ที่มา: เหมืองแร่เมืองเลย
บทสรุปของ เครือข่ายรักทองผาภูมิ และเหล่าผู้นำท้องถิ่นในระดับอำเภอ ที่รวมตัวกันเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ร้อนในพื้นที่ ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลทองผาภูมิ เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา
พวกเขาประเมินว่าความพยายามของรัฐที่จะประกาศ ‘เขตแหล่งแร่’ เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนทำสัญญา ‘สัมปทานพิเศษ’ ต่อการเข้าไปเอาทรัพยากรแร่ในเขตป่าไม้ออกมาใช้ประโยชน์ดูเหมือนจะใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น
“เขาตั้งธงไว้แล้ว ตะกั่วในทองผาภูมิ คือพื้นที่ที่รัฐจะใช้ประเดิมเพื่อประกาศเขตแหล่งแร่ กันเขตแร่ออกมาจากเขตป่าเพื่อให้สัมปทานทำเหมือง ที่ทำมาทั้งหมดนี้ก็แค่ทำตามขั้นตอนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น” คำกล่าวของ ชูศักดิ์ ธารทะเลทอง ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านอู่ล่อง หมู่ที่ 4 บ้านอู่ล่อง ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
นับตั้งแต่การแก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ด้วยการเพิ่มเติมมาตรา 6 ทวิ ในปี 2516 ที่เปิดโอกาสให้รัฐและเอกชนสามารถทำสัญญาผูกขาดแหล่งแร่ในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่มากกว่าสัมปทานปกติตามที่กฎหมายแร่ได้อนุญาตไว้ เพื่อรับประกันว่า รัฐจะเอื้อประโยชน์ให้คู่สัญญาได้รับอาชญาบัตรและประทานบัตรในการสำรวจและผลิตแร่ที่เป็นเป้าหมายโดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญา หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นการทำสัญญาจับจองพื้นที่แหล่งแร่ เพื่อการสำรวจและผลิตหรือทำเหมืองแร่ล่วงหน้าโดยที่ยังไม่ได้รับอาชญาบัตรให้สำรวจแร่และประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่ก็ตาม ดังเช่น สัญญาให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี คลุมพื้นที่ 2,333 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1.5 ล้านไร่ ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมทรัพยากรธรณี กับ บริษัท ไทยอะกริโกโปแตช จำกัด แต่เพียงผู้เดียว ไม่ว่าจะขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชกี่ครั้งเพราะไม่ได้กำหนดวันสิ้นสุดอายุสัมปทาน
ส่วนการแก้ไขมาตรา 6 ทวิ และเพิ่มเติมมาตรา 6 จัตวา เมื่อปี 2522 นำไปสู่การเปิดประมูลเพื่อพัฒนาเหมืองแร่ทองคำในโครงการขนาดใหญ่ พื้นที่เลย-อุดรธานี-หนองคาย มีผู้ได้รับสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ4 ราย พื้นที่ 2,173,211 ไร่ โดย บริษัท ทุ่งคำ จำกัด สามารถเปิดทำเหมืองแร่ทองคำได้ 6 แปลง พื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ บริเวณภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน ในเขตตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และยังมีพื้นที่ที่ขอประทานบัตรจับจองไว้อีก 106 แปลง 30,000 กว่าไร่ ซึ่งกำลังดำเนินการขอประทานบัตรไล่ไปทีละแปลง
แต่การปลดล็อคกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ที่รัฐต้องการให้ระบบสัมปทานผูกขาดแหล่งแร่ไม่ให้ถูกจำกัดด้วยพื้นที่และขอบเขตของการสงวนหรืออนุรักษ์ยังไม่สิ้นสุดเท่านั้น
โดยเฉพาะการเสนอ ‘ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …’ ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ว่าจ้าง สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาและยกร่างฯ ขึ้นในปี 2555 เพื่อนำพื้นที่ป่าไม้ ทั้งป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายเฉพาะ หรือตาม มติ ครม.และพื้นที่หวงห้าม หรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายฉบับอื่นที่ห้ามใช้พื้นที่เพื่อการทำเหมืองแร่ สามารถที่จะให้สัมปทานทำเหมืองแร่ได้แม้พื้นที่เหล่านั้นจะเป็นเขตป่าไม้ ป่าต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมหรือไม่ก็ตาม หากพบว่าพื้นที่เหล่านั้นมีศักยภาพแร่และกำหนดให้พื้นที่เหล่านั้นเป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ หรือ Mining Zone
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการแร่ และการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจในการประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และมิใช่พื้นที่ตามกฎหมายเฉพาะเรื่องห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ โดยเด็ดขาด รวมถึงพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่ ปัจจุบันร่างฯ กฎหมายฉบับดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แม้ว่าหลักการดังกล่าวจะเหมือนกับร่างฯในปี 2552 ที่เคยถูกเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีมาแล้ว แต่ถูกถอนร่างออกเพราะอาจมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิชุมชนก็ตาม
กล่าวถึงสถานการณ์ของผืนป่าเป้าหมายในการประกาศเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในทองผาภูมิ
ตั้งแต่ปี 2540 กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำแผนที่ทรัพยากรแร่เพื่อแสดงขอบเขตพื้นที่แหล่งแร่ และพื้นที่ศักยภาพแร่ชนิดต่างๆ ในขนาดมาตราส่วน 1:250,000 ทั่วประเทศ พร้อมทั้งประเมินปริมาณสำรองของแร่แต่ละชนิดในพื้นที่ประทานบัตรและพื้นที่แหล่งแร่ต่างๆ ที่ได้เคยสำรวจพบ โดยกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว-สังกะสี เอาไว้ 4 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่รวมทั้งหมด 385 ตารางกิโลเมตร หรือราว 240,625 ไร่ ได้แก่ 1) พื้นที่เกริงกระเวีย-สองท่อ-บ่อน้อย ตั้งอยู่ในเขตตำบลชะแล และตำบลสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ ประมาณ 286 ตารางกิโลเมตร 2) พื้นที่บ่องาม ครอบคลุมพื้นที่แหล่งแร่บ่องาม ตั้งอยู่ในเขตตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ ประมาณ 92.2 ตารางกิโลเมตร 3) พื้นที่ปิล็อก ตั้งอยู่ในเขตตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ ประมาณ 3.5 ตารางกิโลเมตร 4) พื้นที่เขาตะกั่ว ตั้งอยู่ในเขตตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ ประมาณ 3.7 ตารางกิโลเมตร
จะเกี่ยวโยงกันตามลำดับเวลาอย่างไรหรือไม่ก็ตาม วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 มติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ การกำหนดมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อการสำรวจแร่หรือทำเหมืองแร่
ต่อมาในปี 2546 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ว่าจ้างอย่างเงียบๆ ให้ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดทำ โครงการจัดทำแผนแม่บททางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมือง เพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณีในเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี
แผนแม่บทฯ ดังกล่าวกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วเอาไว้ 2 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 77 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในอุทยานแห่งชาติลำคลองงู เชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ได้แก่ 1) พื้นที่สองท่อ-บ่อใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 44 ตารางกิโลเมตร 2) พื้นที่บ่องาม-องข่า-คลิตี้ล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 33 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณแร่สำรองประมาณ 7.68 ล้านตัน สามารถทำเหมืองผลิตแร่ได้เป็นเวลา 100 ปี (คำนวณตามอัตราการทำเหมืองแร่ในปี 2541)
มาในปี 2554 กรมทรัพยากรธรณีได้ว่าจ้างให้ ศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้น (Strategic Environmental Assessment: SEA) เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี (แร่ตะกั่ว-สังกะสี) บริเวณพื้นที่ของอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยนำแนวทางตามแผนแม่บทฯ ของ TDRI มาจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากประชาชนในอำเภอทองผาภูมิ เป็นการสร้างกระบวนการในทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดการยอมรับในการกันพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว 77 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 48,125 ไร่ ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู
แม้จะมีการคัดค้านจากชาวทองผาภูมิในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นในพื้นที่อย่างกว้างขวาง แต่ปัจจุบัน SEA ฉบับนี้ก็เดินหน้าจนแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2556 ที่ผ่านมา
กระบวนการผลักดันทั้งจาก กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นักวิชาการ และนักการเมือง ที่เกิดขึ้นและสอดรับกันมาเป็นทอดๆ เพื่อกันพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วในเขตป่าสงวนออกมาให้เอกชนลงทุนทำเหมืองนี้ กำลังถูกจับตาและมีคำถามใหญ่ๆ จากชาวทองผาภูมิในหลายประเด็น
วีระ แก้วมณี รองนายกเทศมนตรีตำบลทองผาภูมิ ผู้ได้เข้าร่วมในเวทีการรับฟังความคิดเห็นของ ศูนย์บริการวิชาการ จุฬาฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การนำเสนอในเวทีที่เน้นอธิบายว่ากระบวนการศึกษาที่นำเสนอในเวทีเป็นคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้นไม่มีการกล่าวถึงกรณีของคลิตี้ บทเรียนความเจ็บป่วยจากการทำเหมืองตะกั่วในอดีตที่ปัจจุบันยังหาวิธีการเยียวยาแก้ไขปัญหาไม่ได้ และไม่ได้ให้ข้อมูลประกอบที่สำคัญทั้งในเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ตะกั่ว และทางเลือกอื่น นอกจากความจำเป็นจากผลการศึกษาที่จะนำไปสู่คำตอบเพื่อให้มีการทำเหมืองตะกั่วในพื้นที่เท่านั้น
“SEA ที่จุฬาเข้ามาศึกษาไม่ได้ให้ความจริงใจและความจริงกับเรา งานวิจัยที่เกิดขึ้นประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลมาก่อนเลย แต่ข้อมูลที่ได้รับคือ พื้นที่นี้เป็นแหล่งแร่ตะกั่วที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ถ้านำตะกั่วมาใช้จะลดการนำเข้าได้มาก และยังมีการให้ข้อมูลว่า พื้นที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากแร่ตะกั่วอยู่แล้วตามธรรมชาติ ดังนั้นจึงควรเอาแร่ตะกั่วออกมาจากพื้นที่ ชาวบ้านจะได้ปลอดภัย นี่คือข้อมูลของกรมทรัพยากรธรณี และไม่ได้พูดถึงคลิตี้ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสั่งให้เหมืองตะกั่วในพื้นที่ทั้งหมดหยุดกิจการ
“ตอนแรกเรารู้ว่าจะมีการทำเหมืองที่บ่อใหญ่ สองท่อ บ่องาม ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเหมืองเก่าอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีพื้นที่เกริงกระเวียด้วย และมีแร่ตะกั่วมากกว่าสมบูรณ์กว่า ถ้ามีการทำเหมืองตะกั่วในพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้และทั้งหมดเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ผลกระทบจะมากมายกว่าคลิตี้ขนาดไหน ในขณะที่การศึกษาที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการศึกษาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เป็นหลักแบบนี้ มันเหมือน ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” วีระ กล่าว
ด้าน หฤทัย คงควร รองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวคล้ายๆ กันว่า การศึกษา SEA ไม่ได้เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาพื้นที่ของตนเองอย่างแท้จริง เพราะไม่ได้นำทิศทางการพัฒนาของจังหวัดกาญจนบุรีที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนเพื่อส่งมอบให้แก่คนรุ่นหลังซึ่งกำหนดให้มีการจัดการพื้นที่ตอนเหนือ ได้แก่ อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อการอนุรักษ์มาใช้ประกอบในการศึกษา
นอกจากนี้เครือข่ายรักทองผาภูมิ และเหล่าผู้นำท้องถิ่น ยังตั้งคำถามถึงความไม่ชอบธรรมต่อ SEA ของจุฬาฯ เนื่องจาก ในปี 2552 บจก.เซาท์อีส เอเชีย เอ็คโปลเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง ได้ใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่ตะกั่วและสังกะสีในเขตตำบลชะแล ตำบลสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดการญจนบุรี 4 แห่ง ระยะเวลา 5 ปี รวมพื้นที่ 11,452 ไร่ ซึ่งในเดือนตุลาคม 2557 นี้ใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษทั้งหมดของบริษัทดังกล่าวจะหมดอายุ
ดังนั้นการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของจุฬาฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีเอกชนได้รับอาชญาบัตรในพื้นที่อยู่แล้ว ก็มองได้ว่าเป็นการศึกษาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนสามารถหยิบยกไปใช้เพื่อการดำเนินกิจการของบริษัทไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุอาชญาบัตรหรือการขอประทานบัตรทำเหมืองในพื้นที่ในอนาคตก็ตาม
มติของเครือข่ายรักทองผาภูมิที่พวกเขาแถลงร่วมกัน คือ “SEA ที่จุฬาฯ ทำมาขาดความชอบธรรมและไม่ได้เป็นการศึกษาที่ควรจะมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริงตามหลักการ”
รายงานใบอนุญาตอาชญาบัตร ชนิดแร่ แร่ตะกั่ว,สังกะสี จังหวัดกาญจนบุรี (12/11/2555): ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
อาชญาบัตรที่ |
ประเภทอาชญาบัตร |
ชื่อ – นามสกุลผู้ถืออาชญาบัตร |
วันที่บังคับใช้ |
วันที่หมดอายุ |
อำเภอ |
ตำบล |
พื้นที่ (ไร่) |
5/2552(พ) |
อาชญาบัตรพิเศษ |
บจก.เซาท์อีส เอเชีย เอ็คโปลเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง |
10/21/2552 |
10/20/2557 |
ทองผาภูมิ |
ชะแล |
3,275 |
3/2552(พ) |
อาชญาบัตรพิเศษ |
บจก.เซาท์อีส เอเชีย เอ็คโปลเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง |
10/21/2552 |
10/20/2557 |
ทองผาภูมิ |
ชะแล |
5,179 |
4/2552(พ) |
อาชญาบัตรพิเศษ |
บจก.เซาท์อีส เอเชีย เอ็คโปลเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง |
10/21/2552 |
10/20/2557 |
ทองผาภูมิ |
สหกรณ์นิคม |
1,200 |
2/2552(พ) |
อาชญาบัตรพิเศษ |
บจก.เซาท์อีส เอเชีย เอ็คโปลเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง |
10/21/2552 |
10/20/2557 |
ทองผาภูมิ |
ชะแล |
1,798 |
ส่วนความพยายามในการกันเขตศักยภาพแร่ตะกั่ว 77 ตารางกิโลเมตร ที่ใช้ทั้งอำนาจบังคับทั้งฝ่ายการเมือง คือ ‘มติคณะรัฐมนตรี’ เป็นเครื่องมือ
การที่กรมทรัพยากรธรณี ได้จัดทำกรอบการจำแนกเขตทรัพยากรแร่เป็น 3 เขต คือ เขตสงวนทรัพยากรแร่ เขตอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ และเขตพัฒนาทรัพยากรแร่
รวมถึงการร่วมมือกับ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ต่างลงทุนว่าจ้างสถาบันที่ปรึกษาและสถาบันวิชาการ ศึกษาเพื่อจำแนกเขตทรัพยากรแร่ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อกำหนดพื้นที่เพื่อการทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่หวงห้ามหรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามการทำเหมืองแร่และการผลักดันร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ขึ้นมารองรับ เพื่อทำลายข้อจำกัดการใช้พื้นที่ตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี กฎและระเบียบอื่นๆ อีกหลายฉบับ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการกันเขตแร่ออกมาจากเขตป่าเพื่อให้สัมปทานทำเหมือง
ทั้งหมดคือความต้องการจะประเดิม ไม่นิ่ง โซน โดยใช้พื้นที่ 77 ตารางกิโลเมตรที่ทองผาภูมิเป็นพื้นที่นำร่องหรือใบเบิกทาง ในขณะที่ชาวทองผาภูมิ เครือข่ายรักทองผาภูมิผู้นำท้องถิ่น และประชาชนซึ่งส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน และได้รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการเปิดเหมืองแร่ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
พุทธิพงษ์ วิชาไพบูลย์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 ตำบลสหกรณ์นิคม พื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำเหมืองตะกั่วในอดีตพูดได้คำเดียวว่า “เราผ่านประสบการณ์ของการได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองมามาก ถ้ารัฐจะผลักดันให้พื้นที่นี้เป็นเขตแร่เพื่อทำเหมืองอีกก็ไม่ง่าย และอาจทำให้ความหวังเรื่อง ไมนิ่ง โซน ยิ่งห่างไกลกับคำว่าสำเร็จมากยิ่งขึ้น
”แม้แต่ในแง่ของรายได้จากค่าภาคหลวง หมื่นกว่าล้านบาท ที่คำนวณจากปริมาณแร่สำรองประมาณ 7.68 ล้านตัน สามารถทำเหมืองผลิตแร่ได้เป็นเวลา 100 ปี เมื่อบวกลบแล้วชาวทองผาภูมิยังยืนยันว่า “ไม่คุ้ม” กับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของระบบนิเวศ ป่าไม้ แหล่งต้นน้ำลำธาร และวิถีชีวิตของประชาชนในท้องที่ต้องเสียไปหรือต้องถูกย้ายออกจากพื้นที่ “ลุ่มน้ำแควใหญ่ ลุ่มน้ำแควน้อย รับน้ำจากผืนป่าตอนบนผ่านลำห้วยหลายสาย ก่อนจะไหลรวมลงสู่แม่กลอง นี่คือ จุดแข็งทางทรัพยากรธรรมชาติของเรา การเข้ามาของเหมืองแร่ คือการผลักดันจุดแข็งของเราให้กลายเป็นจุดอ่อน การพัฒนาที่นี่ เราจะตัดสินใจของเราเอง เราเห็นว่าบ้านเราควรมีภาคบริการและภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมไม่ใช่ภาคที่เราต้องการ เราจะตัดสินใจอนาคตของเราเอง” หฤทัย คงควร แสดงเจตนารมณ์
ส่วนการนับก้าวต่อไปของการแสดงจุดยืนในการปกป้องผืนป่า คัดค้านเหมืองแร่ เครือข่ายรักทองผาภูมิ ได้เตรียมจัดงานเทศกาลในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 ณ ลานอเนกประสงค์ ริมแม่น้ำแควน้อย ตรงข้ามสถานตำรวจภูธรทองผาภูมิ เพื่อระดมพล ขยายเครือข่าย แสวงหาแนวร่วม และเผยแพร่ข้อมูลจากสิ่งที่พวกเขาได้ศึกษาวิเคราะห์ร่วมกันมา
“ทองผาภูมิวันนี้ ฤๅ คลิตี้วันวาน” แค่ชื่องานก็น่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำให้รัฐต้องฉุกคิด ว่าทางที่กรุยมาอย่างยากลำบากเรื่อง ไมนิ่ง โซน จะใช้ป่าแห่งนี้เป็นที่ประเดิม จะเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน?
ลำดับเหตุการณ์ตามเนื้อหาในบทความ
- พ.ศ. 2516 แก้ไขพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ด้วยการเพิ่มเติมมาตรา 6 ทวิ
- พ.ศ. 2522 แก้ไขมาตรา 6 ทวิ และเพิ่มเติมมาตรา 6 จัตวา
- พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา กรมทรัพยากรธรณี ได้ดำเนินนโยบายจัดทำแผนที่ทรัพยากรแร่เพื่อแสดงขอบเขตพื้นที่แหล่งแร่ และพื้นที่ศักยภาพแร่ชนิดต่างๆ ในขนาดมาตราส่วน 1:250,000 ทั่วประเทศ พร้อมทั้งประเมินปริมาณสำรองของแร่แต่ละชนิดในพื้นที่ประทานบัตรและพื้นที่แหล่งแร่ต่างๆ ที่ได้เคยสำรวจพบ โดยจัดแบ่งพื้นที่ทั่วประเทศออกเป็นพื้นที่ 3 ประเภท ได้แก่ (1) พื้นที่ที่สำรวจแล้วแต่ยังไม่พบศักยภาพทางแร่ หรือพื้นที่ที่ยังไม่มีการสำรวจ (2) พื้นที่ศักยภาพแร่ (3) พื้นที่แหล่งแร่การจัดทำแผนที่ทรัพยากรแร่ตามนโยบายดังกล่าวยังได้สำรวจและประเมินทรัพยากรแร่เพื่อกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว-สังกะสี เอาไว้ 4 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่รวมทั้งหมด 385 ตารางกิโลเมตร หรือราว 240,625 ไร่ ได้แก่ (1) พื้นที่เกริงกระเวีย-สองท่อ-บ่อน้อย ตั้งอยู่ในเขตตำบลชะแล และตำบลสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ เนื้อที่ประมาณ 286 ตารางกิโลเมตร (2) พื้นที่บ่องาม ครอบคลุมพื้นที่แหล่งแร่บ่องาม ตั้งอยู่ในเขตตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ เนื้อที่ประมาณ 92.2 ตารางกิโลเมตร (3) พื้นที่ปิล็อก ตั้งอยู่ในเขตตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ เนื้อที่ประมาณ 3.5 ตารางกิโลเมตร (4) พื้นที่เขาตะกั่ว ตั้งอยู่ในเขตตำบลปิล็อก อำเภอทองผาภูมิ เนื้อที่ประมาณ 3.7 ตารางกิโลเมตร
- 6 กุมภาพันธ์ 2544 มติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ การกำหนดมาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อการสำรวจแร่หรือทำเหมืองแร่
- พ.ศ. 2546 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ว่าจ้างให้ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดทำ โครงการจัดทำแผนแม่บททางด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมือง เพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณีในเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี แผนดังกล่าวกำหนดพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่วเอาไว้ 2 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 77 ตารางกิโลเมตร ได้แก่ (1) พื้นที่สองท่อ-บ่อใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 44 ตารางกิโลเมตร (2) พื้นที่บ่องาม-องข่า-คลิตี้ล่าง ครอบคลุมพื้นที่ 33 ตารางกิโลเมตร
- 21 พฤษภาคม 2552 วุฒิสมาชิกแคนาดาร่วมกับนักธุรกิจแคนาดาเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเร่งรัดการขออาชญาบัตรสำรวจแร่ตะกั่วและสังกะสีที่ จ.กาญจนบุรี 4 แปลง พื้นที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ ซึ่งยื่นขอปีที่แล้ว ภายใต้ชื่อ ‘จีโอไทย’ โดยร่วมทุนกับไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ชี้แจงให้สื่อมวลชนฟังว่าขณะนี้เรื่องยังอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นพื้นที่เขตของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต้องรอให้พิจารณาประกาศกันพื้นที่ออกมาจากเขตอุทยานแห่งชาติก่อน และพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ดังกล่าวว่าจะอนุญาตให้เข้าสำรวจแร่ได้หรือไม่
- 21 ตุลาคม 2552 บจก.เซาท์อีส เอเชีย เอ็คโปลเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง ได้ใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแร่ตะกั่วและสังกะสีในเขตตำบลชะแล ตำบลสหกรณ์นิคม อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดการญจนบุรี 4 แห่ง ระยะเวลา 5 ปี รวมพื้นที่ 11,452 ไร่
- พ.ศ.2554 กรมทรัพยากรธรณี (กทธ.) ได้ว่าจ้างให้ศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เบื้องต้น (Strategic Environmental Assessment: SEA) เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี (แร่ตะกั่ว-สังกะสี) บริเวณพื้นที่ของอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินงานแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2556
- พ.ศ. 2555 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ว่าจ้าง สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการพัฒนาและยกร่างกฎหมายว่าด้วยแร่ (ร่างฯ เดิมที่เคยถูกเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่มติที่ประชุมเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 ให้ถอนร่างออกก่อนเพราะอาจมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิชุมชน)‘ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ….’ ฉบับสมบูรณ์นี้ บัญญัติให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถกำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม โดยการเปิดให้เอกชนประมูลพื้นที่แหล่งแร่นั้น ดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 90–92 ปัจจุบันร่างฯ ฉบับดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
- 20 ตุลาคม 2557 ใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ตะกั่วและสังกะสี 4 แห่ง 5 ปี รวมพื้นที่ 11,452 ไร่ ของ บจก.เซาท์อีส เอเชีย เอ็คโปลเรชั่น แอนด์ ไมนิ่ง จะหมดอายุ