในพื้นที่ได้ แต่ขณะเดียวกันสามารถที่อยู่ร่วมกับขนบธรรมเนียมประเพณีของเราได้  

จังหวัดต้องชัดเจนว่าจะขับเคลื่อน Halal Tourism อย่างไรให้เป็นaganda และทุกคนเห็นความสำคัญร่วมกัน

“มีบางมุมมองบอกว่า จ.สตูลเป็นเมืองปิด ถ้าไม่ตั้งใจเข้ามาก็จะไม่ผ่าน เหมือนกับสงขลา พัทลุง หรือนครศรีธรรมราช บางคนบอกว่า จ.สตูล ถ้าเทียบกับร่างกายเหมือนไส้ติ่ง จะตัดออกหรือมีก็ได้เพราะฉะนั้นทำอย่างไรที่จะให้ จ.สตูล เป็นจังหวัดเปิด”

เป็นคำพูดของ คุณไพศาล หลีเส็น รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.สตูล เล่าว่า ผมเคยทำงานอยู่หอการค้าตั้งแต่ปี 2539 สิ่งแรกที่เราคิดคือการเปิด จ.สตูล ด้วยโครงการสะพานสตูล – ปะลิส จากวันนั้นถึงวันนี้เราก็ยังคุยเรื่องนี้กัน Andaman Gateway เราก็หันมามองภาพที่เป็นจริง ไม่ควรมองภาพใหญ่เกินความเป็นจริง โดยเฉพาะเรื่องโลจิสติกส์ในการขับเคลื่อนสำคัญมาก แต่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับจังหวัดของเรา เพราะการทำโลจิสติกส์แต่ละครั้งย่อมกระทบในหลาย ๆ ส่วน มีมุมมองต่างกันอีกหลายมุม

ในส่วนประเทศไทย จ.สตูล อยู่ในโลเคชั่นของ IMT-GT เพราะเป็นจังหวัดเดียวฝั่งอันดามัน ในขณะที่จังหวัดอื่นเขาจะอยู่อีกฝั่ง ตั้งแต่บัดนั้นจนวันนี้ สตูล ไม่ได้อะไรเลย ประเด็นประตูการค้าสู่อาเซียน เราพูดได้แต่ทำได้หรือไม่ได้อีกเรื่อง เเต่เรื่องโลจิสติกส์เราพร้อมหรือไม่

ถ้าเป็นทางเรือ ที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้ คือ ท่าเรือกำมะลัง แต่บัดนี้เรือยังเข้าไม่ได้ เพราะต้องขุดลอกคลองเรือขนาดใหญ่ยังเข้าไม่ได้ เพราะติดปัญหาล่องน้ำ ผมเป็นคณะกรรมการ กรอ.จังหวัด และเป็นคณะกรรมการ กรอ. กลุ่มอันดามัน ตั้งแต่ระนองลงมามีการประชุม ออกนโยบายในแต่ละจังหวัดในแถบอันดามันต้องมีท่าเรือที่เรือท่องเที่ยวระดับกรีช เพื่อขนส่งนักท่องเที่ยวได้ ไล่มาตั้งแต่ปีนัง ,ลังกาวี ,สตูล ,ตรัง ,กระบี่, พังา, ภูเก็ตไปจนถึงระนอง

การนำนักท่องเที่ยวขึ้นมาแต่ละครั้งหมายถึง การนำรายได้มหาศาลและก็มีการตั้งคำถามว่าแล้วคนกลุ่มอื่น ๆ อย่างปลูกผัก ในทัศนะผมคิดว่า การท่องเที่ยวคือต้นน้ำของธุรกิจอื่น ๆ

คุณไพศาลกล่าวต่อว่า ประตูการค้าสู่อันดามันและอาเซียน สิ่งแรกที่เริ่มต้น คือ ปรับปรุงโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นทางเรือ ถนน ถ้าทำได้ดี จะเกิดการเคลื่อนของท่องเที่ยว เคลื่อนกับการค้าเข้ามาทีนี้มันขึ้นอยู่กับผู้ประการว่าจะฉกฉวย เก็บเกี่ยวโอกาสนั้นได้อย่างไร

ด้านคุณจักรกฤต ติงหวัง ประธานท่องเที่ยวชุมชน จ.สตูล กลาวว่าในส่วนธรณีโลกก็คือ ยกระดับให้เป็นระดับโลก ถือว่าเป็นธงใหญ่ที่จะไปให้ถึงและบวกกับคำว่ายั่งยืนไปด้วยท่องเที่ยวชุมชนก่อเกิดจากการอนุรักษ์ทรัพยากรเติบโตมาจากชาวประมงพื้นบ้าน มีการเริ่มต้นที่ชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูกและขยับขยายมาในรูปแบบของเครือข่าย

แต่เรามีภารกิจหลักในส่วนของความงดงามที่เป็นฐานชุมชน หลักๆ 2 เรื่อง 1. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เขา ป่า นา เล ร่วมไปถึงเขตพื้นที่ภูเขาธรณีโลก 2. วิถีวัฒนธรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิต โดยสตูลมีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและมีกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยมีพี่น้องมันนิ พี่น้องอุรักราโว้ย ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมามีคณะกรรมการสิทธิ์ลงมาเลยมีแนวทางที่จะทำต้นแบบของประเทศ เรื่องการกำหนดพื้นที่เชิงวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับงานธรณีโลกสตูล ซึ่งหลายอย่างที่เป็นข้อกำหนดของยูเนสโก เราพูดเรื่องหัวใจหลักที่เป็นเสน่ห์ ความเป็นวิถีชุมชนและการบูรณาการร่วมกัน ของชุมชนและหน่วยงาน คิดว่าต้องร่วมมือกัน

แต่ขณะเดียวกัน การประกาศธรณีโลก มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หลัก ๆ คือความตื่นตัวของชุมชนมีในระดับหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานจะตื่นตัวมากกว่า จ.สตูลถูกประกาศใน 4 อำเภอ และภาพฝันของเครือข่ายมีข้อเสนอเบื่องต้น จาก 4 อำเภอประกาศเพิ่มเป็น 7 อำเภอ และครอบคลุมทั้งจังหวัด โดยใช้เครื่องมือธรณีโลกเป็นตัวชูโรง ที่ต้องมีมาตรการ การจัดการ การบริการและภาษา ต้องเสริมเพิ่มคือการร่วมมือที่เป็นจริงเพิ่มความประจักษ์มากกว่าเดิม

เช่นเดียวกับคุณอับดุลกอฟฟา หลีเยาว์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ที่มองเรื่องนี้ไม่ต่างกัน กล่าวว่า เราหวังเรื่องทรัพยากรที่เรามีอยู่อย่างมากมายในจ.สตูลและยังสมบูรณ์อยู่ เป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศและทั้งโลก ในการใช้ทรัพยากรเราต้องมองถึงอนาคตด้วย

ชาวต่างชาติมีแนวโน้มที่จะท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากขึ้น ถ้าเราพูดถึงสตูล อุทยานธรณีโลก อาหารฮาลาล มันรวมอยู่ในเรื่องของท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงวัฒนธรรม แล้วตัวอุทยานธรณีโลกจะเป็นจุดแข็งสำหรับเรา

เราเป็นจังหวัดขนาดเล็ก ขนาดกลาง พัฒนาแค่พอตัวเรา เป็นประตูอันดามัน สามารถเชื่อมกับ มาเลเซีย สิงคโปร์ เเละอินโดนีเซีย จะต้องผ่านสตูลรวมถึงการขนส่งอาหารผลไม้ต่าง ๆ ที่อยู่ในโซนอันดามัน เป็นข้อได้เปรียบของเรา

อับดุลกอฟฟากล่าวทิ้งท้าย สุดท้ายจังหวัดมีทิศทางที่จะเป็นท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  ถ้าเรามีท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จริง ๆ นักท่องเที่ยวก็อยากมาสิ่งสำคัญคือ การใช้ทรัพยากรเราต้องเรียนรู้ทรัพยากรนั้นด้วย ต้องมีความรู้เกี่ยวกับทรัพยากร และใช้ประโยชน์อย่างไร ให้มีใช้ไปจนถึงรุ่นน้อง  ๆ เยาวชนเเละลูกหลานในอนาคต

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเป็นไงบ้าง? คุณสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและโหวตเลือกฉากทัศน์ “ อนาคตการท่องเที่ยว สตูล” ได้ที่

เเละพร้อมร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส ทั้งประเด็นระดับชาติ และประเด็นท้องถิ่นใต้กับแลต๊ะแลใต้ และ Thai PBS

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ