ผลไม้ของไทยเป็นพืชเกษตรกรรมที่มีการพัฒนาทั้งด้านการผลิตโดยเฉพาะการเพาะปลูกที่สามารถผลิตได้
ทุกฤดูกาลสลับกันในแต่ละชนิดทำให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้ได้ตลอดทั้งปี จนเป็นที่รู้จักดีของผู้ซื้อในต่างประเทศ
และสามารถทำรายได้เข้าสู่ประเทศได้เพิ่มมากขึ้นทุกปี
ตลาดผู้บริโภคจีนเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญ ของผลไม้ไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก ความต้องการบริโภคสูง ในปัจจุบันจีนได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากประเทศไทยรวมจำนวนทั้งสิ้น 22 ชนิด ในการส่งออกผลไม้ไทยไปประเทศจีนพบว่า เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 มีปริมาณกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 148,000 ล้านบาท โดยปริมาณการส่งออกผลไม้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ลำไย และมะพร้าวอ่อน
โดยสินค้าเกษตรของภาคเหนือที่ส่งออกไปยังประเทศจีนและสร้างมูลค่าที่เห็นได้ชัดเจนคือ ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน มะม่วง สัปปะรด ฯลฯ ทำให้เกษตรกรไทยเห็นโอกาสในการสร้างรายได้และเกิดการตื่นตัวในการส่งออกไปยังประเทศจีน อีกทั้งการขนส่งทางรถไฟที่เป็นโครงการของรัฐ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ
ที่เชื่อมโยงการเดินทาง ขนส่งต่อเนื่องและ รถไฟความเร็วสูง ลาว-จีน ที่จะย่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้าหารเกษตรไปประเทศจีนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ขนส่งทางรถไฟสะดวกกว่าการขนส่งทางเรือที่ใช้ระยะเวลานานกว่า ส่วนการขนส่งทางเครื่องบินมีราคาค่าบริการค่อนข้างสูงกว่าขนส่งทางรถไฟ และทางเรือ หลายเท่าตัว
การส่งออกผลไม้ไปต่างชาติหรือประเทศจีนมีข้อจำกัดของการสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่เกษตรกรต้องขอรับรองจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจรับรองระบบการจัดการคุณภาพ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ติดปัญหาไม่มีใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices เรียกย่อๆว่า GAP) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุนและกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลักการนี้ได้รับการกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด เป็นอีกกระบวนการผลิตก่อนจำหน่ายสู่ผู้บริโภคที่มีความสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิตหลังการเก็บเกี่ยว และเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค แต่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัย จึงต้องนำหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice : GMP) ซึ่งเป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุม โดยโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุที่จะต้องขอมาตรฐาน GMP ต้องขอรับการตรวจประเมินสถานที่ผลิต จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ถึงแม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ แต่เมื่อไม่มีใบรับรองที่รัฐบาลของประเทศผู้ซื้อกำหนด ก็ไม่สามารถส่งไปได้ ซึ่งที่ผ่านมาในอดีตการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีน ทั้ง ทุเรียน ลำไย สัปปะรด ลิ้นจี้ ไม่ต้องขอมาตรฐาน GAP โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ ก็ไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐาน GMP
อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลกเป็นแหล่งปลูกมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และมีพื้นที่ปลูกมะม่วงประมาณ 70,000 ไร่ในพื้นที่และหลากหลายสายพันธุ์ น้ำดอกไม้เบอร์ 4 น้ำดอกไม้สีทอง หนัง ฟ้าลั่น แก้วขมิ้น ฯลฯ สายพันธุ์มะม่วงส่วนมากที่ชาวบ้านปลูกในพื้นที่ อ.เนินมะปราง คือพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรเนินมะปรางกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมะม่วงน้ำดอกไม้นั้นจะขายผลได้ต้องเป็นผลสุกเท่านั้นซึ่งมีระยะเวลาไม่มากในการขาย และในช่วงการออกผลผลิตนั้นก็ออกมาพร้อมๆกันทำให้มีปริมาณมะม่วงที่ออกมานำขายของเกษตรกรจำนวนมากในทุกๆปี มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกไปหลายประเทศและการขายต่างประเทศราคาจะแตกต่างจากการขายให้กับพ่อค้าคนกลางมารับซื้อหรือตลาดรับซื้อในพื้นที่(ล้ง)กว่าเท่าตัว เช่น ขายตลาดทั่วไปในประเทศขณะนั้นกิโลกรัมละ 25บาท แต่ขายส่งออกคุณภาพเกรด A ราคาจะประมาณ 50 บาท ทำให้เกษตรกรจำนวนมากที่มีการทำมาตราฐาน GAP (Good Agricultural Practice)อยู่แล้วนั้น มุ่งเน้นการทำคุณภาพของมะม่วงทุกกระบวนการต่างๆอย่างใส่ใจและละเอียด แต่การขายมะม่วงในพื้นที่ มีอยู่ 2 วิธี 1. รับซื้อเหมาทั้งสวนให้ราคาตายตัว2.รับซื้อเฉพาะเกรด นำไปส่งออกโดยเฉพาะโดยส่วนมาผู้มารับซื้อจะมาคัดด้วยตัวเองและเลือกลูกเกรด A ที่มี ขนาด 300กรัมขึ้นไป และมีผิวสวยไม่มีตำหนิให้ราคาสูง ส่วนลูกขนาดรองลงมาจะไม่นำไปให้เกษตรกรหาที่ขายเอง เช่นตลาดรับซื้อในประเทศ พ่อค้าตลาดทั่วไป ซึ่งจะได้ราคาที่แตกต่างอย่างมาก
กลุ่มวิสาหกิจมะม่วงคุณภาพวังน้ำบ่อ ต.ไทรย้อย 1ใน 13 วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วง ใน อ.เนินมะปราง เป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ที่ทำความเข้าใจกับสมาชิกกลุ่มที่มีกว่า 45 ราย มีพื้นที่ปลูกกว่า 600ไร่ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกม่วงและขอใบรับรอง GAP เมื่อมีการสร้างสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพแล้วนั้นการทำการตลาดที่มีรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรและสมาชิกกลุ่ม เพื่อหาตลาดรองรับอนาคตที่ดีกว่าการขายตามที่แหล่งรับซื้อสินค้า (ล้ง) แต่มองไปถึงการขายผลผลิตของทางกลุ่มวิสาหกิจมะม่วงคุณภาพวังน้ำบ่อ โดยตรงด้วยตัวเอง มีแนวคิดรวบรวมผลผลิตมะม่วงที่มีการรับรอง Gap จากกลุ่มวิสาหกิจอื่นและเกษตรกรรายย่อย เพื่อส่งขายไปยังต่างประเทศเองโดยไม่ผ่านบริษัทที่มารับซื้อมะม่วงเพื่อนำไปส่งออก รวมถึงการติดต่อกับห้างสรรพสินค้าโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่กลุ่มก็ยังติดปัญหาในการทำโรงคัดแยกและบรรจุภัณฑ์สินค้าทางการเกษตร ที่จะต้องได้มาตรฐาน อย. รับรอง จึงจำเป็นที่จะต้องมีโรงคัดแยกสินค้าทางการเกษตรและบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตราฐานการรับรอง GMP (Good Manufacturing Practice )
แต่เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ของอำเภอเนินมะปรางไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ พื้นที่ส่วนใหญ่นั้นเป็นพื้นที่ป่าสงวนเป็นที่ดินที่ครอบครองของกรมป่าไม้ จึงไม่สามารถของบประมาณเพื่อขอสนับสนุนการสร้างอาคารโรงคัดบรรจุจากทางภาครัฐ ติดเงื่อนไขหลักคือเรื่องเอกสารสิทธิ์ ของ อย. เอกสารสิทธิ์ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทางหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจมะม่วงคุณภาพวังน้ำบ่อ ชลธิชา ช่างประดิษฐ์ (ประธานกลุ่ม) ใช้พื้นที่ส่วนตัวที่เคยเป็นที่จอดไถ พื้นที่เก็บเครื่องมือการเกษตรต่างๆ นำมาต่อเติมและตกแต่งสร้างเป็นโรงคัดบรรจุ โดยใช้งบประมาณส่วนตัวกว่า 400,000 บาทสร้างโรงคัดบรรจุเพื่อเตรียมขอใบรับรองมาตรฐาน GMP โดยสร้างไว้ก่อนแล้วแก้ไขปัญหาที่หลังถ้าไม่มีการสร้างไว้ ก็ไม่มีการเริ่มต้น เรื่องของการพัฒนาของชุมชนติดเงื่อนไขของหน่วยงานรัฐที่สามารถแก้ไขได้ และทางกลุ่มต้องเดินเรื่องแก้ไขปัญหาทีละเรื่องต่อไป
ในช่วงที่ยังไม่ได้มาตรฐาน GMP ทางกลุ่มวิสาหกิจมะม่วงคุณภาพวังน้ำบ่อก็ยังได้ใช้งานอาคารหลังนี้ โดยนำสินค้ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองผลผลิตจากชุมชนที่มีคุณภาพเกรด A ที่ผ่านการคัดสรรแบบละเอียดมาบรรจุกล่องขายทางออกONLINE ซึ่งในปีฤดูกาลมะม่วงน้ำดอกไม้ 2564 สามารถระบายผลผลิตมะม่วงกว่า 5 ตัน