จากกรณีที่รัฐบาลได้แถลงข่าวเมื่อ 15 ก.พ.58 จะเปิดเวทีกลางถกสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ในวันที่ 20 ก.พ.58 และจะขยายเวลาการยื่นแสดงความจำนงสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือขยายเวลาการรับซองขอสัมปทานปิโตรเลียมออกไปก่อน โดยมิได้ประกาศยกเลิกการรับยื่นซองขอสัมปทาน
วันนี้ 16 ก.พ. 2558 เวลา ประมาณ 10.00 น. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เดินทางไปยื่นหนังสือเรื่องขอทราบผลการพิจารณาข้อเรียกร้อง และยื่นรายชื่อประชาชนที่เรียกร้องให้ยกเลิกการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพิ่มเติม ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ตามกำหนดเดิม ณ ศูนย์บริการประชาชน ตึก กพ. ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ต่อกรณีการเปิดเวทีในวันที่ 20 ก.พ.ตามที่รัฐบาลเสนอมาด้วย
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ระบุแสดงความขอบคุณที่รัฐบาลให้ความสนใจและเริ่มจะเปิดรับฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ยังเห็นว่าเป็นการตอบโจทย์ที่ไม่ถูกต้องที่จะให้ขยายเวลาการรับซองเพื่อยื่นขอสัมปทานแทนที่จะเป็นการยกเลิกการยื่นซองขอสัมปทานออกไปก่อนที่จะมีการเจรจาพูดคุย
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กล่าวว่า วันนี้ถ้าผู้ที่มีหน้าที่ระดับสูงไม่ลงมารับหนังสือ เราจะยังคงนั่งอยู่ตรงนี้จนกว่าจะมีคนออกมารับหนังสือจากพวกเรา
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงมาพูดคุยเรื่องรับหนังสือชะลอการสัมปทานพลังงานครั้งที่ 21 จากกลุ่มประชาชนที่มารวมตัวกัน
ส่วนสำนักข่าวไทย รายงานข่าวการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.สรรเสริญ ต่อกรณีการเปิดเวทีกลางรับฟังความเห็นประชาชนฯ ว่า เจ้าภาพหลักในการจัดงานครั้งนี้ คือรัฐบาล และเชิญทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพลังงาน ผู้ที่ยังมีข้อห่วงใย นักวิชาการ ประชาชน รวมถึงนักลงทุน มาชี้แจงพร้อมกันในประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย เพื่อเป็นการให้ข้อมูลกับรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประชาชนทุกภาคส่วน โดยถือเป็นการแสดงความจริงใจของรัฐบาลในการรับฟังความเห็นเพื่อให้การเดินหน้าสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นความมั่นคงทางพลังงาน เดินไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมที่สุดกับประเทศชาติ
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการให้ใครพูดว่าการเดินหน้าครั้งนี้ยังไม่ได้ฟังความเห็นจากประชาชน ยอมรับว่าที่ผ่านมา ข้อมูลมี 2 ด้าน แต่ครั้งนี้จะเป็นเวทีกลางที่จะให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันรับฟังข้อมูล
“เราจะให้ฝ่ายรัฐบาลนำคำถามที่ได้ ไปทำการบ้าน แล้วมาตอบ โดยนำคำถามที่มาจากข้อสงสัยทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น ความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องเดินหน้า อีกกี่ปีความมั่นคงทางพลังงานจะหมดลง ข้อมูลนำมาจากไหน แบบไหนเป็นวิธีที่เหมาะสมระหว่างการสัมปทานหรือการแบ่งปันผลผลิต ถ้าตัดสินใจในรูปแบบการแบ่งปันผลผลิตจะต้องใช้ระยะเวลาในการจัดเตรียมข้อกฎหมายอีกนานแค่ไหน รัฐบาลต้องลงทุนด้วยหรือไม่ มีงบเพียงพอไหม หากจะตกลงการลงทุนสัมปทาน ทำแล้วราคาพลังงานในประเทศจะถูกลงหรือไม่ ในทุกๆ คำถามจะทำเป็นชุดคำถามเพื่อส่งมอบให้ทั้ง 2 ฝ่าย เตรียมไปทำการบ้านมาตอบ” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า การรับฟังความเห็นในเวทีกลางของรัฐบาลครั้งนี้ จะไม่ใช่การถามคำถามหนึ่งแล้วโต้กันไปมา จะมีระยะเวลาให้แต่ละฝ่ายตอบคำถามครบตามเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าเวทีดังกล่าวน่าจะมีแนวทางที่รัฐบาลตัดสินใจว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป เพราะผู้ที่มาร่วมในเวทีจะเป็นผู้ใหญ่ และต้องอยู่บนพื้นฐานในการรับฟังข้อมูลคนอื่นบ้าง แม้จะมีมุมของตัวเอง แต่ก็ต้องเปิดใจรับฟังข้อมูลอีกฝ่ายด้วย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพหลัก ส่งจดหมายเชิญทุกภาคส่วนเข้าร่วมเวทีดังกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรีจะลงมารับฟังความเห็นด้วยหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีติดภารกิจใดหรือไม่ แต่การที่เกิดเวทีกลางโดยใช้ทำเนียบรัฐบาล เป็นการแสดงความจริงใจของรัฐบาล ส่วนเวทีนี้ จะเป็นเวทีสุดท้ายหรือไม่ รัฐบาลคาดหวังเช่นนั้น การพูดคุยน่าจะมีคำตอบให้สังคมได้ ส่วนใครจะเป็นพิธีกร มีตัวเลือกในใจหลายคน เชื่อมั่นว่าคนทำหน้าที่เป็นที่น่าเชื่อถือของสังคม มีความรู้พลังงาน และทราบถึงผลกระทบประชาชนในพื้นที่ด้วย
ด้าน นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โฆษกคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และอนุรักษ์พลังงาน คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กส่วนตัว ในวันเดียวกัน ระบุ แถลงข่าวอย่างเป็นทางการของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน ประเทศไทยต้องมีทางเลือก กรรมาธิการกำลังปรับปรุง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้สามารถเลือกได้ทั้ง 2 ระบบ (สัมปทานและแบ่งปันผลผลิต) เราต้องมีศูนย์ข้อมูลพลังงานแห่งชาติ TEIH โดยเป็นอิสระจากภาครัฐ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และสามารถอ้างอิงได้