บราซิล : จากความพ่ายแพ้ในบอลโลกสู่ความทุกข์ยากของประชาชน

บราซิล : จากความพ่ายแพ้ในบอลโลกสู่ความทุกข์ยากของประชาชน

20141607113021.jpg

ที่มา : 4laws.info

เราคงได้เห็นภาพสีหน้าแห่งความเจ็บปวดของเนย์มาร์ ภายหลังจากการเข้าสกัดของผู้เล่นโคลัมเบีย ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ทำให้ฟุตบอลโลกของเนย์มาร์ ต้องปิดฉากลงก่อนเพื่อนร่วมทีม และอีกไม่กี่วันถัดมา ภาพคราบน้ำตาอันชอกช้ำของแฟนบอลบราซิล ชาติเจ้าภาพถูกถ่ายทอดไปยังผู้ชมทั่วโลกอีกครั้ง ในเกมส์ที่ทีมชาติของพวกเขาพ่ายแพ้ต่อเยอรมันอย่างยับเยิน 7-1 ในรอบ 4 ทีมสุดท้าย

ทั้งสองเหตุการณ์คงเป็นภาพที่เราอาจเห็นจนชินตาในการแข่งขันฟุตบอล กีฬายอดนิยมของคนทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาดมหาศาล และแน่นอนว่าการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของบราซิลในครั้งนี้ คงมีเม็ดเงินนับร้อยล้านพันล้านไหลเข้ากระเป๋าของรัฐบาลบราซิล

หากแต่ว่าภาพนอกสนามฟุตบอล ของบรรดาประชาชนชาวบราซิลผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดฟุตบอลโลกของบราซิลในครั้งนี้ อาจยังไม่ถูกฉายซ้ำมากพอที่จะทำให้ คนทั้งโลกรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ ประชาชนชาวบราซิลได้มีการนัดชุมนุมประท้วงแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณในการก่อสร้างและบูรณะสนามฟุตบอลทั้ง 12 สนามเป็นจำนวนเงินมากถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพในศึกฟุตบอลโลกในครั้งนี้ แต่กลับละเลยการแก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาความเหลือมล้ำของประชาชนในประเทศ และสาเหตุที่รัฐบาลได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากบางสนามไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้งานในระยะยาว และเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณด้านการพัฒนาสังคมในประเทศหลายโครงการ กลับได้รับงบประมาณอย่างจำกัด

นอกจากนี้บราซิลยังเตรียมตัวสำหรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคในอีกสองปีข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลทุ่มงบประมาณถึง 13,000 ล้านดอลลาร์ ในการก่อสร้างสนามกีฬาฟอร์ตาลีซ่าแห่งใหม่ในภาคอีสาน แต่ทว่าทางเท้าในหมู่บ้านที่รายล้อมในแถบนั้น ใช้การแทบไม่ได้ ในขณะที่การก่อสร้างสนามบางแห่งไม่เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นสลัม ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่จะมาจากเงินกู้ยืมจากธนาคารกลางและภาคเอกชน

แม้ว่าประธานาธิปดีดิลมา รูสเซฟฟ์ ของบราซิล ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ผลลัพธ์ที่ได้และการเฉลิมฉลองในท้ายที่สุดถือเป็นสิ่งที่คุ้มค่าสำหรับความพยายาม บราซิลได้เอาชนะปัญหาที่สำคัญๆได้หลายประการ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันทั้งในและนอกสนาม โดยงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับการแข่งขันจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการรองรับจำนวนผู้โดยสารของสนามบินเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และประเทศจะมีระบบขนส่งมวลที่มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น และตนก็ไม่เห็นด้วยกับคำวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยระบุว่า การตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวจะช่วยยกระดับระบบสาธารณูปโภคของบราซิลและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ และบราซิลก็มีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน”

ในขณะที่ผู้ชุมนุมประท้วงได้พูดถึงประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น รัฐบาลปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถประจำทางสาธารณะ ความตกต่ำของคุณภาพการศึกษา จนมีการขอให้ยกมาตรฐานการศึกษาโดยระบุว่า “การศึกษาเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง”

ทั้งยังมีการประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานรถไฟที่เรียกร้องการเพิ่มอัตราจ้าง 12.2% แต่บริษัทรถไฟเมโทรที่มีรัฐบาลบราซิลเป็นเจ้าของยื่นข้อต่อรองเหลือแค่ 8.7%

และการที่ FIFA บังคับให้รัฐบาลบราซิลห้ามการขายอาหาร เครื่องดื่ม และของที่ระลึกริมถนนหรือบริเวณสนามแข่ง กระทบการทำมาหากินของคนผิวสีจำนวนมากที่ประกอบอาชีพขายของเมื่อมี events ใหญ่ ๆ ในเมืองต่างๆ ซึ่งเท่ากับว่าฟุตบอลโลกไม่ได้ตอบโจทย์รายได้ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มคนเหล่านี้

นอกจากนี้ องค์กร Oxfam ได้จัดทำ Inequality World Cupโดยดูความสามารถในการจัดการความยากจนและความเหลื่อมล้ำของ 32 ประเทศ ผลปรากฏว่า  ถ้ามองจากช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ทีมที่จะเข้ารอบรองชนะเลิศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และเยอรมัน และคู่ชิงชนะเลิศจะเป็น เบลเยียมและเยอรมัน นั่นหมายความว่าถ้ามองจากช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน บราซิลชาติเจ้าภาพจะไม่ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ และจะตกตั้งแต่รอบแรกด้วยซ้ำ เนื่องจากมีอัตราช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนห่างที่สุด เมื่อเทียบกับ โครเอเชีย แคมเมอรูน และแม๊กซิโก

สิ่งที่ กองบก.เว็บไซต์ฯ 4laws.info มีความสนใจอย่างยิ่งคือภาพเบื้องหลังความอลังการยิ่งใหญ่ของสนามที่ใช้จัดฟุตบอลโลก ให้คนทั่วโลกเดินทางมาชมการแข่งขัน หรือชมการถ่ายทอดสดจากทั่วทุกมุมโลก นั้นคือภาพการต่อสู้ของกลุ่มคนไร้บ้าน และนักรณรงค์เรื่องที่ดินในบราซิล

ก่อนที่ศึกฟุตบอลโลกจะเริ่มไม่ถึงสัปดาห์ได้มี ประชาชนชาวบราซิลกว่า 12,000 คน ที่ไร้ที่อยู่อาศัยได้ปิดถนนในเมืองเซาเปาโล ชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่นำงบประมาณจำนวนมาก มาใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดบอลโลก ขณะประชาชนจำนวนมากยังไร้ที่อยู่อาศัย

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่นำไปสู่การประท้วงในบราซิลคือปัญหาที่ดิน ซึ่งบรรดานักรณรงค์ต่างโอดครวญว่าอาคารสูงและบ้านจัดสรรกำลังผุดขึ้นในเมืองใหญ่ทั่วบราซิลราวดอกเห็ด ขณะที่คนยากจนจำนวนมากยังขาดแคลนที่ดินทำกินหรือต้องถูกไล่ที่ออกจากที่ดินของพวกเขาเอง

หากเราจะลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพ หากรัฐบาลบราซิลเอางบประมาณการจัดบอลโลกคราวนี้เพียง 10 % จากจำนวน 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คือ 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปสร้างบ้านในลักษณะโครงการบ้านเอื้ออาทรแบบที่รัฐบาลไทยเคยทำในราคาหลังละ 400,000 บาท จะสามารถสร้างบ้านให้ประชาชนได้มากถึง 27,900 หลัง (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 31 บาทไทย)

ล่าสุดมีรายงานว่า ทางการบราซิลถึงขนาดต้องเตรียมแผนป้องกันการก่อการร้าย และเหตุการณ์จราจลจากกลุ่มผู้ต่อต้าน ในเกมนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 2014 พร้อมยืนยันแสดงความมั่นใจว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงทั้งในและนอกสนามขึ้น โดยเตรียมใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารคุมเข้มกว่า 25,000 นาย หลังจากที่ได้เกิดจลาจลเล็กๆ ในเมืองต่างๆ หลังนัดที่พ่ายแพ้ต่อเยอรมัน

แน่นอนว่าฟุตบอลโลก 2014 กำลังจะปิดฉากลงอย่างยิ่งใหญ่ แม้ว่าถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกจะเป็นของทีมฟุตบอลชาติอื่นแต่ภาพน้ำตาของแฟนบอลบราซิลและความเจ็บปวดเนย์มาร์เองอาจจะจางหายไปในไม่ช้า หากว่าทีมชาติของพวกเขากลับมาทำผลงานในสนามฟุตบอลได้ดีอีกครั้งในทัวร์นาเมนท์ต่อไป

ภาพนอกสนามฟุตบอลต่างหาก คราบน้ำตาของคนไร้บ้าน คนทุกข์คนยากผู้ไร้ที่ดินทำกินและอยู่อาศัย ที่ได้รับผลกระทบจากการมุ่งพัฒนาด้านเดียวของรัฐบาล คงเป็นภาพที่ไม่มีทางจางหายไปโดยง่าย

ตราบใดที่พวกเขายังไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง แชมป์ฟุตบอลโลกสักอีกกี่สมัย ก็คงไม่มีความหมายอะไร

อ้างอิง

  1. ปฏิวัติน้ำส้มสายชู :การลุกฮือของประชาชนนับล้านในบราซิล
  2. ฟุตบอลโลก 2014 มหกรรมการแข่งขันกีฬายิ่งใหญ่ที่ทุกคนตั้งตารอ
  3. Brazil’s Vinegar Uprising
  4. ชาวบราซิลไร้ที่อยู่ ฮือต้านบอลโลกปิดถนนประท้วง
  5. ฟันธง สวิส-เบลเยี่ยม จะเป็นแชมป์บอลโลก ถ้า… วัดกันเรื่องความเหลื่อมล้ำ!!
  6. The Inequality World Cup
  7. โครงการบ้านเอื้ออาทรโครงการดีๆจากการเคหะแห่งชาติ
  8. ที่มาภาพ Brazil’s inequality summed up in stark World Cup image

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ