“ฟังเสียงคนจน” จาก จังหวัดอุบลราชธานี

“ฟังเสียงคนจน” จาก จังหวัดอุบลราชธานี

ปัจจุบันนี้ ภาครัฐได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไป โดยมีการสนับสนุนให้มีโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีซึ่งเป็นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินโครงการ ภายใต้โครงการได้มีการจัดทำฐานข้อมูลคนจนในจังหวัดอุบลราชธานี และประสานงานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้บูรณาการในการแก้ไขปัญหาความยากจน รวมทั้งมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดปัญหาความยากจน ให้เกิดความประสบความสำเร็จที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทยจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ เป็นคำถามที่ชวนขบคิดไม่น้อย ปัญหาสำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ วิธีคิดในการแก้ไขความยากจนที่ยังมองเห็นภาพความยากจนไม่ได้แจ่มชัดเพียงพอ เพราะความยากจนในโลกยุคใหม่นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง  ดังนั้น เมื่อหันมาพิจารณาการนิยามความยากจน จะพบว่ามีข้อจำกัดอย่างมาก ในมุมมองแบบหนึ่ง ใช้เส้นแบ่งความยากจนบอกว่าใครเป็นคนจน ซึ่งเส้นแบ่งความยากจนในปี พ.ศ. 2563 ได้กำหนดว่าคนจนคือคนที่รายได้ต่ำกว่า 2,762 บาทต่อเดือน แต่ต่อมา มีการนิยามคนจนตามดัชนีความยากจนหลายมิติ (MPI) ที่หน่วยงานรัฐใช้แก้ไขปัญหาความยากจนในตอนนี้ ซึ่งอาศัยข้อมูลจากจปฐ.ชี้ให้เห็นถึงความยากจน ซึ่งมีอยู่ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ  ด้านความเป็นอยู่ ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ และด้านรายได้ ซึ่งก็จะพบว่า นิยามความยากจนทั้งสองอัน ล้วนมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถนิยามความยากจนที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

จากการสัมภาษณ์ ผู้บริหารโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ เห็นว่า การแก้ไขความยากจนในประเทศไทยจะต้องเริ่มต้นจากการมองเห็นว่าคนจนไม่ใช่คนที่งอมืองอเท้า รอที่จะเป็นผู้รับฝ่ายเดียว แต่การเป็นคนจนมาจากปัญหาของโครงสร้างทางสังคม ที่โอกาสของคนจนมีน้อยกว่าคนอื่น

“ความยากจนนอกจากจะเกิดจากฐานรากครอบครัวของคนจน ซึ่งส่งต่อความยากจนมาตั้งแต่พ่อแม่ตกทอดมาถึงตัวเราแล้ว ความยากจนยังเกิดขึ้นจากปัญหาสำคัญสองประการ คือ โครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับตลาดมากกว่าชุมชน และปัญหาการรวมศูนย์อำนาจไว้มากเกินไปปัญหาแรกคือ การแข่งขันกันในระบบตลาดเสรี คนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ชนะ คนจำนวนมากไม่สามารถแข่งขันในระบบตลาดได้ จะเห็นได้ว่า จริงๆแล้ว ชาวบ้านมีความขยัน ไม่ได้ขี้เกียจ มีความอยากทำนู่นทำนี่ แต่เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งทุน เข้าไม่ถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำให้พวกเขาไม่สามารถพ้นไปจากความยากจนได้ ปัญหาที่สองคือการเมืองที่เป็นรัฐแบบรวมศูนย์ อำนาจต่างๆในการตัดสินใจ อำนาจต่างๆที่กำหนดนโยบาย ถูกรวมอยู่ที่ส่วนกลาง แล้วมันส่งออกมาแบบแผนเดียวกันหมดเลย โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความยากจนที่มีหลากหลาย”


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ ผู้บริหารโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอุบลราชธานี

ในส่วนทางออกของการแก้ไขปัญหาความยากจน ในมุมมองของผศ.ดร. จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ เห็นว่า การแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยนั้นควรเป็นแบบล่างขึ้นบน ควรฟังเสียงคนจน ควรให้อำนาจในการจัดการแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหานั้นเปนไปด้วยความรวดเร็ว และเป็นการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ

“การแก้ไขปัญหาความยากจน ควรเป็นการแก้ไขจากล่างขึ้นบน หรือจากชุมชนขึ้นไปสู่นโยบาย ควรจะฟังเสียงคนจนให้มากที่สุด

“ที่ผ่านมา สังคมไทยนั้นจะเป็นการแก้ปัญหาจากบนลงล่าง เน้นใช้คำสั่งเดียวในการแก้ปัญหาคนทั่วประเทศ ไม่ได้มองถึงความซับซ้อนของปัญหาเหล่านั้นการแก้ไขปัญหาความยากจนควรเป็นการแก้ไขปัญหาจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน ในการลงพื้นที่สำรวจความยากจนในจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้เราเห็นศักยภาพของชุมชนที่มีความแตกต่างกัน แต่ว่าด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ด้วยเรื่องการกระจายอำนาจแบบไม่ทั่วถึง ทำให้การขยับจากข้างล่างขึ้นไปสู่ข้างบนเป็นไปได้ยาก แต่ถามว่าสามารถปฏิเสธข้างบนได้ไหม บอกเลยว่าเป็นไปไม่ได้ เราก็ยังต้องทำงานเชื่อมโยงกับจังหวัด ให้เขาได้ยินเสียงของคนที่อยู่​ข้างล่าง​ ให้เขาได้เห็​นว่าคนจนพร้อมจะ​ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง​ เราต้องทำให​้เขาเห็น​ว่าคนจนมีสิทธิ​ มีเสียง เพื่อลองให้เขาขยับเข้ามาลองทำความเข้าใจ​และร่วมมือ​กัน”​ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์ ผู้บริหารโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำจังหวัดอุบลราชธานี

มันจะแก้ปัญหา​ได้หลายอย่าง​มากกว่า​การใช้การทำ​งานในรูปแบบเดิม​ และการที่นำโครงการ​ๆเดียวมาทำในหลายๆพื้นที่​ แบบที่ไม่คำนึงถึง​บริบท​ของในแต่ละพื้นที่​

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความยากจนจะต้องเริ่มต้นจากการ “ฟังเสียงคนจน” เพื่อให้ “ได้ยินเสียงคนจน” นั่นคือ การแก้ไขความยากจนได้จะต้องมาจากเปลี่ยนวิธีคิดในการมองว่าคนจนจะต้องได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเองทัดเทียมกับคนที่เคยได้โอกาสมาก่อนหน้านี้แล้ว

โดยนักศึกษาฝึกงาน สาขาการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่และแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดอุบลราชธานี”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ