ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโครงการขุดเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติในจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังคงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านที่อยู่ใกล้แหล่งขุดเจาะทั้งที่มีการขุดเจาะไปแล้วและกำลังจะดำเนินการได้ออกมาคัดค้านเพราะหวั่นกลัวว่าจะเกิดผลกระทบตามมา
เช่น กรณีชาวบ้านใน ต.นาตาล และ ต.ยางอุ้ม อ.ท่าคันโท อ.หนองกุงศรี และ อ.ห้วยเม็ก ที่ได้รวมตัวกันคัดค้าน จนนำไปสู่การลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน นำโดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อ วันที่ 3 กันยายน 2556 และได้มีความเห็นให้มีการระงับโครงการไว้ก่อนจนกว่าจะมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน
และล่าสุดคือการรวมตัวคัดค้านของชาวบ้านคำไผ่ – หนองกุง ต.หนองกุง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและมีอาการอาการผิดปกติตามมา เช่น แสบตา แสบจมูก แสบคอ ไอ ปวดหัววิงเวียนศรีษะ และมีอาการไข้ หลังจากที่ได้สูดดมกลิ่นก๊าซซึ่งคาดว่าจะเป็นก๊าซไฮโดรเจนซัลด์ไฟด์ หรือ ก๊าซไข่เน่า ซึ่งถือเป็นก๊าซพิษที่มีอันตราย และยังมีเสียงรบกวนจากเสียงเครื่องจักรในเวลากลางคืน นอกจากนั้นชาวบ้านบางรายยังได้รับผลกระทบจากพืชผลทางการเกษตรเพราะไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้เหมือนเดิมเพราะกลัวอันตรายตามมา
ปัญหาที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่การรวมตัวพร้อมกับรวบรวมรายชื่อและยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้ยุติการขุดเจาะในหมู่บ้านและเรียกร้องให้เข้ามาแก้ไขปัญหา
ขณะที่ทางบริษัทเองก็อ้างว่าก๊าซที่รั่วไหลออกมาไม่มีผลอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านและได้ดำเนินการถูกต้องทุกขั้นตอนตามกระบวนการของกฏหมายซึ่งยังขัดแย้งกับคำบอกเล่าของชาวบ้านที่ระบุว่าไม่ได้มีการสอบถามและไม่ได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงที่เพียงพอก่อนการดำเนินการ
แม้การเจรจาร่วมกันระหว่างชาวบ้าน ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนบริษัทขุดเจาะเมื่อวันที 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าทางบริษัทจะยุติการขุดเจาะภายใน 2 วันและดำเนินการปิดหลุมถาวรและจะใช้เวลาอีกซักระยะในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ออกจากพื้นที่ แต่เรื่องของการเยียวยาและชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบยังไม่มีความชัดเจนใดๆ และจะมีการตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหลายภาคส่วนขึ้นมาแก้ไขปัญหา
แม้ว่าการรวมตัวคัดค้านของชาวบ้านจะนำไปสู่การเข้ามาแก้ไขปัญหาของส่วนราชการ แต่เหตุผลหลักของการยุติการขุดเจาะกลับมาจากปัญหาด้านเทคนิคและเหตุผลด้านธุรกิจมากกว่า
ซึ่งมีคำถามที่ตามมาคือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขุดเจาะทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมใครจะเป็นผู้รับชอบ และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าในอนาคตจะไม่เกิดกรณีแบบนี้ในพื้นที่อื่นๆ เหตุใดชาวบ้านจึงต้องเป็นผู้มารับผลกระทบ และทำไมจึงต้องปล่อยให้เกิดผลกระทบขึ้นก่อนแล้วจึงเกิดการแก้ไขปัญหาตามมา คำถามเหล่านี้จึงเป็นคำถามที่ทุกคนต้องร่วมกันหาทางออกเพราะเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน