อยู่ดีมีแฮง : หอมแดง กิมจิ หนีภัยน้ำท่วม จ.ศรีสะเกษ

อยู่ดีมีแฮง : หอมแดง กิมจิ หนีภัยน้ำท่วม จ.ศรีสะเกษ

น้ำท่วมใหญ่ในรอบ 30 ปี

4 พฤศจิกายน 2564 พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องเมืองส่งออกหอมแดง อันดับต้นของประเทศ ถูกน้ำท่วมพื้นที่ปลูกหอมในช่วงเวลาใกล้ฤดูเก็บเกี่ยวกว่า 2-3 พันไร่

“เท่าที่สอบถามเกษตรกร รอบนี้หนักสุดในรอบ 30 ปี เลย ซึ่งเขาไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อน”

ศรีประไพ แหวนหล่อ เริ่มเล่าให้ทีมงานเราฟังถึงสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา ในช่วงที่ตนกำลังรักษาราชการแทนเกษตรอำเภอยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ซึ่งชาวบ้านหลายคนก็พูดตรงกันว่า “ครั้งนี้ถือว่าหนักสุดในรอบ 30-40 ปีเลยที่เดียว ไม่ใช่ว่าหนักในรูปแบบฝนตกที่นี่แล้วน้ำท่วมที่นี่นะ แต่ฝนรอบนี้ตกที่ไหนไม่รู้แต่ว่ามาท่วมที่นี่”

ความหวังหายวับ ไปกับตา

ซึ่งน้ำท่วมครั้งนี้จึงทำให้ชาวบ้านที่ปลูกหอมในพื้นที่ใกล้แม่น้ำมูลเสียหายทันที 2-3 พันไร่ ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงใกล้ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวทั้งหอมแดง และนาข้าว ซึ่งบางจุดท่วมระดับเอว บางจุดหนักท่วมมิดหลังคากระท่อม

“คือน้ำมันไหลมาจากไหนไม่รู้ รู้ตัวอีกทีก็ท่วมแปลงหอมเราหมดแล้ว เก็บไม่ทัน” ซึ่งไพฑูรย์ นามสาย อดีต ผอ.โรงเรียนบ้านค้อเมืองแสน จ.ศรีสะเกษ เล่าให้ทีมงามเราฟังถึงสถานการณ์น้ำท่วม

เมื่อหอมแดงเริ่มเสียหาย จึงทำให้ศรีประไพ แหวนหล่อ ในช่วงที่กำลังรักษาราชการแทนเกษตรอำเภอยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษผล หารือกับทีมว่าจะจัดการกับหอมแดงเหล่านี้อย่างไรดี

“ก็คุยกันในกลุ่มที่ไปตรวจน้ำท่วม มันก็เลยเกิดประเด็นการแปรรูปขึ้นมาว่า ผลผลิตที่โดนน้ำท่วมมันเก็บไว้ไม่ได้นาน และพ่อค้าแม่ค้าเขาก็จะไม่มารับ ก็เลยเกิดแนวคิดว่า หอมแดงถ้าเราเอามาแปรรูปเป็นผักดอง มันเอาไปทำเป็นกิมจิได้ไหม เพื่อให้มันเก็บได้นานขึ้น และให้มันเป็นสิ่งที่แลกใหม่”

กิมจิ คือความหวังใหม่ของเกษตรกรปลูกหอมในช่วงน้ำท่วม

นั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำต้นหอมที่ขายไม่ได้มาแปรรูปเป็นกิมจิ ซึ่งกิมจิเองเป็นผักดองในวัฒนธรรมเกาหลี ทำแล้วเก็บไว้ได้นานนับปี และกำลังเริ่มที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของบ้านเรา ทางเกษตรอำเภอยางชุมน้อยจึงได้หาผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารมาช่วยชาวบ้านในการจัดการผลิตทางการเกษตรอย่างหอม

“ถ้าเป็นกิมจิของเกาหลีเขาจะใช้ผักกาดเป็นหลักเขาจะคั้นกับเกลือแต่ตัวนี้เราจะไม่คั้นกับเกลือเพราะมันจะช้ำและเละ”

เชฟเริ่มต้นอธิบายการทำผักดองในวัฒนธรรมที่แตกต่างให้เหล่าทีมเกษตรกรฟัง ซึ่งวิลาวัณย์ แก้วคำ อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ก็เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่น้ำท่วมแปลงหอมมาเข้าร่วมอบรมด้วย

“ที่ดิฉันมามีความรู้เรื่องการทำกิมจิก็คือหอมที่น้ำกำลังจะท่วมถึงแล้วก็ถอนมาและนำมาแปรรูปเพื่อให้มันได้ทุนคืนและสร้างรายได้ให้กับหอมที่ยังเหลืออยู่ที่โดนน้ำท่วม”

“ในอนาคตมันก็น่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจเนื่องจากหอมแดงในตัวมันสรรพคุณมันเป็นยาเราจะทำพริกเผ็ดของมันให้สื่อถึงความเป็นยางชุมน้อยใช้การประชาสัมพันธ์และการสร้างแบรนด์ให้มันเป็นของยางชุมน้อย”

ปีนี้ท่วมแล้ว ปีหน้าไงต่อ

แม้ว่าหอมแดงบางส่วนจะนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มพอเรียกรายได้กลับคืนมาให้เกตรกรอยู่บ้าง แต่น้ำท่วมครั้งนี้ไม่ได้มีผลกระทบแค่หอมที่กำลังงามเท่านั้น ข้าวในช่วงใกล้ฤดูเก็บเกี่ยวอีกไม่ถึงเดือน ก็หายวับไปกับตาซึ่งจากการประเมินคร่าว ๆ ของศรีประไพ แหวนหล่อ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอยางชุมน้อย มองว่า ความเสียหายครั้งนี้สูงถึง 20 ล้าน แต่หากถ้าเกษตรกรสถานการณ์น้ำล่วงหน้า ก็จะช่วยลดความเสียหายลงไปได้มากหรือไม่เกิดความเสียหายขึ้นเลยในบางคน

“ในอนาคต ก็อยากให้มีการแจ้งเตือนที่มากกว่านี้ เกษตรกรก็จะได้ชะลอการปลูก เขาก็จะไปหาแปลงอื่นปลูก ขอแค่ได้รู้ล่วงหน้าว่า ระดับน้ำจะมาถึงระดับไหน บังคับไม่ให้มีน้ำมาเลยมันบังคับไม่ได้ เพราะมันเป็นภัยธรรมชาติ แต่ถ้ารู้ระดับน้ำว่าน้ำจะมาช่วงไหน เขาก็จะรับมือได้ทัน”

น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ศรีสะเกษรอบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่นี่ แต่มันมักจะเกิดขึ้นทุก ๆ 10 ปี ซึ่งในแต่ละครั้งล้วนนำความเสียหายมาให้ชาวบ้านในบริเวณรอบข้างทั้งสิ้น โจทย์สำคัญที่จะต้องคิดกันต่อหลังจากนี้ เราจะรู้หน้าภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างไร หรือจะมีแผนการเผชิญภัย การแจ้งเตือนล่วงหน้าเนิน ๆ เพื่อวางแผนรับมือที่เท่าทันได้อย่างไร เพื่อจะไม่ให้เกิดการท่วมแบบเดิมซ้ำ ๆ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ