ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตเมืองอุบลกับคนปลายน้ำ

ฟังเสียงประเทศไทย : อนาคตเมืองอุบลกับคนปลายน้ำ

อุบลราชธานี เป็นพื้นที่จังหวัดปลายน้ำในภาคอีสานเสมือนปราการสุดท้ายที่ต้องรับน้ำก่อนลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งเมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำสายหลักในภาคอีสาน ทั้ง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และลุ่มน้ำสาขา เพื่อออกสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยอุบลราชธานีมีลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ

อุบลราชธานีเคยเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง โดยล่าสุด คือปี 2562 เรื่องนี้นำมาซึ่งความตื่นตัวในการหาแนวทางป้องกันและรับมือน้ำท่วมเมืองอุบลราชธานีในหลายลักษณะ มีทั้งอยู่ระหว่างศึกษาโครงการ และศึกษาแล้วเสร็จ พร้อมเป็นข้อเสนอเพื่อดำเนินการ ทำให้มีการสร้างพื้นที่ถกเถียง-แลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออก ทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ภาควิชาการ  ภาคประชาสังคม และหน่วยงานรัฐ โดยเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของโครงการศึกษาเพื่อทำโครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี ที่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ดำเนินการมีคำถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และทางเลือกอื่น ๆ

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ส.ส.ท. โดยฝ่ายพัฒนานักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ วางแผนการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคสังคม  นักวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเครือข่ายสื่อพลเมืองจึงได้เพื่อเปิดพื้นที่การสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีการรับฟังและนำไปสู่การแก้ปัญหาบนฐานข้อมูล (Database) โดยเน้นให้มีพื้นที่กลางของสังคมที่ประชาชนสามารถใช้พื้นที่ในรูปแบบของประชาธิปไตยถกแถลง และพูดคุยประเด็นต่าง ๆ ผ่านการทำงานของโครงการฟังเสียงประเทศไทย Next Normal โดยมีการบันทึกรายการพร้อมชวนคุยถึงมุมมองและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ณ ท่าน้ำวัดบ้านช่างหม้อ ต.คำน้ำแซ่บ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยน รับฟังข้อมูลเพื่อรวมมองภาพอนาคตร่วมกัน ทั้ง นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี / เครือข่าย อช.ปภ.อุบลราชธานี /  ชาวบ้าน ต.ไร้ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร / ชาวบ้านหนองกินเพล อ.วารินชำราบ และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อมองและหาทางออกร่วมกัน ถึง “ภาพอนาคตเมืองอุบลกับคนปลายน้ำ”

และนอกจากประสบการณ์ร่วมของตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่อุบลราชธานี รวม 30 คน ข้อมูลและตัวเลข Fact & Figures เหตุการณ์น้ำท่วมเมืองอุบล ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีได้เห็นข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้น

Fact & Figures เหตุการณ์น้ำท่วมกับเมืองอุบล

“อุบลราชธานีมีพื้นที่ประมาณ 16,112.650 ตร.กม. อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 630 กิโลเมตร ยกฐานะเป็น “เมืองอุบลราชธานี” ในปี 2335  ทิศเหนือ  ติดอำนาจเจริญ ยโสธร และ สปป.ลาว ทิศตะวันออก ติด สปป.ลาว  ทิศใต้ ติดกัมพูชาและศรีสะเกษ ทิศตะวันตก   ติดศรีสะเกษ และยโสธร มี 25 อำเภอ ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ระบุว่ามีประชากร 1,868,052 คน

อุบลราชธานี มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่คล้ายกับแอ่งกระทะ มีแม่น้ำโขงเป็นแนวเขตกั้นกับ สปป.ลาว มีแม่น้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูลที่อำเภอวารินชำราบ มีแม่น้ำมูลไหลผ่านกลางเมืองสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม และมีแม่น้ำอีกหลายสาย ทั้ง ลำเซบก ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย และเป็นพื้นที่รับน้ำสุดท้ายทั้งจากแม่น้ำชี้ และแม่น้ำมูล ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง

แหล่งน้ำธรรมชาติ ใน จ.อุบลราชธานี ประกอบด้วย

แม่น้ำโขงที่ไหลผ่าน อ.เขมราฐ อ.นาตาล อ.โพธิ์ไทร  อ.ศรีเมืองใหม่ ไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ อ.โขงเจียม ซึ่งแม่น้ำมูลจะไหลผ่าน อ.เมือง อ.วารินชำราบ อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.โขงเจียม

ส่วนแม่น้ำชีไหลผ่าน อ.เขื่องใน และบรรจบกับแม่น้ำมูล ส่วนลำเซบกเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่าง อ.เมือง กับ อ.ม่วงสามสิบ ไหลผ่าน อ.ตระการพืชผล ดอนมดแดง เหล่าเสือโก้ก มาบรรจบกับแม่น้ำมูลที่ อ.ตาลสุม และลำเซบายมาจาก จ.ยโสธร ผ่าน อ.เขื่องใน อ.ม่วงสามสิบ และ อ.เมือง แล้วลงสู่แม่น้ำมูล นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำเพื่อการชลประทาน คือ เขื่อนสิรินธร ที่ อ.สิรินธร และเขื่อนปากมูล ที่ อ.โขงเจียม

ประวัติศาสตร์เมืองอุบลกับเหตุการณ์น้ำท่วม  

งานวิจัยโดย รศ. ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ และคณะ ระบุว่ามีอย่างน้อย 4 ครั้ง คือในปี 2481 2521 2545 และ 2562

ปี 2521  เกิดจากพายุ 2 ลูก คือ เบส และ คิท ครั้งนั้นน้ำไหลท่วมเข้ามาถึง “ใจกลางเมือง”
ปี 2528  บ้านท่ากกแห่ บ้านทัพไท บ้านคูเดื่อ น้ำท่วมใหญ่ครั้งแรก 3-4 วัน
ปี 2545 พายุโซน ร้อน “หว่องฟง” น้ำท่วมเสียหาย 18 อําเภอ 5 กิ่งอําเภอ
ปี 2550 มีความรุนแรงในพื้นที่ 19 อําเภอ
ปี 2552  พายุ “กีสน่า” พื้นที่ประสบภัย 23 อําเภอ
ปี 2553 เกิดน้ำท่วมขึ้นในพื้นที่ 22 อําเภอ
ปี 2554 เกิดปรากฏการณ์ลานีญา รวม 25 อําเภอ
ปี 2560 น้ำท่วมทั้งสิ้น 23 อําเภอ
ปี 2562 น้ำท่วม 25 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 42,383 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย จํานวน 639,556 ไร่

งานวิจัยโดยรองศาสตราจารย์ ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ และคณะ ได้ระบุสาเหตุของน้ำท่วม ดังนี้
1. อุบลราชธานีเป็นพื้นที่รับน้ำสุดท้ายตามสภาพภูมิศาสตร์
2.ขาดการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบลุ่มน้ำมูล ชี และ โขง
3.ภัยตามธรรมชาติ ได้แก่ พายุตามฤดูกาลประจําทุกปี
4.การวางผังเมืองที่ไม่ได้คํานึงถึงการเก็บรักษาแหล่งรับน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำและกําหนดขอบเขต (Zoning)
5.การพัฒนาขยายตัวของเมืองและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ทับถมทางไหลของน้ำ

นอกจากนี้ อุบลราชธานี ยังมีโอกาสที่ดีในการยกระดับศักยภาพเป็น “เมืองน่าอยู่ทันสมัย ประตูสู่การค้าการลงทุน ท่องเที่ยวหลายมิติ เกษตรสู่สากล” เนื่องจากเป็นจังหวัดชายแดนสำคัญของภาคอีสาน และเป็นเมืองเก่าแก่มีประวัติความเป็นมา กว่า 200 ปีและมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี

ฉากทัศน์ Scenario ภาพอนาคตเมืองอุบลกับคนปลายน้ำ

เพื่อให้ได้แลกเปลี่ยนและมองภาพอนาคตเมืองอุบลกับคนปลายน้ำไปด้วยกันอย่างรอบด้าน ณ วัดบ้านช่างหม้อ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พิกัดริมฝั่งแม่น้ำมูล ที่มีตัวแทนชาวอุบลราชธานี 30 คน ซึ่งทุกคนต่างมีประสบการณ์รับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2562 วันนี้จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในรายการของเรา มองภาพอนาคตเมืองอุบลกับคนปลายน้ำกับ 3 ฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนี้ โดยมี คุณสุชัย เจริญมุขยนันท จาก Ubonconnect ทำหน้าที่ดำเนินวงสนทนา

คุณสุชัย เจริญมุขยนันท

“เราจะมาขยายความใน  scenarios แต่ละชุดให้ท่านได้ฟัง อย่างตั้งใจนะครับว่ามีเหตุผลอย่างไร โดยเริ่มต้นจาก คุณเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาสำนักงานชลประทานที่ 7 ช่วยพูดถึงข้อมูลและเหตุผลนะครับ โครงการชลประทานในเรื่องคลองผันน้ำให้พวกเราได้ฟังหน่อยครับในเวลาประมาณคนละ 4 นาที”

ฉากทัศน์ A คลองผันน้ำ

คุณเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์  “ผมอยากเกริ่นให้ทราบว่า ตลิ่งฝั่งอำเภอวารินชำราบจะสูงจากท้องน้ำประมาณ 7 เมตร ฝั่งอำเภอเมืองสูงจากท้องน้ำประมาณ 8 เมตร ต่างกันอยู่ 1 เมตร ถ้าเกิดน้ำล้นตลิ่งจะล้นจากอำเภอวารินชำราบก่อน จุดตรงนั้นจะเป็นจุดที่แม่น้ำมูลสามารถรับน้ำได้ในอัตราแค่ 2.300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที  กรมชลประทานจึงมีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้กับทางอุบลราชธานี มันจะมีอยู่ 2 แนวทาง คือ แนวทางของเรื่องการใช้สิ่งก่อสร้างกับไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง

การไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง คือ อย่างที่เราทำกันมาก็อย่างเรื่องของการบริการจัดการน้ำ เรื่องของการจัดการจราจรน้ำ ถ้าสายมูลมามากกว่าสายชีเราก็ต้องเร่งระบายสายมูลออกก่อน ถ้าชีมามากกว่าเราก็พยายามเบรกสายมูลเพื่อให้ทางชีลงมาลงสู่แม่น้ำโขงไปก่อน

ส่วนมาตราการที่ใช้สิ่งก่อสร้างมันมีอยู่สองแนวทาง ตอนนี้ก็คือจะมีคลองผันน้ำจะเป็นคลองผันน้ำฝั่งขวาแนวทางการผันน้ำของคลองผันน้ำฝั่งขวาดำเนินการศึกษาโดยกรมชลประทาน อีกอันหนึ่งคือคลองผันน้ำฝั่งซ้าย อันนี้ดำเนินการศึกษาโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในเรื่องการผันน้ำก็คือเรารับน้ำตั้งแต่ห้วยขยุง คือ เราต้องตัดยอดน้ำก่อนเลย น้ำที่ไหลจากแม่น้ำมูลเพื่อที่จะเข้ามาอุบลเรารับได้แค่ 2,300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่เราตัดออกไปก่อนเลย 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที  เพราะฉะนั้นน้ำ อย่างน้อยก็ช่วยทำให้มีพื้นที่ว่างเพิ่มอีก ที่จะทำให้สามารถรับน้ำได้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูล เราตัดตั้งแต่ลำน้ำยัง ตัดผ่านทางยโสธร มาลงที่แม่โขงเลย ตัวนั้นตัดมาอีก 800 กว่าลูกบาศก์เมตร/วินาที รวม 2 สายตรงนี้ คลองผันน้ำสองเส้นตัวนี้เรารวมได้ประมาณ 2,000 กว่าลูกบาศก์เมตร/วินาที คือ 2 แนวทางนี้ไม่ใช่ว่าสร้างเสร็จแล้วจะแก้ปัญหาอุทกภัยได้ 100% แต่เป็นการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เราไม่มีทางเอาชนะธรรมชาติได้ ต้องเข้าใจตรงนี้กันด้วยเราก็อยู่กับธรรมชาติ แต่เป็นการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากหนักให้เป็นเบาที่สุด”

ฉากทัศน์ B โครงข่ายน้ำ

ผศ.ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี “คราวนี้ในปี 64 ที่เจอเราก็พบว่าเป็นการบริหารน้ำที่ดีมาก ต้องยกความดีความชอบให้กรมชลประทานด้วย ปี 62 ผมรู้สึกว่าการบริหารเรายังไม่ดีพอยังมั่ว ๆ กันอยู่ในการบริหารจัดการ แต่พอ ปี 64 ผมให้เลยเพราะหลายคนบอกว่ามาแบบนี้ท่วมเลย 

เพราะฉะนั้นจากประสบการณ์ที่ผมเจอมาทั้งหมด ผมเลยมองว่าแนวคิดสมัยก่อนในการแก้ปัญหาน้ำท่วมเราจะระบายน้ำอย่างเดียว เคยหาวิธีการระบาย ทาง อบจ.อุบลราชธานี บอกว่าอาจารย์ช่วยดูหน่อย ตอนที่ผมบินโดรนผมก็รู้สึกว่า ผมเจอเหตุการณ์บางอย่างว่าทำไมก่อนเข้าถึงแก่งสะพือน้ำไม่ท่วม มันมีภูเขาด้านน้ำมันมาตามพื้นที่ ไม่ได้มาตามลำน้ำ ไปเจอภูเขาแถวนั้นไปต่อไม่ได้ ต้องรอลงแม่น้ำมูล เซบก ลำโดมใหญ่ เอ่อระเนระนาดอยู่แถวนั้น เหมือนกันเพราะระบายออกไม่ได้ ต้องรอแม่น้ำมูล พอเจอแม่น้ำมูลก็ต้องรอแก่งสะพืออีก มันก็เลยทำให้ไปต่อไม่ได้

เราเคยคิดว่าถ้าสมัยก่อนถ้าขุดอุโมงค์ได้ ก็อยากจะขุดระบายออกไปเลยนะ ทิ้งแม่น้ำโขงไปเลย ไม่ต้องกระทบผิวดินใช่ไหมครับ อุโมงค์ไปเลย ในหน้าน้ำเราอยากระบายเราก็เปิดประตูระบายไปเลย  เหมือนต่างประเทศ เขาเอารถสิบล้อวิ่งได้เลยอุโมงค์นี้ ก็เปิดให้ระบายไปเลยเพื่อช่วยลดการท่วมระยะเวลาและก็พื้นที่การท่วมด้วย แต่ถ้าหน้าแล้งก็ปิดประตูนั้นไม่ให้น้ำไปอย่างนี้เป็นต้น  เราก็เคยจะเสนอแต่ว่าหลัง ๆ มาเราต้องคิดกันใหม่ ทั้งภาครัฐทั้งภาควิชาการ ก็มาช่วยกันคิดว่าเราไม่ได้แก้ปัญหาแค่น้ำท่วมอย่างเดียวเราควรจะแก้ทั้งแล้งและท่วม

ผมเลยบอกว่า Water Network ที่กำลังคิดหรือว่าโครงข่ายน้ำ ผมคิดเหมือนธรรมชาติ ร่างกายมีเส้นเลือดเต็ม ถูกกระจายไปทั่วร่างกาย ทำให้ร่างกายเราอุดมสมบูรณ์ อยู่ได้ ผมก็เปรียบประเทศไทยหรืออีสานเราก็ได้ถ้าสมมุติว่าเรามีโครงข่ายน้ำ มีสายน้ำไปทั่วพื้นที่ภาคอีสาน ผมว่าไม่แล้งครับ เพราะว่าปริมาณฝนของเราเฉลี่ยแล้วก็คือ 1,600 มิลลิเมตร/ปี โดยเฉลี่ยมันเยอะนะ คูณพื้นที่อีสานเข้าไป นั่นคือปริมาตรน้ำทั้งหมด

เพราะฉะนั้นการที่เราระบายโขงลงไปสู่ต่างประเทศเราก็เสียดายน้ำแล้วก็มาบ่นมาแล้ง ผมเลยบอกว่าเราใช้วิธีการตัดยอดน้ำคล้าย ๆ ที่ทางชลประทานบอกครับ เราก็ตัดยอดน้ำตั้งแต่ต้น แต่การตัดยอดน้ำไม่ได้ไปตัดที่เดียวเราตัดได้หลายที่ก็คือเก็บไว้ใช้ แล้วก็ทำคลองใส้ไก่ ทำอะไรให้มันเชื่อมกันทั้งหมด ที่นี่ขาด ที่นี่ไม่พอ เกิน ส่งไปได้ไหม

เพราะฉะนั้นถ้าเรามีแหล่งน้ำขนาดเล็กกระจายไปตามพื้นที่ชาวไร่ ชาวนาเอาพวกนี้ไปปลูกผัก ปลูกพืช เสร็จแล้วถ้าเหลือส่งไปให้คนอื่นถ้าขาดคนอื่นส่งมาให้เรา ถ้าอยู่อย่างนี้ผมมองว่ามันได้ ดูแล้วก็ต้องใช้เวลาพอสมควร”

ฉากทัศน์ C อยู่กับน้ำ

บันเทิง พลสวัสดิ์ ทีมวิจัยการจัดการความรู้และขยายผลรูปแบบการจัดการภัยพิบัติน้ำท่วม รพ.สต.ดงห่องแห่ “คือที่ผ่านมาทั้งหมดคือเห็นคนน้ำท่วม ออกหน่วยบรรเทาทุกข์ แต่ในปี 62 มันเจอด้วยตัวเองก็คือทั้งไปออกหน่วยบรรเทาทุกข์ แล้วก็ไปเจอผู้ประสบภัยอพยพขึ้นมาแล้วก็มีความขัดแย้งในพื้นที่มากมาย ถ้าเป็นแบบนี้ไปถามชาวบ้านดูสิว่าน้ำท่วมเขาจะทำอย่างไร เขาจะอยู่กับน้ำไหม อพยพย้ายหนี

เราก็ไปสอบถามกับชาวบ้านมันถึงเป็นที่ไปที่มาของตัวนี้ ชาวบ้านบอกจะให้หนีไปไหน ถ้าไปจะไปหาเพื่อนบ้านที่ไหน จะเอาที่ไหนไปซื้อที่ เราไม่ไป ทีนี้เลยเป็นที่มาที่ไป ว่าถ้างั้นทำอย่างไรถึงจะอยู่กับน้ำได้ ท่านพระครูบอกว่าอยู่กับน้ำให้ได้ น้ำมันไม่ท่วมตลอดไป แล้วก็จากที่ไปคุยกับชุมชนที่น้ำท่วมเหมือนกัน อย่างท่ากกแห่ เขาเรียกคุณหมอ บอกว่าน้ำท่วมไม่กลัวเท่าโควิด-19 แต่ก่อนกลัวเรื่องน้ำท่วม อยากจะให้มันหยุดท่วมเมืองอุบลแต่มาดูแล้วอยู่มานี่ 40 ปี ไม่เคยว่าน้ำไม่ท่วม เพราะว่าถ้าน้ำจะไม่ท่วมคุณก็หนีไปอยู่ฝั่งไม่ติดแม่น้ำ ถ้าคุณติดอยู่กับแม่น้ำยังไงน้ำก็ท่วม ไม่ปีนี้ก็ปีหน้า

เพราะฉะนั้นคุณต้องยอมรับให้ได้ เขาก็เลยบอกว่าน้ำท่วมมันมีระยะเวลาก็คือหน้าฝนน้ำก็จะท่วม 3-4 เดือน เตรียมตัวและน้ำมันจะไม่ท่วมหรอกเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ เพราะว่าฝนมันหมดแล้ว ในระหว่าง 4 เดือน ทำอย่างไร คุณก็หารายได้ออมไว้ สำหรับที่จะใช้จ่ายในช่วงน้ำท่วม แล้วทีนี้เวลาน้ำไม่ท่วมมีทุ่งนาเราก็ทำนาหน้าแล้ง ลองทำดู ปลูกผักอย่างที่เราทำมีอาชีพเสริมก็สานตระกร้า ทำอะไรที่เราสามารถทำได้มานั่งพักในศูนย์ ดีกว่ามานั่งคุยกัน หาอาชีพสานตระกร้าแล้วขายไป สามารถที่จะทำได้อันนี้ก็คือสิ่งที่เราทำมานะคะ และอีกประการหนึ่งที่เขาเสนอมานะคะ ชุมชนเสนอมา ถ้าเรือไม่มีถ้าให้องค์กรปกครองท้องถิ่นหรือชาวบ้านซื้อมันแพง เรือท้องแบนประมาณ 6-8 แสน ไม่ได้ทำอย่างไร ชุมชนเขาก็บอกว่าเขาผลิตเรือได้เขาก็ทำเรือ ลำหนึ่งประมาณหมื่นกว่าบาทเขาก็สามารถที่จะทำได้ของใครของมันเวลาน้ำท่วมมาเขาก็สามารถที่จะอพยพมาได้ ไม่ต้องรอเรือลำเดียวของเทศบาล เขาก็ช่วยตัวเองขึ้นมาเขาก็บอกว่าเขาสามารถที่จะทำได้

และอีกอันหนึ่งก็คือ แหล่งรับน้ำถ้ามองว่าเป็นแหล่งรับน้ำขนาดใหญ่ มันก็อาจจะได้ผลประโยชน์ในส่วนที่อยู่ในคลองน้ำแต่ถ้าของเขาเผื่อบริเวณที่เลียบแม่น้ำมูลหรือเลียบน้ำชีต่าง ๆ มันน่าจะมีหนองสำหรับดักน้ำ ดักเป็นช่วง ๆ คือถ้าทุกคนมีหนอง มีคลองทุกคนก็อยากจะได้มันก็จะไม่ใช้งบประมาณเยอะ แล้วก็ต่อคลองอย่างที่อาจารย์บอก คลองไส้ไก่ต่อไปหากันก็จะดักน้ำ ดักน้ำแล้วทีนี้ พอหน้าแล้งตัวนี้ก็จะยังเหลือเขาก็ยังจะทำการเกษตรได้ คือ ก็ได้ทั้งประโยชน์  โทษคือเขาได้รับน้ำท่วมแต่ประโยชน์คือเวลาหลังน้ำท่วมเขาสามารถที่จะทำการเกษตรได้ เขาก็ต้องปรับตัวใหม่ ว่าทุกคนหน้าฝนที่อื่นก็ทำตามไปอาชีพของตนเอง  แต่หน้าฝนของเขาต้องเตรียมตัวน้ำท่วมคุณจะต้องทำกันชนด้านการเงินไว้ว่าคุณจะต้องสะสมเหมือนหลอกให้ตัวเองออมเงิน

ปีนี้เขาก็เริ่มหาเงินไว้ พอไม่ได้ใช้มันก็เป็นเงินออมของตัวเอง มันก็เป็นความเข้มแข็งของชุมชน เขาสามารถที่จะอยู่ได้ในสถานะน้ำท่วมที่ผ่านมาของชุมชนน้ำท่วม ตำบลประทุมกุดราช คือเขายืนยันว่าเขาจะอยู่กับน้ำเพราะว่าเขาไม่สามารถที่จะทำอะไรให้ฝืนธรรมชาติ ก็ต้องปรับตัวอยู่กับมันให้ได้ตามสภาพ”

นี่เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม “รับฟัง” มองและรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อร่วมออกแบบ “ภาพอนาคตเมืองอุบลกับคนปลายน้ำ” และทั้งหมดนี้ ยังไม่มีคำตอบสุดท้าย เพราะภัยพิบัติน้ำท่วมยังเป็นโจทย์ของพื้นที่ปลายน้ำภาคอีสาน จ.อุบลราชธานี ที่ต้องการข้อมูลเพื่อร่วมออกแบบ ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมตัดสินใจ โดยสามารถร่วมโหวตฉากทัศน์ภาพอนาคตเมืองอุบลได้ตามลิงก์ที่ปรากฏนี้

คุณผู้ชมทางบ้านยังสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและโหวตเลือก “ภาพอนาคตของเมืองอุบลกับคนปลายน้ำ” ได้ที่ พร้อมร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส ทั้งประเด็นระดับชาติ และประเด็นท้องถิ่นอีสานกับอยู่ดีมีแฮง และ Thai PBS

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ