อยู่ดีมีแฮง : กล้วยตาก เสียบตอก จ.มหาสารคาม

อยู่ดีมีแฮง : กล้วยตาก เสียบตอก จ.มหาสารคาม

“ผมลองเอากล้วยตากไปทดลองขายดู ทำเป็นกล่องธรรมดาที่ชาวบ้านเขาขายกัน มี 2 ผัวเมียเดินมา แฟนเขาบอกว่าอยากกินกล้วยตาก แล้วแฟนเขาบอกว่าไม่เอา กลัวเปื้อนมือวันต่อมาผมไปซื้อไม้เสียบเอาไปเสียบแล้ววางขายลูกละ 5 บาท ได้ขายเฉยเลย ผมก็งงเลย เพราะในกล่องที่ผมขายมันนมีตั้งหลายลูก เพียงแค่ 35 บาท เอง แต่เสียบไม้เดียว 5 บาท กลับขายได้ เลยเห็นโอกาสจากตรงนี้”

นี่เป็นจุดเริ่มต้นของมอส โกสินธุ์ สุวรรณภักดี ผู้ทำหน้าที่ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ปลูกข้าวบ้านหนองโน อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ที่ชวนสมาชิกในกลุ่ม เปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าตามหัวไร่ปลายนามาปลูก แล้วนำกล้วยที่ได้มาทำกล้วยตากเสียบตอก ซึ่งสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเดือนละหลายหมื่นบาท

จุดเริ่มต้นของคนทำกล้วยตาก

เดิมทีผมทำธุรกิจกับครอบครัวมาก่อน คือทำเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอ คือการทอถุงเท้า แต่พอถึงช่วงที่สินค้าจีนเข้ามาอย่างเสรี กลับเป็นว่า ราคาขายปลีกของเขา เท่ากับราคาส่งของเราเลย รู้เลยว่าในอนาคตนี่คงทำไปต่อลำบากแน่ เลยมาปรับเปลี่ยนทำคู่กันกับการเกษตรกับอุตสาหกรรม จนปัจจุบันเลิกทำงานส่วนอุตสาหกรรมแล้ว ก็หันมาทำเกษตรเต็มตัวเลย”

จากการบอกลาวิถีอุตสาหกรรม ที่ต้องอาศัยต้นทุนการผลิตจากข้างนอกทุกอย่าง สู่การเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในวิถีการเกษตร โดยเข้าไปเรียนรู้ทุกอย่าง ทุกเวลาทีมีการอบรม แม้ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

“ช่วงแรกที่ออกมาทำผมไม่มีความรู้อะไรเลย รู้ไหมว่าตอนผมปลูกพืชครั้งแรกแล้วมีเพี้ยขึ้น รู้ไหมว่าผมทำอย่างไร ผมก็เอาน้ำส้มควันไม้มาฉีดตามความเชื่อ รู้ไหมว่าผลเป็นอย่างไร พืชที่เพี้ยลงเริ่มเหี่ยว เหลืองและตาย ตั้งแต่นั้นมาผมก็เลยต้องออกไปหาความรู้ทุกช่องทาง ทุกโอกาสที่มี แม้ว่าไม่มีแต่ก็ขอเขาไปอบรมด้วย แม้เขาบอกว่าไม่มีชื่อผมนะ เขาบอกว่าถ้าจะไปร่วมด้วยก็ต้องออกเงินเอง ซึ่งผมก็ยินดีมาก”

มีความรู้แล้ว ก็เริ่มแบ่งปัน

พี่มอสเริ่มกลับเข้ามาลงแรงในแปลงเกษตรของตัวเองอีกครั้ง พร้อมกับองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้มา และชวนชาวบ้านในพื้นที่มาร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อเปลี่ยนนาเคมีให้เป็นนาอินทรีย์

“คือเริ่มแรกเราก็มาร่วมกลุ่มกันทำนาอินทรีย์ โดยรวมกันเป็นวิสาหากิจชุมชน ชื่อวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกข้าวบ้านหนองโน อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ซึ่งงมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์กว่า 300 ไร่ มีสมาชิก 31 ครัวเรือน ซึ่งเป้าหมายหลัก ๆ เพื่อต้องการยกระดับสมาชิกให้เข้าถึงองค์ความรู้ ความปลอดภัยในการผลิต การบริโภคและเข้าโอกาสต่าง ๆ ในอนาคต”

เมื่อเริ่มทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน สิ่งที่ทีมค้นพบอย่างนึ่งในระหว่างทำนาอินทรีย์คือ มีพื้นที่ว่างเปล่าตามหัวไร่ปลายนาจำนวนมาก ที่เพียงพอจะปลูกพืชเสริม ทางกลุ่มจึงชวนกันปลูกกล้วยเพราะไม่ต้องดูแลเยอะ แค่ปลูกทิ้งไว้ รอเก็บผลผลิตทีเดียว นั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่กลุ่มหันมามองเรื่องกล้วย

กล้วยของกลุ่มสู่ตลาดในเมืองใหญ่

หลังจากที่พี่มอสเริ่มหันมาสนใจเรื่องกล้วย ทั้งทดลองแปรรูป หรือแม้กระทั้งซื้อแฟรนไซส์กล้วยทอดมาลองทำ จนกระทั่งมีโอกาสเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงพร้อมผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์กล้วยตากแบบบ้าน ๆ นั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการหันมาแปรรูปกล้วยตากเสียบไม้อย่างเต็มตัว

“ผมลองเอากล้วยตากไปทดลองขายดู ทำเป็นกล่องธรรมดาที่ชาวบ้านเขาขายกัน มี 2 ผัวเมียเดินมา แฟนเขาบอกว่าอยากกินกล้วยตาก แล้วแฟนเขาบอกว่าไม่เอา กลัวเปื้อนมือ วันต่อมาผมไปซื้อไม้เสียบเอาไปเสียบแล้ววางขายลูกละ 5 บาท ได้ขายเฉยเลย ผมก็งงเลย เพราะในกล่องที่ผมขายมันมีตั้งหลายลูก เพียงแค่ 35 บาท เอง แต่เสียบไม้เดียว 5 บาท กลับขายได้ เลยเห็นโอกาสจากตรงนี้”

หลังจากกลับมาถึงบ้าน พี่มอสก็เริ่มทดลองหาที่เสียบกล้วยแทนไม้เสียบลูกชิ้น จึงไปเห็นตอกมัดข้าว จึงขอให้ชาวบ้านปรับขนาดตอกให้หนาขึ้น แล้วจึงนำมาเสียบกล้วยซึ่งจะทำให้กล้วยตากนี้เพิ่มความหอมของตอกไม้ไผ่เพิ่มขึ้นมาด้วย ซึ่งเป็นอีกมนต์เสน่ห์ให้กล้วยตากเสียบตอก ซึ่งนอกจะจับทานได้ง่านไม่เลอะมือแล้ว ยังหอมกลิ่นตอกไม้ไผ่พร้อมกับรสหวานน้ำผึ้งสไตล์กล้วยตาก ที่สำคัญลมุลลิ้นมาก ๆ ด้วยเทคนิคการผลิตของกลุ่มครับ

ยกระดับกล้วยตากบ้าน ๆ ด้วยมาตรฐาน และดีไซน์

กล้วยจากหัวไร่ปลายนาจะถูกตัดในช่วงระยะสุกห่าม ได้มาก็จะเอามาล้าง บ่ม หลังจากนั้นก็เอามาปลอก แล้วล้างอีกครั้ง ปลอกเสร็จล้างเสร็จก็ค่อยนำไปตากในโรงตากโซล่ารูฟ ที่ใช้พลังงานฟรีจากแสงแดด ทั้งป้องกันแมลงวัน และสิ่งสกปกจากภายนอกแล้ว ยังทำให้มั่นใจในความสะอาด สีสันสวยน่ากินสุด ๆ จากนั้นรอให้ผิวกล้วยตึง แห้ง สีเหลืองทอง ซึ่งพี่มอสจะใช้วิธีการนับวันเวลาประกอบด้วย เช่น ตาก 2 รอบ ๆ ละ 2 วัน ตากรอบแรกประมาณ 2 วัน รอบที่ 2 อีก 2-3 วัน และเมื่อตากเสร็จเราก็เอามานวดอีกรอบ ซึ่งจะนวดทุกลูก นวดเสร็จก็จะนำไปตากอีกรอบ

หลังจากตากค่อยเอามาอบลมร้อนเพื่อฆ่าเชื้อ แล้วเอามาซีลสุญญากาศ ซึ่งจะมี 2 รูปแบบ คือ 1 ซีลเป็นแบบกิโลกรัม ซึ่งจะใช้กล้วยแบบหลายขนาด และถ้าเป็นกล้วยตากเสียบตอก จะต้องซีลทุกไม้ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้สร้างความมั่นใจในความสะอาดและความปลอดภัยกับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

จนตอนนี้ทำให้การผลิตไม่ทันต่อความต้องการของตลาด จนได้ขยายการนำเข้าวัตถุดิบจากเครือข่ายกล้วยอินทรีย์จากพันธมิตรมาช่วย ซึ่งราคาขายกล้วยตากเสียบตอกจะถูกตั้งราคาขายปลายทางที่ราคา ไม้ละ 10 บาท ไม้ละ 15 บาท ส่วนมากก็จะเอาไปขายที่หน้าร้านกาแฟ ส่วนกล้วยที่เป็นกิโลกรัม พี่มอสขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท ส่วนแบบที่ใส่กล่อง ผมขายกล่องละ 200 บาท ซึ่งพี่มอสก็คำนวณรายได้คร่าว ๆ  ประมาณ 25,000 บาท ต่อ 10 วัน ดังนั้น 30 วัน ก็จะมีรายได้เฉพาะส่วนของการขายผลิตภัณฑ์จากกล้วย อยู่ที่ 75,000 บาท ซึ่งนั้นยังไม่นับรวมจากผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ ทั้งถูกจำหน่ายในรูปแบบการแปรสภาพ แปรรูปขาย แบบสนุกสนานในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเลยทีเดียว

อย่าคาดหวังกับราคาขายวัตถุดิบ แต่จง “เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบ แล้วขายเป็นผลิตภัณฑ์”

“ผมคิดว่าตอนที่ผมทำอุตสาหกรรม ทุกสิ่งทุกอย่างคือผมต้องซื้อมาทั้งหมดเลย แต่พอเรามาทำการเกษตรอย่าง เช่น กล้วย ข้าว เราสามารถผลิตเองได้ ผมก็จะคุยกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกผมทุกคนเลยว่า อย่างไปคาดหวัง ตกใจ กับราคากลางมากนัก”

อย่างที่ผมเล่ามา ผมถนัดเรื่องการแปรรูป ผมจะรู้สึกเฉย ๆ กับเรื่องราคาของวัตถุดิบ เพราะผมไม่ได้ขายวัตถุดิบ ผมเปลี่ยนวัตถุดิบให้มันมีค่ามากขึ้น ผมก็จะบอกกับทุกคนครับว่า เราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนราคากลางได้ เราไม่สามารถที่จะไปควบคุมให้ราคามันเท่ากันตลอดทั้งปี ถ้าเราอยากขายในราคาสูงก็เก็บไว้ขายในช่วงที่ราคาสูง หรือเราจะเก็บไว้ขายในช่วงที่ราคาสูงส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเราก็เอามาสีขาย พอสีแล้วก็ขายส่วนหนึ่ง อีกส่วนเราเอามาแปรรูปขายดีไหม มันยกระดับได้หลายขั้นตอนนะครับ ถ้าเราจะเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร เช่น มะนาว ถ้าเราจะขายเป็นลูกเราก็จะขายได้เพียง 2 บาทใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราเอามาทำน้ำมะนาวขาย เราก็จะขายได้แก้วละ 35 บาทเลย”

นี่เป็นอีกหนึ่งทัศนะของหนุ่มที่วางมือจากอุตสาหกรรมสิ่งทอแล้วหันมายกระดับชุมชน ด้วยความรู้สมัยใหม่ ที่จับต้องได้ พิสุทธิ์ได้ ไม่ใช่ลงมือทำตามเชื่อที่หาต้นสายปลายเหตุไม่เจอแบบก่อนมาลงมือทำ ซึ่งการนำเอาประสบการณ์จากงานอุตสาหกรรม มาประยุกต์กับความรู้ทางการเกษตร ไม่ว่าจะมองไปที่สินค้าทางการเกษตรตัวไหน ก็มักพบกับโอกาสอยู่เสมอครับ นี่จึงอาจจะเป้นอีกหนึ่งเรื่องราวที่จะเป็นแรงบันดาลใจในการยกระดับความอยู่ดีมีแฮงของเกษตรกร จากภาวะสินค้าทางการเกษตรราคาถูกจนมองหาโอกาส ทางรอดแทบไม่เจอ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ทางทีมงานอยู่ดีมีแฮงเชื่อว่าในทุกวิกฤตมักจะมีโอกาสอยู่เสมอ หากหัวใจของคนอีสานไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อนครับ เราขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่จะส่งต่อไปให้พี่น้องเกษตรกรทุกคนครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ