กำลังเป็นที่จับตากันมาก กับปรากฏการณ์คนเปลี่ยนเมือง ซึ่งหมายถึงคลื่นแรงงานย้ายถิ่นจากเมืองใหญ่ไปสู่เมืองรองหรือชนบทบ้านเกิดมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ นอกเหนือจากการเจอกับโจทย์เศรษฐกิจหลังโควิดแล้ว “วิธีคิด”ของ “คนรุ่นใหม่” ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาปฏิเสธการเข้าเมืองใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โอกาสอะไรที่เขามองเห็น จะเป็นใครที่ให้คำตอบได้เท่ากับพวกเขาเอง
เวที เมื่อ Gen ฉันเปลี่ยนเมือง ชวนคุยกับ 2 ตัวแทนหนุ่มสาวร่วมสมัยที่น่าจะบอกเราได้ว่า อะไรคือความฝันของคนรุ่นใหม่ เขาตัดสินใจออกแบบชีวิตจากปัจจัยอะไร และพลังของคนกลุ่มนี้ จะมีส่วนการปลุกเมือง เปลี่ยนชุมชนกันได้แค่ไหน ? ฟักแฟง วิภาพร วัฒนวิทย์ เป็นตัวแทนเราคุยกับ
• คุณเค้ง กมลวัฒน์ ตุลยสุวรรณ กรรมการเลขานุการ คณะกรรมการส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC หอการค้าไทย
• คุณเอด้า จิรไพศาลกุล ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เทใจดอทคอม
ฟักแฟง : ภาพของคนรุ่นใหม่กับการคืนถิ่น แตกต่างจากก่อนหน้านี้อย่างไร ?
กมลวัฒน์ : พวกเรากลุ่ม YEC หอการค้า มีโอกาสได้เดินทางไปทั่วประเทศ ก็เห็นว่ายุคนี้ต่างจากยุคผมตอนที่เริ่มต้นทำธุรกิจเป็นวัยรุ่นเลย ตอนนั้นพวกเราทุกคนอยากเดินทางเข้ามาที่ ที่กรุงเทพฯ กันหมด แต่วันนี้เราเห็นความตกต่างก็คือคนรุ่นใหม่หลายๆคนเขาไม่ได้เดินทางเข้ามาที่กรุงเทพ ฯ แต่เขาอยากไปอยู่ที่บ้าน เขา เขาเห็นคุณค่าในสิ่งต่าง ๆ ที่บ้านเขา แล้วเขาก็มีมุมมองว่าเขาอยากจะพัฒนาอยากจะเพิ่ม Value สินค้า บริการของเขา เขามีเพื่อนฝูงอยู่ในจังหวัดเดียวกัน เขาไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาที่เมืองหลวงอย่างเดียว ถ้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ค่าใช้จ่ายสูง พุ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเขาอยู่ที่บ้านค่าครองชีพไม่สูงมาก วันหยุด เขาสามารถที่จะเดินทางด้วยสายการบินราคาประหยัดมาก็ได้ ประหยัดกว่า และก็อีกมุมมองหนึ่ง เรื่องการศึกษาเขาก็มีมุมมองคิดที่เปลี่ยนไป ตอนนี้จะเรียนออนไลน์ก็ได้ บางคนก็มีมุมมองว่าอยากจะเป็นนักธุรกิจ เริ่มต้นสร้างชีวิต สร้างอนาคต สร้างธุรกิจของตัวเอง และไม่อยากเป็นพนักงานประจำอย่างเดียว สามารถเป็นได้ทั้งพนักงานประจำ บวกกับทำธุรกิจด้วยตัวเองด้วยก็มี
เราไม่ได้มีสถิติชัดเจนแต่เราเห็นในช่วงโควิด19 ว่าคนอยู่บ้าน อยู่ถิ่นฐานเขาเยอะมาก เมื่อก่อนถ้าเราเดินทางไปต่างจังหวัดต้องพยายามไปหาร้านที่ซุกซ่อนอยู่เป็นของดีของจังหวัด แต่วันนี้ เราเดินทางไปจังหวัดภาคเหนือ ร้านกาแฟ ร้านอาหารที่สวย ๆ ไม่แพ้กรุงเทพขึ้นเต็มไปหมด มันเป็นตัวชี้วัด อย่างหนึ่งของการเอาความรู้กลับไปพัฒนา อีกอย่างที่รับรู้ได้คือมีสถาบันของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจต่างๆที่มีศูนย์กระจายตามภาคต่างๆ ก็มีข้อมูลว่า มีกลุ่มธุรกิจในชุมชนที่มาติดต่อเรื่องงานวิจัย มาขอเรื่องเกี่ยวกับทุนเต็มไปหมด เขาเริ่มรู้แล้วว่าชุมชนของเขามีมูลค่าแค่ไหนเ ขาอยากจะไปพัฒนาต่อยอดชุมชน สินค้า บริการ Value เพิ่มขึ้น และ ในกลุ่ม YEC หอการค้าที่เป็นของบรรดานักธุรกิจรุ่นเล็กเขามีแนวคิด ว่าเขาไม่ได้อยากจะสร้างธุรกิจเขาอย่างเดียว ถ้าจังหวัด ชุมชนเขาเจริญ เศรษฐกิจในจังหวัดดี มันก็ส่งผลต่อธุรกิจเขาด้วย
เอด้า : ในส่วนของเอด้าถ้าดูจากการมาลงระดมทุนในเทใจ เมื่อก่อนถ้าเป็นโครงการที่มาจากต่างจังหวัดจะเป็น นักพัฒนาในพื้นที่หรือว่าคนที่อยู่ในท้องที่อยู่แล้ว และโครงการจะเป็นลักษณะแนวช่วยเหลือหรือว่าแก้ปัญหาในพื้นที่
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เทใจเริ่มมีโครงการลักษณะของการสร้างศักยภาพของชุมชนมากขึ้น ต่อยอดธุรกิจเดิมในชุมชนหรือว่าการเทรนคนในชุมชนในการทำเรื่องใหม่ ๆ ซึ่งที่เจอเยอะเลย มักจะเป็นคนในพื้นที่ที่เมื่อก่อนทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ในเมืองที่อื่น ๆ ในเมืองภูเก็ต ในเมืองท่องเที่ยวและเขาต้องกลับถิ่นจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 พอได้กลับไปอยู่บ้าน ตอนแรกก็คิดว่าจะเป็นการกลับไปอยู่ชั่วคราว แต่พอโควิด-19 มันนานกว่าที่ทุกคนคิดไว้ เขาก็เริ่มมองหาโอกาสในการสร้างอาชีพ ตอนแรกเริ่มธุรกิจของตัวเองก่อน แต่พอเริ่มสร้างอาชีพของตัวเองได้ก็เริ่มเห็นว่าจริง ๆ แล้วว่าอาชีพเหล่านั้นหรือว่างานใหม่ ๆ มันสามารถสร้างศักยภาพสร้างงานให้กับชุมชนได้ ซึ่งเอด้าจะเห็นโครงการอะไรแบบนี้มากขึ้น
เช่น โครงการพัฒนาโรงแรม หรือว่าโฮมสเตย์ให้ยกระดับเพื่อที่จะทำให้มันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง มีสถานที่รองรับได้ทั้งในสถานที่ของที่พักและกิจกรรม มีโครงการคล้าย ๆ กับคนรุ่นใหม่จะขอฝึกอบรม สมมุติที่หมู่บ้านทำเรื่องผ้าอยู่แล้วอยากจะยกระดับเรื่องผ้าในพื้นที่ให้เป็นสินค้าที่มันขายได้หรือตามตลาดที่ส่งออกไปพื้นที่อื่นหรือว่าเข้ามาในเมืองมากขึ้น เอด้าคิดว่ามีคนคืนถิ่นเยอะเลย และมันทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ความรู้ที่เคยทำงานในฝั่งภาคการท่องเที่ยวภาคบริการในพื้นที่อื่น ๆ กลับมาต่อยอดสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือว่าวัฒนธรรมท้องถิ่นในพื้นที่ของตัวเอง
ปีที่แล้วได้อ่านบทวิเคราะห์ของแบงค์ชาติเหมือนกันว่า การย้ายงานในประเทศมันเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่ทางเทใจเห็นเหมือนกันว่า หลาย ๆ คน ตอนแรกคืนถิ่นเป็นการย้ายชั่วคราว แต่พอเราเริ่มมองเห็นโอกาสในพื้นที่ว่าการที่ได้กลับไปอยู่ในพื้นที่นั้น ค่าครองชีพมันถูกกว่ากันเยอะ และถ้ามันมีโอกาสเริ่มต่อยอด ความเจริญเริ่มมา หลาย ๆ คน เริ่มคิดเรื่องการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของตัวเองโดยการสร้างอาชีพหรือสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจซึ่งมันจะสร้างผลกระทบไม่ใช่แค่ตัวเองและคนที่ย้ายกลับมา แต่ว่ามันก็กระจายไปสู่ชุมชนหรือว่าหมู่บ้านที่พวกเขาอยู่ด้วย นี่เป็นสิ่งที่เราเห็น
ฟักแฟง : คิดว่าเขาเห็นโอกาสอะไรในท้องถิ่น โดยเฉพาะเมืองเล็กๆในต่างจังหวัด
กมลวัฒน์ : ในแวดวง YEC และที่เห็นจะมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ไปต่อยอดจากธุรกิจครอบครัวพ่อแม่ กลุ่มนี้เขาก็มีพื้นฐานอยู่แล้ว แต่เขาได้ใช้ knowhow จากที่เขาไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือในประเทศมา สร้างแบรนด์มาสร้าง Value ให้กับสินค้ารุ่นพ่อรุ่นแม่ให้มันเติบโตขึ้น อีกกลุ่ม คือกลุ่มที่เดินทางกลับบ้านมาสร้างธุรกิจใหม่ กลุ่มนี้ เขาจะเดินทางไปค้นหาของดีในจังหวัดมาสร้างต่างๆ คนยุคนี้มีวิธีการหาทุนที่เก่งมากเขารู้ว่าหน่วยงาน Value และเขารู้ว่า เริ่มมีหน่วยงานที่ มีเปิดให้ทุน มีให้ไปเสนอไอเดียเพื่อเสนอขอรับการสนับสนุน ซึ่งเขาก็ทำได้ดีมาก ๆ หลายโครงการก็เป็นอนาคต เป็นความหวัง ที่ไปเอาสินค้า บริการที่เคยมีมานานมาสร้างสิ่งใหม่ ๆต่อยอดขึ้นมากลายเป็นสินค้าที่ยอดฮิต หรือว่าเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ
ฟักแฟง: ในช่วงนี้ที่เราคุยกัน รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายหลายมาตรการ นักท่องเที่ยวเข้ามาได้มากขึ้น เศรษฐกิจเริ่มเดินได้มากขึ้นจากมาตรการของรัฐ แล้วโครงการที่เข้าไปที่เทใจ มีแนวโน้มลดลงหรือว่าชะลอตัว หรือว่ามันมีภาพของคนว่าวันนี้ก็ยังลังเลอยู่ว่า อยากจะกลับเหมือนกันแต่ว่ายังติดปัญหาอยู่ไหม
เอด้า : ถ้าเป็นของโครงการเทใจ 2 ปีที่ผ่านมาจะเป็นโครงการแนวช่วยเหลือเร่งด่วนค่อนข้างเยอะ ช่วยเรื่องปากท้อง ถุงยังชีพ แต่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเริ่มเป็นโครงการลักษณะของการสร้างศักยภาพในระยะยาวไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมคน เมื่อก่อนอาจจะทำเป็นแค่อาชีพเดียวแล้วอยากจะต่อยอดเป็นอาชีพใหม่ จะต้องมีการรีเทรน หรือ Up Skillในฝั่งของบริบทของเมือง แต่บริบทของชุมชนในต่างจังหวัด ก็จะมีการโครงการลักษณะที่เป็นระยะยาว สร้างศักยภาพเพิ่มเติมทั้งในเรื่องของคนและสังคมมากขึ้น
อย่างโครงการที่เป็นลักษณะของปลูกป่า แก้ปัญหาไฟป่า ตอนนี้จะเริ่มมีโครงการลักษณะที่ปลูกป่า เพื่อที่จะได้เป็นการสร้างลักษณะ สร้างป่าอย่างไรเพื่อที่จะให้ต่อยอดออกมาเป็นพืชเศรษฐกิจให้กับชุมชน หรือว่าปลูกป่าที่เป็นไม้อนุรักษ์ที่อนาคตสามารถเอามาเป็นหลักประกันในการไปขอกู้เงินมาทำอย่างอื่น ๆ ได้ ก็จะเห็นโครงการอะไรที่เป็นการคิดระยะยาวมากขึ้น
ฟักแฟง : แล้วมี Trend ที่น่าสนใจอะไรอีก นอกจากการท่องเที่ยว
กมลวัฒน์ :น่าจะเป็นในเรื่องของอาหารที่เป็น Identity เรื่องของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ในวันนี้ผมแอบเห็นมาว่าทุกจังหวัดตอนนี้ต้องมามีลายผ้าของตัวเอง อันนี้ก็อยู่ที่จังหวัดแล้วว่าแต่ละจังหวัดจะสร้างมูลค่าได้ยังไง เราใช้คำว่าไอเดีย บวกนวัตกรรมต่อยอดมันขึ้นมามันอาจจะไม่ใช่เป็นอาหารที่เราเห็นแค่กินแบบนี้ มันอาจจะเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าส่งออกหรือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพและคนบอกว่าอาหารคีโตใครจะกินแต่จริงมันมีตลาดของมัน เท่าที่เราได้เคยไปคุยกันกับคนที่ทำอาหารพวกนี้ ตลาดเริ่มขยาย ขึ้นแต่แค่พวกเขายังไม่รู้แล้วก็สินค้าอาจจะราคาสูง จำนวนคนที่ทานมันยังไม่เยอะราคาก็สูง แต่วันนึงเมื่อราคามันต่ำลงได้มันก็จะทำให้อาหารพวกนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก
ฟักแฟง :คนรุ่นใหม่กลับบ้าน เขามองเห็นโอกาสจริงในแต่ละท้องถิ่น เราจะสนับสนุนโอกาสนั้นให้มันต่อยอดได้อย่างไรวันนี้มันยังขาดอะไรบ้างนอกเหนือจากเรื่องเงินทุน
กมลวัฒน์: คนรุ่นใหม่ตอนนี้เขารู้วิธีการตั้งตัวด้วยการหาทุนด้วยการขอโครงการต่าง ๆ นอกจากที่เขาจะไปสร้างธุรกิจตัวเอง เขาเขียนโครงการขึ้นไปพัฒนาจังหวัดแล้วก็สร้างโครงการนี้ให้มันเกิด แล้วก็ทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตไปด้วย เช่น พิษณุโลก มีโครงการ Oneพิษณุโลก ที่อยากทำให้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆของพิษณุโลกถูกเชื่อมโยงกัน Connect The dot คนไปเที่ยวพิษณุโลกก็สามารถที่จะไปเที่ยวโดยผ่านฟังก์ชันตัวนี้ได้ นนทบุรีก็จะมีโครงการ เสน่ห์นนท์ ที่ชูสินค้าบริการของนนทบุรีนอกเหนือจากทุเรียน หรือสมุทรสาครที่คนรุ่นใหม่พยายามต่อยอดอาหารทะเลพัฒนาเป็นเทศกาลอาหารทะเล ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คนรุ่นใหม่จัดเป็นเทศกาล เล่นสเก็ตบอร์ด แล้วก็จัดเป็นเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว
กลุ่มสกลจังชั่นก็เคยจัดเป็นงานวิ่งสกล รันเด้อ แล้ววันนี้ก็นำสินค้าบริการแล้วก็ Identity ของสกลมาเชื่อมโยงหลากหลายมากสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้แต่จังหวัดแพร่เขาก็ทำเป็นเทศกาลที่มีแนวคิดว่าจะทำเป็นร้านกาแฟต่างๆแข่งกัน เพราะว่าหลายๆคนไปแพร่ตอนนี้ไม่ได้เงียบเหงาแล้ว ไปถึงจะเจอร้านกาแฟที่สวยๆเยอะ
หลายกลุ่มหลายเครือข่ายที่เขามีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน ผมอยู่กลุ่มหอการค้ารุ่นเล็กหรือเรียกว่า YEC มีทุกจังหวัด รุ่นเล็กอย่างพวกเราก็มีหน้าที่ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดร่วมกับหอการค้าจังหวัดเราก็เชื่อว่าเศรษฐกิจที่ธุรกิจพวกเราเดินทางไปด้วยกันได้ดีด้วยกลุ่มพวกนี้ เพราะว่าเราทำงานร่วมกับจังหวัด เราทำงานร่วมกับภาคส่วนราชการจังหวัดอยู่แล้ว
ฟักแฟง :หน่วยงานภาครัฐหรือว่านโยบายในระดับชาติ เห็นตรงนี้มากน้อยแค่ไหน
กมลวัฒน์ : ในบางจังหวัด เรื่องของการเข้าไปเชื่อมโยงเข้าไปร่วมทำงานกับจังหวัด ก็มีโอกาสเข้าไปเสนอความคิดเห็นเพื่อพัฒนาจังหวัดในมุมมองของคนรุ่นใหม่ อันนี้ก็เป็นกระบวนการภาครัฐและว่าเสียงที่สะท้อนจากคนรุ่นใหม่อย่างพวกเรา มีประโยชน์จากทางภาครัฐในการปรับกระบวนการเพื่อพัฒนาจังหวัดต่อไปได้แค่ไหนกับ ผมเชื่อว่าเขาเริ่มเห็นและเห็นมากขึ้นด้วย มากกว่าสมัย ย้อนกลับไปหลายๆปีที่แล้วที่คนรุ่นใหม่ อาจจะยังไม่มีโอกาสได้ออกเสียง วันนี้เรามี Social ถ้าเกิดใช้ในทางบวกมันเป็นเสียงหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาได้
ผมคิดว่าหลายความคิดคนรุ่นใหม่ต้องการให้เสียงของเขาได้ถูกเอาไปใช้แน่นอน แต่ว่าเราก็ต้องเข้าใจคนรุ่นใหญ่ด้วยหรือว่าทางฝั่งงานราชการ มีระเบียบ มีกฎ อะไร เพราะว่าถ้าเราเข้าใจกันหลายโครงการมันถูกพัฒนาแล้วก็ทำได้ ซึ่งวันนี้ก็มีหลายโครงการแล้วที่คลังภาคที่แต่ละจังหวัดให้กลุ่ม YEC หรือกลุ่มอื่นๆเป็นคนรุ่นใหม่ ได้ช่วยคิดแล้วเป็นผลดีต่อจังหวัด
ก่อนหน้านี้เราพูดถึง Connect The dot
ก็คือว่าถ้าทุกภาครวมกันได้มันก็จะเจริญแน่นอน วันนี้ถ้าเราอยากเห็นสังคมมันเปลี่ยนแปลงมันอาจจะไม่ใช่เพราะแค่หนึ่งคนรุ่นใหม่อย่างเดียว รุ่นใหญ่กับรุ่นใหม่จะต้องร่วมมือกันเพราะรุ่นใหญ่มีknowhow รุ่นใหม่มีพลังและไอเดียซึ่งไม่ว่ายังไงก็ตามพลังและไอเดียมันจะต้องถูกขับเคลื่อนด้วย knowhow และประสบการณ์นั่นจะทำให้ประเทศแล้วก็จังหวัดของเรา เจริญรุ่งเรืองได้
ฟักแฟง : พี่เอด้าล่ะคะ คนรุ่นใหม่กลับบ้าน เขามองเห็นโอกาสจริงในแต่ละท้องถิ่น เราจะสนับสนุนโอกาสนั้นให้ต่อยอดได้อย่างไร ยังขาดอะไรบ้างนอกเหนือจากเรื่องเงินทุน
เอด้า : จริง ๆ แล้วมันอาจจะขึ้นอยู่กับท้องที่เหมือนกัน เวลาคุยกับคนที่มาส่งโครงการบนเทใจเข้าใจว่าบางพื้นที่ ทาง อบต. อบจ. หรือว่าทางเครือข่ายธรุกิจในท้องถิ่นมีกลไกสนับสนุนให้สามารถต่อยอดได้ ตั้งแต่เรื่องเงินทุน การสนับสนุนด้านอื่น ๆ ก็อาจจะทำให้เขาไปได้ไกลและก็อาจจะคิดมากกว่าแค่ตัวเอง คือว่าการสร้างงานหรือว่าสร้างธุรกิจใหม่ ๆ กับตัวเองนั้นมันไปสร้างงานและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจชุมชนได้ต่ออย่างไร
ขณะที่บางพื้นที่อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตรงนี้การมาหาทรัพยากรการส่วนกลาง อย่างองค์กรสถาบันนวัตกรรมสังคม หรือว่าบางที่ได้รับความช่วยเหลือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มันจะมีหลายหน่วยงานที่ขึ้นกับว่า เศรษฐกิจในท้องที่นั้นมันมีอะไรที่จะกลับมาต่อยอดได้ ถ้าตรงนี้มีความช่วยเหลือมากขึ้นจากภาครัฐ หลัก ๆ เรื่องของเงินทุนเข้าใจว่าเป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่ เหมือนกัน
ฟักแฟง : ความท้าทายอีกอย่างนึงคือ เครือข่ายคนรุ่นใหม่จะเข้าไปเชื่อมกับหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่และมันจะผูกโยงสนับสนุนกันอย่างไรได้บ้าง รัฐให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
เอด้า : อาจจะขึ้นอยู่กับธุรกิจ ที่เห็นว่ามีโครงการมามากคือพยายามต่อยอดเรื่องของการท่องเที่ยว ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งพอเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ก็จะต้องมีส่วนร่วมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะการท่องเที่ยวมันเป็นระบบนิเวศ คือหมายความว่าต่อให้เราทำเรื่องที่พักโฮมสเตย์ มันอาจจะต้องมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สภาพมันดีขึ้น ซึ่งตรงนี้มันอาจจะต้องเป็นการลงทุนของงบประมาณการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ หรือว่าถ้าเราจะเปิดร้านกาแฟแล้วมีคนมามันก็ต้องมีจุดเช็คอิน บางธุรกิจจึงจะต้องอาศัยความขยายความร่วมมือรัฐบาลท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เลยคิดว่าจริง ๆ แล้ว เห็นว่าชุมชนที่จะผลักดันเรื่องนี้ไปได้แล้วพอสมควรมันเกิดความร่วมตรงนี้อยู่ ซึ่งอาจจะเป็นทั้งชุมชนที่เข้มแข็งกว่าที่อื่น หรือว่ารัฐบาลท้องถิ่นที่เขามามีส่วนร่วมรับฟังและเห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงของคนในชุมชนมากกว่าเลยทำให้ตอบสนองตรงนี้ได้ไว
ในขณะที่หลาย ๆ ที่ก็จะมีทั้งองค์กรส่วนกลาง เช่นถ้าพูดเรื่องการท่องเที่ยวจะมีองค์กรพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนเข้ามาลงทุนทั้งในฝั่งเรื่องเงินทุนและเอาความรู้เข้าไปช่วยปรับพื้นที่ร่วมทั้งการลงทุนในการเทรนให้ในพื้นที่เขาเข้าใจเรื่องของการท่องเที่ยวและมีทักษะ ตอนที่เราโปรโมทท้องถิ่นเมืองรองมากขึ้น บางทีอาจจะเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หรือการใช้งบประมาณจากส่วนกลางไปสนับสนุนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น อันนี้เป็นตัวอย่างที่เห็น
แต่ว่าถ้าเป็นธุรกิจอื่น ๆ เช่น เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ดีหรือว่าการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ก็ดี ก็มีการสนับสนุนหลาย ๆ โครงการชุมชนต่างจังหวัด ทั้งคนที่กลับไปในพื้นที่ หรือเป็นนักธุรกิจในพื้นที่อยู่แล้ว หรือว่าวิสาหกิจชุมชนที่เขาอยากจะต่อยอด
อย่างคนในท้องที่ที่ไปทำงานภาคบริการซะเยอะ ซึ่งการที่เคยทำงานในภาคบริการมาก่อนจะในโรงแรมหรือสายการบินก็ดี หรือในธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมันจะมีทักษะบางอย่างที่เขาเอากลับเข้าไปในพื้นที่ไปช่วยต่อยอดสิ่งที่มันเป็นอยู่ เช่น การทำท่องเที่ยวอย่างไร คือมีทักษะอาจจะขาดเงินลงทุน ก็มีองค์กรที่สนับสนุนเรื่องนี้อยู่ หรือแม้กระทั่งเรื่องธรรมดาที่เราคิดกัน ซึ่งตอนนี้มันมีการขายของออนไลน์มากขึ้น การใช้ช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มช้อปปี้ ลาซาด้า ใช้อย่างไรให้มันได้ผล หรือว่าการในเฟสบุคเพจของตัวเองมี Live ขายของ ซึ่งจริง ๆ มันกลายเป็นหลายชุมชนช่วยได้เยอะมาก และพอมีคนในท้องที่กลับมาคุ้นเคยกับเครื่องมือเหล่านี้มากกว่าจริง ๆ ก็ทำให้การขายสินค้าเดิม สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้นก็จะเห็นตัวอย่างนี้เยอะพอสมควร
ฟักแฟง :ท้องถิ่นจะพลาดโอกาสอะไรจากกระแสคนรุ่นใหม่กลับบ้านถ้าเชื่อมกันไม่ได้
กมลวัฒน์ : จะน่าเสียดายคือท้องถิ่นท้องถิ่นมันมีของดีอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง มีชุมชนทางภาคอีสานชุมชนหนึ่ง เสนอไปที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ไอเดียคือนำผ้าพื้นเมือง มาทำเป็นหลังกีตาร์ มีบทวิจัยเรียบร้อยว่าหลังกีตาร์ที่ทำจากผ้าพื้นเมืองตัวนี้มันดูดซับเสียงทำให้เสียงดนตรีเพราะมากอันนี้ก็เป็นหนึ่งนวัตกรรมที่ถ้าเกิดสมมุติว่าทางท้องถิ่นไม่ได้มีโอกาส Connect กับคนที่ตั้งใจจริงแล้วก็รู้สินค้าและบริการที่มี Value ก็พลาดโอกาสในการสร้างมูลค่า มันอาจจะเป็น Identity ของจังหวัดในอนาคตที่ยิ่งใหญ่ ใครจะไปคิดว่าผ้าพื้นเมืองไม่ได้ถูกมาใส่อย่างเดียวแล้วทุกวันนี้มันถูกนำไปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงแล้วก็มีมูลค่าที่สูงแล้วก็เป็นที่น่าภูมิใจของจังหวัดแล้ว
ถ้า Connect The dot กันได้ ผมว่ามันจะมีโอกาสในแต่ละจังหวัดมากมายเลยกรุงเทพฯก็จะไม่ได้อัดแน่นหนาแน่นต่อไปการแข่งขันมันถูกกระจายออกไปแล้ว ทุกคนจะมีโอกาสอยู่ในบ้านของทุกคน มีทรัพยากรอยู่กับตัวเอง ทุกคนก็อาจจะมีความพร้อมในการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าบริการของตัวเอง เพราะถ้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจตั้งตัวได้ ก็จะเกิดการว่าจ้างแรงงานขึ้น เชื่อได้เลยว่าอาชีพจะเยอะมากขึ้นและอาชีพจะถูกเปลี่ยนมากขึ้น เศรษฐกิจมันก็จะดีมากขึ้น ทุกอย่างไม่ได้กระจุกตัวอยู่ใน จุดเดียวแต่ความเจริญมันครอบคลุมไปหมด ผมก็เลยคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่มันควรที่จะทำให้ทุกคนที่มีโอกาสทุกคนที่มีการพัฒนา ไม่ใช่แค่หัวเมืองใหญ่ แต่เราเริ่มเห็นแล้วว่าหัวเมืองรอง วันนี้มีเสน่ห์ทุกคนพยายามจะชวนเขาเมืองรอง ถามว่ามีมีเสน่ห์ยังไง ผมยกตัวอย่างนิดนึงมีโอกาสได้ไปสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ใน yec พูดตรง ๆ นะไม่ได้คิดว่าจะไป หรือตั้งใจตั้งแต่วันนั้นไปสุรินทร์มากับ เพื่อนๆที่เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ เขาบอกว่า เวลาฝรั่งไปที่นี่เขาไปทริปแบบนี้ ที่ทำกิจกรรมร่วมกับช้างวันนั้นคนไทยเป็นจำนวนหลาย ๆสิบคนเราได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับช้างเข้าไปที่ป่าเห็นของดีของจังหวัดเห็นอาหารที่เราไม่เคยกินไม่ได้มาเสิร์ฟในจานเสิร์ฟในกระบอกไม้ไผ่แล้วก็ได้ใช้ชีวิตเห็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติไปเป็นขบวนอันนี้ ผมประทับใจมากเลย และรู้เลยว่าฝรั่งมาถึงเห็นทุกสิ่งเหล่านี้หมดเลย คนไทยพวกเรายังไม่เคยสัมผัสเลยและนี้เป็น Value อย่างหนึ่งที่น่าสนใจ
ฟักแฟง :พี่เอด้าล่ะคะ ท้องถิ่นจะพลาดอะไรไปถ้าเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ในนาทีนี้ไม่ได้ เพราะด้านนึงตรงนี้เป็นโอกาสที่เราเห็นคลื่นขนาดใหญ่ของคนกลับบ้านค่อยข้างเยอะในสองปีนี้
เอด้า:คือเราไม่ควรพลาดจะดีกว่า อยากแนะนำ 2 ช่องทางและเข้าใจว่าแต่ละท้องที่อาจจะมีข้อจำกัดต่างกัน อันแรกเลยขาดการเชื่อมโยงระหว่างทางชุมชนกับตัวรัฐบาลท้องถิ่น จุดเชื่อมอันนึงที่ตนเองเห็นท้องถิ่นทำได้เลยก็คือ พยายามเชื่อมโยงกับองค์กรการศึกษาในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของมหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยราชมงคล หรือว่าหลายพื้นที่อาจจะไม่ได้มีสถาบันการศึกษาอยู่โดยตรง แต่ว่าจะมีอาจารย์ที่มาทำวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ทั้งสายสังคมศาสตร์และสายวิทยาศาสตร์ แล้วเขาอาจจะไปแตะมือกับทางหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐจากส่วนกลางหรือว่าส่วนท้องถิ่นได้
อันที่สอง อาจจะทำให้มีบางโครงการลงมาที่เทใจ เขาก็อาจจะหาสองทางโดยที่ไม่ได้เป็นทางรัฐส่วนตรงก่อน เพราะหลาย ๆ กรณี บางทีเราจะใช้งบประมาณของส่วนกลางหรือประมาณท้องที่ไปลงกับอะไรที่ยังไม่รู้ว่ามันจะประสบความสำเร็จจริงไหม หลาย ๆ คนก็อาจจะมีความกังวลว่ามาหาแหล่งเงินทุน หรือช่องทางอื่น น่าจะคุ้มก่อน เพื่อจะได้สิ่งที่คิดไว้โอกาสทางธุรกิจ หรือในการสร้างธุรกิจใหม่หรือว่าต่อยอดธุรกิจในชุมชนมันทำได้จริง มันมีตลาด มีคนซื้อ มันมีมูลค่า งานเพิ่มได้ และพอมันมีคอนเซปแบบนี้แล้ว โอกาสที่รัฐบาลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดสรรงบประมาณตรงนี้เพิ่มรู้สึกว่ามันก็จะมีโอกาสมากขึ้น
ก็เลยคิดว่าพยายามหาช่องทางอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ใช่รัฐบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรงแต่ว่าอาจจะมีเป้าหมายในการสนับสนุนบางเรื่องที่ อาจจะทำให้เราได้ทรัพยากรบางอย่างเริ่มทำตรงนี้ให้เกิดขึ้นก่อน อาจจะทำให้เราไม่พลาดโอกาสตรงนี้ไป
ฟักแฟง : สุดท้าย ถ้าภาพของการเชื่อมโยงมันเกิดขึ้นได้เราจะเห็นเมืองเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
เอด้า :เอด้ามองว่าอาจจะไม่เชิงเป็นเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว คือการที่มันมีกระแสคนกลับท้องถิ่นเยอะ มันช่วยปัญหาสังคมเรื่องอื่น ๆ เช่นเมืองไทยเรามีปัญหาเยอะเลยที่เมื่อก่อนลูกหลานอยู่กับปู่ย่าตายาย แล้วพ่อกับแม่ย้ายเข้าไปในเมือง หรือเมืองอื่นเพื่อจะหางาน และก็ส่งเงินกลับมา
ช่วง 2 ปีที่ผ่านที่โควิด-19ระบาด แล้วหลายคนต้องกลับคืนถิ่น การได้อยู่กันเป็นครอบครัวจริง ๆ ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายพ่อแม่และลูก ทำให้ครอบครัวเป็นครอบครัวมากขึ้น และคิดว่านั้นเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำไมคนถึงอยากจะหาโอกาสที่จะทำงานและอยู่ในท้องถิ่นต่อ และจริง ๆ มันก็ไปช่วยปิดปัญหาสังคมหลายอย่าง เพราะครอบครัวมันเป็นสถาบันพื้นฐานของการต่อยอดสังคม
หรือแม้แต่ตัวเทใจ อยู่ภายใต้ มูลนิธิบูรณะชนบท เมืองไทยตั้งแต่หลายสิบปีที่แล้วที่ เรา เหมือนกับพัฒนาเศรษฐกิจความจุกตัวอยู่ในเมืองของเรามีไม่กี่เมือง และโอกาสทางเศรษฐกิจก็ไปอยู่ที่นั้น
ซึ่งจริง ๆ แล้วโควิด-19 ทำให้เราต้องคิดมากขึ้นว่าถ้าเราสามารถกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ คือทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมันมีโอกาสอยู่ในทุกจังหวัดที่คนไม่ต้องย้ายถิ่นฐานทำงานให้มีงานและมีรายได้ก็จะทำให้เรื่องอื่น ๆ คือคนไม่ต้องย้ายถิ่นฐานแต่แรก การดูแลทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน ถ้าจะเป็นป่าก็ดี เราเป็นเจ้าของพื้นที่ก็จริงและเราย้ายเข้าไปทำงานในเมืองอื่น ก็มีขายที่ดินต่อเพื่อให้อุตสาหกรรมอื่นเข้ามาเพื่อเผาป่า เผาต้นไม้ หรือจะเอาแปลงไปทำอย่างอื่น พอเราไม่ได้ปลูกเองเราไม่รู้สึกไง แต่ถ้าตอนนี้เรามาอยู่ในท้องที่มันมีมลพิษ มีฝุ่น มีไฟป่า เราก็ได้รับผลกระทบตรงนั้นโดยตรง
ฉะนั้นความตระหนักถึงปัจจัยอื่น ๆ หรือว่าทรัพยากรในท้องที่ หรือว่าเราอยากให้บ้านของเรามันเติบโตไปทางไหนมันก็เป็นเรื่องที่คนก็จะเอามาคิดมากขึ้น โดยส่วนตัว ที่เราอยากเห็น แค่ไม่ได้คิดว่าจะสนับสนุนโครงการ แต่อยากเห็นประเทศขับเคลื่อนไปได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง ครอบคลุมการที่เราอยากจะสนับสนุนโครงการ ทำให้คนมีโอกาสสร้างงานธุรกิจ หรือว่าอาชีพในท้องที่ของตัวเองในบ้านเกิดมันมาช่วยลดทอนปัญหาอื่น ๆ ปัญหาสังคมที่จะตามมา นี่เป็นปัจจัยอื่นที่นอกเหนือจากเศรษฐกิจ มันก็อาจจะมีผลต่อเรื่องของการมองการพัฒนาประเทศและชุมชนของเราในระยะยาวด้วย