“นาไฮนี่ขายเข่าบ่ใด๋พอ 50,000-60,000 บาท เชื่อยายบ่ ? แต่ปลูกผักบุ้งขายผั่นใด๋ เฮ็ดนาขายเข่าบ่ใด๋ เพราะมีไฟจากถนนส่อง เข่าเลยบ่เต็มหมากเต็มหน่วย”
นี่คือคำบอกเล่าของคุณยาย “สรัด คันสินธ์” เจ้าของนาผักบุ้งแห่งบ้านชมสะอาด ต.ชมสะอาด อ.เมยวดี จ.ร้อยเอ็ด แม้ปีนี้จะอายุ 75 ปีแล้ว แต่คุณยายสรัดยังแข็งแรง อารมณ์ดี หัวเราะเสียงดัง และยังสามารถทำงานแข่งกับแสงแดดได้ไม่แพ้สมัยตอนสาว ๆ คุณยายสรัดเล่าให้กับทีมงานอยู่ดีมีแฮงออนไลน์ฟังต่ออีกว่า
“จากเดิมพื้นที่ตรงนี้ก็เคยทำนาเหมือนกันกับเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ ทั่วไป แต่เมื่อ 2-3 ปีย้อนหลังมานี่มีการติดตั้งไฟส่องสว่างถนน นาข้าวที่อยู่ริมถนนได้รับผลกระทบจากแสงไฟทำให้ข้าวไม่ออกรวง เพราะปกติข้าวจะต้องการแสงไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน การเจริญเติบโตของข้าวที่ถูกแสงตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้ข้าวไม่สมบูรณ์โตช้า ชาวบ้านแถวนี้เรียกว่า ข้าวบ้าใบ ซึ่งจะมีแต่ใบออกมาและหยุดเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลผลิตที่เคยได้ลดลง”
และเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมาคุณผู้อ่านก็คงเคยได้ยินได้ฟังข่าวทำนองนี้มาบ้างแล้ว ทั้งในทีวีและหน้าหนังสือพิมพ์ ที่มีชาวนาเอากระสอบไปคลุมหลอดไฟ ไม่ให้แสงสว่างส่องลงมาในนาข้าวช่วงกลางคืน แต่จะให้ยายปีนเสาไฟขึ้นไปเอากระสอบคลุมหลอดไฟ ไม่ให้แสงส่องลงมานาข้าวเหมือนกับชาวนาคนอื่น ๆ ก็คงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีนัก
จะอย่างไรก็ตามเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ก็ต้องหาทางออกให้ได้ เลยคิดหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้จากพื้นที่ตรงนี้ ช่วงแรกจึงได้ทดลองเปลี่ยนนาข้าว เป็นนาผักบุ้ง เพราะบริเวณแถบนี้ยังไม่มีคนปลูก ทดลองปลูกในพื้นที่ 2 งาน โดยเลือกปลูกผักบุ้งแก้วพันธุ์กินรี เพราะมีจุดเด่นคือปลูกง่าย มียอดใหญ่ อวบ กรอบ มีรสชาตต่างจากผักบุ้งนา และเป็นที่ต้องการของตลาดในพื้นที่
เตรียมดินเหมือนการทำนาข้าว
“การปลูกผักบุ้งแก้วนั้นมีวิธีการเตรียมดินเช่นเดียวกับการดำนา คือไถดะ ไถแปร และไถคราด เป็นขั้นตอนตามลำดับไม่ให้มีน้ำเยอะ เมื่อได้ดินพร้อมแก่การปักดำแล้ว ก็คัดเลือกยอดผักบุ้งโดยเลือกเฉพาะยอดที่ทอดยอดห่างและมีลำยอดเป็นสีขาว ส่วนการปลูกใช้วิธีเดียวกับการปักดำต้นข้าว โดยให้ความห่างระหว่างกอประมาณ 3 เมตรใช้เชือกดึงเป็นแนวตรงและปลูกตามแนวเชือกที่ดึงดำนาผักบุ้งเหมือนกับดำนาข้าว จากนั้นรอจนดินแห้ง จนผักบุ้งเริ่มแตกยอดเขียวขจี จึงค่อยปล่อยน้ำเข้าใส่ และใส่ปุ๋ยคอกตาม”
ศัตรูของผักบุ้งคือหอยเชอรี่
หลังจากปลูกผักบุ้งผ่านไป 1-2 เดือนก็จะเริ่มแตกยอดออก ข้อดีของผักบุ้งนอกจากการปลูกง่ายแล้ว ศัตรูของผักบุ้งยังน้อยอีกด้วย เช่นไม่มีหนอนมากัดกินใบเหมือนพืชผักชนิดอื่น ๆ จนหมดอายุการเก็บเกี่ยว ถ้ามีก็อาจจะมีน้อยมาก แต่ศัตรูสำคัญของผักบุ้งคือหอยเชอรี่ “หอยเชอรี่ต้องระวัง ต้องคอยเก็บออกทุกวัน ถ้าผักบุ้งถูกหอยเชอรี่กัดจะทำให้ยอดผักบุ้งเสียหาย ไม่แตกยอด หรือยอดออกมาก็ไม่สวย ยอดหยิก งอ ช่วงที่ผ่านมาต้องปล่อยน้ำออกหมด เพื่อที่จะเก็บหอยเชอรี่ออกจากแปลงผักบุ้ง ผักบุ้งจึงได้แตกยอดออกมาใหม่ หอยเชอรี่คือศัตรูตัวฉกาจของผักบุ้ง ส่วนหนอนนั้นจะไม่ค่อยมี”
ผักบุ้งให้ยอดได้ดีช่วงหน้าฝน
ผักบุ้งถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าปลูกง่ายโยน ๆ ไปก็เกิดได้แถมศัตรูพืชยังน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะปลูกได้ทั้งปีเหมือนการทำนาข้าว เพราะผักบุ้งมีช่วงเวลาของการปลูก การเลือกฤดูการปลูกให้เหมาะสมกับพืชจะทำให้ได้ผลผลิตที่ดี “เคยลองทำนาผักบุ้งช่วงหน้าแล้งเพราะมีน้ำในบ่อเยอะจึงอยากทำลองดู แต่พอทำแล้วแตกยอดออกมาก็เป็นดอก จึงได้รู้ว่าไม่ใช่ฤดูการที่เหมาะสม ก็เลยไม่ได้เก็บยอดขาย เพราะไม่มียอดให้เก็บ มีแต่ดอกผักบุ้งออกในช่วงหน้าแล้ง ต่อให้มีน้ำทำเต็มบ่อก็ไม่แตกยอดเหมือนหน้าฝน หน้าแล้งจึงทำไม่ได้”
ระหว่างทำนาข้าวกับนาผักบุ้งอย่างไหนดีกว่ากัน
“ทำนาผักบุ้งดีกว่าการทำอย่างอื่น เพราะมีรายได้จากผักบุ้งไม่ได้น้อยก็ได้มากแต่ได้ทุกวัน ตามแรงที่จะทำได้เพราะที่นี่ทำกัน 2 ยายเป็นหลัก แต่ถ้ามีออเดอร์เยอะ ๆ เข้ามาลูกหลานถึงได้ออกมาช่วย เพราะแต่ละคนก็มีงานประจำทำ คนที่มาซื้อผักบุ้งหรือคนที่ผ่านไปผ่านมาเห็นก็จะบอกว่าทำไมยายสองคนนี้เก่งจัง” ขอให้สุขภาพแข็งแรงก็พอ รายได้จะตามมาเอง ถ้าเราอยู่ดีมีแฮง
จากเดิมที่ทำนาผักบุ้งเพียงแค่ 2 งาน ตอนนี้คุณยายสรัดขยายนาผักบุ้งออกไปเป็น 1 ไร่ กับอีก 2 งาน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและร้านอาหารในพื้นที่ แม้จะอายุ 75 ปีแล้วก็ยังไม่ได้หยุดทำงานยังคงตัดผักบุ้งส่งให้กับลูกค้าอยู่เป็นประจำทุกวันด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มและเป็นกันเอง จึงทำให้มีลูกค้าทั้งใกล้ไกลแวะเวียนเข้ามาหาอย่างไม่ขาดสาย
เมื่อเกิดปัญหาสิ่งสำคัญคือต้องมีสติ และมองหาโอกาสใหม่ ๆ เมื่อการทำนาไม่สามารถไปต่อได้ การปรับเปลี่ยนวิถีเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยจึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกันกับการทำนาข้าวที่เคยทำมาหลายปีเปลี่ยนมาทำนาผักบุ้งจนพบช่องทางการตลาดใหม่ ๆ จนสามารถสร้างรายได้จากพื้นที่ตัวเองและมีความสุขกับการได้ลงมือทำครับ