ฟังเสียงประเทศไทย : ซิงฆอราสู่สงขลากับการพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์

ฟังเสียงประเทศไทย : ซิงฆอราสู่สงขลากับการพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์

หากพูดถึง เมืองโบราณสงขลา สิ่งแรกที่คุณนึกถึงคืออะไร? ก่อนหน้านี้เราชวนตั้งคำถามในโลกออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊กแลต๊ะ มีผู้คนให้ความสนใจและเข้ามาตอบเป็นจำนวนมากได้แก่คำว่า เมืองเก่า หัวเขาแดง โบราณสถาน สุลต่านสุไลมาน จีน เเขก ไทย สะพานติณสูลานนท์ ปลากระพง ไข่ครอบและประวัติศาสตร์การค้าที่รุ่งเรือง

ที่นี่ถือเป็นเมืองโบราณที่หลายคนคุ้นชื่อของจังหวัดสงขลาในฐานะศูนย์กลางการค้าชายแดน และ เป็นเมืองท่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีชุมชนโบราณและเมืองเก่าแก่ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณี และการละเล่นพื้นเมือง ตลอดถึงศิลปะพื้นบ้านอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา

ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้น สงขลามีบันทึกหลักฐานว่า ที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร คือที่ตั้งของเมือง “ซิงฆอรา” ซิงฆอรา เติบโตผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานยุคสมัยเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ราวก่อนพุทธศตวรรษที่

ซึ่งที่นี่ชื่อเรียกเมือง ซิงกูร์  ซิงฆอรา สิงหลาหรือสิงขร ปรากฏในบันทึกของต่างชาติที่เข้ามาค้าขายบริเวณนี้ ซึ่งความหมายมีทั้งแปลว่า เมืองสิงห์และสิงขรหรือภูเขาที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาแดง

ประวัติศาสตร์สำคัญ

• ซิงฆอรา เติบโตผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานยุคสมัยเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ราวก่อนพุทธศตวรรษที่ 22 -ปลายพุทธศตวรรษที่ 23  การก่อตั้งเมืองเมืองสงขลาริมเขาแดงปากทะเลสาบสงขลา โดยชาวชาวมุสลิมชื่อ ดาโต๊ะ โมกอลล์  (เคยปกครองเมืองสาเรย์ เมืองลูกของจาร์กาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย)  ที่อพยพครอบครัวและบริวารอพยพมาจากการถูกล่าเมืองขึ้น ลงเรือสำเภามาขึ้นฝั่งที่บริเวณบ้านหัวเขา

•เจอชัยภูมิที่เหมาะสมสร้างบ้านแปลงเมือง ดัดแปลงบริเวณทางเข้าทะเลสาบสงขลาให้เป็นท่าจอดเรือขนาดใหญ่ทำการค้าทางทะเลจนกลายเป็นเมืองท่าระหว่างประเทศ ทำการค้าทางทะเลจนโด่งดังไปถึงกรุงศรีอยุธยา (สมัยสมเด็จพระเอกาทศรศ) ได้แต่งตั้งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำเมืองพัทลุงอยู่ที่เขาหัวแดง แขวงเมืองสงขลา 

•เพื่อสร้างความปลอดภัยและ รักษาเมืองจากการปล้นสะดมจากโจรสลัดซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากในขณะนั้น การพัฒนาเมืองจึงได้รวมไปถึงการสร้าง ป้อมปืนใหญ่บริเวณบนเขาและ ที่ราบในชัยภูมิต่างๆถึง 20 ป้อมปืน รวมไปถึงการสร้าง ประตูเมือง และ คูดินรอบเมือง โดยได้รับการสนับสนุน เทคโนโลยี และ อาวุธ จากพ่อค้าชาวอังกฤษ  ตรงกับหลักฐาน De Lamar ชาวฝรั่งเศส ได้บันทึกแผนผังเมืองไว้เมื่อ พ.ศ. 2230 ประกอบด้วย ประตูเมือง และ ป้อมปืน 17 ป้อม

•ต่อมายุครุ่งเรืองของซิงกอรา โดย สุลตาล สุลัยมาน  (โต๊ะหุม) ปกครองเมืองต่อจากดาโต๊ะ โมกอลล์ เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าจากบรรดาพ่อค้าตะวันตกและตะวันออก เป็นท่าจอดเรือสินค้าคุมเส้นทางการเดินเรือในทะเลสาบสงขลา ในยุคนั้นมีการปลอดภาษีค่าจอดเรือสินค้าเป็นเมืองท่าที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ  นำไปสู่ความมั่งคั่งทางการเมือง จนกรุงศรีอยุธยาต้องส่งกำลังมาปราบทำให้เมืองกลายเป็นเมืองร้าง และย้ายมาตั้งที่ปลายคาบสมุทรสทิงพระที่ฝั่งแหลมสน “เมืองสงขลาแห่งที่สอง”

•ปี พ.ศ.2385 สงขลาฝั่งบ่อยางจากความมั่งคั่งของเมืองท่า กลายเป็นย่านเก่าสงขลาในปัจจุบัน 

•ในปี 2535  ทางกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเขาแดงและโบราณสถานโดยรอบในชื่อโบราณสถานบริเวณเมืองเก่าสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,460ไร่ ครอบคลุมโบราณสถาน 33 แห่ง

ปัจจุบันชุมชนหัวเขาโดยรอบที่นี่ มีประชากรอยู่มากกว่า 16,000 คน ใน8 หมู่บ้าน 11 ชุมชน กว่าร้อยละ 90 เป็นมุสลิม สร้างบ้านเรือนขนานเลียบชายฝั่งทะเลสาบสงขลา กระจายล้อมรอบเขาแดง เขาหัวเขา อาชีพหลักคือประมงและรับจ้างเเละเราพบว่าเเต่ละชุมชนมีต้นทุนเเละจุดเด่น ทั้งมีโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา มีทรัพยากร ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ที่ตกทอดให้ชนรุ่นหลัง ได้เเก่

หมู่ที่1 สุสานสุลต่าน สุไลมาน (สุสานโต๊ะหุม ) กำแพงเมืองสุลต่านกับคูเมือง ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร

หมู่ที่2 ชุมชนบ้านแหลมสน  “1 กำแพง 4 วัด”  สุวรรณคีรี ภูผาเบิก (กำแพงวัดเดียวกัน) สุสาน (เจวี ลาเซ่น) วิศวะเดนมาร์ก  คนออกกำแพงถนนคนเดิน  เชื่อมฝั่งสงขลา

หมู่ที่3 โบราณสถานวัดภูผาเบิก ,สุสานตระกูล ณ สงขลา 

หมู่ที่4 มัสยิดยาบัลโรดเหร๊ะหม๊ะ

หมู่ที่5 ภาษาคำพูดที่เป็นอัตลักษณ์ อาหารพื้นถิ่นที่ขึ้นชื่อ ก๋วยเตี๋ยวราวนก

หมู่ที่6 ทำประมงแปรูปอาหารทะเล อาหารพื้นเมือง แป้งแดง กุ้งส้ม กะปิ แหล่งปลาท่องเที่ยวเยอะสุด (หัวเลน เจ้านคร / คูเมือง ในอดีตล่างเรือ)

หมู่ที่7 เจดีย์วัดเขาน้อย 1400 ปี  /บ้านสวนจันทร์ (เขาแดง ) กำแพงเมือง

หมู่ที่8 บ้านบ่อสวน บ่อเก๋ง (ที่เก็บภาษี)

โอกาสที่จะเกิดขึ้น ถ้าร่วมกันกับการดูแลพื้นที่ประวัติศาสตร์

  • จ.สงขลา มีรายได้จากการท่องเที่ยวติดอันดับ 4 ของภาคใต้
  • มีจุดเด่นเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมและมีทรัพยากรที่เป็นต้นทุนของการท่องเที่ยวรองรับตลาดนักท่องเที่ยวมุสลิมที่มีการเติบโตมากที่สุดในโลก
  • กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเขาแดงว่ามีความสำคัญและโดดเด่นระดับประเทศ
  • ล่าสุดองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน มีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งรวม อ.สิงหนคร ทำให้สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กระจายรายได้ให้กับคนกลุ่มต่างๆ 
  • และด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะทะเลสาบสงขลาและพื้นที่โดยรอบ มีความโดดเด่น เป็น lagoon lake ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีต้นทุนทางวัตถุดิบและองค์ความรู้และความพร้อมในการพัฒนาสินค้าอาหารทะเลภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เน้นพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน BCG Model ได้
  • ดูข้อมูลข้อเท็จจริง ประวัติศาสตร์ซิงฆอราสู่สงขลา

    “ซิงฆอรา” สู่สงขลา กับแนวทางการมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์ จะพัฒนาไปในทิศทางไหนได้อีกบ้าง

    ฉากทัศน์ที่ 1  “การอนุรักษ์โบราณของกรมศิลปากร”

    เป้าหมายของการอนุรักษ์โบราณสถาน คือ การประกันคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมว่ามีความสำคัญต่อประเทศ ซึ่งการอนุรักษ์จะเน้นที่การจัดการโบราณสถานตามระเบียบราชการและพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ พ.ศ.2535 โดยมีงบประมาณและบุคลากรสนับสนุน รวมถึงจัดให้มีการดูแลซ่อมบำรุงโบราณสถานให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง มีความกลมกลืนกับวิถีชุมชน 

    ฉากทัศน์ที่ 2 อนุรักษ์โดยชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

    สนับสนุนการมีส่วนร่วมให้ภาคประชาชน ท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคเอกชน ร่วมกันดูเเลออกเเบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ประวัติศาสตร์และทรัพยากรในชุมชน เพื่อสร้างทางออกที่ยั่งยืนตามความต้องการของพื้นที่ มีการออกแบบแผนและกิจกรรมในการอนุรักษ์ให้ชุมชนได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น ให้โควต้าการจ้างงานเพื่อดูแลพื้นที่หรือตั้งงบบริหารจัดการโดยชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมความรู้ด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในลักษณะหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้มีการออกแบบพื้นที่ชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่สอดคล้องเหมาะสมและเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น

    ฉากทัศน์ที่ 3 สู่เมืองแห่งความสร้างสร้างสรรค์และยั่งยืน

    เชื่อมพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และทรัพยากรชุมชนกับเมืองเพื่อก้าวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ใช้ต้นทุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นเมืองที่มีกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทางที่เป็นสากล แต่ทั้งนี้อาจมีบางส่วนที่ต้องถูกควบคุมหรือถึงขั้นขยับขยายเพื่อให้เมืองมีทรัพยากรเพียงพอในการพัฒนาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

    วันนี้ทางไทยพีบีเอสชวนชุมชนเเละผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 30 คน พูดคุยกันถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ประวัติศาสตร์ของคนสงขลาไปในทิศทางไหน โดยใช้พื้นที่ เขาโรงเรียนมัสยิดยาบัลโรดเหร๊ะหม๊ะ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลาที่มีความหมายเเละมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ชวนคีย์เเมนที่มากด้วยประสบการณ์มาร่วมให้ข้อมูลเเละเเลกเปลี่ยน คุยผ่านภาพ 3 ฉากทัศน์ ได้เเก่ คุณพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา คุณยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ ประธานชุมชนบ้านนอก ต.หัวเขา คุณสามารถ สาเร็ม นักวิชาการอิสระด้านพหุวัฒนธรรมละประวัติศาสตร์มุสลิมเมืองสงขลา เเละคุณเชาวลิต ไชยวานิช สถาปนิกชุมชน เมืองสงขลา

    พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่11 สงขลา ซึ่งเป็นผู้ที่บทบาทสำคัญในการปกป้องรักษาโบราณ ที่มีคุณค่าเเละเป็นสถานที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมของคนในอนาคต กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาที่กรมศิลปากรเกี่ยวข้องคือการดูแลรักษาสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด ที่เราขึ้นทะเบียนโบราณสถานเพื่อที่ประกาศคุณค่าในชุมชนหัวเขา เพราะเป็นสมบัติสาธารณะ กรมศิลปากรจึงจำเป็นต้องยกย่องมูลค่าของท่านขึ้นสู่ระดับชาติ สิ่งที่ยกย่องมีแนวทางที่เราจัดการท้ายที่สุดเเล้วการพัฒนาคือการใช้ประโยชน์มรดกของวัฒนธรรม อย่างน้อยที่สุด มรดกทางวัฒนธรรมต้องเก็บรักษาไว้เพื่อตอบโจทย์คนในอนาคตหรือเพิ่มมูลค่าควบคู่ไปกับการเก็บรักษา

    ผมไม่อยากโดดเดี่ยว ถ้าทุกท่านให้ผมทำงานคนเดียวผมก็ทำ แต่ถ้าทุกคนเข้ามาช่วยมันดีกว่า เพราะท่านคือเจ้าของวัฒนธรรม กรมศิลปากรไม่ใช่เจ้าของ ถ้าทุนทางวัฒนธรรมไม่ได้รับการใช้จากเจ้าของวัฒนธรรมก็ไม่มีประโยชน์

    สำหรับผมเเล้วการ เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วม มันจะสะท้อนให้เห็นว่าเราได้เคารพกับคนในพื้นที่ ซึ่งพวกเขาคือเจ้าของมรดกวัฒนธรรม”  เป็นคำพูดของสามารถ สาเร็ม ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เเละเป็นนักวิชาการอิสระด้านพหุวัฒนธรรมละประวัติศาสตร์มุสลิมเมืองสงขลา เล่าว่า การที่มีหน่วยงานดูแลเป็นไปตามกรอบของกฎหมายแต่ถ้าเปิดโอกาสให้กับคนในชุมชนซึ่งอยู่ตรงนี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเช่น มรดกที่เรามีส่งผลสู่การสร้างรายได้ หรือเศรษฐกิจที่ดีให้กับชุมชนได้ ชุมชนเองอยากพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

    ผมคิดว่าในเมื่อคนที่อยู่ในพื้นที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม สามารถต่อยอดไปสู่การเกิดรายได้เขาก็จะเกิดความรัก หวงแหน และจะนำไปสู่การที่เขากล้าที่ออกมาปกป้อง

    เช่นเดียวกับ ยุทธนา จิตต์โต๊ะหลำ หรือ เเบอี ประธานชุมชนบ้านนอก ต.หัวเขา เล่าเสริมว่าการที่เราจัดกิจกรรมเสวนาบริเวณเขาโรงเรียนก็สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ชุมชนที่นี่มีต้นทุนมีจุดเด่นของโบราณสถานของเเต่ละชุมชนที่ไม่เหมือนกัน อย่างบ้านผมอยู่หมู่ที่ 3 ก็จะมีวัดภูผาเบิก มีสุสานต้นตระกูล ณ สงขลาฝั่งอยู่บริเวณ ทำอย่างไรให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในทุก ๆ พื้นที่

    ที่สำคัญทางกรมศิลปากรต้องส่งต่อความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ให้กับชุมชน พัฒนาชาวบ้านให้เป็นนักเล่าเรื่องโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ อนาคตอาจจะเกิดรายได้

    “ต่อให้เรามีภูเขา มีแม่น้ำ ทะเล โบราณสถาน แต่ถ้าเราไม่มีคน คนเปลี่ยนมาเปลี่ยนไป ไม่สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ ของเหล่านี้ก็ไม่มีความ” เชาวลิต ไชยวานิช สถาปนิกชุมชน เมืองสงขลา สนใจงานพัฒนาเมืองในพื้นที่สงขลาเเละเป็นนักเดินทาง ให้ผู้สัมภาษณ์ว่า ต่อให้เรามีภูเขา มีแม่น้ำ มีทะเล มีโบราณสถาน แต่ถ้าเราไม่มีคน ของเหล่านี้ก็ไม่มีความหมายเช่นกัน บางเมืองสนใจแค่ว่าหารายได้จากการท่องเที่ยว แต่บางเมืองสนใจเรื่องคุณภาพชีวิตของคนในเมือง มองว่าเมืองที่ชุมชนมีความสุข เขาสามารถค้าขายกันเองได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งนักท่องเที่ยว อย่าลืมว่านักท่องเที่ยวบางครั้งมาทำลายทุกอย่างแล้วก็ไปสุท้ายเมืองก็ตาย เพราะว่าเขามาแค่เสพ มากิน มาถ่ายรูป แล้วก็ทิ้งขยะ

    แต่ถ้าหากเมืองนั้นน่าอยู่ ชาวบ้านทุกคนมีความสุข เดินไปไหนก็ปลอดภัย ไม่อยากย้ายออกไปข้างนอก เพราะการที่ชาวบ้านขายที่แล้วออกไปข้างนอก แปลว่าเป็นความล้มเหลวของการพัฒนา

    เชาวลิต ทิ้งท้ายว่า ผมเลือกเเนวคิดเเบบเมืองแห่งความสร้างสร้างสรรค์และยั่งยืน เป็นเมืองที่มีกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ชุมชนต้องมีความรู้พอที่จะเท่าทันภาครัฐว่าจะเอาอย่างไร เพราะการพัฒนาเมืองต้องมีความรู้ทางวิชาการและความรู้เเบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่รู้จริง

    สำคัญสุดทำแล้วทุกคนมีความสุข ไม่ใช่ทำเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียว ถ้าหลักการคือทำให้ลูกหลาน คุณปู่ คุณย่าอยู่ด้วยกันได้ ผมการันตีเลยว่าเมืองนั้น ส่งต่อให้ลูกหลานได้ชั่วลูกชั่วหลาน

    อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเป็นไงบ้าง? คุณสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและโหวตเลือกฉากทัศน์ “ซิงฆอราสู่สงขลากับการพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์” ได้ที่

    เเละพร้อมร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส ทั้งประเด็นระดับชาติ และประเด็นท้องถิ่นใต้กับแลต๊ะแลใต้ และ Thai PBS

    author

    ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

    เข้าสู่ระบบ