ชาวนาในสภาวะวิกฤตราคาข้าว

ชาวนาในสภาวะวิกฤตราคาข้าว

ชาวนาผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติกำลังเผชิญกับปัญหาทั้งปัญหาจากพิษเศรษฐกิจโดยรวมทั่วประเทศอันเนื่องมาจากโควิด-19 ค่าครองชีพสูงขึ้นแต่รายได้น้อยลง ลูกหลานตกงาน ราคาผลผลิตการเกษตรตกต่ำสวนทางกับต้นทุนที่สูงขึ้น สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจากอะไรกันแน่? และทางออกจะเป็นไปอย่างไร?

นายอุบล อยู่หว้า ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนภาคอีสาน เล่าว่า การที่ข้าวราคาตกต่ำมีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน ข้าวเป็นสินค้าที่ต้องแข่งขันกันในตลาดโลก ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวได้ล้นเกินการบริโภคภายในจึงขายข้าวเป็นสินค้า ที่ผ่านมาเป็นสิบ ๆ ปี ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก แต่ไม่ใช่ประเทศผลิตข้าวได้มากที่สุด ปริมาณการผลิตได้ภายในประเทศ เราเองยังผลิตได้น้อยกว่าอเมริกา อินเดีย เราส่งออกได้มาก บริโภคในประเทศน้อย เราทำนาได้ข้าวเปลือกต่อปีอยู่ที่ประมาณ 30-33 ล้านตันต่อปี ส่งออกอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านตันต่อปี แต่ช่วงนี้ไม่น่าถึงเพราะอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ส่งออกได้ประมาณ 5-6 ล้านตัน แต่ก็ต้องเผชิญกับราคาข้าวตกต่ำ ทั้งนี้เป็นเพราะสาเหตุสองประการด้วยกัน คือ

ประการแรก ข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่ต้องต่อสู้แข่งขันกันกับประเทศที่ส่งออกข้าวด้วยกันเอง ได้แก่เวียดนาม อินเดีย กัมพูชา เมียนมาร์ ปากีสถาน ประเทศผู้ซื้อรายใหญ่หลักคือฟิลิปปินส์เเละอินโดนีเซีย แต่เมื่อมองดูบริบทการผลิตข้าวของไทย ชาวนาไทยได้พัฒนามาเป็นชาวนาผู้ประกอบการที่ลงทุนเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่เพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว เมื่อสภาพต้นทุนสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนข้าวต่อกิโลกรัมสูงขึ้นตามไปด้วย ข้าวไทยจึงมีราคาสูงกว่าชาวนาที่เป็นประเทศคู่แข่งที่ขายได้ราคาที่ต่ำกว่า ทำให้ราคาข้าวของเราถูกกดลงจะขายสูงไปก็ขายไม่ได้

ประการที่สอง ข้าวเป็นพืชการเมือง เกี่ยวข้องกับมวลชนจำนวนมาก รัฐออกแบบนโยบายที่ได้ใจชาวนา เช่น นโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย ดึงราคาข้าวให้สูงขึ้น เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้นของชาวนา นโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นการคำนวณราคากลางในท้องตลาดกับราคาข้าวของชาวนาที่ขายไป หากชาวนาได้ราคาที่ต่ำห่างจากราคาบนท้องตลาดเท่าไหร่ รัฐจะช่วยชดเชยให้ในส่วนนี้เรียกว่าให้ส่วนต่าง เป็นการชดเชยรายได้ ราคาข้าวจะสูงหรือต่ำก็ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองด้วยเช่นกัน

นโยบายช่วยเหลือจากรัฐบาลทั้งนโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยและประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์นโยบายเหล่านี้มีข้อดีคือ ช่วยให้ชาวนามีรายได้ในระยะสั้นเป็นฤดูกาล ๆ ไป เป็นแบบเฉพาะหน้าจริง ๆ ขณะที่ชาวนาเอาข้าวมาขายก็จะได้ราคาที่สูงขึ้น แต่ก็ข้อเสียด้วยเช่นกัน กล่าวคือ นโยบายเหล่านี้มันส่งผลระยะยาว สร้างภาระให้กับสังคมอย่างมาก เรื่องความไม่ยั่งยืน ความไม่แน่นอน

นโยบายจำนำข้าวของเพื่อไทยทำให้กลไกตลาดค้าข้าวปกติพังเพราะยังมีโรงสีอีกมากมายที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการของรัฐ เนื่องจากไม่ผ่านตามเงื่อนไขของรัฐ เมื่อโรงสีไม่ได้เข้าร่วมโครงการโรงสีเหล่านั้นมีโอกาสที่จะเจ๊งในที่สุดเพราะไม่มีใครขายข้าวให้ ข้อเสียอีกประการหนึ่ง คือ เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้น มีการทำเอกสารเปล่า ๆ ยุ้งฉางรับซื้อของเอกชนได้รับซื้อข้าวจากชาวนาเอาไว้แล้ว จากนั้นก็จัดทำเอกสารที่เป็นชื่อชาวนา แล้วเอาข้าวไปส่งตามนโยบายจำนำข้าวของรัฐเพื่อไปเอาเงินงบประมาณจากรัฐมา ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการยืมมือชาวนาในเวลาเดียวกัน

นโยบายเหล่านั้นเป็นภาระงบประมาณของประเทศ ใช้งบประมาณไปกับค่าเช่ายุ้งฉาง ค่าเบี้ยการทำงานของเจ้าหน้าที่โครงการคลังสินค้า และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม ๆ แล้วงบประมาณที่ใช้ไปกับนโยบายจำนำข้าวอยู่ที่ราวเจ็ดแสนล้าน ที่เป็นภาระลากยาวมาจนถึงปัจจุบันนี้ แทนที่เงินเหล่านั้นจะถูกนำเอามาพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนา เช่น นโยบายปฏิรูปที่ดิน ซื้อที่ดินให้ชาวบ้านแล้วผ่อนส่งระยะยาว แต่นโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆใช้งบประมาณโดยที่ไม่ได้พัฒนาความเข้มแข็งของเกษตรกรชาวนาที่ควรจะเป็นเลย

ส่วนนโยบายประกันรายได้จะใช้งบประมาณน้อยกว่าจำนำข้าว ไม่แทรกแซงกลไกการตลาดปกติ แต่มีสิ่งที่เหมือนกันกับจำนำข้าวคือ ความไม่ยั่งยืน เพราะให้เงินตามพื้นที่เท่านั้น ใช้พื้นที่เป็นเกณฑ์ในการจัดสรรงบให้กับเกษตรกร ส่งผลให้เกิดการบุกเบิกพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่ดินของตนเองเพื่อเพิ่มพื้นที่การทำนา แต่ปัจจุบันได้กำหนดเพดานเอาไว้แล้วคือใช้ข้าวแต่ละชนิดเป็นเกณฑ์ ข้าวแต่ละชนิดไม่เกินกี่ตัน

ปัจจุบันมีนโยบายต่อเนื่องของรัฐบาลชุดนี้คือ เกษตรแปลงใหญ่ เป็นการเกษตรที่หลากหลายไม่ได้ปลูกข้าวอย่างเดียว มีแบบแผนการทำที่เปลี่ยนไป ใครที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่จะได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาก 1 ล้าน ดอกเบี้ยเพียง 100 บาท ชาวบ้านเรียก ล้านละร้อย เป็นเวลา 3 ปี แต่ข้อจำกัดก็ยังมีเช่นกัน คือการไม่เข้มแข็งในเชิงปฏิบัติของตัวเกษตรกรเอง การที่จะบรรลุตามเป้าประสงค์ของนโยบายนั้น ชาวนาจะต้องมีการพัฒนาความสามารถของตัวชาวนาเอง ทั้งความสามารถทางด้านการจัดการ การคิดวิเคราะห์ การหาตลาด การทำตลาด ถ้าความสามารถเหล่านี้ ไม่ได้รับการพัฒนาไปพร้อมๆกับตัวเกษตรกร อาจจะทำให้นโยบายไม่สำเร็จได้ แม้นโยบายนั้นจะดีก็ตาม

ทั้งนี้ นาย อุบล อยู่หว้า ยังเสนอทางออกให้กับเกษตรกรไว้อีกด้วย มีดังนี้

  1. เบื้องต้นเกษตรกรควรได้รับการชี้นำให้ทำการผลิตที่หลากหลายเพื่อตอบสนองการดำรงชีพของตนเองและชุมชน
  2. ต้องมีเครือข่ายการประกอบการเครือข่ายการพัฒนานวัตกรรม
  3. ควรพัฒนาสินค้าที่มีความรู้นวัตกรรมเช่นที่จังหวัดลำปางมีการพัฒนาชาจากผักเชียงดาหรือโจ๊กจากข้าวที่ผสมผักเชียงดาเป็นต้น
  4. ควรมีเครือข่าย network เพื่อหากลุ่มผู้บริโภคว่าอยู่ที่ไหนเเละมีแผนการตลาดอย่างไรเพื่อให้สินค้าของชาวบ้านที่ทำขึ้นมามีโอกาสทางการตลาด
  5. ควรมีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับประชาชนจริง ๆ
  6. ควรมีพื้นที่สำหรับเกษตรกรในการขายในระดับอำเภอและจังหวัด
  7. ควรมีระบบสนับสนุนการขายออนไลน์ภายในท้องถิ่น

จากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ชาวนามีความพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ กรณีตัวอย่างของเกษตรกรคนหนึ่งพบว่า พยายามปรับตัวสู่การเป็นชาวนาผู้ประกอบการที่ใช้ที่ดินของตนเองในการทำเกษตรแบบกึ่งอินทรีย์ รวมทั้งมีหน่วยงานราชการมาช่วยเหลือ แต่ก็มีข้อจำกัดมากมาย เช่น ไม่มีไฟฟ้าใช้ การมีหนี้สิน ฯลฯ

นางอนุมาศ  ธีระปัญโญ (แม่แดง) เกษตรกรวัย 48 ปี บ้านโนนแดง หมู่ 5 ตำบลโพนงาม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เล่าว่า ทำเกษตรมา 8 ปีแล้วมีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ เป็นนาข้าว 6 ไร่ ข้าวที่ปลูกจะเป็นข้าวเหนียว กข 10 และข้าวหอมมะลิ 105 ทำนาแบบหว่าน ใช้ปุ๋ยพวกขี้ไก่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยจุลินทรีย์ ในการบำรุงข้าว และอุปสรรคในการทำนาก็คือจะเป็นพวก ศัตรูพืช โรคข้าว หนอนก่อข้าว เพลี้ยลงบ้าง เราก็ปล่อยตามธรรมชาติ เพราะเราทำไว้กินอย่างเดียววันไหนฝนตกก็จะไหลไปตามน้ำเอง ไม่ได้ใช้ยาหรือสารเคมีกำจัด ที่ไม่ค่อยอยากใช้เพราะในอดีตแคยใช้สารเคมีขณะท้องจนลูกออกมาได้ประมาณ 2 ปี มีความพิการทางสมอง เลยเป็นบทเรียนสำคัญจนถึงปัจจุบันนี้

นอกจากการทำนาข้าวแล้ว แม่แดงเองยัง เลี้ยงปลา ทำสวนมัลเบอร์รี่ ปลูกพืชสวนครัว พืชเศรษฐกิจด้วย เช่นต้นดู่ ต้นพยุง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ แม่แดงเรียกว่า การทำเกษตรแบบกึ่งอินทรีย์กับผสมผสาน ก็คือ เป็นการทำเกษตรแบบอินทรีย์แต่ก็ใช้เคมีบ้างแต่ใช้ตามที่เขากำหนดไว้ ไม่ได้ใช้เยอะใช้เท่าที่จำเป็น ๆ และไม่ได้ใช้ไฟฟ้าด้วย ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์แทนแต่ใช้ได้แค่ปั่นน้ำแค่นั้นที่ตัดสินใจทำการเกษตรแบบจริงจังเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำแล้วชอบ แม้จะเจอปัญหา ก็ไม่ท้อต้องสู้ อีกทั้งจะไปทำงานอื่นก็ไม่ได้ เพราะลูกพิการ ไม่มีคนดูแล ทุนแท้ ๆ ที่มีคือที่ดินของเราเอง

ในเรื่องของการเลี้ยงปลา จะเน้นในการแปรรูปเอง เช่น ทำเป็นปลาส้ม ปลาแดก ปลาแดดเดียว เป็นต้น เพื่อทำการค้าขาย อาหารปลาก็ทำเองบ้างเพื่อลดต้นทุนและโดยปัญหาในการเลี้ยงปลาหลักๆเลย คือ

  1. ปลาน็อคน้ำ สาเหตุมาจากออกซิเจนในน้ำมันไม่มี อากาศปิดไม่ปลอดโปร่ง
  2. ปลาเป็นโรค สาเหตุมาจาก บ่อปลาไม่สะอาด การซื้อลูกปลาไม่ตรวจสอบดี ๆ ก่อนซื้อ ทำให้เสี่ยงได้ลูกปลาที่ไม่แข็งแรงมีโอกาสเป็นโรคง่าย

แต่ประโยชน์ในการเลี้ยงปลาอย่างหนึ่ง ก็คือ ปลามันจะขี้ ทีนี้ตอนเราทำนาเราจะปล่อยน้ำในบ่อลงสู่นานาก็จะสวย อุดมสมบูรณ์

ทีนี้ในเรื่องของการทำสวนมัลเบอร์รี่ แม่แดงได้เล่าต่อว่า จุดเริ่มต้นคือตอนแรกก็ปลูกเพียง 2-3 ต้นเองจากนั้นก็มีผู้ใหญ่ใจดี คนจังหวัดสุรินทร์ท่านหนึ่ง ได้เข้ามาเห็นความตั้งใจ ความอยากทำของแม่ เขาเลยลงทุนให้ทั้งซื้อแผง เจาะน้ำ เอาท่อมาให้ ถ้าเราลงทุนเองก็ใช้ทุนหลายหมื่นอยู่ ตอนนี้ก็ปลูกพันธุ์เชียงใหม่ 60 ปัญหาไม่ค่อยมีหรอก แค่บริหารเวลาไม่ทันเพราะแม่ทำหลายอย่าง

ในส่วนของต้นทุนในการทำการเกษตร แม่แดงเล่าว่า เริ่มแรกเลยคือได้กู้ยืมจาก ธกส. กู้มาหลายรอบอยู่เหมือนกัน รอบแรก 8 หมื่น ไปไม่ไหวก็เอากลับไปใช้หนี้ รอบ 2 กู้หลักแสนเอามาซื้อที่ดิน ไปไม่ไหวก็ขายที่เอาไปใช้หนี้อีกครั้ง และล่าสุดเออามาลงทุน ณ ที่ที่แม่อยู่ปัจจุบันนี้แหละ จนทุกอย่างเริ่มชัดขึ้น โดยรวม ณ วันนี้ที่ยืม ธกส. มาก็ประมาณ 5 แสน แต่ครึ่งล้านนี้แม่ก็ยังมองเห็น มีต้นไม้ มีสระ มีปลา มีที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายๆอย่างหมุนเวียนกันไป เงินที่ยืมมาก็เหมือนเป็นเงินหมุนของเรา และรัฐเองก็ได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยคือหน่วยงานพัฒนาที่ดินได้เข้ามาขุดสระให้ภายใต้โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่, ลูกปลาจากหน่วยงานประมงและจากโครงการหรือนโยบายอื่น ๆ จากรัฐอีก เช่น เงินช่วยเหลือชาวนา เงินสนับสนุนการเพาะปลูก เป็นต้น

โลโก้ผลิตภัณฑ์

ความฝันของแม่ “อยากมีโรงเรือนที่มิดชิดสำหรับแปรรูป เช่นปลาส้ม ปลาแดดเดียว พอได้ยกมาตรฐานความเป็นเกษตรกรขึ้นแหน่แม่ว่า และอยากเอาลูกปลามาชำหรือเอามาอนุบาลเองแล้วแบ่งปันสู่สาธารณะ” วอนรัฐบาลช่วยสนับสนุนในการทำการเกษตรนั้น “เราต้องทำให้ผู้บริโภคกินแล้วปลอดภัย”

“ถ้าใครจะทำเกษตร ถ้าตั้งใจจริงเกษตรนี้มันไม่ใช่อาชีพที่ว่าได้ถ้าเราพัฒนาดี ๆ เกษตรไม่มีวันเสื่อมเพราะว่าประเทศไทยเราแต่ไหนแต่ไรเป็นประเทศเกษตรกรรมถ้าเราพัฒนาดีมันก็จะสร้างรายได้ความมั่นคงแม่ว่ามันไม่ใช่เกษตรที่ด้อยพัฒนาแล้วทุกวันนี้เขาไปไกลแล้วถ้าใครจะทำเกษตรถ้ามีใจจริง ๆ มันไม่มีงานไหนหนักเกินไปถ้าใจเราชอบหรอก” แม่แดง กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ