สู้โควิด2021 : เตรียมความพร้อมห้องเรียนวิถีใหม่

สู้โควิด2021 : เตรียมความพร้อมห้องเรียนวิถีใหม่

การศึกษาไทยในสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 รอบใหม่ ยังมีประเด็นที่สร้างการถกเถียง และแม้จะมีบทเรียนแต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่มีข้อสรุป ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ ชวนมองไปข้างหน้าถึง “ห้องเรียนวิถีใหม่” เพื่อร่วมสร้างการศึกษาที่เหมาะสม และรองรับคนแห่งอนาคตของเราไปด้วยกัน

000

ณ จุดที่ “การปิดโรงเรียน” นับเป็นมาตรการเร่งด่วน ที่ถูกนำมาบังคับใช้ เพื่อควบคุมโรคติดเชื้อ ตั้งแต่การระบาดในรอบแรกมาจนถึงการระบาดรอบใหม่ โดยเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีประกาศให้สถานศึกษาทุกแห่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด ปิดเรียน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 – 31 ม.ค. 2564 หรือ จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดการขยับรับมือผลกระทบเร่งด่วนในหลายพื้นที่

อย่างในกรุงเทพฯ มีที่มาตรการสั่งปิดโรงเรียนเป็นจังหวัดแรก ๆ ในหลายชุมชนก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเปราะบาง ด้อยโอกาส และเด็กในครอบครัวที่มีฐานะยากจน จากที่เคยอาศัยกินข้าวในโรงเรียน เมื่อโรงเรียนปิด มื้ออาหารที่เขาเคยได้รับจึงหายไปด้วย อย่างเด็ก ๆ ในชุมชนคลองเตย และเด็ก ๆ โรงเรียนขนาดเล็กในภูมิภาคต่าง ๆ

การเตรียมตัวให้พร้อมในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ที่สอดรับกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันโรค คือ สิ่งที่ทางโรงเรียนและหน่วยงานด้านการศึกษาต้องเร่งมือในขณะนี้ เพื่อไม่ให้นักเรียนเสียโอกาสในการเรียนรู้ และไม่ก่อผลกระทบที่อาจทำให้ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อชีวิตของพวกเขาในระยะยาว

000

สำหรับการเรียนการสอนที่จำต้องปรับเปลี่ยน แนวทางของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) มี 5 รูปแบบ คือ

  1. ON-SITE การเรียนในโรงเรียนพื้นที่ปลอดภัย ภายใต้เงื่อนไขของ สบค. จังหวัด
  2. ON-AIR เรียนที่บ้าน ผ่านระบบทีวี ในระบบดาวเทียม เคเบิลทีวี IPTV
  3. ON-LINE ด้วยการเรียนผ่านอินเตอร์เนทหรือแบบ Video Conference
  4. ON-HAND สําหรับนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้าน อุปกรณ์การรับชม โดยการนําหนังสือ แบบฝึกหัด ใบงาน ไปเรียนรู้ที่บ้านภายใต้ความช่วยเหลือของผู้ปกครอง
  5. ON-DEMAND การเรียนการสอนผ่าน แอปพลิเคชัน DLTV, เว็บไซน์ DLTV, YouTube DLTV

เหล่านี้ต้องทำควบคู่ไปกับความพร้อมของนักเรียนและผู้ปกครองด้วย

000

แม้ในสถานการณ์โควิดรอบใหม่จะทำให้โรงเรียนหลายแห่งประกาศหยุด อย่างน้อยในระยะแรกนี้ 15 วัน แต่โควิดไม่ได้หยุดการเรียนรู้ และยิ่งเน้นย้ำว่าความรู้ไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องเรียน แต่อะไรจะเป็นคำตอบที่เหมาะกับการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลาย และเราจะสามารถสร้าง “ห้องเรียนวิถีใหม่” ไปด้วยกันได้อย่างไร

นักข่าวพลเมือง C-Site สนทนาถึงสถานการณ์ปัจจุบันจากพื้นที่โรงเรียนชายแดน และการเตรียมความพร้อมไปสู่ “ห้องเรียนวิถีใหม่” กับ

  • ครูท็อป – อนวัช นันทะเสน คุณครูรุ่นใหม่ จากโรงเรียนบ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
  • ครูฮูก – ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิภาพร วัฒนวิทย์ : โควิด-19 รอบนี้ โรงเรียนบ้านเปียงหลวงปิดหรือยัง ทราบว่ารอบแรกปิดเหมือนกันทั่วประเทศ

อนวัช นันทะเสน : เมื่อวานยังไม่ปิดนะครับ เปิดการเรียนการสอนปกติเลย แม้ว่าโรงเรียนในเชียงใหม่แถบที่อยู่ใกล้เคียงจะปิดไปหลายโรงเรียนแล้ว แต่ในโรงเรียนของผมยังไม่ปิด ถ้าเป็นสถานการณ์ในพื้นที่ อย่างบนดอยตอนนี้ทางหมู่บ้านเอง เขาเหมือนจะมีมาตรการป้องกันของเขาเอง ค่อนข้างปลอดภัยอยู่เหมือนกัน ผู้อำนายการโรงเรียนเลยยังไม่มีคำสั่งปิด

วิภาพร วัฒนวิทย์ : โรงเรียนครูท็อปต้องขอบอกผู้ชมทางบ้านว่าเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา

อนวัช นันทะเสน : ครับ เป็นโรงเรียนชายขอบที่ติดกับประเทศเมียนมา

วิภาพร วัฒนวิทย์ : แล้วตอนนี้ทางครูท็อปเตรียมการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง มีการปรับเปลี่ยนไหม หลังจากรอบแรกเจอสั่งปิดไปแล้ว ตอนนี้เตรียมพร้อมอย่างไร

อนวัช นันทะเสน : ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา อย่างผมอยู่ประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 ผู้อำนวยการเขตก็มีนโยบายมาในเรื่องของการป้องกัน เหมือนจะขอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนประเมินสถานการณ์ของในโรงเรียนเอง ซึ่งทางโรงเรียนได้คิดมาตรการป้องกันโควิด-19 ออกมาเหมือนกัน เช่น ตอนเช้า เด็ก ๆ มาโรงเรียน จะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้ามาโรงเรียน ทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ถ้าใครไม่ใส่ ต้องมีการแจกแมสให้หรือต้องแจ้งผู้ปกครอง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ห้องเรียนมีการจัดโต๊ะ จัดแบบเว้นระยะห่าง ทำตามมาตรการทุกอย่าง

พอมาถึงการจัดการเรียนการสอน ตอนนี้เราจัดการเรียนการสอนแบบปกติ เวลาประชุม ผู้อำนวยการโรงเรียนได้แจ้งเหมือนกัน ถ้ามีคำสั่งให้ปิดเรียนจริง เราคงต้องใช้การเรียนการสอนแบบให้คุณครูได้เตรียมใบงาน เพื่อจะเอาไปแจกให้เด็ก

สำหรับการสอนออนไลน์โรงเรียนของเรา จากโควิด-19 รอบแรก ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ให้มีการสำรวจออกมาว่าทางพื้นที่ หรือตัวนักเรียนมีความพร้อมจะเรียนออนไลน์ไหม ครูก็ทำการสำรวจกัน โดยการไปเยี่ยมบ้าน ไปดูพื้นที่จริง ปรากฏว่าพื้นที่ของเรามีนักเรียนประมาณ 60-80 เปอร์เซ็นต์เลยที่ไม่มีความพร้อมขนาดนั้น ในเรื่องของการเรียนออนไลน์ อุปกรณ์เราไม่ได้พร้อม ดังนั้นการเรียนออนไลน์ก็ไม่น่าตอบโจทย์ในพื้นที่เรา อย่างรอบที่แล้วก็เอาใบงานไปให้ถึงบ้านเลย ครูพยายามไปหานักเรียนบ่อย ๆ ครูใช้วิธีการอย่างนี้

ส่วน DLTV ก็มีบางบ้านที่มีสัญญาณ มีความพร้อมก็ใช้ DLTV พอเปิดเทอมมาคุณครูก็ถาม เรียน DLVT เป็นอย่างไรบ้าง ตอบเป็นเสียงในทางเดียวกัน เรียนไม่รู้เรื่องเท่าไร ในหนึ่งครอบครัวมีหลายคน เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน จากการประชุมผู้ปกครอง เวลาเราถามผู้ปกครองว่าเด็กเรียนได้ไหมจาก DLTV ผู้ปกครองบอกว่าไม่ค่อยเป็นผลเท่าไหร่ และวันหยุดเด็กก็จะไปช่วยผู้ปกครองทำงานที่บ้าน หารายได้ รับจ้าง จะเป็นบริบทประมาณนี้ในพื้นที่เรา

วิภาพร วัฒนวิทย์ : ต้องถามครูฮูกที่ใกล้ชิดติดตามสถานการณ์มาอย่างตลอด การระบาดละรอกใหม่ กำลังบอกอะไร เราพร้อมไหม

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล : ต่างกันเยอะครับ เพราะว่าออนไลน์รอบที่แล้ว เป็นช่วงขยายปิดเทอม เป็นช่วงทดลองระบบ ฉะนั้นไม่ได้จริงจังในเชิงของตัวสาระความรู้ที่ต้องมาวัดผลกัน มันแค่ทดลองดูว่า ถ้าใช้ออนไลน์แต่ละโรงเรียนจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง ตอนนั้นได้บทเรียนว่า คุณครูจำนวนหนึ่งยังติดกับการสอนเชิงเนื้อหา พยายามจะเอาเนื้อหาตัวที่ต้องสอนในการเปิดเทอมมาใช้ในการเรียนล่วงหน้า

แต่ออนไลน์รอบนี้เกิดขึ้นระหว่างภาคการศึกษาเลย จะเหมือนตอน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ที่อังกฤษเริ่มปิดที่นั่นที่นี่ แต่ของเราเพิ่งเปิดเทอมมาเดือน ธ.ค. 2-3 สัปดาห์ โดยปกติอยู่ ๆ ก็ต้องปิดฉุกเฉิน แสดงว่าเด็กมีตารางเรียนปกติเรียบร้อยแล้ว มีเรื่องที่เรียนค้างอยู่และมีบทเรียนที่ต้องไปต่อ

การทำงานรอบนี้เป็นการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้า แล้วภาระงานเยอะกว่าเดิม ครั้งที่แล้วที่ทดลองระบบเรียนออนไลน์ยังไม่ได้เป็นตารางจริงจัง เป็นเพียงตารางจำลองกันก่อน มี 7 คาบ จริง ๆ คุณครูสอน 22 คาบ เพราะฉะนั้นช่วง 3 สัปดาห์ ทยอยปิดไปทีละจังหวัด บางจังหวัดเริ่มตั้งแต่ก่อนปีใหม่ บางจังหวัดเกิดขึ้นหลังปีใหม่

ผมไม่อยากให้ย่ามใจว่าเรารับมือได้แล้ว ตอนนี้แค่ประคับประครอง เพราะคุณครูจำนวนหนึ่งที่เขาปรับตัวได้เร็ว เพราะเขาทดลองผ่านช่วงระบบมา ตอนนี้เพิ่งจะเจอออนไลน์กัน บางโรงเรียนเพิ่งจะสัปดาห์แรก บางโรงเรียน 2-3 สัปดาห์แล้ว สิ่งที่น่าห่วงกับระลอกนี้ ไม่น่าจะจบลงในเวลาที่รวดเร็วนี้ เป็นไปได้ที่จะอยู่กับเราถึงต้น มี.ค. หรือปลาย มี.ค. ทั้งเทอมนี้ต้องร่วมกันออกแบบการเรียนการสอนใหม่หมด คือ จะใช้ออนไลน์เป็นช่องทางเดียวคงทำไม่ได้ เพราะระหว่าง 2 -3 สัปดาห์มานี้ เริ่มมีเสียงสะท้อนจากคุณครู ว่า เด็ก ๆ จำนวนหนึ่งหายไปจากห้องเรียนออนไลน์ อย่างที่คุณครูท็อปเล่า นั่นคือเขามีภารกิจช่วยที่บ้าน ยิ่งเป็นลูกหลานคนที่มีรายได้น้อยอยู่ในเมือง ระหว่างที่ต้องมีปิดฉุกเฉิน เขารับผลกระทบเต็ม ๆ

ผมคิดว่าโจทย์เดิมที่โรงเรียนทำไว้และยังไม่ได้ทำต่อ คือ สิ่งที่เรารู้เรื่องข้อมูลของเด็ก เด็กบ้านไหนมีข้อจำกัด ในเรื่องของการเข้าถึงออนไลน์ จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมออนแอร์ คุณครูส่งใบงานเป็นแพคเกจไปให้ นี่คือสิ่งที่ต้องรีบเตรียมตัว ช่วง 2 สัปดาห์นี้จะเข้มข้นที่สุด เพราะจะเป็นช่วงก่อนสอบกลางภาค ถ้าเรายังคงคิดเรื่องการสอบแบบเดิม จบเลยนะครับ ต้องให้เด็กสอบเป็น Pepper test ซึ่งต้องเป็นออนไลน์ ทำได้ยากมาก ๆ แล้วคุณครูจะกังวลกัน ต้องเริ่มคิดการวัดผลกันใหม่ ถ้าเราไม่จัดสอบทางการ เราใช้วิธีการเอาชิ้นงานหลักประจำบทเรียนได้ไหม คุณครูต้องปรึกษาหารือกัน

ผมได้มีโอกาสได้คุยกับนักเรียนและครูกลุ่มหนึ่ง เด็ก ๆ บอกว่าต้องฟังเสียงของพวกเขาด้วย เพราะคุณครูสั่งงานกันไม่ยั้งเลย 1 วัน 7 วิชา 7 ใบงาน ถ้า 5 วันงานเยอะมาก ภาระที่มันจะเกิดขึ้นกับการรับมือระยะกลาง จะหนักมาก ๆ ที่เด็กและคุณครูด้วย เพราะคุณครูจะคอยตรวจ และผมเชื่อว่าถ้ามองไกล ๆ ถ้าเกิดขึ้นทั้งเทอมจริง ๆ หลังสอบกลางภาคไปแล้ว ครึ่งเทอมหลังมันใช้วิธีการเดิมไม่ได้แล้ว จะตะลุยสอนวันละ 7 คาบ เป็นไปไม่ได้ อาจเปลี่ยนเป็น 1 วัน เรียนแค่ 4 วิชา คือทุกโรงเรียนต้องคิดบนโจทย์ของตัวเองว่าเด็กตนเองเป็นอย่างไร

เคสความรู้ของครูท็อปชัดเจนมาก เพราะอยู่ในบริบทชายแดน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะใช้ออนไลน์ ฟังครูทอปเล่าว่าเขตพื้นที่การศึกษาให้เป็นโจทย์ของทางโรงเรียน เป็นเรื่องดีครับ ถ้าเกิดเขตฯไม่ได้เข้ามากำกับทิศทางทั้งหมด ให้เป็นโจทย์โรงเรียนประเมินสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร รับมือได้แค่ไหน ให้เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นในห้องเรียน อย่าว่าแต่โรงเรียนเลยครับ เทอมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเอง เหมือนต้องปิดตัวเองไปในตัว อาจจะใช้ออนไลน์เป็นหลักและหลายคณะก็ออนไลน์เป็นหลักจริง ๆ ซึ่งปัญหาอยู่ที่นิสิต นิสิตเครียดมาก ๆ เลย เข้าปี 1 โดยที่เรียนออนไลน์หมดทุกวิชา อาจารย์กับนิสิตแทบไม่เจอหน้ากันเลย

วิภาพร วัฒนวิทย์ : มีคนพูดกันเยอะเรื่องห้องเรียนวิถีใหม่ New Normal ทุกเรื่อง ห้องเรียนก็เช่นกัน ต้องถามครูท็อปก่อน ในมุมครูท็อป โรงเรียนห่างไกล พื้นที่ชายแดน ห้องเรียนวิธีใหม่ในนิยามของครูท็อป ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง อะไรคือหัวใจสำคัญ

อนวัช นันทะเสน : ตัวผมเองอย่างช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา รอบแรก มันปิดเทอมยาวมาก ช่วงที่บอกว่าเรามีการไปเยี่ยมบ้านเด็ก ได้ไปสำรวจชุมชน มันเลยเกิดโปรเจกต์ขึ้นมา 1 โปรเจกต์ เป็นโปรเจกต์ทดลองของตนเองทำร่วมกับ Feel trip เป็นกิจกรรมส่งเสริมเราในเรื่องของการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผมก็เลยไปเยี่ยมบ้านนักเรียนที่เป็นชายขอบแล้วเขามีความโดดเด่นด้านของวัฒนธรรม ผมเลยพาเด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเด็กกลุ่มทดลองของผมประมาณ 6 คน ลงพื้นที่สำรวจชุมชนตัวเองเลย เพราะเรารู้ว่าชุมชนของเราคนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้า

เวลาเราพาเด็ก ๆ เข้าไปในชุมชน ช่วงนั้นก็ยังปลอดภัยอยู่ โดยการสวมแมส ทำทุกอย่าง สำรวจพื้นที่ชุมชนตัวเอง หาเรื่องที่จะเรียนรู้ในชุมชน เลยเกิดโปรเจกต์ชื่อว่า Young Thai Yai Designer ผมพาเด็ก ๆ ไทใหญ่ ที่เป็นเด็ก ๆ ชนเผ่าเดินสำรวจบ้านตนเอง เราพบว่าความเป็นเสื้อผ้าไทใหญ่ มันสามารถเชื่อมโยงมิติต่าง ๆ ได้เยอะมาก ๆ เลยพากันออกแบบชุดไทยใหญ่แบบใหม่ที่เกิดจากการเรียนรู้ของเขาเอง เพราะช่วงนั้นหมู่บ้านที่ทำเสื้อผ้า เขาไม่ได้ขายเลยครับ เพราะว่าไม่มีงานเทศกาลเกิดขึ้นเลย ชาวบ้านที่ทำการเย็บปัก ตัดเสื้อผ้า ว่างงานกันหมด ถือเป็นโอกาสดี เด็ก ๆ เลยได้ลงมือเรียนรู้ อาชีพหลักของหมู่บ้านตนเอง และทำเป็นชุดที่ตัวเองอยากทำออกมาคนละ 1 ชุด

เหมือนเราสร้างการเรียนรู้ให้เขา ผมเองก็ไม่ได้มีตัวชี้วัดอะไร เหมือนผู้เรียนได้เรียนรู้ในห้องเรียนที่พวกเราออกแบบ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ออกมาเป็นเกรด คะแนน เหมือนที่เราสอนในโรงเรียน แต่ผลลัพธ์ที่ผมเห็นมันเป็นความที่เขาได้รู้เรื่องราวของชุมชนตัวเขาเอง ได้รู้ว่าการทำเสื้อผ้าไทยใหญ่ที่เขาใส่แต่ละชุดกว่าจะได้มาเป็นอย่างไร เรียนรู้เรื่อราวของภาษา เรื่องรู้ทุกอย่างของไทยใหญ่ กว่าจะออกมาเป็นเสื้อผ้า ความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ที่ติดตัวเขา ผมเชื่อว่ามันยั่งยืน และในระหว่างกระบวนการทำ ได้ใช้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ทุกอย่างบูรณาการอยู่ในนี้หมดเลย

ผมคิดว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งการจัดการเรียนรู้ที่มันน่าจะเหมาะ หรือตอบโจทย์กับพื้นที่ที่ผมอยู่ตรงนี้ ในสถานการณ์ที่จำกัดตรงนี้

วิภาพร วัฒนวิทย์ : ก็เป็นห้องเรียนวิถีใหม่ที่ครูท็อปมองเรื่องต้นทุนในชุมชน พาเด็ก ๆ เข้าไปเรียนรู้ คือก่อนหน้านี้เวลาเราได้ยินคำว่า บูรณาการการเรียนรู้ บอกตรง ๆ ได้ยินตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่าเข้าไม่ถึง แต่ถ้าฟังเรื่องราวที่ครูท็อปเล่ามา มันเป็นการบูรณาการต้นทุนที่เราสัมผัสได้

แล้วห้องเรียนวิถีใหม่ในมุมครูฮูกเป็นอย่างไร ในช่วงเวลานี้ซึ่งหลายคนมองว่าท้าทาย กระทรวงศึกษาและท้าทายนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก และเทรนด์ยังสวนทางกันอยู่

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล : ผมจะมองตั้งแต่บริบทโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ชายขอบจนถึงใจกลางเมืองหลวง ยิ่งอยู่ชายขอบหรือบริบทชุมชนเท่าไร มิติเรื่องเรียนรู้วิถีชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ มันเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์นอกห้องเรียนกับสิ่งที่อยู่ในชุมชน คีเวิร์ดจริง ๆ ที่มีร่วมกัน โรงเรียนเล็ก-ใหญ่ โรงเรียนในเมือง-ชนบท มีอยู่ 4 คำ หนึ่งคำว่า “บูรณาการ” คือ จะมองแยกย่อยเป็นวิชาไม่ได้ เพราะตอนนี้ชีวิตการเรียนของเด็กไม่ได้ถูกแยกเป็นตารางหรือวิชาเหมือนในโรงเรียน ถ้าต้องเรียนที่บ้านจริง ๆ ต้องบูรณาการระหว่างวิชามากขึ้น แม้จะเป็นเด็กในเมือง เรียนออนไลน์ก็แล้วแต่ ก็ควรจะต้องบูรณาการ

เราควรทำกันบนพื้นฐานสมรรถนะที่ให้เด็กลงมือทำจริง ๆ เพราะฉะนั้นต้องให้เขาเป็นผู้ที่มีส่วนร่วม เป็นเจ้าของมากที่สุด ที่ส่งเสริมเรื่อง การเรียนรู้แบบนำตนเอง (Self –Directed Learning) จะทำแบบนี้ได้คุณครูต้องรู้จักเด็กเป็นรายบุคคล จริง ๆ ข้อได้เปรียบหนึ่งของกระบวนการตอนนี้ คือ คุณครูได้อยู่กับเด็กมาแล้ว 1 เทอม รู้จักเด็กแล้วว่าแต่ละคนเป็นประมาณไหน การออกแบบหลักสูตรที่จะต้องออกแบบช่วงครึ่งหลังจะต้องยืดหยุ่นที่สุด และต้องช่วยให้เด็ก ๆ เชื่อมโยงกับชุมชน ถ้าเป็นโรงเรียนครูท็อปก็เป็นชุมชนที่อยู่ใกล้ตัวเขา รอบตัวเขาที่หมู่บ้าน แต่ถ้าเป็นเด็กที่อยู่ในเมือง หรือคนกรุงเทพฯ อย่างนี้ ชุมชนมันอาจจะเป็นชุมชนที่มองได้ยากมาก ๆ เพราะออกไปไหนไม่ได้ จะกลายเป็นชุมชนในห้องเรียนตนเอง ที่กลายไปอยู่ออนไลน์ด้วยกัน

วันก่อนได้คุยกับคุณครูโรงเรียนหนึ่งใน จ.นครปฐม เขาทำแพ็กเกจชุมชนของระดับชั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นชั้นเรียนอะไรก็แล้วแต่ไปอยูแพลตฟอร์มเดียวกันหมด แล้วเรียนสังคมศึกษา ห้องเรียนไหน ๆ ก็แล้วแต่จะอยู่แพลตฟอร์มเดียวกัน เพราะฉะนั้นจะได้รู้ว่าห้องไหนทำอะไรอยู่ คือยังสร้างความเป็นชุมชนเดียวกันของกลุ่มเด็ก ๆ ให้เขาไม่โดดเดี่ยวในการเรียนรู้ และชุมชนอาจจะขยายไปถึงการเชื่อมโยงกับชุมชนออนไลน์อื่น ๆ ด้วย เช่น มีคุณครูหลาย ๆ คนพยายามจะเชื่อมโยงเด็กเข้ากับผู้รู้เฉพาะด้านมาทำโปรเจกต์ครับ ก็จะมีการแนะนำเว็บไซต์ที่น่าสนใจให้ไปติดตามคนที่เป็น expert (ผู้รู้เฉพาะด้าน) เรื่องนี้โดยคนนี้ โรงเรียนที่อยู่ในเมืองขนาดใหญ่ เมื่อใช้ออนไลน์ก็จะต้องสร้างความเป็นชุมชนเหมือนกัน

สิ่งนี้เกิดขึ้นทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ คือ คีย์เวิร์ดที่ผมเล่า 3-4 คำ นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ NEW NORMAL CLASSROOM ทั้งหมด คือ ห้องเรียนมีความยืดหยุ่นสูง เอาผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ตอบโจทย์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล ให้เด็กได้มีส่วนร่วมสูงมากในการนำการเรียนรู้ด้วยตนเอง และในเรื่องการบูรณาการว่าต้องเอาสิ่งที่เขาใช้จากวิชาหนึ่งไปใช้ในวิชาหนึ่ง และให้เขาลงมือทำ เพราะฉะนั้นการวัดผลไม่ใช่เป็นการวัดเด็กที่ความรู้ มันจะไปวัดฐานสมรรถนะว่าเด็กทำอะไรได้ แล้วจะทำแบบนี้ได้คุณครูต้องคุยกันเยอะ ๆ

ผมคิดว่าเรื่องที่ท้าทายที่สุดเลย เทอมนี้เลย คือ Teacher Learning community ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ที่เราเรียกว่า PLC (Professional Learning Community) เป็นหัวใจสำคัญ จะพาโรงเรียนรอด และกระทรวงการศึกษาเองก็ต้องมองว่าเป็นโอกาส โรงเรียนยิ่งเล็กเท่าไร ยิ่งรอดเร็วเท่านั้น เพราะเขามีคุณครูไม่เยอะ เด็กเขารู้จักกันหมด อย่างโรงเรียนเล็กที่ผมดูแลอยู่ คุณครู 16 คน เด็ก 200 คน เขารู้จักเด็กกหมดทุกคนเลย เรารู้ว่าหากเราต้องผิดฉุกเฉินจริง ๆ เราจะดูแลเด็กอย่างไร

ตอนนี้ที่น่าห่วง คือโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ทั้งหลาย ที่มีเด็ก จำนวน 3,000 – 4,000 คน ยิ่งโรงเรียนใหญ่เด็กในเงาจะเยอะ แล้วทำให้เด็กหลุดรอดจากการดูแลเยอะ ผมกลับมองว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ นำมาซึ่งโจทย์ใหญ่มาก เราจะยังคงยุบโรงเรียนขนาดเล็กจริง ๆ หรือ ในเมื่อจริง ๆ หมื่นกว่าโรงเรียนนี่แหละ เด็กจะได้ไปโรงเรียน และเด็กจะรอดที่สุด เพราะชุมชนกับโรงเรียนเขาใกล้ชิดกัน แต่โรงเรียนขนาดใหญ่ที่เราปล่อยให้เติบโตมาตลอดต่างหากจะกลายเป็นหลุมดำที่เราไม่รู้เลย เด็กคนไหนจะหลุดรอดจากการดูแลของคุณครูไป

เป็นโจทย์ท้าทายของคนกำหนดนโยบายในกระทรวงแล้วครับ ที่พูดมาเสมอว่า “กระจายอำนาจ”คราวนี้จริง ๆ เลยที่ต้องเกิดขึ้นกับพื้นที่ แล้วอยู่ที่โรงเรียน อย่าปล่อยให้เขตพื้นที่การศึกษาสั่งการตลอดเวลา โรงเรียนขับเคลื่อนได้ยากมาก ๆ แต่ถ้าให้โรงเรียนเป็นคนตัดสินใจเอง โดยโจทย์และเป้าหมายโรงเรียนเป็นตัวตั้ง อย่างไรก็รอด และเราเห็นพลังของครูรุ่นใหม่

จริง ๆ ปรากฏการณ์หนึ่ง ที่ผมรู้สึกดีใจมาตลอด 2-3 วัน คือ เห็นครูรุ่นใหม่ลุกมากระตือรือร้น ไม่ใช่แค่พาห้องเรียนตัวเองรอด แต่การแชร์ประสบการณ์กันเป็นลักษณะ Learning Community Online มันทำให้เห็นแนวปฏิบัติจริง ๆ ข้ามโรงเรียนและคนเหล่านี้เขากลายเป็น 1 ในผู้ที่เขาเสนอทางเลือกใหม่ ๆ ให้ผู้บริหารได้ 2-3 เดือนนี้ เรามีผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการใหม่เยอะมาก พวกเขา คือ พลังสำคัญจะพาการศึกษาไทยรอดในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ อยากให้อำนาจตัดสินใจไปอยู่ที่โรงเรียนจริง ๆ และให้คุณครูเป็นผู้นำตัดสินใจเรื่องเหล่านี้

ผมเคยสรุปไว้ตอนโควิด-19 ระบาดรอบที่แล้ว ว่าคีย์เวิร์ดสำคัญ มี 3 เรื่อง 1.Student Focus คือ เอานักเรียนเป็นตัวตั้ง 2.Teacher let ให้คุณครูเป็นคนนำไป 3.Parent Engreat คือ พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ตัดสินใจ ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นโจทย์ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องมีขบคิดมาก ๆ ฝากไว้สำหรับ “NEW NORMAL CLASSROOM” และ “NEW NORMAL SCHOOL”

หมายเหตุ: ขอบคุณภาพจาก อนวัช นันทะเสน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ