คนทำสื่อ รู้ทัน SLAPP ฟ้องปิดปาก พื้นที่การสื่อสารขยับ เทคโนโลยีเปลี่ยน คาดสื่อพลเมืองถูกเล่นงานสูงขึ้น

คนทำสื่อ รู้ทัน SLAPP ฟ้องปิดปาก พื้นที่การสื่อสารขยับ เทคโนโลยีเปลี่ยน คาดสื่อพลเมืองถูกเล่นงานสูงขึ้น

กลางเดือนมีนาคม 2565 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่ายได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าว ทั้งประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การเมือง รวมไปถึงประเด็นอื่น ๆ จึงจัด “อบรมออนไลน์รู้ทัน SLAPP ป้องกันถูกฟ้องปิดปาก” ซึ่งเป็นงานออนไลน์ ด้วยเป้าหมายชวนคนสื่อสาร สื่อมวลชน สื่อวิชาชีพในสังกัดองค์กร และสื่อพลเมือง รวมไปถึงนักวิชาการ เพื่อขยายขอบเขต มุมมองการแลกเปลี่ยนจากผู้เข้าร่วม

นอกจากนี้ยังมีการเสริมข้อมูล สร้างความเข้าใจ จากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น โดยมีนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นักกฎหมาย รวมไปถึงการแสวงหาวิธีการต่อสู้ทางกฎหมาย และวิธีการรายงานข่าวที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการถูกฟ้องในอนาคต บางห้วงบางตอนของการอบรมดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจ ชวนกันเข้าไปใจกลางความหมายของ SLAPP ทั้งจากประสบการณ์ต่างประเทศ และบริบทแบบไทยไทย

สิ่งที่น่าห่วงกังวลของ SLAPP คือการทำให้เกิดภาวะชะงักงันในการใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็น การใช้เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพอื่นใด ท้ายที่สุดแล้ว SLAPP จะทำลายระบบประชาธิปไตยทั้งหมด ถ้าเรายังไม่มีกฎหมาย หรือมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากพอ

ผศ.เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวถึงความห่วงกังวลที่เกิดขึ้นจากผลของคดี SLAPP
ภาพจาก : กิจกรรม SLAPP 3 : การอบรมออนไลน์รู้ทัน SLAPP ป้องกันถูกฟ้องปิดปาก 

SLAPP คืออะไร

คดี SLAPP คือการฟ้องคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะชน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อระงับ หรือขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสาธารณะ หรือเพื่อขัดขวางกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ โดยกระบวนการยื่นฟ้องนั้นเริ่มต้นที่พนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่ามีมูล หมายความว่ามีข้อเท็จจริงบางอย่างที่ต้องพิสูจน์ก็จะนำส่งอัยการ ตามหลักกฎหมาย และอัยการส่งคดีต่อไปยังชั้นศาลเพื่อทำการไต่สวนพิจารณาคดีในที่สุด

การเกิดขึ้นของ SLAPP

ผศ.เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เล่าถึงการเกิดขึ้นของ SLAPP ครั้งแรกเริ่มที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีประชาชน 4 คน วิจารณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงยุติธรรมคนหนึ่งถึงการคอรัปชัน และอยากให้ตรวจสอบ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวรู้สึกว่าการกระทำของประชาชน 4 คน นั้นทำให้ตนเองได้รับความเสียหาย และมีผลต่อการเลือกตั้ง จึงได้มีการฟ้องประชาชนที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทำงานของตน และเรียกค่าเสียหาย 5,000 USD แต่สุดท้ายศาลมีคำสั่งยกฟ้อง

คดีที่มีข้อเท็จจริงลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนมีการรวมข้อเท็จจริงข้อเท็จจริงของคดีที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงมีการทำงานศึกษาวิจัยแล้วจำกัดความเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “SLAPP” โดย George W.Pring และ Penelope Canan  ส่วนใหญ่พบว่าเป็นการฟ้องที่ก่อให้เกิดความน่ารำคาญ หรือเพื่อโจมตีการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมต่อกระบวนการทางการเมือง

ความเคลื่อนไหวต่างแดนกับการป้องกัน SLAPP

ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ Columbia District และในอีก 31 มลรัฐ มีกฏหมาย Anti-SLAPP ซึ่งลักษณะของกฎหมายอาจแตกต่างกันไปในแง่ของกระบวนการ ตามแต่ละบริบทของมลรัฐ แต่ใจความสำคัญของกฎหมายคือ “Public issue” คือการกระทำดังกล่าวจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง หรือปกป้องประโยชน์สาธาณะ

ปัจจุบันในยุโรปเองก็มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างกฎหมายการป้องกัน SLAPP ที่เรียกว่า “EUROPEAN Media Freedom Act” โดยเปิดรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2565 ถึง วันที่ 22 มีนาคม 2565 เพราะทางยุโรปเองก็มีปัญหาเรื่องการฟ้องปิดปากหรือ SLAPP เช่นเดียวกัน

SLAPP ในไทยหน้าตาแบบไหนกัน?

กรณีในประเทศไทย ที่เข้าข่ายคดี SLAPP ชัดเจนคือ กรณีของ “เขาคูหา” โดยที่บริษัทเอกชนฟ้องชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องว่า การทำเหมืองก่อให้เกิดผลกระทบทำให้เกิดเสียงดัง และบ้านร้าว ทำให้บริษัทฟ้องชาวบ้านที่ออกมาร้องเรียน และเรียกค่าเสียหาย 64 ล้านบาท และกรณีของบริษัททุ่งคำ ฟ้องกรณีชาวบ้านออกมาปกป้องผลประโยชน์ของเหมือง โดยฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท

ข้อมูลจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) รายงานว่าการฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทยเป็นคดีอาญา 90% คือเป็นการใช้หน่วยงานของรัฐเป็นเครื่องมือในการฟ้อง คดีแพ่ง 5% การที่ผู้ฟ้องต้องยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาล และคดีแพ่งกับอาญาอีก 5%

โดยกลุ่มเป้าหมายที่ถูกฟ้องปิดปากมากที่สุดเป็นอันดับแรกคือ นักกิจกรรมทางการเมือง รองลงมาเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่วนสื่อมวนชนเป็นลำดับที่ 5 ของกลุ่มเป้าหมายการฟ้องปิดปาก ซึ่งกิจกรรมที่นำไปสู่การฟ้องปิดปากส่วนใหญ่มีเหตุจากการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ การเข้าร่วมชุมชน การให้สัมภาษณ์ หรือเผยแพร่บทความ เป็นต้น

ความพยายามในการป้องกัน SLAPP ให้กับสื่อไทย

ปัจจุบัน มีความพยายามของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกร่าง พ.ร.บ. มาตราการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ… ในกรณีที่ใครก็ตามร้องเรียนหน่วยงานของรัฐ แล้วหน่วยงานของรัฐฟ้องกลับ สามารถใช้กฎหมายนี้ในการคุ้มครองดูแลได้ ทั้งนี้การทำงานของสื่อมวลชนต้องปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง พิจารณาโดยรอบด้าน

ล่าสุดมี ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 โดยวัตถุประสงคเพื่อจะคุ้มครอง กำกับดูแล ส่งเสริมสื่อมวลชน สิ่งที่น่าจับตาสำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ก็คือ สามารถจะสร้างมาตรฐาน กลไกการเยียวยา ปกป้องดูแลสื่อมวลชนได้มากน้อยแค่ไหน

วันนี้ความเป็นสื่อมันเลื่อนไหล มีคำว่าสื่อที่มีต้นสังกัดกับสื่อพลเมือง แต่ขณะเดียวกัน เราเห็นรัฐบาลกำลังจัดการแยก ทั้งที่วันนี้ใคร ๆ ก็สื่อสารได้ เมื่อเทคโนโลยีมันเปิด

ผศ.ดร. วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงบทบาทสื่อวิชาชีพและสื่อพลเมืองในการนำเสนอข้อเท็จจริง และผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพสื่อ จากการฟ้องกลั่นแกล้ง
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อนพัฒนาไปสู่สื่อพลเมือง

ช่วงปี 2563-2564 ความท้าทายของสื่อวิชาชีพมีจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ จากเหตุการณ์เยาวชนปลดแอกเข้ามาขับเคลื่อน ตั้งคำถามกับรัฐบาลและคนทำสื่อ เนื่องจากมองว่าสื่อควรทำหน้าที่ที่ควรจะเป็นหรือไม่ จนกระทั่งเกิดคำถามว่า “สื่อมีไว้ทำไม”

ดังนั้น สื่อต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพียงแต่ว่า ณ วันนี้การจัดระเบียนที่มีการอ้างทำไมต้องจัดระเบียบ เพราะว่ามีสื่อผิดจรรยาบรรณ ไม่มีจริยธรรมในงานข่าว หรือแม้แต่การตั้งคำถามกับสื่อพลเมืองมีจรรยาบรรณหรือไม่? ตรงนี้เราจะเห็นว่ามีวาทกรรมเกิดขึ้น มีอำนาจบางอย่างที่คอยปิดทับ

บทบาทของสื่อกับความรับผิดชอบต่อสังคม

ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายตามหลักทางวารสารศาสตร์ เกี่ยวกับบทบาทแรกของสื่อว่า วันที่เรายังไม่มีสื่อภาคพลเมือง สุนัขเฝ้าบ้าน Watch dog ส่วนใหญ่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ทั้งสื่อที่มีต้นสังกัด หรือสื่อพลเมือง ก็ทำหน้าที่ Watch dog เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการต่าง ๆ ที่รัฐกำลังเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน หรือสิ่งที่รัฐกำลังทำส่งผลกระทบกับพลเมือง คนในสังคมส่วนรวม  สิ่งเหล่านี้ บทบาทของคนทำสื่อต้องเห่า ต้องกัด แต่ขณะเดียวกันเราพบว่า

“วันนี้เสียงเห่าที่เป็นสื่อวิชาชีพลดน้อยลง ตั้งแต่เราเปลี่ยนจากสื่อแอนะล็อก เป็นสื่อดิจิทัล”

ต่อมาการกำหนดวาระข่าวสาร Agenda Setting “สื่อมีอิทธิพลต่อผู้ฟังโดยปลูกฝังสิ่งที่พวกเราควรคิด แทนที่จะเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดจริง ๆ” สื่อทรงอิทธิพล อยากให้สังคมเชื่อและคิดตามยังไง? บทบาท Agenda Setting สำคัญมากที่จะทำให้เรื่องที่มองว่าเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม กำหนดให้กลายเป็นสาระข่าวสารเกิดขึ้น หลังจากนั้นกลายเป็น Public Agenda วาระสาธารณชนที่ทุกคนรับรู้ อย่าง SLAPP มีการขับเคลื่อนกันในกลุ่ม แต่เราจะขยายมันยังไงให้คนได้รู้ว่ารัฐหรือเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย กำลังใช้กลวิธีแบบนี้ กลายเป็นประเด็นสาธารณะ จนกระทั่งมีแนวร่วม ท้ายสุดเป็น Policy Agenda วาระเชิงนโยบายเกิดขึ้น

สื่อในอดีต-สื่อวันนี้

จากงานวิจัยคุณค่าความหมาย และสื่อยังเป็นที่พึ่งพิงของสังคมอยู่หรือไม่ ความน่าสนใจของงานวิจัยชิ้นนี้ ตอกย้ำบทบาทของสื่อภาคพลเมือง หรือสื่ออิสระ ที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้น และเป็นที่พึ่งให้กับสังคมมากขึ้น ถ้ามองในอดีตจะพูดสื่อวิชาชีพมีองค์กรต้นสังกัด แต่วันนี้เขามองว่าใครก็เป็นสื่อได้ ด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยี และปัจเจกบุคคล ไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อวิชาชีพ และการควบคุมทำได้ยากกว่าในอดีต แต่ขณะเดียวกัน เสรีภาพของสื่อมีมากขึ้น จากเทคโนโลยีที่ทำให้สื่อเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น มีการตั้งคำถามอุดมการณ์ของสื่อวิชาชีพลดน้อยลงตามตัวแปรของทุนนิยมที่เข้ามาอย่าง “ธุรกิจสื่อที่มีนายทุน” ตรงนี้เราจะเห็นว่า สื่อภาคพลเมืองกับสื่ออิสระถูกขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ เอกชนหรือภาครัฐ รู้สึกกลัวสื่อภาคพลเมืองหรือสื่ออิสระเหล่านี้ และกระบวนการทำข่าวเข้าถึงข้อมูลข่าวสารง่ายขึ้น

ณ วันนี้สื่อยังมีบทบาทต่อสังคมสูง สื่อสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้ เวลาพูดถึงสื่อ ผู้บริโภคข่าวสารหรือแหล่งข่าวเขามองภาพรวมทั้งหมด ดังนั้นเราจะเห็นว่า เวลาได้ยินว่าสื่อวิชาชีพนั่งคือส่วนขององค์กรวิชาชีพสื่อเน้นย้ำใน่สวนนี้ และสื่อที่เป็นสื่อวิชาชีพจะดวกรัดเรื่องเหล่านี้ไว้

สุดท้ายการพึ่งพิงสื่อ วันนี้สื่อวิชาชีพยังพึ่งพิงได้แต่ไม่ได้ทั้งหมด เวลามีเรื่องใหญ่เท่านั้นถึงจะพึ่งพิงได้ ส่วนสุนัขเฝ้าบ้านเขามองว่าน้อยไปเลยของการทำบทบาทหน้าที่นี้

นักข่าวหรือสื่อควรทำอย่างไร ได้รับการคุ้มครอง?

ที่ผ่านมามีการนำเสนอเรื่องของ fake news และเห็นวิธีการของรัฐที่เข้ามาจัดการ โดยมองว่าใครก็ตาม

ถ้าพูดข้อเท็จจริง หรือข้อคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐ สิ่งที่น่ากลัวคือ รัฐมองว่าเป็น fake news และมีการจัดการที่อาจารย์บอกว่า บางทีไม่ได้ไปถึงการดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ถูกทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และที่สำคัญของคนทำสื่อ คือ ขายความน่าเชื่อถือ

ฝากเรื่องสื่อพลเมือง สื่ออิสระ ตอนหลังเราจะพบว่า สื่อพลเมืองสื่ออิสระจะทำงานยากขึ้น นอกจากถูกตั้งคำถามเรื่องจรรยาบรรณ เวลาเราไปทำข่าว เขาจะถามหาบัตร ดั้งนั้น สื่อภาคพลเมือง สื่ออิสระ ควรตั้งกลุ่ม และหนุนเสริมกันอย่างไร ที่จะต่อรองกับการจัดการของรัฐ หรือเอกชน อย่างที่อาจารย์ลงพื้นที่ไปสามจังหวัดชายแดนใต้ เราจะพบพื้นที่กลางในการติดตั้งความรู้ในการเล่าเรื่องต่าง ๆ ปัญหาใหญ่ของเขา เวลาเข้าไปที่หน่วยงาน สิ่งหนึ่งที่เจอ ว่าคุณมีบัตรไหม ก็เป็นการทำงานที่จะจำกัดเสรีภาพในการสื่อสารของเรา ที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท

เปิดโลกการ SLAPP อ่านประสบการณ์นักข่าวโดนฟ้อง และคนทำคดี

เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท เล่าในมุมของสื่อที่ถูกการใช้กลไกทางกฎหมายฟ้องร้องว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้การทำงานนั้นเกิดความขัดข้อง ทำให้ระบบนิเวศน์ข้อมูลข่าวสารไม่สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว ซึ่งผู้ที่ถูกฟ้องร้องที่ผ่านมามีทั้งผู้สื่อข่าวของประชาไทเอง นักข่าวภาคพลเมือง รวมไปถึงแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูล มีทั้งคดีที่เกี่ยวกับการฝ่าฝืนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

เรื่องหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ไม่ได้มีการฟ้องจากฝ่ายรัฐ และทุนเท่านั้น มีกรณีการฟ้องร้องกันในคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ระหว่างนักการเมืองต่างฝ่าย และคดีความที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลที่มีบทบาทในทางสาธารณะเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง นักแสดง รวมถึงการฟ้องร้องคดีในกรณีที่ถูกบุคคลอื่นที่แสดงความคิดเห็นในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์  

ผมกำลังจะบอกว่าตัวกฎหมายมีเหตุผลของการดำรงอยู่ของมันเช่นกัน

เทวฤทธิ์ มณีฉาย กล่าวเสริม

แนวทาง หรือการป้องกันการถูก SLAPP ของสื่อ

เรื่องการบาลานซ์ (ถ่วงดุล : กองบรรณาธิการ) ไม่ได้หมายความว่าเป็นกลาง แต่เป็นธรรมเพียงพอ คือวิธีการป้องกันที่อาจจะนำมาใช้ หน้าที่สื่อควรจะทำให้เห็นว่าไม่ได้มองอะไรเป็นขาว-ดำ แต่เป็นการแชร์ให้เห็นข้อเท็จจริงทั้งหมด นอกจากเป็นเกราะแล้ว ยังทำให้เห็นว่าเป็นธรรมด้วย 

ในฐานะสื่อมวลชน การสะท้อนข้อเท็จจริงเชิงความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมด้วย

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ปัจจุบันคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินมองว่าเป็น SLAPP แบบหนึ่ง คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปัจจุบันมี 623 คดี ผู้ต้องหา 1,445 คน ซึ่งเป็นคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็น มาร่วมชุมชนไล่รัฐบาลนี้ เป็นปริมาณคดีที่เป็นสถิติในประวัติศาสตร์ที่เรามีคดีจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเยอะขนาดนี้ และดูเหมือนจะเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเดือนมีนาคนนี้ ครบ 2 ปี การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอิเนเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ปัญหาในมิติทางด้านวัฒนธรรม และมิติทางด้านกฎหมาย

วัฒนธรรมการขู่เป็นวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเข้มแข็งในรัฐไทย พอขู่แล้วไม่หยุดก็มีการเชือดไก่ให้ลิงดู คือการจับใครบางคนมาดำเนินคดี ซึ่งภายใต้วัฒนธรรมแบบนี้มันส่งต่อ คนที่เป็นประชาชนในสังคมก็เข้าใจว่า กฎหมายทำงานแบบนี้ เข้าใจว่าการทำแบบนี้ถูกต้อง เป็นความเป็นธรรมแบบหนึ่ง เวลาตัวเองถูกวิจารณ์มาก ๆ ก็จะคิดแบบเดียวกับที่ตำรวจชอบพูดว่าแบบนี้มันจะผิดอะไรบางอย่าง จะดำเนินคดีอะไรได้บ้าง กลายเป็นวัฒนธรรมที่น่ากลัว อันตราย ทำให้ทั้งเสียเวลา และเงิน และอาจจะไม่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาอีกด้วย

ในมิติของกฎหมาย ปัญหาคือกฎหมายหมิ่นประมาทควรจะมีโทษอะไร และควรจะมีโทษเท่าไร ปัจจุบันเขียนโทษไว้สูงสุด 2 ปี นั้นมากไปหรือไม่ ปัจจุบันมีกฎหมายมากมายที่เอามาใช้ดำเนินคดีได้ นี่เป็นปัญหาของระบบกฎหมายที่เวลาใครคิดว่าไม่อยากเห็นอะไรบางอย่างก็จะออกกฎหมายมา ถึงในตอนนี้จะมีกฎหมายที่บอกว่าถ้าหากมีการดำเนินคดีกลั่นแกล้งกันเพื่อหวังประโยชน์อื่น ๆ เช่นหวังประโยชน์ให้เหนื่อย หวังประโยชน์ให้เป็นภาระ หวังประโยชน์ให้หวาดกลัวโดยไม่ได้หวังผลทางคดี แบบนี้ควรจะให้ศาลยกฟ้องเลยโดยไม่ต้องไต่สวนอะไร คือเขียนแต่ตัวหนังสือแต่วัฒนธรรมมันไม่ไป วัฒนธรรมของศาล ของอัยการ ของทนายความ ที่จะใช้มาตรานี้ยังไม่มี คิดว่าวัฒนธรรมมีปัญหามากกว่า ถ้าแก้ที่รัฐที่มีวุฒิภาวะได้ก็ดี สุดท้ายเราต้องพยายามช่วยกันสร้างวัฒนธรรมใหม่

แก้ปัญหา SLAPP ด้วยการสร้างทัศนคติทางสังคม

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา SLAPP ไว้อย่างน่าสนใจว่า เราคงเปลี่ยนวิธีคิดของใครคนใดคนหนึ่งในการพูดคุยเรื่องเดียวทันทีไม่ได้ เพียงแต่ว่า เราสามารถสร้างทัศนคติร่วมกันในสังคมได้ เพราะตอนนี้พวกเราเป็นผู้ที่มีสื่อและมีช่องทางในการนำเสนอเนื้อหาอยู่ในมือ ถ้าหากเราช่วยกันพูดช่วยกันรายงานข่าว ประเด็นการดำเนินคดี SLAPP ผลกระทบที่เกิดขึ้น ความไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ความชอบธรรม ทั้งตัวจำเลยและสังคม

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความแลผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

พวกเราในฐานะสื่อ รู้จัก SLAPP ไม่ใช่แค่ป้องกันตัวเอง อาจจะต้องช่วยกันรณรงค์ ช่วยกันทำงาน เพื่อกระบวนการปัญหาเรื่อง SLAPP ในประเทศไทยสถานการณ์ดีขึ้น ไม่คิดว่ามันจะจบที่รุ่นเรา

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความแลผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

SLAPP ในประสบการณ์ของนักกฎหมาย

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความแลผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เล่าว่า SLAPP เป็นวัฒนธรรมการเข้าใจที่ใช้กฎหมาย นำมาใช้รับสิทธิในการเยียวยามากกว่าถูกนำมาใช้ในการคุกคาม เพราะฉะนั้นการฟ้องคดีลักษณะนี้เต็มไปหมด เนื่องจากต้องการปิดปาก

“การทำคดีที่เจอบ่อย กรณีหมิ่นประมาท หรือพรบ.คอมพิวเตอร์ ถูกใช้มากที่สุดสำหรับนักข่าว เนื่องจากเราต้องเรารายงานข่าว ก็เลยโดนข้อหาลักษณะนี้ ส่วนข้อหาบุกรุกหรืออย่างอื่น จะเป็นประเด็นที่น้อยรองลงมา ยกเว้นกรณี เวลาลงไปทำข่าวแล้วต้องลงพื้นที่ที่มีปัญหา กรณีหมิ่นประมาท จะมีเกราะกำบังให้เราในการที่จะใช้สิทธิ์ในการทำข่าว ในสวนของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 และมาตรา 330”

การเปลี่ยนแปลงเรื่องความเข้าใจ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อีกฝ่ายไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงต้องหยุด ต้องมาแก้ไขปัญหาเพื่อให้มันลดลงเช่นการแก้กฎหมาย พยายามสร้างกฎหมาย หรือแก้ เพราะถึงที่สุดคนใช้กฎหมายยังไม่เข้าใจว่าต้องใช้กฎหมายยังไง “เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่การแก้กฎหมาย ไม่มีการสร้างความเข้าใจให้คนในสังคมเข้าใจว่า หรือผู้มีอิทธิพลใช้แบบนี้มันไม่ถูก ไม่มีทางเป็นไปได้ และต้องมีกรอบเอากฎหมายบางอย่างเข้ามาช่วย”

ทนายความ ส.รัตนมณี พลกล้า กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “SLAPP ถูกฟ้องโดยข้อหาหมิ่นประมาท แต่ในมุมของผู้ฟ้องคดี เห็นชัดเจนว่าไม่ได้มีเจตนาชนะคดี เพียงแต่ต้องการปิดปากคนที่จะมายุ่งเกี่ยว สอง อาจมองว่าเป็นเรื่องหมิ่นประมาท ทำให้เสียหาย แต่ไม่คิดว่าสิ่งที่มีการนำเสนอเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ เพราะฉะนั้น SLAPP แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ เรื่องของเจตนาภายในของผู้ฟ้อง และการใช้กฎหมายมาขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องคือความต่างกับกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป”

ภาพจาก : กิจกรรม SLAPP 3 : การอบรมออนไลน์รู้ทัน SLAPP ป้องกันถูกฟ้องปิดปาก 

ชวนส่องโมเดลกฎหมายแก้ SLAPP ในต่างประเทศ

ด้านคุณสัณหวรรณ ศรีสด รองที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ยกตัวอย่างโมเดลกฎหมายต่างประเทศที่เกิดช่วงแรก ๆ ในแถบตะวันตก อย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย “เริ่มเห็นการสร้างกฎหมายต่อต้าน SLAPP โดยมีกลไกปัญหาที่เกิดขึ้นไปสู่ศาล ใครจะฟ้องใครจะไม่ได้ผ่านทางตำรวจหรืออัยการ เพราะส่วนใหญ่เป็นกฎหมายแพ่งที่ไม่ใช่กฎหมายอาญา ดังนั้นทุกคดีเมื่อเส้นเรื่องมันไปที่ศาลเวลาเขาออกกฎหมายต้าน SLAPP ก็แค่ออกไปศาลปัญหาก็จะจบ

“โมเดลในการทำกฎหมายต่อต้านการSLAPP คร่าว ๆ ไว้ 2 กฎหมาย อย่างเช่น รัฐควิเบกในแคนาดา ศาลอ้างว่ามีการใช้กระบวนทางกฎหมายที่ไม่เหมาะสม ไม่รับฟ้องเป็นการพิจารณาทางแพ่ง อีกวิธีการหนึ่งคือการใช้กระบวนการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งแพร่หลายมากกว่า คือ วิธีการพูดว่ามีกลุ่มบุคคล หรือการกระทำที่ได้รับการคุ้มครอง”

ส่วนแถบอาเซียน ประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีกฎหมายเกี่ยวกับ Anti SLAPP มีปัญหาในการบังคับใช้เกิดขึ้นในคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความคล้ายกับประเทศไทย “การร้องเรียนที่คนใช้เสรีภาพในการพูด หรือแสดงออก เสรีภาพสื่อสิทธิในการชุมนุม และยิ่งเป็นข้อร้องเรียนต่อรัฐ ประเด็นที่เกี่ยวกับสาธารณะ หรือคนที่มามีเจตนาในการคุกคามก่อกวนหรือไม่ ก่อให้เกิดความกดดัน เพื่อต้องการให้หมดสิ้นทรัพยากร มีเจตนาใดที่เข้าเครือข่ายการ SLAPP ให้ศาล เจ้าหน้าที่รัฐ หรือเอกชน ใครก็ได้ต้องยกฟ้องทันทีในคดีแพ่งอาญา”

ท้ายสุด แนวทางอื่น ๆ ที่ใช้ในคดี SLAPP อย่างเช่น ชนะคดีสามารถเรียกค่าเสียหายจากเหยื่อ ในประเทศฟิลิปปินส์เรียกว่า SLAPP BACK เรียกฟ้องค่าเสียหาย ส่วนรัฐควิเบก แคนาดา ไม่ใช่แค่ค่าเสียหาย แต่เป็นค่าเสียหายเชิงลงโทษ นอกจากนั้นในรัฐควิเบก ก็มีมาตราอื่น ๆ ที่สามารถให้ศาลห้ามโจทก์ไม่ให้ฟ้องร้องคดีในอนาคตได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาต เพื่อป้องกันให้โจทก์มาฟ้องคดี SLAPP

รวบรวมเนื้อหา โดย ทีมสื่อพลเมือง

ศุภรัช จรัสเพ็ชร์
ยุพเรศ พรหมจรรย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ