ประวัติศาสตร์กับการคืนความสุข

ประวัติศาสตร์กับการคืนความสุข

20141706184744.png

 

ประวัติศาสตร์ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ โดยตัวเนื้อหาอาจจะมีทั้งส่วนที่ ‘ขาด’และ ‘เกิน’ ตามแต่ผู้สร้างจะเติมแต่งจินตนาการอันอาจทำให้เราเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ บ่อยครั้งที่ภาพยนตร์ถูกนำไปใช้มากกว่าการให้เพียงความบันเทิง แต่ยังแสดงให้เห็นถึงอานุภาพที่ผู้ปกครองหรือผู้สร้างใช้สื่อสารหวังถ่ายทอดเจตนาและทัศนคติผ่านภาพยนตร์

 

หนึ่งในแผนคืนความสุขของ คสช. คือการจัดฉายภาพยนตร์ ‘ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ’ ให้ชมพร้อมกัน 160 โรงทั่วประเทศแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย  โดยกิจกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการปรองดอง    พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษก คสช. กล่าวว่า ” …กิจกรรมนี้มีเพื่อให้คนไทยชมภาพยนตร์ร่วมกันปลูกจิตสำนึกในเรื่องของสถาบัน อัตลักษณ์ วัฒนธรรมซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นมรดกที่มีค่าสะท้อนออกมาในรูปภาพยนตร์ให้เห็นว่าประเทศเรามีของดีอยู่ รวมถึงจูงใจให้เรามีความรู้สึกถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และยึดเหนี่ยวให้เรามีความสามัคคี “

ผู้สร้างออกตัวตั้งแต่ต้นว่าเป็น ‘ตำนาน’ สมเด็จพระนเรศวร ไม่ได้เป็น ‘ประวัติศาสตร์’ เพราะฉะนั้นภาพยนตร์ก็ยอมรับในตัวเองด้วยว่านี่เป็น ‘ตำนาน’ ของพระนเรศวรในมิติมุมมองของผู้สร้าง เราก็ต้องรับรู้และทำความเข้าใจว่าบทภาพยนตร์อาจเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้น  ในด้านหนึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมในหมู่ผู้ชมมากยิ่งขึ้น  ในขณะเดียวกันกระแสความไม่พอใจชนชาติพม่าก็เพิ่มมากขึ้นตามมาเช่นเดียวกัน  หากผู้ชมมีภาพจำที่ไม่ชอบชนชาติพม่าอยู่แล้ว เมื่อมาดูพระนเรศวรอาจจะไปสะกิดต่อมความไม่ชอบนี้ให้มันทำงานขึ้นมา นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พระนเรศวรถูกผลิตซ้ำ แต่ถูกผลิตซ้ำภายใต้เงื่อนไข ภาวะแวดล้อม เจตจำนงที่ต่างกันไป  ในมุมของคนดูซึ่งเป็นผู้รับสารอาจเลือกรับสารที่สอดคล้องกับความเชื่อเดิม คำถามคือเราควรชมภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ตกอยู่ภายใต้กระแสรักชาติแบบผิดทาง  

20141706184615.png

การศึกษาเฉพาะตำนานอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และสร้างทัศนคติชิงชังได้

 การศึกษาประวัติศาสตร์จากภาพยนตร์ก็เป็นส่วนที่ให้มุมมองทางประวัติศาสตร์อีกแง่มุมหนึ่ง และทำให้สามารถเชื่อมโยงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์กับภาพยนตร์  เพื่อเข้าใจกระบวนการนำเสนอที่ทำให้เกิดการรับรู้ของสังคมในหัวข้อประวัติศาสตร์ที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นนำเสนอ   อย่างน้อยๆ การไปดูภาพยนตร์แล้วไม่โกรธเป็นฟืนเป็นไฟและด่าชนชาติพม่าแบบสาดเสียเทเสีย ก็เป็นนิมิตรหมายอันดีแล้วที่เราจะลดความชิงชังและปรับทัศนคติจากวาทกรรมที่ถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ในภายภาคหน้าที่เราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่มองว่าเขาเป็นศัตรู

ภาพประกอบจาก  ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 5 ยุทธหัตถี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ