บันทึกเดินทาง: ชีวิตติดลบของชาวนาอ่างทอง

บันทึกเดินทาง: ชีวิตติดลบของชาวนาอ่างทอง

มีคนชอบพูดว่า… ชาวนาปลูกข้าวเยอะ แต่เราไม่ได้เอาไว้กิน ไม่มีกิน เพราะชาวนามีหนี้ วลีจากความรู้สึก และประสบการณ์ทำนาของ ป้าวินัย  หิรัญอ่อน ชาวนาอ่างทอง ที่สู้ทนทำนาปลูกข้าว เพื่อเกี่ยวข้าวทุกเม็ด ใส่ถังให้เต็มไปขาย ใช้หนี้กว่า  4 แสนบาท โดยมีผืนนาจำนวนเกือบสิบไร่เป็นตัวประกัน

20150308010020.jpg

หลังกรมชลประทานประกาศลดการปล่อยน้ำ ชาวนาแถบอ่างทองที่หว่านข้าวไปแล้วจำเป็นต้องลุ้นน้ำฝนที่จะตกลงมาเติมเขื่อนให้มากที่สุด ป้าวินัยก็เช่นเดียวกัน

ป้าวินัย ชาวนาวัยหลังเกษียณที่ทำนามากว่า 40 ปี บอกว่า ถ้าปีนี้แล้งขนาดนี้ แต่ปีหน้าไม่แล้งขนาดนี้ ยังพอมีหวังได้อยู่ แต่ถ้าแล้งติดกันสัก 2 ปีก็คงหมดหวัง ชีวิตป้าติดลบตลอดเวลา ต้องหาเงินมาหมุดไปใช้หนี้ ไม่ให้เสียคำพูด

“ปีนี้ป้าท้อนะ  บางทีคิดว่าไม่อยากจะอยู่ แล้งๆ แบบนี้ ปลูกข้าวไม่ได้ ยิ่งเพิ่มหนี้สิน หนี้เก่าที่มีมันก็ไม่มีใช่เขา” ป้าวินัยบอกเล่าความรู้สึก

20150308010200.jpg

แม้ว่าตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงกรกฎาคม ฝนเพิ่งตกลงมาจากฟ้าชะหน้าดินให้ชาวนา อ.สามโก้ จ. อ่างทอง ชุ่มชื่นใจเพียงแค่วันที่ 14 และ  15 ที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ชาวนาที่นี่ ยังคงรอน้ำ รอพักชำระหนี้ และรอทุนทำนาในฤดูกาลต่อไป

ป้าวินัย กล่าวว่าถึงอย่างไรเธอก็ยังคงจะสู้เพื่อปลดหนี้ เอาที่ดินที่จำนองไว้กลับคืนมาให้ได้

“สมัยพ่อ แม่เรา สอนว่านามีคุณค่า เป็นที่ทำมาหากินของเรา ไม่ต้องไปรับจ้าง ไปหาผักกินที่ไหน ยากดีมีจนเราก็ทำนาไป ผืนนามันมีคุณค่า แต่เด็กรุ่นหลังไม่ได้เห็นคุณค่าของผืนนา ป้าทำนามาไม่มีเงินเก็บ  แต่เราก็พยายามรักษาที่ดินไว้”

20150308010322.jpg

“ถ้ามีโอกาสย้อนไปอีกสัก 20-30 ปี ป้าก็จะไม่เลิกทำนา” คำพูดทิ้งทายของชาวนาจากอ่างทอง

ทั้งนี้ โดยสภาพพื้นที่จังหวัดอ่างทองเป็นที่ราบลุ่มภาคกลางมีน้ำจากแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านตลอดทั้งปี กว่า 6 แสนไร่ของทั้งจังหวัดจึงเป็นพื้นที่ถือครองการเกษตรถึงร้อยละ 78 โดยส่วนมากเป็นพื้นที่ทำนาของชาวบ้าน   

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ