คอลัมน์: ไม่ต้องหวดฉัน เรื่อง: สิริกัญญา ชุ่มเย็น ภาพ: อมรรัตน์ กุลประยงค์
เมื่อไม่นานมานี้ ฉันขอความเห็นจากเพื่อนรุ่นพี่ที่ทำงานเอ็นจีโอด้านการศึกษา เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับการศึกษาไทยว่า หากจะเริ่มต้นแก้ไขจริงๆ คิดว่าควรจะเริ่มจากตรงไหน วงสนทนาเงียบเสียงลงครู่ใหญ่ การกุมขมับของคน 3 – 4 คน เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย…
ปี 2542
“ผลสำรวจทางการศึกษาพบว่า ปัญหาที่เป็นอุปสรรคทางการศึกษาต่อนโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี คือ ความยากจนของผู้ปกครองและการคมนาคมไม่สะดวก จำนวนครูทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ประกอบกับสื่อการเรียนการสอนในหลายพื้นที่ไม่เพียงพอ ครูยังยึดตำรามิได้ถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ” รายงานข้างต้นสอดคล้องกับผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ โดยองค์กร World Economic Forum (WEF) แม้ในปีนั้นประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงอันดับที่ดีขึ้น จาก 42 ขึ้นมาเป็น 37 แต่ก็ยังต่ำกว่าอีกหลายประเทศในเอเชีย
พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาล นายชวน หลีกภัย จึงมีข้อเสนอให้แก้ปัญหาข้างต้นด้วยการ ‘ปฏิรูปการศึกษา’ โดยเน้น ‘ผู้เรียน’ เป็นหัวใจสำคัญ ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ได้เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดเป็น คิดดี อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และสามารถนำพาตัวเองไปสู่จุดหมายแห่งชีวิตได้ โดยการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน องค์กรส่วนท้องถิ่นและสถาบันต่างๆ เพื่อสร้างรูปแบบและวิธีการศึกษาที่หลากหลาย… ดูเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและมีแนวโน้มว่าจะนำความเปลี่ยนแปลงอันน่าพิสมัยสู่การศึกษาไทย หากทำได้จริง
ปี 2557
ดร. ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักวิจัยจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เขียนบทความชวนคิดชิ้นหนึ่ง สรุปใจความได้ว่า จุดอ่อนของการสำรวจโดย WEF (World Economic Forum) คือการเก็บข้อมูลที่เป็นความคิดเห็น ซึ่งแต่ละประเทศอาจมีความพึงพอใจต่อเรื่องเดียวกันมีความแตกต่าง เนื่องด้วยปัจจัยภายในหลายอย่าง ส่งผลให้มาตรฐานของแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน แต่เมื่อถึงเวลาจัดอันดับโลก WEF กลับนำคะแนนเฉลี่ยมาจัดอันดับรวมกัน ดังนั้นเราจึงไม่ควรให้ความสำคัญกับการจัดอันดับมากเกินไป แต่ความจริงก็คือวงการการศึกษาไทยยังคงให้ความสำคัญกับการจัดอันดับเป็นเรื่องแรกๆ อย่างไร้เหตุผล
โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในทิศทางตรงกันข้าม การประเมินผลอย่างถี่ยิบตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ไม่ได้ช่วยให้คุณภาพของการจัดศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในโรงเรียนส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ก้าวออกมาจากปัญหาเดิมๆ แม้แต่น้อย ดังนั้นฉันจะขอยกเรื่องราวในอดีตมาเล่าให้ฟังสักหน่อยเพื่อยืนยันว่าเรื่องราวข้างต้นเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน นานเกินไปแล้วจริงๆ
ราวปี 2535 – 2543 ลูกสาวครูบ้านนอกอย่างฉันมีโอกาสไปคลุกคลีอยู่ที่โรงเรียน ซึ่งตั้งอยู่ห่างตัวอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร ถึง 2 แห่ง เป็นประจำ ขอสารภาพอย่างเปิดเผยว่าเพราะเบื่อการไปโรงเรียน ฉันจึงขอตามพ่อแม่ไปทำงาน (ที่โรงเรียน) แทน!
โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาขนาดเล็กและกลาง มีห้องเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถม 6 ชั้นปีละ 1 ห้อง แต่ละห้องมีนักเรียน 10 – 20 คน อาคารเรียนไม้สภาพพอใช้ได้ไม่ผุพัง มีจำนวนครูตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่ทางกระทรวงกำหนด (ครู 1 คน ต่อนักเรียนกี่คนไม่แน่ใจนัก) เท่าที่จำได้ แม่ (ซึ่งจบพลศึกษา) และพ่อ (ซึ่งจบเกษตร) ต่างก็ต้องโยกย้ายตัวเองไปสอนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และวิชาอื่นๆ เท่าที่พอจะทำได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าครูขาดแคลน ที่สำคัญกว่านั้นคือสอนอยู่ในโรงเรียนที่อาจถูกยุบตลอดเวลา
เรื่องน่าสนใจที่พ่อเล่าให้ฟังก็คือ สมัยเป็นครูแรกๆ เด็กนักเรียนชั้นประถมจะชวนพ่อไปหาปลาในวันหยุด ปลูกผักบริเวณบ้านพักครูข้างโรงเรียนเพิ่มจากแปลงเกษตรที่เรียนในชั่วโมง และอีกหลายกิจกรรมที่ครู นักเรียน รวมถึงผู้ปกครองเอง สามารถทำร่วมกันนอกเวลาเรียนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งภาพการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ที่เกิดจากความร่วมมือเช่นนี้ ดูมีชีวิตชีวาและสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้กับทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดีกว่าการนั่งคร่ำเคร่งอยู่หน้ากระดานดำในห้องเรียนทั้งวัน
ปี 2556
จากข้อมูลของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพบว่า โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน มีทั้งหมด 14,816 แห่ง ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน มีทั้งหมด 5,962 แห่ง แยกเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 20 คน จำนวน 709 แห่ง มีนักเรียน 21 – 40 คน จำนวน 2,090 แห่ง และมีนักเรียน 41 – 60 คน จำนวน 3,163 แห่ง รวมๆ แล้วมีจำนวนโรงเรียนที่กระทรวงจะยุบเกือบๆ 2 หมื่นแห่ง แต่รมว. ศึกษาธิการในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ กลับเสนอแนวทางให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กอีกครั้ง โดยอ้างว่าไม่สามารถนำงบประมาณจากภาษีมาดูแลทุกโรงเรียนได้อย่างเท่าเทียมกัน
แน่นอนว่าการยุบไปรวมกับโรงเรียนอื่นในพื้นที่ใกล้เคียง จะสร้างความลำบากในการเดินทางมากขึ้น ซึ่งเอื้อให้ผู้ปกครองในชนบทที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรหรือทำอาชีพรับจ้าง ไม่มีเวลาไปรับไปส่งหากโรงเรียนอยู่ไกลบ้านเกินไป ตัดปัญหาด้วยการไม่ให้เด็กไปโรงเรียนเลย
ทั้งที่มองในแง่จริงแล้ว ห้องเรียนขนาดเล็กมีโอกาสในการจัดการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่าห้องเรียนที่มีครู 1 – 2 คน ต่อ นักเรียน 30 – 50 คน หรือหากบางโรงเรียนที่มีนักเรียนเพียง 20 – 60 คน รัฐควรมีแนวทางในการจัดการศึกษารูปแบบอื่นๆ มารองรับเด็กเหล่านี้ด้วยหรือไม่ ถ้าไม่มี เด็กเหล่านี้จะมีโอกาสได้รับการศึกษาจากทางไหน นั่นคือคำถามสำคัญที่รัฐต้องตอบให้ได้ด้วย
เมื่อการจัดการศึกษาถูกกระจายไปยังชุมชนมากถึงมากที่สุด เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากที่สุด นั่นอาจนำความเข้าใจใหม่ไปสู่ทั้งผู้เรียนและผู้ปกครองว่า การศึกษาที่แท้จริงไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องเรียน และไม่มีความจำเป็นต้องยกการศึกษาสายสามัญเป็นรูปแบบการศึกษาที่ดีที่สุดเสมอไป ทั้งนี้ทั้งนั้นการศึกษาทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นกระทรวงต้องมีความพยายามสร้างมาตรฐาน ให้การรับรองว่าผู้เรียนที่ผ่านเกณฑ์ของการเรียนทุกรูปแบบมีโอกาสเข้าสู่ระบบการทำงานอย่างเท่าเทียมกัน
เพราะการศึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราตลอดชีวิต หาใช่แค่ช่วงอายุหนึ่ง หาใช่เรื่องภายในห้องเรียนหรือโรงเรียน และหาใช่การฝากความหวังไว้ที่ครู หรือแม้แต่กระทรวงศึกษาธิการ 100% ผู้ปกครองเองควรมีโอกาสร่วมกันออกแบบการศึกษาให้เหมาะสมกับบุตรหลานของตน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ สร้างความสุขในการเรียนรู้ และทำให้เกิดการค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของเด็กด้วย
ไม่เช่นนั้นแล้ว เราคงจะได้ยินคำว่า ‘ปฏิรูปการศึกษา’ ต่อไปอีกหลายทศวรรษ ตามมาด้วยผลของการปฏิรูปที่เห็นกันจนท้อใจมาแล้วทั้งชีวิต ไม่รู้จักจบสิ้น