ปัญญา คำลาภ : แล้งเราไม่เท่ากัน

ปัญญา คำลาภ : แล้งเราไม่เท่ากัน

20160703204322.jpg

เรื่อง : โกวิท โพธิสาร ภาพ : ปัญญา คำลาภ

ปรากฎการณ์เอลนีโญ่ที่เริ่มต้นพฤศจิกายน 2558 และคาดการณ์กันว่าจะยาวถึงพฤษภาคม 2559 ทำให้คำว่า “วิกฤติภัยแล้ง” ถูกพาดหัวผ่านหน้าสื่อหลายสำนัก และอาจต่อท้ายประโยคด้วยการบอกว่า “ที่สุดในรอบกี่ปี” ลองได้ตั้งประเด็นเช่นนี้แล้ววาบความคิดก็ต้องโยนภาวะวิกฤติมาที่อีสานก่อนเป็นลำดับแรก เพราะภาพจำของมันถูกทำให้คู่กันมาช้านาน

ก่อนหน้านี้ “เว็บไซต์นักข่าวพลเมือง” ได้คุยกับนักคิด นักวิชาการหลายคนในภาคอีสานเพื่อขอความกรุณาฉายภาพความแล้งแห่งแผ่นดินที่ราบสูงให้ฟัง และนี่คือความแล้งในทรรศนะของ “ปัญญา คำลาภ” ผู้เป็นทั้งนักข่าวพลเมือง นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อม เป็นภาคประชาชนที่ติดตามประเด็นเรื่องการจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นคนที่กินอยู่หลับนอนอยู่บนสันเขื่อนราษีไศลมาร่วมทศวรรษ

 

+ตอนนี้ที่อีสานใต้แล้งหรือไม่แล้งกันแน่

ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ชาวบ้านจะบอกว่าไม่ได้แล้ง ขยายความคำนี้ก็คือ ชาวบ้านมองว่ามันเป็นฤดูกาลของมันซึ่งจะเกิดเหตุการณ์ปกติคือระดับน้ำหน้าดินจะลดลงเพื่อให้พร้อมสำหรับการรับน้ำใหม่ที่จะเข้ามาในฤดูฝน เมื่อฝนมาก็จะไม่เกิดน้ำท่วม

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ชาวบ้านบอกว่ามันคือ “แปดสองหน” ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกๆ 2-3 ปี เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวบ้านก็จะรู้เองว่าต้องทำนาช้าออกไปหน่อยเพราะฤดูฝนจะมาช้ากว่าปกติ

 

+ความแห้งแล้งบนหน้าสื่อดูเหมือนจะเต็มไปด้วยวิกฤติ

มีสำนักข่าวบางแห่งไปนำเสนอข่าววัวควายไม่มีน้ำกิน ชาวบ้านต้องไล่ต้อนไปกินน้ำอีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งอยู่ข้างๆ ซึ่งโดยหลักการแล้วมันอาจเป็นเรื่องธรรมดามาก เมื่อแหล่งน้ำในหมู่บ้านนี้หมดก็ต้องข้ามไปอีกหมู่บ้าน อาจเป็นแบบนี้ทุกปีด้วยซ้ำ ทีนี้พอสื่อไปนำเสนอกลับบอกว่ามันเป็นเรื่องแปลก เป็นเรื่องไม่ปกติ

 

+ปริมาณน้ำที่เขื่อนราษีไศลขณะนี้เป็นอย่างไร

น้ำที่อยู่หน้าเขื่อนราษีไศลวัดได้ +118.7 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง (ม. รทก.) ถ้าเป็นหน้าแล้งก่อนหน้านี้ก็อยู่ที่ +117 ม. รทก. ส่วนค่าเฉลี่ยอยู่ที่ +119 ม. รทก. ซึ่งตัวเลขที่ห่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ผลของตัวเลขนั้นแตกต่างกันมากเพราะระดับน้ำที่สูงขึ้นเพียง 50 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร นั้นจะเกิด back water หรือระดับน้ำเอ่อมหาศาล เพราะมันคือระดับน้ำที่ขึ้นลงบนพื้นที่นับแสนๆ ไร่ ฉะนั้นตัวเลข +118.7 ม. รทก. ในขณะนี้ถือว่าเยอะ  ถึงกระนั้นก็ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไรเท่าที่ควร มีเพียงไม่กี่หมู่บ้านที่นำไปทำน้ำประปา

การมีน้ำในเขื่อนเยอะก็ไม่ได้ตอบโจทย์การใช้น้ำอย่างทั่วถึง เพราะรัฐไม่ได้คิดเรื่องการจัดการน้ำในระบบย่อย มีน้ำกระจุกแค่บริเวณเขื่อนแต่ไม่ถึงคนที่อยู่ห่างออกไป แต่ชาวบ้านต่างหากที่มีวิธีการจัดการน้ำของตนเอง เช่น คนที่อยู่นอกระยะของเขื่อนก็มีสระน้ำของตนเอง มีระบบน้ำบาดาล มีการรองน้ำเอาไว้ใช้หน้าแล้ง ส่วนคนที่อยู่ใกล้เขื่อนก็อาจมีวิธีการจัดการน้ำแตกต่างออกไป เช่น อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกหอมแดงที่ใหญ่มาก แม้จะอยู่ติดแม่น้ำมูล และพอจะมีน้ำอยู่ แต่เขาก็ไม่ใช้น้ำมูลเพราะฤดูแล้งเช่นนี้มีความเค็มมากกว่าปกติ เขาก็จะเลือกใช้น้ำบาดาลแทน

20160703204334.jpg

+แสดงว่าความแล้งไม่เท่ากัน

ความแล้งของคนแต่ละพื้นที่ซึ่งมีภูมิประเทศ ภูมินิเวศน์ไมเหมือนกัน ย่อมมีความแล้งไม่เท่ากัน

หลักคิดนี้อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ “ความต้องการในการใช้น้ำของแต่ละคนไม่เท่ากัน” การที่จะบอกว่าทุกคนเดือดร้อนจากน้ำแล้งเท่าๆ กันนั้นเป็นเรื่องที่ผิด แต่ละคนใช้น้ำเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น ทีนี้ก็ต้องมาดูกันว่าใครต้องการใช้น้ำบ้าง

ต้องจัดลำดับมันก่อนนะว่าพื้นที่ไหนที่มีความเสี่ยงจริงๆ มันไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะมีความเดือดร้อนจากความแห้งแล้งเท่ากันหมด ต้องไปตรวจสอบว่าพื้นที่นั้นๆ ยังมีแหล่งน้ำหรือไม่ หรือว่าคนในพื้นที่นั้นเคยพบกับปรากฎการณ์เช่นนี้หรือเปล่า วิถีชีวิตเคยเป็นเช่นนี้หรือไม่ มันจะช่วยทำให้เรารู้ว่าตรงนั้นเกิดวิกฤติจริงหรือไม่ ถ้าวิกฤติจริงก็สมควรที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

 

+เหมือนถือข้อมูลคนละชุด รับรู้ข้อมูลคนละอย่าง เลยทำให้จัดการแก้ปัญหาน้ำคนละวิธี

ตัวชี้วัดที่ชัดเจนก็คือ กรณีการขุดลอกแม่น้ำมูลท้ายเขื่อนราษีไศลโดยกรมเจ้าท่า ซึ่งกรมฯ บอกว่าจะช่วยทำให้ระบบประปาของเทศบาลตำบลเมืองคง (อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ) มีน้ำใช้อย่างพอเพียง แต่พอคุยกันจริงๆ ก็กลายเป็นว่า กรมชลประทานบอกว่าเทศบาลตำบลเมืองคงไม่ได้ทำหนังสือขอใช้น้ำไป ก็เลยไม่รู้ว่าต้องการใช้น้ำหรือไม่ต้องการกันแน่

กรณีแบบนี้ก็เป็นอย่างของการบรูณาการข้อมูลของแต่ละหน่วยงานว่าได้แลกเปลี่ยนกันดีพอหรือไม่

มีการอ้างว่าจะทำเพื่อชาวบ้าน แต่จริงๆ แล้วชาวบ้านกลับได้รับผลกระทบ เพราะว่าการขุดลอกในช่วงที่ผ่านมาทำให้ชาวบ้านไม่สามารถลงไปหาปลา  ไม่สามารถเอาวัวควายไปเลี้ยง ไปกินน้ำบริเวณนั้นได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

+เราต้องช่วยกันประหยัดน้ำ มันต้องประหยัดกันแบบไหน

ก่อนที่จะคุยเรื่องประหยัดน้ำ มันต้องดูให้ชัดว่าขอบเขตการใช้น้ำของแต่ละคน แต่ละชุมชนมันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

อย่างชาวบ้านเขาก็ใช้แค่อาบน้ำ อุปโภค บริโภคธรรมดา เขาไม่สามารถประหยัดได้มากกว่านี้แล้ว มันไม่มีอะไรเกินกว่าการดื่มน้ำ อาบน้ำ ซักผ้า ล้างจานแล้ว ทีนี้คำถามคือถ้าเป็นพื้นที่ในเมืองที่ต้องใช้น้ำจากระบบประปาเพื่ออุตสาหกรรมหรือโรงงานตลอดเวลานั้นเขาสามารถทำได้หรือเปล่าล่ะ

ถ้าจะประหยัดก็ต้องประหยัดทั้งระบบ แต่เวลาพูดถึงการประหยัดน้ำ รัฐก็จะหันมาจัดการประชาชนในภาคเกษตรกรรมก่อนเป็นอันดับแรก แต่ฝั่งอุตสาหกรรมไม่มีการพูดถึง

นี่คือการมองเรื่องความแล้งจากรัฐกับภาคประชาชนไม่เหมือนกัน ตัวอย่างคือ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ โดยกรมทรัพยากรน้ำ บอกว่า “น้ำเป็นของรัฐ” แล้วพยายามจัดสรรน้ำให้กับอุตสาหกรรมก่อนเป็นอันดับแรกส่วนประชาชนอยู่ท้ายสุด แต่ร่างของภาคประชาชนนั้นบอกว่า “น้ำเป็นของส่วนรวม” รัฐ ชุมชน ประชาชน มีสิทธิเข้าถึงโดยเท่าเทียม นี่คือเจตนารมย์ที่เห็นได้ชัดว่ามุมมองต่อการจัดการน้ำของเราไม่เหมือนกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ