ศิววงศ์ สุขทวี
ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ
เผยแพร่ใน FB: 4 พ.ค. 2558
จากการขยายผลภายหลังที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหัวไทรได้จับกุมนายอานัว ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ตามหมายจับของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ในคดีฉ้อโกง โดยตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช ได้ประสานกับชุดสืบสวนกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรสงขลา เข้าจับกุมตัวไว้ได้เมื่อคืนของวันที่ 28 เมษายน ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยมีผู้เสียหายได้แจ้งความว่า หลานของตนได้ถูกกักขัง ต่อมาได้ถูกสังหารแล้วในพื้นที่อำเภอปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้เสียหายเข้าแจ้งความ ทำให้เจ้าหน้าที่ กำลังเร่งสืบสวนหาศพที่ถูกฝังในพื้นที่บ้านตะโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม มีหลุมศพ 32 หลุม ขุดเจอศพทั้ง 2 วันรวมกัน ทั้งหมด 26 ศพ เป็นชาย 25 ศพ เป็นหญิง 1 ศพ และยังผู้ป่วยขาดอาหาร อีก 1 คน (ข้อมูลจาก ศูนย์กู้ชีพกู้ภัยไม้ขม)
การพบหลุมฝังศพกว่า 32 หลุม และศพชาวโรฮิงญา 26 ศพ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการเผชิญหน้ากับปัญหาชาวโรฮิงญา และบางส่วนเป็นชาวบังคลาเทศที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยของรัฐบาลในระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ที่การปะทะระหว่างกลุ่มชาวพม่ายะไข่กับชาวโรฮิงยาเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ชาวโรฮิงญากว่า 150,000 คน ที่ถูกทำให้ต้องพลัดถิ่นฐานบ้านของตัวเอง จากตัวเลขของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประมาณการว่า ชาวโรฮิงญาที่อพยพหนีออกจากรัฐยะใข่ ในปี 2556 มีจำนวน 40,000 คน ในปี 2557 เพิ่มเป็นมากกว่า 53,000 คน
ผู้อพยพชาวโรฮิงญาเหล่านี้มีทางเลือกในการอพยพออกจากบ้านเกิดของตนไม่มาก เมื่อบังคลาเทศ ประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกของเมียนมาก็ไม่สามารถแบกรับการอพยพเข้ามาของชาวโรฮิงญาเพิ่มเติมจากจำนวนที่มีอยู่มากกว่า 200,000 คน ขณะที่การเดินทางหลบหนีไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของเมียนมาก็ถูกจำกัด จากนโยบายของรัฐบาลเมียนมาที่จำกัดการเดินทางของชาวโรฮิงญา จึงทำให้เหลือเส้นทางเดียวที่จะเดินทางอพยพหนีออกจากบ้านเกิดของตน คือการลงเรือมุ่งหน้าลงใต้สู่อ่าวเบงกอล และจำนวนมากเดินทางต่อเนื่องมาถึงอันดามันเลียบชายฝั่งเข้าสู่ประเทศไทย บางส่วนอาจเดินทางต่อไปยังประเทศสู่มาเลเซีย บางส่วนอาจไปถึงอินโดนีเซีย
ตัวเลขของการเสียชีวิตของชาวโรฮิงญาที่พบศพชัดเจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และมาสูงสุดในปีนี้ แม้ว่าตัวเลขการจับกุมจะลดลงตลอดมา
นับตั้งแต่มกราคม 2558 มีการจับกุมชาวโรฮิงญาในประเทศครั้งใหญ่ และการจับกุมที่ทำให้หลายคนเริ่มเห็นความรุนแรงที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญระหว่างเดินทางเข้ามาในประเทศไทย คือการจับกุมเมื่อวันที่ 11 มกราคม ในพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นรถกระบะ 5 คัน บรรทุกชาวโรฮิงญาจำนวน 98 คน 1 ในนั้นซึ่งเป็นหญิงสาวพบว่าเสียชีวิตอยู่ภายในรถ ต่อมามีผู้เสียชีวิตอีก 2 คน การเสียชีวิตของชาวโรฮิงญา 3 คนในพื้นที่อำเภอหัวไทร นับเป็นชาวโรฮิงญา 3 ศพแรกของปี 2558 เมื่อรวมกับศพที่ถูกพบในระหว่าง 1-2 พฤษภาคม ทำให้ 5 เดือนแรกของปี 2558 พบศพชาวโรฮิงญาเพิ่มเป็น 29 ศพ
ขณะที่ทางเครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงญา จังหวัดสงขลา ที่ติดตามและให้ความช่วยเหลือโรฮิงญา พบว่าในปี 2557 ทางเครือข่ายฯ ได้รับการประสานงานให้ฝังศพชาวโรฮิงญา 10 ศพ และในปี 2556 อีก 8 ศพ ซึ่งไม่นับรวมเหตุการณ์ในปลายปี 2556 ที่มีการพบ 15 ศพ ลอยอยู่ในน่านน้ำไทย บริเวณจังหวัดระนอง ทุกคนถูกบอกว่าเป็นแรงงานชาวพม่า แต่ชาวโรฮิงญาที่พบในพื้นที่และในช่วงเวลานั้นกลับยืนยันถึงเสียชีวิตของเพื่อนระหว่างการถูกผลักดันออกนอกประเทศทางจังหวัดระนอง
ความซับซ้อนของการอพยพลักลอบข้ามชายแดนมีมากขึ้น เมื่อผู้อพยพต่างสมัครใจที่จะเดินทางโดยอาศัยเครือข่ายขบวนการนอกกฎหมายเหล่านี้ อาจมีบางคนที่ถูกบังคับ แต่ส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาโดยสมัครใจ เมื่อเข้ามาถึงประเทศไทยก็พบว่าตนเองกลับถูกควบคุม กักขังโดยคนของขบวนการอีกกลุ่ม ที่พวกเขาพยายามติดต่อญาติพี่น้องให้ส่งเงินมาไถ่ตัวพวกเขา หลายคนโชคดีที่ญาติ พี่น้องหาเงินมาไถ่ และขบวนการการก็ส่งตัวพวกเขาออกไป แต่จำนวนมากไม่ได้โชคดีขนาดนั้น พวกเขาถูทุบตี ถูกทำร้ายร่างกาย อดอาหาร หลายคนไม่รอดชีวิต
การจับกุมที่เกิดขึ้นหากเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีความพยายามขยายผลต่อ ก็จะเอาผิดได้แค่คนขับรถที่จะถูกพิพากษาว่ามีความผิดในการนำพาต่างด้าวเข้ามาในประเทศ อาจติดคุกไม่กี่ปี หรืออาจไม่ติด หากเส้นทาย หรือทนายมีความสามารถ ส่วนความผิดการค้ามนุษย์ก็จะถูกพิจารณาว่าไม่เข้าข่ายองค์ประกอบ ศาลก็จะพิจารณายกฟ้อง และขบวนการก็ดำเนินการต่อ
การพยายามใช้กระบวนการกฎหมาย หยุดยั้งขบวนการค้ามนุษย์
ความพยายามหยุดยั้งขบวนการค้ามนุษย์ที่หลอกและนำพาชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศโดยกฎหมาย ยังไม่เห็นแนวโน้มความสำเร็จที่ชัดเจนนัก แม้จะมีความพยายามของเจ้าหน้าที่ทั้งของเจ้าหน้าที่ของกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง ภาค 6, ฝ่ายปกครองในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แต่ในพื้นที่อื่น ตลอดชายฝั่งอันดามันตั้งแต่ระนอง จนถึงสตูลแทบไม่มีการขยายผลการจับกุมขบวนการแต่อย่างใด
การขยายผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และกองบังคับการตำรวจภาค 8 สุราษฎร์ธานี จากการจับกุมขบวนการลักลอบขนชาวโรฮิงญา 98 คน เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2558 พร้อมผู้ต้องหาที่เป็นคนขับรถ 2 คน ต่อมาก็สามารถจับกุมได้เพิ่มอีก 2 คนเป็นไต้ก๋งเรือที่นำตัวชาวโรฮิงญาเข้ามา และอีกคนเป็นผู้จัดหารถ ขณะที่มีการออกหมายเรียกเจ้าของรถ และออกหมายจับคนอื่นๆ ในขบวนการอีก
การพยายามขยายผลการจับกุมอย่างจริงจัง ทำให้มีญาติของชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าแจ้งความว่าตนเองได้จ่ายเงินไถ่ตัวหลานชาย แต่นายหน้าก็ไม่ยอมเอาตัวมาให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงออกหมายจับและสามารถจับกุมนายหน้า คือ นายอานัว ได้ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และขยายผลจนสามารถสืบทราบ และพบหลุมศพ 32 หลุม และศพ 26 ศพ ในบริเวณที่เป็นค่ายพักเถื่อนที่ควบคุมชาวโรฮิงญาไว้ในบริเวณเขาแก้ว บ้านตะโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของชุดสืบสวนที่มุ่งขยายผลในการจับกุมขบวนการที่นำพาชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศ
แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการจับกุมคดีใหม่ ที่ไม่ได้มีเกี่ยวข้องโดยตรงจากคดีที่มีการจับกุม 98 คน ในพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีการจับกุมผู้ต้องหาไปแล้ว 4 คน ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่ายังมีสถานที่ฝังศพอยู่อีกในที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นข้อมูลมาจากการสอบสวนหญิงสาวชาวโรฮิงญาที่เห็นผู้คุมลงมือฆ่าน้องชายของตนระหว่างการถูกควบคุมบนเกาะ ไม่ไกลจากชายฝั่งอำเภอตะกั่วป่า ซึ่งทางฝ่ายปกครองของอำเภอตะกั่วก็มีความพร้อมที่จะสำรวจหากเจ้าหน้าตำรวจหัวไทรจะนำผู้เสียหายไปมาช่วยนำทาง
นอกเหนือไปจากการวางแผนจับกุมนายอนัส หะยีมะแซ อดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล เมื่อ 10 มีนาคม 2557 ระหว่างที่นำตัวชาวโรฮิงญามาส่งให้ญาติที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดสงขลา และกำลังขยายผลไปยังผู้มีอิทธิพลภายในจังหวัดสตูล แต่คดีที่จับกุมได้ในพื้นที่จังหวัดระนอง และพังงากลับไม่มีความคืบหน้า ไม่สามารถขยายผลไปคนภายในขบวนการอื่นๆ ได้ ทั้งในการจับกุมคดีหญิงและเด็กชาวโรฮิงญา เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ต้องหา และคดีที่มีการจับกุมชาวโรฮิงญา 134 คน ระหว่าง 11-13 ตุลาคม 2557 ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของอำเภอตะกั่วป่ายืนยันได้ว่าเป็นกลุ่มที่เข้ามาพร้อมกับชาวโรฮิงญาที่ถูกจับกุมได้ที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช
การค้นพบศพชาวโรฮิงญาเป็นความสำเร็จ ท่ามกลางความพ่ายแพ้ของพวกเราทุกคนในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ ที่ฉกฉวยอาศัยความสิ้นหวังของชาวโรฮิงญามาแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงชีวิตที่ต้องสูญเสีย และการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญายังคงเป็นสงครามที่ยังไม่จบง่ายๆ แม้เจ้าหน้าที่จะทำลายแหล่งที่พักของขบวนการในพื้นตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาได้ แต่ยังเหลือการต่อสู้ในอีกหลายจังหวัดตลอดชายฝั่งอันดามัน ยังมีอีกหลายคดีที่ต้องการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ในการขยายผลต่อไปอีก