เครือข่ายภัยพิบัติอุบลเสนอตั้งกรรมการป้องกันฟื้นฟูฯ ย้ำ…ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม

เครือข่ายภัยพิบัติอุบลเสนอตั้งกรรมการป้องกันฟื้นฟูฯ ย้ำ…ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม

19 พฤษภาคม 2565 ตัวแทนเครือข่ายผู้ประสบภัย จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดเสวนา “จากบทเรียนการรับมือภัยพิบัติ สู่การวางแผนที่ยั่งยืน” ณ ห้องประชุมศาลาประชาวาริน เทศบาลเมืองวารินชําราบ หลังจากกรณีเกิดภัยพิบัติใหญ่ ปี 2562 เพื่อสานพลังขับเคลื่อนให้อุบลราชธานีปลอดภัยจากภัยพิบัติทุกมิติรวมทั้งโรคอุบัติใหม่ พร้อมขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี สั่งการให้ตั้งกรรมการป้องกัน ฟื้นฟูภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่ระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับราชการในการรับมือแก้ไขภัยพิบัติฯทั้งระยะสั้นระยะยาว โดยมีสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี เทศบาลวารินเมืองวารินชําราบ มูลนิธิชุมชนไท และมูลนิธิสื่อสร้างสุข ร่วมเสวนา

ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัตินับเป็นอีกความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกปี อันเป็นผลมาจากหลายปัจจัยรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเมือง และสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้านหนึ่งทำให้ผู้เผชิญเหตุทั้งภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐ เอกชนและนักวิชาการ ได้มีประสบการณ์จริง อันนำมาสู่บทเรียนในหลายลักษณะที่สามารถนำมาเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในพื้นที่อุบลราชธานี ที่เผชิญสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2562 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้หลายฝ่ายหันมาศึกษาวิจัยเก็บรวบรวม และบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ

“จากบทเรียนการวิจัยที่เราได้ทำมา พบว่าผลกระทบจากน้ำท่วม ที่ได้ทดลองเก็บข้อมูลทุกครัวเรือนในชุมชนบ้านท่าบ้งมั่ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมเมื่อปี 2562 รวมทุกอย่างทั้งบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ต่าง ๆ เฉลี่ยรายครัวเรือน 80,000 บาท/ครั้ง ที่ชาวบ้านขาดทุน ซึ่งอนาคตจะต้องดูว่าชาวบ้านจะต้องทำอย่างไรเพื่อหางบ 80,000 บาท มาซ่อมแซมบ้าน เนื่องจากเงินที่ได้รับช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เพียงพอ”  ดร.สุรสม กฤษณะจูฑะ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้น หลังจากทีมนักวิชาการได้ศึกษาวิจัยและลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุมชนและชวนมองโจทย์ที่จะสร้างความยั่งยืนในการเตรียมรับภัยพิบัติในอนาคต

“เมื่อเราจะทำงานเรื่องน้ำท่วม นโยบายควรจะมีการทำก่อน ผมลองคิดจากมุมของผมก่อน ยกตัวอย่างเช่น หากเราจะสร้างทางออกโดยนำชุมชนเป็นตัวตั้ง อาจจะแบ่งได้ 4 แบบ

  1. ชุมชนเป็นคนจัดการด้วยตัวเอง โดยไม่มีใครเข้าช่วย
  2. นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เขื่อน คลองผันน้ำ และเทคโนโลยีอื่น ๆ
  3. ทำวอร์รูม ทิศทางการไหลของน้ำ
  4. แนวคิด เรือโนอา เป็นการสร้างเรือยังไงให้รองรับคนทั้งหมดให้ไปอยู่บนเรือได้เวลาน้ำท่วม เปรียบเสมือนการสร้างเมือง ที่จะต้องวางผังเมือง เพื่อลดการเกิดน้ำท่วม หรือจะทำยังไงให้ชุมชนอยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้

ในอนาคตเราต้องมองว่าทำยังไงจึงจะเกิดการบูรณาการงานร่วมกัน หรือจะมีการทำงานไปในทิศทางใด ซึ่งวิธีการยื่นข้อเสนอหรือการให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานร่วม ถือเป็นการจัดการที่สามารถเป็นไปได้ เพราะมีการรับข้อเสนอและเห็นชอบกับการทำงาน และในปัจจุบันประชากรมีจำนวนมากขึ้น ปัญหาคือจะทำยังไงให้มีการจัดการที่รองรับชาวบ้าน”

“น้ำท่วมอยู่แล้ว จนอยู่แล้ว ก็จะจนซ้ำซากไปอีก”

หนูเดือน แก้วบัวขาว เครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติ จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในตัวแทนชาวบ้านที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมทุกปีย้ำถึงผลกระทบ เพราะเธอและชุมชนอยู่ในพื้นที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำมูลซึ่งได้ร่วมแลกเปลี่ยน พร้อมมีข้อเสนอไปยังหน่วยงานในพื้นที่หวังให้มีการพูดคุยและวางแผนรับมือภัยพิบัติร่วมกัน “อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่น้ำท่วมทุกปี ไม่ทราบว่าเป็นภัยพิบัติหรือไม่ ? หลังจากเหตุการณ์สึนามิที่ภูเก็ต ทำให้ทราบว่าไม่ได้มีเฉพาะน้ำท่วมเท่านั้นที่เป็นภัยพิบัติ แต่เป็นเรื่องของทุกอย่างและทุกคนที่มีส่วน  เราได้ไปช่วยเหลือและเรียนรู้ว่าภัยพิบัติเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ได้มีเฉพาะน้ำท่วมเท่านั้นที่เป็นภัยพิบัติ เราก็เลยมาคุยกันว่าเราจะจัดตั้งทีมอาสาภัยพิบัติขึ้นตั้งแต่ปี 2553

ปี 2554 เกิดภัยพิบัติใหญ่ที่อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ เกิดการจัดตั้งเรือโมเดลขึ้นที่ชุมชนคูสว่าง เนื่องจากชุมชนและศูนย์อพยพมีระยะทางที่ห่างกันมาก การทำงานของเครือข่ายที่ผ่านมา มีการทำงานหลายเรื่อง และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มูลนิธิชุมชนไทย และงบประมาณจากส่วนราชการ ปัจจุบันเครือข่ายมีเรืออยู่ประมาณ 26 ลำ ซึ่งยังมองว่ายังไม่พอ

ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 62 คือ น้ำมาเร็ว และไม่มีระบบการสื่อสารที่ดีพอ ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ปี 63 สถานการณ์โควิด เข้ามา เครือข่ายจึงมีการจัดทำระบบคลังอาหาร และการป้องกันโรคด้วยสมุนไพร ตอนนี้ที่เราวางแผนกันไว้คือ อยากให้หน่วยงานท้องถิ่นหรือเทศบาลสนับสนุนและออกแบบร่วมกัน ถ้าเกิดมีน้ำท่วมอีกก็อยากจะจัดศูนย์อพยพที่เป็นระบบ รวมถึงระบบสาธารณูปโภค ห้องน้ำที่สะอาดและดี และต้องการการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 การย้ายหรืออพยพคน อุปกรณ์จะเอาไปไว้จุดไหน อย่างเรื่องโควิด-19 ชาวบ้านยากจนและไม่มีที่ทำกิน จึงอยากเสนอให้รัฐอนุญาตให้ชุมชนเข้าไปใช้พื้นที่ในการปลูกผัก เพื่อนำผักมากิน ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากรณีครัวเรือนนั้นติดโควิด ไม่สามารถไปทำงานได้ ก็จะสามารถนำผักที่ปลูกไว้มากินได้ เวลาเกิดภัยพิบัติ อยากให้หน่วยงานสนับสนุนเรื่องของการทำครัวกลางและวัตถุดิบ”

“อย่างน้อยได้เห็นหลังคาบ้านก็ยังดี ผมมองว่ากรณีแบบนี้เป็นวิถีชีวิตของชุมชน ที่ขึ้นอยู่กับชุมชนและสถานการณ์ และเป็นปัญหาที่อาจจะแก้ยากหรือแก้ไขไม่ได้” จีระชัย ไกรกังวาร นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองวารินชำราบ แสดงความเห็นและมองว่าในความเป็นจริงเทศบาลเปรียบเสมือนหน่วยผจญภัย เพราะต้องไปผจญภัยพิบัติในเรื่องของการย้ายไปที่จุดอพยพ ซึ่งหลายครั้งชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่ยอมย้ายไปศูนย์อพยพที่จัดให้ เพราะมีความเป็นห่วงบ้านเรือนและทรัพย์สิน “ในส่วนของการแก้ไขปัญหาซ้ำซาก มองว่าการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ที่สร้างในระดับ 7 เมตร ซึ่งมีถนนสูงที่ระดับ 10 เมตร จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่สถานการณ์น้ำในทุก ๆ ปีมีความสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มีการยกระดับความสูงขึ้น อยู่ที่ 9.54 เมตร  114 (ม. รทก.)

การทำงานร่วมกับชุมชน เทศบาลมีการหารือและทำงานร่วมกันได้ แต่การหารือเรื่องของเขื่อน ก็จะมีชุมชนบางชุมชนที่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วย การออกแบบร่วมกัน กรณีของการจัดโซนอพยพ เนื่องจากน้ำมาไม่พร้อมกัน ชุมชนที่น้ำท่วมก่อนก็จะขึ้นมาก่อน แต่ถ้ามีการจัดการโซนพื้นที่จะช่วยให้มีการจัดการที่ดี ไม่รวมกันหลายชุมชนในพื้นที่เดียว “ชุมชนอยากอยู่ตรงไหน เราจัดให้หมด เราสนับสนุนทุกครอบครัว” แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน 200 ไร่ ที่มีอุปกรณ์เตรียมพร้อม และจะสามารถดูแลจัดการชุมชนได้ แต่ปัจจุบันให้ชุมชนเลือกพื้นที่เองซึ่งเรื่องที่ดินทางชุมชนจะต้องไปดูว่าจะใช้พื้นที่บริเวณใด แล้วมาคุยกันว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นของหน่วยงานใดรับผิดชอบ เทศบาลพร้อมช่วยเหลือ

เรื่องครัวกลางเดิมมีโรงครัวพระราชทาน หรือมีผู้ใหญ่ใจดีทำอาหารมา ซึ่งมาในรูปแบบข้าวกล่องอยู่แล้ว ชุมชนบางชุมชนมีระบบการจัดตั้งครัวกลางของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้น การแก้ปัญหาในอนาคต เราคิดแทนเขาไม่ได้ เพราะเขาเผชิญภัยพิบัติมาเป็นปี ๆ แต่เราทำได้คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะต้องมองว่าจะทำยังไงให้ลดความเดือดร้อนในขณะนั้นให้น้อยที่สุด ในส่วนของเทศบาลจะดูว่าสิ่งไหนที่ชุมชนต้องการก็จะสนับสนุน เช่น ตอนนี้มีเรือแล้ว แต่ขาดเครื่องเรือ ก็จะสนับสนุนเครื่องเรือ หรือสนับสนุนเรือขนาดเล็กให้กับครัวเรือนที่เป็นปัจเจก และสนับสนุนเรื่องของการฝึกอบรมขับเรือ”

อดิศร บุญมาก ผู้แทนจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสารารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี บอกว่าในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางของรัฐ ที่บูรณาหน่วยงานทุกภาคส่วนในการจัดการภัยพิบัติ การทำงานจะมีการทำงานในช่วงก่อน ระหว่างและหลังร่วมกับชุมชนปัจจุบันหน่วยงานได้มีการยื่นเสนอแผนเข้ามาเป็นเครื่องมือการจัดการและบรรเทาสาธารณะภัยซึ่งการมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน และชุมชนเข้ามาทำงานร่วมกันที่จะช่วยให้เกิดการเบาแรงในการทำงานของหน่วยงาน ยกเว้นแต่จะเกินความสามารถในการบริหารจัดการ ชุมชนสามารถเข้าขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานท้องถิ่นได้และเห็นด้วยกับการจัดโซนอพยพของชุมชน เพื่อทำให้เกิดการบริหารจัดการที่ง่าย

“จากบทเรียนภัยพิบัติปี 2562 ชุมชนได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งพบว่า ระบบการแจ้งเตือนในปีนี้มีความล่าช้า เนื่องจากการแจ้งเตือนมาจากหน่วยงานส่วนต่าง ๆ จากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง มาที่จังหวัด และจำเป็นจะต้องรอคำสั่งแจ้งเตือนไปที่พื้นที่อำเภอ อำเภอส่งต่อไปที่ชุมชน ทำให้การเข้าไปให้ความช่วยเหลือล่าช้า เป็นเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนเป็นจำนวนเยอะ”

มองว่า เป็นเรื่องของอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือไม่เพียงพอ จึงทำให้การเข้าช่วยเหลือบางพื้นที่เข้าช่วยเหลือไม่ทัน ปัจจุบันมีวิธีการส่งข่าวสารผ่านทางเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีความรวดเร็วกว่าปี 2562 ชุมชนจะต้องตื่นตัวในการรับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหากได้ข่าวสารเร็วก็จะทำให้ชุมชนอพยพทัน และจะลดความเสียหายของทรัพย์สินได้

อนาคตจะต้องทำยังไงถึงจะเกิดความยั่งยืน มองว่า  1. การสร้างเครือข่ายของหน่วยงาน ชุมชน และองค์กร เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะช่วยให้การเข้าช่วยเหลือได้ทั่วถึงและรวดเร็ว การที่เครือข่ายเข้ามารวมตัวและสร้างความเข้มแข็ง จะสามารถทำให้เกิดการเข้ามาช่วยเหลือกันได้  2. เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ ถ้าพี่น้องเรียนรู้การใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ จะช่วยทำให้เข้าถึงข้อมูลที่เร็วขึ้น และมีการเตรียมมือได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ 3. การบริหารจัดการ การมอบหมายบทบาทหน้าที่ การเขียนแผน ที่จะต้องมีการเตรียมพร้อมและซ้อมแผน 4. งบประมาณ ในเรื่องของการเตรียมความพร้อม จะต้องดูว่าจะใช้บประมาณหรือจะหางบประมาณจากแหล่งใดเพื่อนำมาสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายได้”

นอกจากตัวแทนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีไมตรี จงไกรจักร (มูลนิธิชุมชนไท) ผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องของภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้และมีการขับเคลื่อนการทำงานของชุมชนร่วมกับหน่วยงานมาอย่างต่อเนื่อง ก็ได้สะท้อนว่า อุบลราชธานีน้ำท่วมทุกปี การสร้างเรือเพื่อเตรียมพร้อมในชุมชนเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ พร้อมมีข้อเสนอการทำงานได้แก่1. ส่งเสริมชุมชนให้เป็นหน่วยเริ่มต้น และรับการสนับสนุนให้เป็นหน่วยเริ่มต้นในการเตรียมรับมือภัยพิบัติหัวใจสำคัญของภัยพิบัติคือ เพราะปัจจุบันหน่วยงานรัฐมีกำลังไม่เพียงพอในการทำงานและรับมือภัยพิบัติ จึงทำให้การรับมือไม่ทัน “มีเรือ แต่ไม่มีคนขับเรือ” ดังนั้นการเริ่มที่ชุมชนจะเป็นด่านแรกที่จะรับมือได้ เพราะน้ำท่วมที่ชุมชน และ2. จะต้องมีข้อมูลและแผนการจัดการ ถ้าข้อมูลดี ถ้ามีการชวนชาวบ้านมาแบ่งกลุ่มทำงานเป็นโซนเป็นโซนน่าจะดี เรียนรู้ร่วมกัน (ทำโครงการสร้างผังกรรมการ) เพื่อให้ชุมชนรับรู้

“ผู้ประสบภัยไม่ใช่คนพิการ สึนามิเป็นบทเรียนสำคัญ เพราะคนมองว่ารัฐช่วยเขา ประชาชนนั่งรอ  ผมเสนอว่า เราจะต้องมีจุดประสานงาน ติดป้ายให้ชัดเจน และมีทีมอาสาเพิ่มและจะต้องมีการฝึกเรื่องการขับเรือเพิ่ม ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะมาเร็วหรือช้า แน่นอนว่าเราทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติได้ แต่หากมีการวางแผน เตรียมพร้อมจากชุมชน สู่ท้องถิ่นที่รับผิดชอบร่วมกัน อย่างน้อยก็จะช่วยให้ความเสียหายเกิดขึ้นน้อยลง”

ในการเสวนาครั้งนี้ เครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติ จังหวัดอุบลราชธานี และตัวแทนชาวบ้าน ได้ยื่นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนและการป้องกันโรคโควิด-19 ต่อรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี สั่งการให้ตั้งกรรมการป้องกัน ฟื้นฟูภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่ระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น เทศบาล อบต. เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับราชการในการรับมือแก้ไขภัยพิบัติ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยเครือข่ายมีบทเรียนประสบการณ์จากภาคปฏิบัติ ดังนี้

1. ช่วงน้ำท่วม ได้ระดมทุน บริจาค ทำเรือ และหลังน้ำลด ได้ของบ สนับสนุน ทำเรือ จาก ปภ.จังหวัด รวมมีเรือ 26 ลำ และ พอช.สนับสนุนการทำแพ

2.การรออาหารข้าวกล่อง พบว่า ไม่มีคุณภาพ เกิดขยะ ไม่ทั่วถึง ชุมชนจึงทำ “ครัวกลาง” ทำอาหารกินกันเอง ตามที่อยากกินเป็นวิธีที่ชุมชนถนัดตามวิถีอยู่แล้ว  แต่ในภาวะน้ำท่วมชุมชนขาดแคลนวัตถุดิบ จึงควรได้รับการสนับสนุน วัตถุดิบ ให้ทำครัวกลาง แทนการแจกข้าวกล่อง

3.อุบลราชธานีเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก มีพื้นที่กว้างขวาง มีผู้เดือดร้อนนับพันครอบครัว  หน่วยงานมีกำลังพลน้อย แต่ชุมชนมีอาสาสมัคร ชุมชนละไม่ต่ำกว่า 10 คน ถ้ามีการพัฒนาระบบความร่วมมือในรูปแบบ “คณะกรรมการรัฐ-ชุมชนป้องกันภัยพิบัติ” เพิ่มศักยภาพให้มีความรู้ ทักษะเช่นการกู้ชีพ การใช้เรือ การสื่อสาร การอพยพผู้เปราะบาง การทำข้อมูล การประสานงานเป็นต้น ต่อทั้งกรรมการ และอาสาสมัคร รวมทั้งการสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็น จะเป็นกำลังของชุมชนและสังคม

4.กรณีโรคโควิด 19 บทเรียนและทางแก้ปัญหาจากประสบการณ์ตรง คือ

4.1 การกระตุ้นให้กลุ่มกิจกรรมไม่เป็นทางการในชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเยาวชน มีบทบาทป้องกันโควิดโดยให้ความรู้พื้นฐาน ให้เกิดจิตอาสา แต่กลุ่มนี้ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ ถ้าได้รับการสนับสนุน ชุมชนก็จะปลอดภัยมากขึ้นไม่เป็น ครัสเตอร์ ในระยะยาวพัฒนาเขาขึ้นเป็น”อาสาบุคลากรสุขภาพประจำชุมชน” ร่วมกับ อสม.

4.2 ในภาวะที่โรงพยาบาลรับผู้ป่วยจนเต็มศักยภาพ ชุมชนใช้สมุนไพรสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายที่ประสบผลดีคือ สามแม่ทัพ ไบรโอเนี่ย ฟ้าทะลายโจร กระชาย เรื่องสมุนไพร จึงควรจัดระบบส่งเสริมให้เป็น”บ้านสมุนไพร”ให้มีในชุมชนทุกแห่งตามสภาพพื้นที่

4.3 ประสานทรัพยากร “ชนบท- เมือง” ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร และสมุนไพร ชนบทมีพื้นที่มีความหลากหลาย เมื่อมีพื้นที่ ที่มีความสัมพันธ์กันโดยตรงก็สามารถส่งทรัพยากรกันได้รวดเร็ว

4.4 เพิ่มพื้นที่อาหารชุมชน โดยเฉพาะชุมชนเมืองซึ่งรับจ้างรายวัน หาเช้ากินค่ำ และประสบความขาดแคลนกระทันหันจากโควิดฯ แต่ถ้ามีพื้นที่อาหารชีวิตพอดำเนินไปได้ ตัวอย่าง “สวนแสงไต้” ชุมชน หาดวัดใต้ เป็นโมเดล การพลิกที่ดินร้างเป็นพื้นที่อาหาร “ป่าสมุนไพร” บ้านหนองยาง กลุ่มปลาดุก กลุ่มผักปลอดสาร เหล่านี้ได้เป็น ซุปเปอร์มาเก็ตในบ้าน ยุคโควิดฯได้อย่างดี จึง ควรมีการสำรวจหาพื้นที่ สนับสนุนให้คนจนเมืองผลิตอาหาร ทดแทนการตกงาน

4.5 กระบวนการต่าง ๆ ขับเคลื่อนโดย “คณะกรรมการร่วม รัฐฯ-ชุมชน” มีที่มีความต่อเนื่อง พร้อมรับมือทุกโรคอุบัติใหม่ โดยจังหวัด ท้องถิ่น ร่วมเป็นกรรมการและบรรจุไว้ในแผนงาน เมื่อภัยพิบัติยากคาดเดา แต่เครือข่ายผู้ร่วมเสวนายืนยันว่าสามารถเตรียมความพร้อมรับมือได้ ซึ่งหากย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งสำคัญ ได้แก่ ปี 2547 ที่แม้จะผ่านมากว่า 18 ปี กับโศกนาฏกรรมคลื่นยักษ์สึนามิ ที่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทยใน 6 จังหวัดภาคใต้  ต่อมาเมื่อปี 2554 เหตุการณ์มหาอุทกภัย เกิดน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ และหนึ่งในนั้นอีกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ อุบลราชธานี และล่าสุดในปี 2562 ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง เหล่านี้คือภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในประเทศไทยซึ่งเกิดขึ้นในรอบเกือบ 20 ปี และทำให้มีความพยายามรวบรวมบทเรียน การเตรียมความพร้อมรับมือป้องกันในหลายภาคส่วน และรวมถึงเหตการณ์สำคัญที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก ในปี 2563 กับโรคอุบัติใหม่จากเชื้อโคโรน่าไวรัส2019 หรือ โควิด-19  ที่ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตในทุกมิติทั่วโลก ซึ่งด้านหนึ่งจะเป็นต้นทุนความรู้ประสบการณ์สำคัญที่ทุกคนจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นเพื่อลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ