“ปกติชาวบ้านที่นี่จะปลูกข้าวสำหรับคนเป็นส่วนใหญ่ และปลูกข้าวนกเป็นรายได้เสริม แต่ปีนี้เพื่อนมาบอกว่าข้าวนกจะขายได้แพง คิดว่าส่วนหนึ่งเพราะคนปลูกน้อยลงด้วย ปกติจะเอาไปขายที่ตลาดนัดสะเดา”
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2022/03/MVI_4347.MP4.00_00_01_18.Still001-1-1024x576.jpg)
ทีมแลต๊ะแลใต้ ลงพื้นที่จะนะ คุยกับบังหลีม หรือปะหลีม ชาวบ้าน ต.คู อ.จะนะ จ.สงขลา หนึ่งในเกษตรกรจะนะ ที่ยังทำนา และปีนี้ก็หันมาปลูกข้าวเปลือกนก (อาหารนกเขาชวาเสียง) เล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของชาวนาที่นี่
เดิมทีปลูกข้าวไว้กินในครอบครัวปกติ
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2022/03/10862AD9-FA44-4857-8177-F1DCC4CFB94C.jpeg)
“แต่มีเพื่อนบ้านบอกว่าปลูกข้าวนกดีกว่า ราคาแพงกว่า และมีเพื่อน ๆ ที่เลี้ยงนกเขาอยู่เยอะ เลยปลูกขายพวกเขา ปีนี้น่าจะขายได้ปี๊บละ 400 บาท เพราะปีที่แล้วก็ขายราคานี้ ปีนี้ก็ทราบมาว่าขายได้ราคาสูงอีก ส่วนข้าวคน (ข้าวเล็บนก) หากสีเป็นข้าวสารแล้วขายได้ปี๊บละ 300 บาท แต่นี่ไม่ต้องสี ขายเป็นข้าวเปลือกได้ปี๊บละไม่ต่ำกว่า 350 บาท เราปลูกข้าวนกมานานแล้ว แต่ไม่เคยปลูกขาย เพราะเราเลี้ยงนกเขาชวาด้วย เลยปลูกข้าวไว้สำหรับเลี้ยงนกของตัวเอง”
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2022/03/IMG_2116.MOV.00_00_07_27.Still001-1-1024x576.jpg)
อำเภอจะนะ จ.สงขลา เป็นแหล่งกำเนิดนกเขาชวาเสียง ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมจากเซียนนก และกลุ่มคนเลี้ยงนกเขาชวาเสียง ที่จะต้องมาซื้อพ่อแม่นก หรือลูกนกที่มีสายพันธุ์จากนกเขาชวาจะนะ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันกับนกเขาจะนะ คือแหล่งปลูกข้าวนก หรือข้าวเม็ดมะเขือ ซึ่งเป็นอาหารหลักของนกเขาชวาเสียง
“ข้าวนกชนิดนี้เมล็ดข้างในจะเป็นสีแดง เป็นที่นิยมของคนเลี้ยงนก โดยเฉพาะนกสายพันธุ์ดี เขาจะซื้อข้าวนี้ให้นกกิน”
ปะหลีม ย้ำถึงความสำคัญของข้าวนก
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2022/03/MVI_4310.MP4.00_00_01_15.Still001-1-1024x576.jpg)
“เสร็จจากนี้เราก็เอาไป “นวดตีน” เป็นการนวดด้วยเท้า แล้วเอาไปร่อนกับกระด้งแบบคนสมัยก่อน ก็จะได้เม็ดข้าวเปลือกสะอาด ไม่มีช่อติดอยู่ แต่ถ้าเอาไปนวดกับเครื่องนวดข้าว คุณภาพของข้าวเปลือกจะลดลง ยังมีช่อติดอยู่ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อนก แต่ถ้าใช้วิธี “นวดตีน” จะทำให้ข้าวหลุดจากช่อ ไม่มีเมล็ดที่ลีบ หรือเสีย”
คนที่มาซื้อส่วนใหญ่ ก็จะเป็นกลุ่มคนที่เลี้ยงนกในหมู่บ้าน และฟาร์มนกใหญ่ ๆ ในจะนะ
“ตำบลบ้านแค จะปลูกข้าวนกเยอะสุดในละแวกนี้ แต่ละปีจะขายได้เงินหลักหมื่น เกษตรกรบางรายปลูกข้าวนก 4-5 ไร่ ส่วนของบังปลูกไว้ประมาณครึ่งไร่ ปลูกแบบข้าวทั่วไป หว่านกล้า ถอนกล้า ดำนา และดูแลเหมือนกัน รวมๆ แล้วประมาณ 3-4 เดือน เราเลือกหว่านกล้า หลังข้าวเล็บนกประมาณครึ่งเดือน เพราะหนูชอบกินข้าวนก เราเลยต้องปลูกข้าวเล็บนกก่อน เพื่อล่อให้หนูไปอีกแปลง เพราะเมื่อข้าวเล็บนกเริ่มตั้งท้อง หนูก็จะไปกินข้าวเล็บนกก่อน ส่วนข้าวนกตั้งท้องหลัง ก็รอดไป”
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2022/03/IMG_2179.MOV.00_00_01_15.Still001-2-1024x576.jpg)
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2022/03/MVI_4363.MP4.00_00_09_05.Still001-2-1024x576.jpg)
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2022/03/MVI_4351.MP4.00_00_00_00.Still001-2-1024x576.jpg)
“เราจะเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ ซึ่งข้าวนกแบบเม็ดสีขาวจะปลูกกันมาแต่ดั้งแต่เดิม ส่วนสายพันธุ์ที่เม็ดข้าวสีแดงพึ่งเข้ามาตอนหลัง ส่วนข้าวสำหรับคนกินจะเป็นพันธุ์เล็บนก ปกติบังจะทำขายขนมตามตลาด และก็ทำเพาะนกเขาชวาขายด้วย แต่ก็ไม่เยอะมาก เลี้ยงนกเขาชวามาตั้งแต่เด็ก ๆ ฟังเสียงนกเป็น แต่นกที่เลี้ยงไว้ไม่ค่อยได้ดีเท่าไหร่ ไม่เคยได้ขายแพงสักตัว ตระเวนไปแข่งทั่วเหมือนกัน ไปถึงยะลา”
![](https://thecitizen.plus/wp-content/uploads/2022/03/MVI_4316.MP4.00_04_06_22.Still001-1-1024x576.jpg)