คุณได้ค่าแรงวันละกี่บาท และค่าแรงที่ได้นั้นเพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละวันของคุณหรือไม่ ?
รายการฟังเสียงประเทศไทยชวนคนบนโลกออนไลน์มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกับประเด็น “ค่าแรงขั้นต่ำไทย” และนี่คือความคิดเห็นของคนไทยบางส่วนที่ร่วมสะท้อนความในใจถึง “ปัญหา ความหวัง และอนาคตของค่าแรงขั้นต่ำ” ให้เราฟัง
จะเห็นว่า เสียงสะท้อนของคนส่วนใหญ่มีการพูดถึง “ราคาของที่แพงขึ้น แต่ค่าแรงที่ได้นั้นน้อยไม่พอใช้จ่าย” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ ที่เราอยากจะชวนทุกคนมาร่วมกันหาทางออกไปพร้อม ๆ กันในวันนี้
ของแพง ค่าแรงต่ำ ไม่พอใช้จ่ายจริงหรือไม่?
ปัจจุบันอัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ที่ 313-336 บาท เป็นอัตราที่ถูกประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นตัวเลขที่พิจารณามาจาก ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ณ เวลานั้น
อีกทั้งตัวเลขที่ได้มา คณะกรรมการค่าจ้าง ระบุไว้ชัดเจนว่า “เป็นอัตราค่าแรงที่เพียงพอสำหรับแรงงานแรกเข้าทั่วไป 1 คน ในการดำรงชีวิตอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น”
แต่ถ้าลองเอาค่าแรงขั้นต่ำที่เราได้กันอยู่ในปัจจุบัน มาเทียบกับค่าครองชีพที่คนไทยจะต้องจ่ายออกไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์เคยสำรวจเอาไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า แต่ละครอบครัวมีรายจ่ายประมาณเดือนละ 17,193 บาท ซึ่งถ้านำมาเทียบกับ “รายได้” ขั้นต่ำของคนไทย เดือนละประมาณ 9,390-10,080 บาท ยังไงก็ “ติดลบ”
นี่ยังไม่นับรวมกับวิกฤติการเมืองโลกในเวลานี้ ที่ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยเจอกับสถานการณ์เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปี จนส่งผลให้ราคาอาหารและสินค้าหลายอย่างต้องปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มพลังงาน อย่างน้ำมันและไฟฟ้า ซึ่งนั้นก็จะยิ่งส่งผลให้ภาระค่าครองชีพของผู้คนในเวลานี้สูงขึ้นตามไปด้วย
คสรท. และ สรส. ยื่นข้อเสนอปรับค่าแรง ให้สอดรับกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น
เมื่อรายได้สวนทางกับรายจ่าย ประชาชนก็ไม่อาจที่จะหยุดนิ่งได้ จึงมีการเคลื่อนไหวขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้สอดรับกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เป็นกลุ่มที่ยื่นข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดิม 313-336 บาทต่อวัน เป็น 492 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มาจากการสำรวจค่าใช้จ่ายรายวันโดยเฉลี่ยของคนงานทั่ วประเทศ จากกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คน
ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายรายวันที่เป็นค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายรายเดือน อย่างค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเลี้ยงดูครอบครัว บุพการี จนได้ออกมาเป็นตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 492 บาท
การปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอดีต เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
การกำหนด “ค่าแรงขั้นต่ำ” ไม่ได้มีความสำคัญเพียงเม็ดเงินหล่อเลี้ยงชีวิตแรงงาน แต่ด้านหนึ่งยังเป็นต้นทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการ รวมทั้งยังเป็นอีกตัวแปรสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย
ย้อนกลับไปในอดีตของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย นับตั้งแต่ครั้งแรกที่กำหนดขึ้นมา คือ วันที่ 14 ก.พ. 2516 ค่าแรงขั้นต่ำไทยค่อย ๆ ขยับเพิ่มขึ้นทีละนิด ตามอัตราค่าครองชีพของลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของบ้านเราในช่วงเวลานั้น
แต่ในปี 2555 มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือ 300 บาทต่อวัน แบบถ้วนหน้า ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการปรับค่าแรงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ จากเดิมอยู่ที่ 215 บาทต่อวัน กระโดดขึ้นมาเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงถึง 85 บาท หรือ 39.53% จากตัวเลขเดิม ขณะที่ จ.พะเยา ที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยที่สุดในประเทศตอนนั้น คือ 159 บาทต่อวัน กลายเป็นจังหวังที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นสูงเกือบเท่าตัว
สิ่งที่ตามมาจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นสูงแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน งานวิจัยเรื่อง “ภาพรวมนโยบายรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวันและเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท” ของ TDRI ระบุว่า “ค่าแรง 300 บาท ทำให้ต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่นายจ้างต้องจ่ายเพิ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 บาทต่อวัน”
โดยนายจ้างในภาคเกษตรต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมมากที่สุดประมาณร้อยละ 21-30 รองลงมาคือกิจการโรงแรมและร้านอาหาร ที่นายจ้างต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 7-15 และกิจการการก่อสร้างต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มร้อยละ 7-11 ส่วนสถานประกอบการขนาดเล็กถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำมากที่สุด เนื่องจากบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากไม่สามารถจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นได้ ทำให้หลายบริษัทต้องปรับตัวโดยการลดการจ้างแรงงานลง
3 ฉากทัศน์ ภาพอนาคตค่าแรงขั้นต่ำ ที่มีความเป็นไปได้ หากจะปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น
บทเรียนในอดีต ทำให้ปัจจุบันต้องคิดให้รอบด้านมากขึ้นถึงผลกระทบที่ตามมา ดังนั้น “การจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ” ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคม ที่เราต้องรับฟังเสียงจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน รายการฟังเสียงประเทศไทยจึงอยากชวนทุกท่านมาแลกเปลี่ยนมุมมองอนาคตค่าแรงขั้นต่ำ ที่เป็นทางเลือก ทางออกให้กับแรงงานไทยร่วมกัน โดยมี 3 ฉากทัศน์ “อนาคตค่าแรงขั้นต่ำ” ที่มาจากข้อมูล ข้อเสนอ และงานวิจัยที่เคยศึกษาไว้ มาให้ทุกคนได้ลองเลือกไปพร้อม ๆ กัน ดังนี้
ฉากทัศน์ที่ 1 : 352 ช่วยกันประคับประคอง BASELINE+
ฉากทัศน์ที่ 2 : 492 ปรับฐานใหม่ DECENT LIFE
ฉากทัศน์ที่ 3 : 712 ร่วมใจปรับตัว ยกระดับ QUALITY SOCIETY
3 มุมมอง เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ จากผู้ที่เป็นตัวแทนของแรงงาน ผู้ประกอบ และนักวิชาการ
แต่ก่อนที่ทุกคนจะเลือกภาพอนาคตของค่าแรงขั้นต่ำที่อยากจะให้เป็น เรามีข้อมูลเพิ่มเติมจากตัวแทนของแรงงาน ผู้ประกอบการ และนักวิชาการด้านแรงงานทั้งหมด 3 ท่าน ที่เราเชิญมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในรายการมาฝากทุกคน ลองไปดูว่าแต่ละท่านจะมีมุมมองต่อประเด็นนี้อย่างไรกันบ้าง
คุณสุชาติ จันทรานาคราช ประธานคณะกรรมการงานแรงงาน และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความคิดเห็นต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า
“การจะปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น มันมีบริบทมากกว่าตัวเลขทั้ง 3 ตัวเลขในฉากทัศน์ข้างต้น ซึ่งตัวเลขหรืออัตราที่จะปรับขึ้นจะต้องเป็นตัวเลขที่มาจากการพิจารณาตัดสินของกลไก หรือหน่วยงานที่รองรับทางกฎหมาย อย่างคณะกรรมการแรงงานจังหวัด หรือที่เราเรียกกันว่า องค์กรไตรภาคี
และอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าแรง คือ คณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งจะมีอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง คอยดูว่าตัวเลขที่แต่ละจังหวัดเสนอมามีเหตุผลมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสิน ซึ่งถ้าถามว่า เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการจะปรับขึ้นค่าแรงหรือไม่ คิดว่าตอนนี้ยังไม่ใช่เวลา เพราะประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจ แต่หากจะมีการปรับขึ้น ต้องเป็นไปตามกลไกของกฎหมาย”
ส่วนทางด้าน ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ว่า
“ค่าจ้างขั้นต่ำ คือ ค่าแรงที่ทำให้คุณอยู่ได้ แต่อยู่ได้แบบไหน แบบที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศกำหนดไว้ หรืออยู่ได้แบบที่ไม่เป็นหนี้ ซึ่งบางทีเราไม่สามารถอิงกับตัวเลขบางตัวเลขได้”
ผมยกตัวอย่าง เวลาเราดูอัตราเงินเฟ้อ เราดูอัตราเงินเฟ้อทั่วประเทศ เราดูค่าใช้จ่ายของคนทั้งประเทศ แต่เอาเข้าจริง ลองดูค่าใช้จ่ายของคนจน โดยเอาดอกเบี้ยเงินกู้ของคนจนกับดอกเบี้ยเงินกู้ของบริษัทมาเทียบดู มันอัตราเดียวกันหรือเปล่า อัตราดอกเบี้ยที่คนจนกู้มันคิดเป็นรายเดือน ไม่ได้คิดกันเป็นรายปี
ตอนนี้อัตราเงินเฟ้อในหมู่คนจนมันท่วมอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของคนทั้งประเทศ เวลาคนจนซื้อสินค้า ซื้อได้ทีละนิด ไม่ได้ซื้อเป็นกระสอบทีละเยอะ ๆ ซึ่งราคาสินค้าปลีกมีราคาแพงกว่าซื้อแบบเหมา ดังนั้นถ้าถามว่า ค่าแรงควรจะปรับขึ้นเท่าไหร่ คงจะดูแค่ตัวเลขไม่ได้ แต่ต้องไปสำรวจความเป็นจริงที่เกิดขึ้น”
และคนสุดท้าย คุณสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย อธิบายถึงข้อเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าแรงให้ฟังว่า
“ก่อนจะมาถึงตัวเลข 492 บาทต่อวัน ที่ได้มา มันมีกระบวนการเยอะ เข้าใจว่าผู้ประกอบการก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง แต่เราก็พยายามปกป้องชีวิตของคนงาน เพราะค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้กันอยู่ มันทำให้คนงานอยู่ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตตามหลักการขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ แรงงานจึงจำเป็นที่จะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้ได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น
ทำให้ชีวิตคนทำงานตอนนี้มันย้อนกลับไปเหมือนเมื่อ 200-300 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 1 สมัยนั้นคนงานทำงานวันละ 16-18 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด เพราะถ้าหยุดก็จะไม่ได้ค่าจ้าง ซึ่งสวนทางกับปัจจุบันที่โลกพัฒนาไปสู่ยุค 4.0 ยุคแห่งการพัฒนา AI แล้วถ้าถามว่าคนงานอยากพัฒนาทักษะฝีมือไหม ทุกคนต้องการ แต่ปัญหาคือ ค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้คนทำงานมากขึ้น จะเอาเวลาไหนไปพัฒนาทักษะแรงงาน
สิ่งที่เราเรียกร้อง เรามองภาพรวมทั้งหมด ว่าถ้าค่าแรงมันปรับขึ้น มันก็จะทำให้เกิดการไหลเวียนทางด้านเศรษฐกิจ สินค้าผลิตได้ การบริโภคก็เติบโต ดังนั้นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้มองแค่มิติเดียว และตัวเลขที่เสนอไป ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ก็พูดไว้ชัดว่า ค่าจ้างจะเป็นเท่าไหร่ สอดคล้องอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายส่วน ขึ้นอยู่กับระบบสาธารณะ สาธารณูปโภคทั้งหลาย รัฐจัดให้เพียงพอหรือไม่ สามารถที่จะส่งลูกเรียนได้ มีที่อยู่อาศัย หรือปัจจัย 4 ได้ อันนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก”
ท่ามกลางข้อมูล ความคิดเห็นที่แลกเปลี่ยนกัน ทำให้เห็นได้ว่าโจทย์นี้มีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ มีคนที่ต้องทำหน้าที่บริหารจัดการ และคนที่ต้องตั้งหลักรับมือกับผลกระทบ แล้วคุณละ คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกภาพอนาคตค่าแรงขั้นต่ำที่คุณอยากจะให้เกิดขึ้นได้ ที่ด้านล่างนี้