อยู่ดีมีแฮง : ผักพายน้อย จากพืชท้องนาสู่รายได้ 1 ไร่ หลายแสน

อยู่ดีมีแฮง : ผักพายน้อย จากพืชท้องนาสู่รายได้ 1 ไร่ หลายแสน

ต้นข้าวยังคงแช่อยู่ในน้ำระดับปริ่มคันนา นี่คือภูมิปัญญาโบราณในการควบคุมวัชพืชที่ส่วนใหญ่จะไม่งอกใต้น้ำ และเมื่อมีน้ำปลาชนิดต่างๆก็มักเข้ามาวางไข่ออกลูกออกหลานหากินในนา รอวันเติบโตแล้วกลับมาเป็นอาหารเลี้ยงเจ้าของนาในวันข้างหน้าด้วย แต่ก็มีวัชพืชบางชนิดที่สามารถงอกงามในน้ำได้เช่นกัน ซึ่งชาวนาจะต้องคอยถอนทิ้งอยู่เสมอเพื่อไม่ให้มาแย่งอาหารต้นข้าว แต่มีพืชอยู่ชนิดหนึ่งที่งอกใต้น้ำขึ้นมาแซมต้นข้าวได้แต่ชาวนากลับไม่ถอนทิ้ง มันเป็นพืชต้นเล็กๆที่สามารถกินได้ แถวบ้านผู้เขียนเรียกว่าผักพายน้อย แต่บางหมู่บ้านก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป เช่น ผักหูกระต่าย, ผักก้านจอง ก้านจง อะไรก็ว่ากันไปตามพื้นที่  ซึ่งตอนเด็ก ๆ ผู้เขียนมักจะถูกใช้ไปเก็บผักชนิดนี้มาวางกองไว้ในพาข้าว(สำรับ)หากวันนั้นมีอาหารประเภทป่น (ปลา, ปลาทู, กบ ฯลฯ) นอกจากนั้นมันยังสามารถกินเป็นผักแกล้มส้มตำได้อร่อยมาก

หลายปีแล้วที่ผู้เขียนไม่เห็นผักชนิดนี้ตามท้องทุ่งทั่วไป อาจจะด้วยกรรมวิธีการทำนาที่เปลี่ยนไปหรือจากสภาพฝนฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยก็ไม่ทราบได้ ผักพายน้อยแทบจะหายไปจากธรรมชาติแล้ว แต่ที่น่าแปลกใจคือผักชนิดนี้ยังมีขายอยู่ตามตลาดและบางทีก็มีขายทั้งที่ไม่ใช่ฤดูฝน นั่นเป็นเพราะมีคนปลูกไว้ขายนั่นเอง

บ้านโนนเมืองน้อย ตำบลคู่เมือง อำเภอวารินชำราบ คือหนึ่งในพื้นที่ปลูกผักพายน้อยใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี  หากเราเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านจะสังเกตเห็นหลังคาคลุมสแลนกันแดดจำนวนมากตามสองข้างทาง นั่นคือแปลงปลูกผักพายน้อยของเกษตรกรบ้านนี้ กัญญารัตน์ มงคลพรหม  คือหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกการปลูกผักพายน้อยของหมู่บ้าน  เธอเล่าให้ฟังว่าแรกเริ่มเดิมทีตนเองรวมถึงคนอื่น ๆ ก็ทำนามาก่อน มีอยู่ช่วงหนึ่งราคาข้าวตกต่ำมาก ทำงานหนักอยู่หลายเดือนขายข้าวได้ไร่ละ 5 พันบาท ซึ่งถ้าคำนวณตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วขาดทุนยับ จึงมาคิดกันว่าจะหาอะไรปลูกแทนดี เธอสำรวจตลาดและพบว่าผักชนิดนี้ยังไม่มีขายจึงคิดว่านี่เป็นโอกาสที่ดีหากไร้คู่แข่ง และทดลองปลูกจนได้ผลซึ่งช่วงแรกราคาไม่ค่อยดีปลูกอยู่ 1 ไร่ได้แค่ 4 หมื่นบาทเอง แต่หากเทียบกับราคาข้าวไร่ละ 5 พันบาทแล้ว ก็ถือว่ามีรายได้มากกว่าตั้ง 8 เท่า

กัญญารัตน์  มงคลพรหม

นั่นเป็นรายได้ในช่วงที่ผักพายน้อยราคากิโลกรัมละ 10-20 บาทเท่านั้น เพราะช่วงแรกปลูกในฤดูกาลที่ยังพอมีผักตามธรรมชาติมาแข่งขันอยู่ทำให้ราคาไม่สูงนัก แต่หากเป็นช่วงหน้าแล้งจะมีราคาเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 40-60 บาทเลยทีเดียว ดังนั้นกัญญารัตน์พร้อมพวก จึงทดลองปลูกนอกฤดูกาล

จากการลองผิดลองถูกเอาเอง เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของผักพายน้อยอยู่นานหลายปี ทำให้ทราบว่าผักชนิดนี้สามารถงอกงามได้ด้วยการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ให้เหมาะสม กัญญารัตน์แนะนำว่าสิ่งสำคัญในการปลูกคือเรื่อง “น้ำ” ที่จะต้องเป็นน้ำจากสระเท่านั้น น้ำบาดาลปลูกไม่ได้เพราะความเป็นกรดเป็นด่างจะไม่เหมาะสม ส่วนพื้นที่ต้องเป็นที่ดอน สภาพเป็นดินเหนียวปนทราย ซึ่งที่กล่าวมาทั้งน้ำและดินแบบอื่น ๆ ก็อาจปลูกได้แต่จะไม่ได้ผลดี ไม่คุ้มทุน หรือหากโชคร้ายก็จะไม่งอกเลย

สำหรับวิธีการนั้นเธอเล่าให้ฟังอย่างคร่าว ๆ ว่า เมื่อได้พื้นที่ที่เหมาะสมแล้วอาจจะไม่ต้องใหญ่มาก 1-2 งานก็ได้ แล้วเตรียมดินเหมือนจะหว่านกล้า คือปล่อยน้ำเข้าให้เต็ม ไถพลิกหน้าดินแล้วปั่นให้ดินละเอียดจนเป็นโคลน จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์คลุกกับเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อป้องกันเชื้อราชนิดอื่นไม่ให้มาติดเมล็ดพันธุ์ เมื่อคลุกเคล้าเข้ากันดีแล้วก็หว่านลงไปในแปลงปลูกเหมือนหว่านกล้าข้าว ซึ่งในแปลงบางทีจะมีน้ำขังอยู่ทำให้เมล็ดพันธุ์ที่น้ำหนักเบาอาจไปกองรวมกัน ฉะนั้นจึงต้องหาอุปกรณ์เช่น ไม้กวาดทางมะพร้าวหรือกิ่งไม้มากวาดเมล็ดพันธุ์ที่ลอยอยู่ให้กระจายไปทั่วพื้นที่แปลงอย่างสม่ำเสมอ สำหรับพื้นที่ปลูก 1 ไร่จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 10 กิโลกรัม ซึ่งหากซื้อจะตกกิโลกรัมละ 3,500 บาท นี่คืออุปสรรคใหญ่ของเกษตรกรมือใหม่ที่ไม่กล้าลงมือปลูกเพราะค่าเมล็ดพันธุ์แพงมาก แต่สำหรับกัญญารัตน์ช่วงแรกอาจจะต้องลงทุนสูงเรื่องค่าเมล็ดพันธุ์ แต่หลังจากนั้นเธอก็จะแบ่งผักพายน้อยส่วนหนึ่งไว้ให้ออกดอกแล้วเก็บเมล็ดพันธุ์เอง

หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์แล้วก็ทิ้งไว้ประมาณ 2 วันให้น้ำแห้ง โดยเกษตรกรจะมุงตาข่ายกรองแสงหรือสแลน 60% เต็มพื้นที่ปลูกเพื่อควบคุมไม่ให้แดดลงจัดเกินไป เมื่อเห็นว่าเริ่มงอกแล้วก็ปล่อยน้ำเข้าไปให้ท่วมเหมือนเดิมเพื่อควบคุมวัชพืชและควบคุมให้ระดับน้ำสูง 25-30 ซม.ไปอีก 1 เดือน จากนั้นค่อยลดระดับน้ำลงเพื่อใส่ปุ๋ยจะเป็นเคมีหรืออินทรีย์ก็ได้ แต่ที่สวนของกัญญารัตน์และกลุ่มของเธอนั้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์ล้วน ส่วนศัตรูพืชและโรคของผักชนิดนี้มีไม่มากนัก  อย่างมากก็อาจมีโรคใบเหลืองบ้างแต่ไม่ต้องตกใจเพราะเกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศและเขาจะหายเอง ส่วนแมลงศัตรูพืชนั้นไม่มี วัชพืชก็ควบคุมได้ด้วยระดับน้ำ ที่เหลือก็แค่รอให้เขาเติบโตต่อไปโดยใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือนก็สามารถเริ่มเก็บขายได้

การเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้น เกษตรกรจะทยอยเก็บวันละไม่มากหรือตามออเดอร์ของลูกค้าในแต่ละวัน ซึ่งสามารถเก็บไปได้เรื่อย ๆ นาน 4-5 เดือน หลังจากนั้นผักพายน้อยก็จะแก่เกินไปจนขายไม่ได้แล้ว แต่ถ้าหากเป็นการปลูกนอกฤดูกาลจะมีอีก 1 ปัญหาคือผักพายน้อยจะออกดอกในตอนกลางคืน ถ้าหากผักเป็นดอกก็จะขายไม่ได้ ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องหาวิธีหลอกผักไม่ให้ออกดอกเร็วด้วยการติดตั้งหลอดไฟให้สว่าง เพื่อทำให้ผักคิดว่าเป็นตอนกลางวันอยู่ตลอดเวลา นั่นคือเทคนิคที่เป็นองค์ความรู้จากการเฝ้าสังเกตของพวกเขา

ช่วงเช้าเป็นเวลาที่ดีในการเก็บเกี่ยวเพราะแดดไม่ร้อน ผักจะได้ไม่เหี่ยว เช้านี้ที่สวนของกัญญารัตน์มีเพื่อนบ้านหลายคนมาช่วยเก็บ ซึ่งพวกเขาไม่ได้รับจ้างเพียงแค่อยากมาเรียนรู้วิธีการเก็บเท่านั้น และก็เป็นเช่นนี้อยู่เป็นประจำที่จะมีคนทั้งในถิ่นและต่างถิ่นมาเยี่ยมเยือนศึกษาดูงานที่แปลงของเธอ  เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ถูกถ่ายทอดอยู่ตลอดเวลาเริ่มตั้งแต่วิธีการเดินเข้าไปในแปลง เพราะผักพายน้อยนั้นเติบโตไม่สม่ำเสมอกันอยู่แล้ว ฉะนั้นเกษตรกรจะต้องเดินเข้าไปเก็บบริเวณที่ผักโตได้ที่ก่อน บางที่อาจอยู่ตรงกลางจึงต้องเดินเข้าไปแบบนินจาหรือนักย่องเบาเพื่อเหยียบผักให้น้อยที่สุด  ส่วนวิธีการเก็บก็พยายามจับโคนต้นให้ต่ำที่สุดแล้วถอนขึ้นมาทั้งรากอย่างเบามือเพื่อไม่ให้ลำต้นช้ำ เมื่อเก็บจนเต็มมือแล้วก็นำไปวางรวมกันไว้ในตะกร้ารวบรวมจนได้ตามปริมาณที่ลูกค้าสั่ง จากนั้นจะต้องนำผักไปล้างในน้ำสะอาดก่อนแล้วค่อยนำไปทำเป็นมัด ๆ ละ 1 กิโลกรัมแล้วบรรจุลงถุง ๆ ละ 5 กิโลกรัมเพื่อรอส่งให้ลูกค้า

ไพศาล สมบัติมั่น คือพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อผักพายน้อยไปส่งที่ตลาดทุกวัน ตลาดสดวารินชำราบคือหนึ่งในตลาดค้าส่งผักสดใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี  ไพศาลบอกว่าช่วงก่อนโควิด-19 เขารับผักพายน้อยมาส่งได้แบบไม่อั้น  แต่เกษตรกรเองที่ไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการของผู้บริโภค  เพราะผักพายน้อยจากที่นี่จะกระจายไปยังทั่วประเทศ  คนจังหวัดอื่นหรือภาคอื่นก็นิยมบริโภคเหมือนกัน แต่หลังจากการมาของโรคระบาดทำให้การเดินทางไม่สะดวก  ทำให้เขาต้องรับซื้อผักพายน้อยลดลงโดยใช้วิธีเฉลี่ยซื้อจากทุกสวนที่เคยซื้อ เพราะเห็นว่าเป็นคู่ค้ากันมานานจึงอยากเฉลี่ยรายได้ให้กับทุกสวนเพื่อประทังชีวิตกันไปในช่วงนี้ แต่อนาคตตลาดของผักชนิดนี้ก็ยังกว้างอยู่เหมือนเดิม

ไพศาล  สมบัติมั่น

ถึงแม้ปัจจุบันเกษตรกรบ้านโนนเมืองน้อยจะยังรวมตัวกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอยู่ แต่พบว่ามีผู้ปลูกผักพายน้อยจากเดิม 30 รายเหลือเพียง 2 รายเท่านั้น โดยส่วนใหญ่หันไปปลูกผักชีฝรั่งแทน กัญญารัตน์บอกว่าสาเหตุที่เหลือคนปลูกน้อยเพราะผักชนิดนี้แม้จะดูเหมือนปลูกง่าย แต่จริง ๆ ต้องใช้เทคนิคเยอะ โดยเฉพาะเรื่องราคาเมล็ดพันธุ์ที่สูง หากพลาดก็จะเจ็บหนักจึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเสี่ยง แต่สำหรับตัวเองที่ทำมานานนั้นเป็นเรื่องง่ายมากที่จะปลูกซึ่งไม่ได้หวงวิชาด้วย จึงมีคนแวะเวียนมาขอความรู้อยู่ไม่ขาด แต่แม้จะบอกเทคนิคไปหมดแล้วส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถทำตามได้ทำให้ปัจจุบันเธอแทบจะไร้คู่แข่งในพืชชนิดนี้

บรรยายให้ความรู้แก่ผู้มาศึกษาดูงาน

คราวนี้มาเปิดรายได้ของสวนแห่งนี้บ้าง แม้เธอจะบอกว่าปัจจุบันยังคงทำนาเป็นอาชีพหลักแล้วปลูกผักพายน้อยเป็นอาชีพเสริม แต่พื้นที่ 1 ไร่ที่แบ่งมาปลูกผักพายน้อยนั้นสามารถสร้างรายได้มากกว่าอาชีพหลักเสียอีกโดยจะมีรายได้ 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ขายเป็นผัก จะมีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท รายได้ส่วนที่ 2 คือขายเมล็ดพันธุ์ โดยใน 1 ไร่นี้เธอจะปล่อยส่วนหนึ่งให้แก่เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์โดยสามารถเก็บได้ 20 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 3,500 บาท รวมเป็น 7 หมื่นบาท แต่เธอจะขายแค่ครึ่งเดียว ส่วนที่เหลือจะใช้ปลูกเองในปีถัดไป นั่นแสดงว่ารายได้จากพื้นที่ 1 ไร่ของกัญญารัตน์สามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.7 แสนบาทเลยทีเดียว นี่ยังไม่รวมค่าขายปลาที่เป็นผลพลอยได้จากสระที่ขุดไว้เพื่อใช้น้ำปลูกผัก รายได้จากกบที่เลี้ยงไว้ในแปลงผัก และรายได้อื่น ๆ จากความขยันทั้งหมดที่ยังมีอีกหลายอย่าง ทำให้เธอไม่กลัวแม้จะมีโควิดกี่ระลอกก็ตาม

เมล็ดผักพายน้อยกิโลกรัมละ 3,500 บาท

โควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก หลายคนหมดหนทางสู้จนรู้สึกท้อแท้ แต่กัญญารัตน์บอกว่าคนที่กำลังท้อแท้ให้ลองกลับมาที่บ้าน เพราะยังมีมรดกของพ่อแม่ทั้งเรือกสวนไร่นา มาแล้วยังไม่มีอาชีพก็ยังมีข้าวในนา มีผักริมรั้ว  มีปลาในบ่อให้หากินได้ มีน้อยเราก็กินน้อย มีมากเราค่อยกินมากตามอัตภาพ เราต้องปรับสภาพตัวเองให้ได้ก็จะสามารถอยู่ได้. 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ