อยู่ดีมีแฮง : เกษตรสองวัย มะพร้าวแดนอีสาน

อยู่ดีมีแฮง : เกษตรสองวัย มะพร้าวแดนอีสาน

ฮ๊อต เกียรติจรัส แก้วพวง ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หลังจากเรียนจบ สาขาการจัดการ คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็มุ่งหน้าสู่เมืองกรุงเหมือนใครหลาย ๆ คน  แต่ในระหว่างเรียนเขาก็เริ่มชวนพ่อทำสวนมะพร้าวเพื่อสร้างโอกาสทางรายได้ใหม่บนที่นา 10 ไร่ ร่วมกับพ่อ ชูเกียรติ แก้วพวง ผู้ที่มีประสบการณ์ทำนามาตลอดชีวิต

ท่ามกลางข้อท้าทายในบริบทดินแดนอีสาน ที่ไม่มีต้นแบบเรื่องการทำสวนมะพร้าวในภาคอีสาน ที่ทำเป็นสวนแบบจริงจัง 2 ประสบการณ์แบบเราที่ใช้แต่ทฤษฎีองค์ความรู้นี่มันจะนำไปใช้จริงได้ไหม? แล้วระบบน้ำมันจะใช้ได้หรือไม่? เพราะระบบน้ำของเราก็ไม่เหมือนกัน แล้วถ้าทำแล้วจะทำอย่างไรให้ได้ผลผลิต ที่สำคัญคือ คนทั้งหมู่บ้านก็มองว่า  2 พ่อลูกนี่เป็นบ้าหรือเปล่า ที่มาเปลี่ยนที่นางาม ปลูกข้าวก็ได้เยอะมาก แถมอร่อยและหอมมาก แล้วทำไมถึงเอาที่นามาทำสวนมะพร้าว

วันนี้เราทีมงานอยู่ดีมีแฮงจะพาเพื่อนนักอ่านทุกท่านลงไปไขคำตอบที่สวนมะพร้าว โอเคฟาร์ม​ ต.ผาน้ำย้อย อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด ที่ดูแลและจัดการผ่านมุมมองคนสองวัย พ่อกับลูกชาย

แรงบันดาลใจ

“เดิมทีที่นากว่า 10 ไร่แปลงนี้ ปลูกข้าวเป็นหลัก ซึ่งเป็นทำเลที่เหมาะมากสำหรับการปลูกข้าว ทั้งดินดี น้ำดี แต่การปลูกข้าวของพ่อในช่วงที่ผ่านมา ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่เกิดขึ้น ช่วงนั้นผมเองก็กำลังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ จึงมีโอกาสหารือกับพ่อว่า เราจะทำอะไรกันดีที่จะสร้างรายได้ให้สูงมากขึ้นกว่าการทำนา”

นั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนสองวัยได้หันหน้ามาคุยกัน เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้กับครอบครัว โดยใช้เวลากว่า 2 ปี ในการค้นหาอาชีพใหม่ผ่านมุมมองของคนสองวัย การทำสวนมะพร้าวจึงเป็นคำตอบ

“หลาย ๆ บทเรียนของเกษตรบ้านเราที่ผ่านมา ก็ยังทำตามตลาดใครปลูกอะไรได้ราคาดี ก็หันมาปลูกตามกัน แต่พอทำเหมือนกันมาก ๆ ราคามันก็จะตกต่ำ ผมก็เลยมองว่าเกษตรเหล่านี้มันไม่ยั่งยืน และเกิดรายได้ตลอดทั้งปีได้ ผมก็ดูข้อมูลประกอบด้วย ซึ่งเห็นว่ามะพร้าวที่ส่งออกต่างประเทศ มันมีความต้องการเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี ก็เลยคิดว่ามะพร้าวนี่แหละ น่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่ดีในอนาคต”

ไม่ต้องอธิบายมาก พาไปให้เห็นด้วยตา

เมื่อแนวทางการสร้างรายได้ใหม่ของครอบครัวคือมะพร้าว แต่ข้อท้าทายต่อมาสำหรับพื้นที่ในภาคอีสาน มันจะปลูกได้ไหม ถ้ามันปลูกได้ จะต้องปลูกอย่างไรถึงจะรอด เมื่อรอดแล้วทำอย่างไรถึงจะมีลูก เมื่อออกลูกแล้วมันจะขายอย่างไร ซึ่งคำถามเหล่านี้มันยังคงค้างอยู่ในหัวของผู้เป็นพ่อตลอดเวลา เพราะตลอดชีวิตของพ่อนี้ ถ้าพูดถึงงานเกษตร นั่นก็คือการทำนา ดังนั้น ฮ็อตผู้เป็นลูกชายจึงอธิบายคำถามเหล่านี้ให้เห็นภาพด้วยการพาไปดูของจริง

“คือตอนนั้นถึงแม้ว่าเราเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ในมุมมองพ่อเราก็ยังเป็นเด็กอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะอธิบายให้พ่อเข้าใจได้ดีที่สุดนั้นคือ พาพ่อไปดูสวนที่เขาปลูกกันจริง ๆ ”

สวนที่ฮ๊อตเลือกที่จะพาพ่อไปดูนั้นคือสวนมะพร้าวขนาด 4 ไร่ ที่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งอยู่ไม่ไกลบ้านนัก ซึ่งมาพากันมาดูงานที่นี่ก็พบว่าพื้นที่ 4 ไร่แห่งนี้ มันสร้างรายได้ให้เจ้าสวนตลอดเวลา และเรื่องดิน-น้ำที่นี่ก็ไม่ได้ดีมากด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับที่นาตนเอง นั้นจึงเป็นตัวสร้างความมั่นใจอีกครั้งให้สองพ่อลูก ว่ามะพร้าวนี้แหละที่จะพืชที่สร้างรายได้ใหม่ให้กับครอบครัวเรา

ออกไปแสวงหาความรู้ ก่อนลงมือปลูก

“พ่อเองก็คนหาความรู้การปลูก การดูแล ทั้งพาลงดูสวนจริง แต่สำหรับพ่อก็ก็ยังมองว่า เราน่าจะทำได้ดีกว่านี้อีก ผมก็เลยค้นหาสวนปลูกมะพร้าวในอินเตอร์เน็ต เลยพบว่ามีสวนมะพร้าวอินทรีย์ที่บ้านแพ้ว ผมเลยติดต่อพี่เขาไปเพื่อขอเขาไปเรียนรู้วิธีการปลูก วิธีการดูแล ซึ่งผมลงไปเรียนรู้อยู่ที่นั้นเป็นสัปดาห์ โดยที่กินนอนอยู่ที่นั้นเลย และผมก็ได้พาพ่อลงได้เรียนรู้ในพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งผมเชื่อว่านี่มันน่าจะเป็นทางลัดที่ดีที่สุดและเห็นผลได้เร็ว”

หลังจากกลับมาจากการเรียนรู้ดูงานอย่างลึกซึ้ง สองพ่อลูกพากันมาออกแบบบนที่นาของตัวเองว่าระยะที่ปลูกควรจะห่างขนาดไหน วางท่อตรงไหนบ้าง และหอเก็บน้ำจะตั้งอยู่ตรงไหน โดยการออกแบบเหล่านี้ต้องให้เสร็จอยู่ในแผ่นเดียว เมื่อออกแบบเสร็จเราค่อยจ้างรถเขามาช่วยขูดให้ ซึ่งหัวใจสำคัญหลักของการออกแบบสวนตรงนี้ ฮ๊อตบอกว่าคือเรื่องระบบน้ำ

น้ำคือหัวใจสำคัญ

“มะพร้าวนี้มันขาดน้ำไม่ได้เลย ต้องบริหารน้ำให้ได้ทั่วทั้งสวน และต้องมีแหล่งน้ำ หากไม่มีแหล่งน้ำเราก็ต้องเจาะบาดาล ถ้าเจาะบ่อเดียวไม่พอก็ต้องเจาะเพิ่ม เพื่อที่จะนำน้ำขึ้นมาเลี้ยงมะพร้าวให้ได้ โดยมะพร้าวที่เราปลูกนี้จะให้มีระยะห่างระหว่างต้นคือ 6×6 เมตร และระยะห่างระหว่างด้านที่มีคลองน้ำนี้คือ 7 เมตร”

ปลูกปีแรกต้องให้มีรายได้

เราไม่ได้ปลูกมะพร้าวอย่างเดียวนะในปีแรก เราจะเอากล้วยมาปลูกไว้ตรงกลางระหว่างต้นมะพร้าว ซึ่งกล้วยนอกจากจะเป็นพืชพี่เลี้ยงแล้ว มันยังเป็นที่จะสามารถสร้างรายได้ในระยะสั้นได้ ใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน กล้วยก็มีผลแล้ว และช่วงฤดูแล้ง กล้วยมันจะดูดน้ำได้เยอะ ซึ่งมันจะช่วยให้มะพร้าวนี้ออกหาอาหารกินได้ง่ายขึ้น

เมื่อกล้วยออกผลผลิตมา ในช่วงแรกที่สวนนี้จะขายเป็นแบบผลสุก ซึ่งจะมีราคาเพียง 5-10 บาทเท่านั้น ฮ๊อตจึงเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการขายใหม่ โดยนำกล้วยเหล่านั้นมาแปรรูปก่อน ไม่ว่าจะเป็นกล้วยตาก กล้วยอบ กล้วยฉาบ เพื่อจะนำผลิตมาส่งขายในกรุงเทพ ฯ ซึ่งช่วงนั้นฮ๊อตเองก็ยังทำงานประจำอยู่ที่นี่อยู่ แต่ก็อาศัยความรู้ที่ตัวเองเรียนมา ปรับบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้ดูน่ากินน่าซื้อ ซึ่งการทำแบบนี้เกิดรายได้ขึ้นมากถึงหลักหลายแสนต่อปี และในร่องสวนเองก็ยังสามารถที่จะเลี้ยงปลาสร้างรายได้เสริมเข้ามาอีก

ลงทุนครั้งเดียว ที่เหลือรอรับเงิน

จากประสบการณ์ทำนาของพ่อมาตลอดชีวิต ทุกครั้งที่ต้องลงมือทำนา นั้นคือทุกครั้งที่ต้องลงทุน ลงทุนตั้งแต่เตรียมแปลงไปจนตอนเก็บเกี่ยวผลผลิต พอนับผลผลิต หักลบกลบหนี้ มันแทบจะถามหากำไรไม่เจอเลย แต่ที่ต้องจำทนทำมาก็คือ ถ้าไม่ทำนาข้าวแล้วจะไปทำอะไรละ ในเมื่อเพื่อน ๆ คนอื่นเขาก็ทำนากัน แต่หลังจากปลูกมะพร้าวได้ 2-3 ปี สวนมะพร้าวของคนสองวัยเริ่มออกดอกผลและเริ่มเก็บผลผลิตขายได้แล้ว

“เดือนที่ผ่านมา ผมขายลูกละ 30 บาท พอมาเดือนนี้ผลิตเราเริ่มออกเยอะ เราขายที่ลูกละ 25 บาท ซึ่งตอนนี้จะมีพ่อค้าจากอำเภอใกล้เคียงมารับ แค่นี้สวนมะพร้าวขนาด 10 ไร่ของเราก็ออกลูกไม่ทันขาย เพราะเขาก็มารับอาทิตย์ละ 500 ลูก 200 ลูก ทุกอาทิตย์แบบนี้ครับ”

มะพร้าวเป็นพืชที่ออกลูกตลอดทั้งปีถ้ามีน้ำเพียงพอต่อความต้องการของต้น ถ้าน้ำไม่พอลูกที่ออกมาก็จะล่วงหล่นไปหรือลีบไป ซึ่งสวน โอเค ฟาร์ม ของคนสองวัยแห่งนี้ก็มีอายุเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว ซึ่งผลผลิตเฉลี่ยที่สามารถเก็บขายได้เดือนละ 2,000 – 3,000 ลูก ถ้าลองเอาราคาขายหน้าสวนมาเทียบที่ราคา 20 – 30 บาท ก็จะมีรายได้เข้ามาทุกเดือน ๆ ละ 40,000 – 60,000 บาท

“ซึ่งเราทำนาเราต้องลงทุนทุกปีนะ ลงแรงตลอดช่วงระยะเวลาในการทำนาด้วย แต่เราทำสวนมะพร้าวนี้เราลงทุนครั้งเดียว ปลูกครั้งเดียว ตอนเราขายเราก็ไม่ต้องเข้าไปตัดเอง คนที่มาซื้อเขาก็จะเข้าไปตัดเอง เรารอรับเงินอย่างเดียว”

ปลูกแล้ว อย่ารับเงินเพียงอย่างเดียวนะ ต้องมีการดูแลด้วย

หลายคนที่อ่านมาอาจจะคงคิดว่าเออมันน่าปลูก ปลูกไม่ต้องดูแลอะไรเลยรอเก็บขายอย่างเดียวเหมือนมะพร้าวอยู่หลังบ้าน อย่าเพิ่งเชื่ออย่านั้นหมดซะทีเดียวนะครับ เพราะมะพร้าวหลังบ้านเรามันมีไม่ก็ต้น และเราก็กินมันไม่ค่อยบ่อย อยากกินทีค่อยมาสอยไปที แต่พอเราหันมาปลูกเพื่อการค้า มันก็ต้องออกแบบวางแผน และใส่ใจเป็นพิเศษหน่อย

“ข้อดีของการทำสวนมะพร้าวก่อนเพื่อนในแถบนี้ ข้อดีคือ โรคแมลงยังไม่ค่อยมี แต่ถ้ามันมีมันก็มีเฉพาะสวนเรา เราก็จัดการมันได้ง่าย อย่างโรคของมะพร้าวเราก็ไม่ได้ที่จะต้องดูแลหลายขั้นตอน อย่างหนอนหัวดำเราฉีดบีที ฆ่าหนอนไป อย่างด้วง เราก็สังเกตดูในสวนเอา เราเจอเราก็เก็บออกเอา ซึ่งมันก็เจอเป็นส่วนน้อยแค่ 4-5% เท่านั้น และที่สำคัญ น้ำ อย่าให้ขาด อาหารต้องเติมให้อยู่เสมอ”

สวนนี้ไม่ได้มีเป้าหมายแค่ทำสวนขายมะพร้าว

“จากที่ผมเคยได้รับโอกาสจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ให้ทำงานร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งทำให้ผมเข้าใจว่า ถึงแม้ว่าเราจะทำอย่างไรมันก็สู้ตลาดไม่ได้ ก็พยายามตั้งคำถามมาตลอดตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ ผมก็ศึกษาและลงมือทำโครงการร่วมกับชาวบ้านมาตลอด ตั้งแต่ธนาคารควาย ธนาคารเมล็ดพันธุ์ ผมก็พยายามอยากจะให้ชาวบ้านเรานี่ช่วยตัวเองได้ แต่สิ่งที่พบคือคนอีสานหรือเกษตรกรบ้านเรามักจะทำก็คือ ใครปลูกอะไรได้ดีก็จะปลูกตามกัน พอปลูกเยอะมันก็ทำให้ล้นตลาด อย่างมะพร้าวน้ำหอมแปลงนี้ มันต้องใช้เวลา ถ้าคนไม่เอาใจใส่ 4 – 5 ปีก็ไม่มีลูก ถ้าปลูกผิดวิธี 10 ปี ไม่มีลูกก็มี  ก็เลยอยากทำเกษตรที่ไม่ใช่เชิงเดียว อย่างผมทำก็ทำแบบผสมผสาน มีมะพร้าว มีปลา มีผัก ที่ทำควบคู่กันไปในสวนด้วย”

หลังจากที่สวนมีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ฮ๊อตก็ลาออกจากงานประจำกลับมาทำธุรกิจที่บ้าน ทั้งงานส่วนตัวและงานเกษตร ทั้งขยายสวน ขยายเครือข่าย แบ่งปันองค์ความรู้ในการปลูกพืช แม้กระทั่งผู้คนในชุมชนที่ปลูกผักแล้วไม่มีแหล่งขาย ฮ๊อตก็เข้าไปช่วยเป็นตัวกลางในการรับส่งผักเอาเข้าไปขายให้

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ ที่นำองค์ความรู้มาช่วยเติมเต็มวิถีเกษตรของผู้เป็นพ่อ ให้ไม่ต้องทำงานมาก ทำงานหนัก และเหมาะกับช่วงวัยด้วย แถมยังได้กลับมาร่วมสร้างโอกาสให้กับคนในชุมชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ