ปรากฏการณ์ระดมทุน ‘ปอเนาะญีฮาด’ ข้อท้าทายทางกฎหมายสวนวิถีวัฒนธรรมชุมชน

ปรากฏการณ์ระดมทุน ‘ปอเนาะญีฮาด’ ข้อท้าทายทางกฎหมายสวนวิถีวัฒนธรรมชุมชน

เมื่อวันเสาร์ที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดเป็นปรากฏการณ์การรวมตัวของคนในพื้นที่ชายแดนใต้นับหมื่นคนที่ลานสนามฟุตบอลชุมชนท่าด่าน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี  เพื่อมาร่วมงาน “กินข้าวยำน้ำชา” สมทบทุนซื้อที่ดิน 10 ไร่และพัฒนาชุมชนท่าด่านให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาชุมชน

หลังจากที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ให้ริบที่ดินและทรัพย์สินปอเนาะญีฮาดวิทยา ซึ่งมีเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ราคาประเมิน 591,090 บาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยทางครอบครัวแวมะนอ เจ้าของโรงเรียนปอเนาะฯ ร่วมกับชาวบ้านและคณะศิษย์เก่าปอเนาะญีฮาดวิทยาตัดสินใจไม่ขออุทธรณ์ พร้อมเก็บข้าวของทั้งหมดย้ายออกจากบ้านซึ่งก็เป็นที่ตั้งของโรงเรียนปอเนาะ โดยย้ายไปพักอาศัยชั่วคราวที่โรงเรียนตาดีกากือแด บริเวณมัสยิดมัสยิดกือแด (ท่าด่าน)

กว่า 11 ปี ของการปิดโรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยา ก็ได้เชื่อมร้อยผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้นับหมื่นคนได้หลั่งไหลในน้ำใจทำให้งานกินข้าวยำเพื่อระดมทุนมียอดบริจาคกว่า 3,000,000 บาท กองบรรณาธิการนักข่าวพลเมืองภาคใต้สัมภาษณ์ ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ (อับดุลกอฮาร์ บิน ฮาญีอับดุลอาวัง) ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะผู้ที่ทำงานช่วยเหลือคดีความมั่นคงในพื้นที่มายาวนาน ถึงมุมมองต่อ “ปรากฏการณ์ระดมทุนปอเนาะญีฮาด” และจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้สะท้อนภาพใหญ่ของสังคมชายแดนใต้อย่างไร

20162103200947.jpg

00000

ทนายอับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า เดิมปอเนาะญีฮาดวิทยาเกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านในชุมชน ที่ดินอาจจะเป็นของบาบอเฮง (นายบือราเฮง เจ๊ะอาแซ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยา ในปี พ.ศ.2511) แต่ที่พักของนักเรียนในโรงเรียนปอเนาะ รวมถึงมัสยิดนั้นเกิดมาจากการ “วากัฟ” (การบริจาคเพื่อสาธารณกุศล) ร่วมแรงร่วมใจของคนในหมู่บ้านที่สร้างขึ้นมา นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องของการมีส่วนร่วมของคนในสังคม เป็นสิ่งที่มาจากการปะทะสังสรรค์ทางความคิด

กรณีปอเนาะญีฮาดสะท้อนให้เห็นว่า หลังจากที่ครอบครัวของเจ้าของปอเนาะต้องถูกยึดทรัพย์สินทั้งๆ ที่ปอเนาะถูกปิด และถูกกล่าวหามานาน ทำให้ชาวบ้านก็มีความรู้สึกเหมือนว่าเป็นการตอกย้ำความไม่เป็นธรรม เช่นจากภาพที่ชาวบ้านให้ความช่วยเหลือครอบครัวของเจ้าของปอเนาะ ตรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มที่ทำให้คนในสังคมมีจุดร่วมให้ความสนใจร่วมกัน ซึ่งเป็นความรู้สึกเมตตาสงสาร สิ่งเหล่านี้คิดว่ามันสำคัญในพื้นที่ภายใต้สถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง เพราะคนในพื้นที่เขาก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ต่อไป ในขณะที่ความขัดแย้งยังคงมีอยู่

แต่ว่าวันนี้เรามาพูดถึงว่า เราจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนเริ่มให้ความสำคัญ เริ่มมีความสามัคคีมากขึ้น เพื่อที่จะสร้างสังคมที่เข้มแข็งและสะท้อนเสียงไปยังคู่ขัดแย้งที่มีอยู่

นอกจากนี้ ในประเด็นของปอเนาะญีฮาดผมมองว่า ระบบของกฎหมายมันไม่สอดคล้องกับมิติทางสังคม เราต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่รวมศูนย์อำนาจ นั่นก็คือ มีระบบกฎหมายจากส่วนกลางและกฎหมายนั้นสามารถที่จะขยายนำไปใช้กับทุกพื้นที่ได้ แต่สำหรับพื้นที่สามจังหวัดมันมีมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าระบบของสังคม คือเขาก็มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง นั่นก็คือทางเศรษฐกิจ ส่วนทางสังคมการเมืองเขาก็มีในมิติในรูปแบบของเขา อย่างในรูปแบบผู้นำศาสนา ปอเนาะ ซึ่งเกิดขึ้นจากระบบการสร้างทางสังคม ไม่ได้เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางอำนาจของรัฐ

อันนี้จึงต้องแยกทั้งสองมิตินี้ออกจากกัน เพราะความไม่สัมพันธ์กันของทั้งสองมิตินี้ ที่แม้จะดูเหมือนว่าไม่มีความขัดแย้งกัน แต่มันก็คือความไม่เข้ากันในระบบของกฎหมายกับมิติทางสังคม ดังนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะผ่อนคลายตัวกฎหมายนี้ให้สอดคล้องกับมิติทางสังคมให้ได้

ดังตัวอย่างที่ดิน “วากัฟ” (การบริจาคเพื่อสาธารณกุศล) แม้ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่เหมือนกับว่าคนในพื้นที่ก็ต้องไปใช้ในรูปแบบของมูลนิธิ แต่มูลนิธิก็ยังไม่สอดคล้องกับระบบวากัฟ ตามหลักศาสนาอิสลาม สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่รัฐและผู้มีอำนาจจะต้องเอาใจใส่กับความละเอียดอ่อนทางศาสนา

ดังนั้นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็คือ มิติของกฎหมายจะต้องสอดคล้องกับมิติทางสังคม หากรัฐบอกว่าจะต้องใช้กฎหมายแบบนี้ซึ่งเป็นเส้นทางตรงแบบทางเดียว มันก็อาจจะไปกระทบกับมิติทางสังคมได้ ดังนั้นรัฐหรือกฎหมายก็ต้องปรับตัวให้เข้ากันกับมิติทางสังคม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสูญเสียอำนาจรัฐ หรือการแบ่งแยกดินแดน เพียงแต่ว่าทำกฎหมายให้เป็นไปตามธรรมชาติและเป็นไปตามวิถีที่ควรจะเป็นของวัฒนธรรมของพื้นที่

ในทางหนึ่งถ้ามองในมิติทางกฎหมาย จากการยึดทรัพย์สินบางอย่างมาเป็นของกลาง หลังศาลพิจารณาคดีแล้วและสุดท้ายพิพากษาให้ยึด ระบบของมันก็ควรเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะให้ขายทอดตลาด หรืออย่างไร แต่วันนี้ถ้าบอกว่าจะใช้อำนาจพิเศษที่จะจัดการทรัพย์สินตรงนี้ คิดว่าถ้าเราให้อำนาจจัดการโดยที่ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมมันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ เพราะที่ดินก็ยังคงตั้งอยู่ที่นั่นมันไม่สามารถจะเคลื่อนย้ายไปที่ไหนได้

ผมไม่อยากให้รัฐมากำหนดบอกว่าจะทำอย่างนี้แล้วก็คุณทำ แต่จะต้องถามความคิดเห็นจากเป็นมติคนในพื้นที่ ผู้นำศาสนา เพื่อสร้างจุดร่วมว่าจะเอาอย่างไร มันเหมือนกับว่า ให้พวกเขารู้สึกว่าได้คืนในแบบที่มีคุณค่าในเชิงศาสนา เพราะว่าถ้าเป็นปอเนาะ คนที่นี่จะมีความรู้สึกว่ามันมีคุณค่า มีความรู้สึกหวงแหน เพราะเป็นทรัพย์สินที่คนอุทิศมาเป็นสาธารณกุศลตามหลักการศาสนา

คำถามสำคัญคือ เราจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการที่จะสร้างความรู้สึกร่วมให้คนในพื้นที่อย่างไร จึงอยากให้ทางฝ่ายรัฐมาพิจารณาดูว่า ถ้าหากงานที่เขาจัดมีคนมาร่วมมาก นั่นสะท้อนถึงความรู้สึกร่วมของคนที่มีต่อเรื่องนี้ที่มีอยู่มาก และจะเอาความรู้สึกร่วมกันตรงนี้ให้คนในพื้นที่ได้จัดการกันเอง เพื่อฟื้นฟูความเป็นจุดร่วมของคนในพื้นที่ให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ