ปลายปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของนักศึกษาได้ถูกเผยแพร่และได้รับการพูดถึงค่อนข้างมากในยุคของสังคมก้มหน้าที่ทุกคนต่างสนใจเรื่องของตัวเอง น่าสนใจว่า นิสิตนักศึกษา ที่มีความตื่นตัวต่อสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน เขาคิด อ่านและมีทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างไร การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น จะไปไกลถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็น “ขบวนการนักศึกษา” เหมือนในอดีตได้หรือไม่?
จุดรุ่งเรืองสูงสุดของขบวนการนักศึกษาน่าจะเป็นยุค 14 ตุลา ปี 16 แต่หลังจากนั้นบริบทสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปก็ทำให้คนเกิดตั้งคำถามขึ้นมาว่านักศึกษาหายไปไหน? บทบาทของพวกเขาเป็นอย่างไร? กระแสการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาคงพิสูจน์ได้แล้วว่า นักศึกษาไม่ได้หายไปไหน วันนี้พลเมืองข่าวจะมาสำรวจเรื่องของขบวนการนักศึกษากับนักกิจกรรมรุ่นใหม่สองท่าน ท่านแรก แมน ปกรณ์ อารีกุล อดีตนักศึกษาจากกลุ่มลูกชาวบ้าน ท่านที่สอง ทราย กุณฑิกา นุตจรัส อดีตนักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พิธีกร ตอนนี้แมนกับทราบทำอะไรกันอยู่?
แมน ตอนนี้ผมก็เป็นนักกิจกรรมทำงานกับชาวบ้านในประเด็นปฏิรูปที่ดินครับ
ทราย ทรายฝึกงานในสำนักงานกฎหมายค่ะ แล้วก็เป็นล่ามในศาล
พิธีกร ย้อนกลับไปในช่วงเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เรามีกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างไรบ้าง?
แมน ผมอยู่กลุ่มลูกชาวบ้านครับ ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มลูกชาวบ้านกับเพื่อนๆ ที่ม.บูรพา กิจกรรมก็จะมีสามส่วนหลักๆ เรื่องแรกคือออกค่าย เรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านในภาคตะวันออก ประเด็นที่สองคือเรื่องผลกระทบหลังจากที่ม.บูรพาออกนอกระบบ แล้วก็มีมาร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ ในกรุงเทพฯ กับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยบ้าง แล้วก็กิจกรรมต่างๆ ในกรุงเทพฯ เราก็จะขับรถจากบางแสนกันมาร่วม ประมาณนี้ครับ
ทราย ทรายทำเยอะค่ะ แต่หลากหลาย อาจจะมีออกค่ายบ้างในตอนแรก หลังจากนั้นเราก็จัดงานเสวนา แล้วก็ทำร่วมกับพี่แมนบ้าง ทำร่วมกับข้างนอกบ้าง
พิธีกร สองคนนี้เคยเจอกันมาก่อนหน้านี้แล้ว?
แมน ครับ
ทราย เคยบ้างค่ะ ก็ทำเรื่องชาวนา เรื่องต่อต้านม.นอกระบบ หลังๆ ทรายจะชัดเจนมากคือว่าทำแคมเปญในเฟซบุ๊ก สุดท้ายที่เราทำจริงๆ คือ จารุพงษ์ ทองสินธุ์
พิธีกร แคมเปญที่เป็นชิ้นโบแดงที่เรารู้สึกว่าภาคภูมิใจมากของแมนกับทรายคืออะไร?
แมน ของผมก็เป็นเรื่อง ม.นอกระบบครับ คือ ม.บูรพาออกนอกระบบตั้งแต่ปี 2551 เราก็มีบทเรียนต่างๆ ทีนี้นักศึกษาม.บูรพาก็จะมีข้อมูล เลยเข้ามาเป็นทีมข้อมูลของเครือข่ายนักศึกษาที่ค้าน ม.นอกระบบในช่วงปี 2554-2555 เราก็จะเป็นคนที่คิดแคมเปญ คิดวิธีการว่าจะทำยังไงไม่ให้มันเป็นแค่นักศึกษาออกมาเดินขบวนหรือปิดถนน พยายามคิดให้มันใหม่ขึ้น โบแดงที่สุดน่าจะเป็นตอนแก้ผ้าหน้ารัฐสภา (หัวเราะ) จริงๆ ก็ไม่ได้แก้ผ้านะครับ มีบ๊อกเซอร์ข้างใน
พิธีกร มันเป็นการแสดงทางสัญลักษณ์หรือ?
แมน เราอยากจะสื่อสารว่าถ้ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบค่าเทอมก็จะแพงขึ้น นักศึกษาก็อาจจะหมดตัว นี่ก็น่าจะเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งเพราะเราสามารถร้อยเรียงนักศึกษาจากหลายๆ มหาวิทยาลัยเข้ามาทำงานร่วมกันในประเด็นเดียวกันได้ นักศึกษาเหล่านั้นช่วงนั้นก็ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองแบบเดียวกันทั้งหมด ผมรู้สึกว่า ถ้ามันมีประเด็นร่วมนักศึกษาจากหลายๆ มหาวิทยาลัยก็ร่วมกันได้
ทราย ถ้าชอบที่สุด แต่คุณภาพอาจจะต่ำนะคะ คือ อันแรกที่ทำเป็นเรื่องการรับน้องเพราะเป็นครั้งแรกที่เราใช้โซเชียลมีเดีย แต่ถ้าโบแดงเลยคือชิ้นสุดท้าย จารุพงษ์ เป็นแคมเปญที่ต้นทุนต่ำ กลุ่มคนต่ำ แต่ Impact สูง
พิธีกร ทำกันกี่คน?
ทราย ประมาณ 4-5 คน ในช่วงระยะเวลาที่สั้นแต่ว่าได้คุณภาพมาก
พิธีกร มองย้อนกลับไป สิ่งที่เราเคยทำกับงานที่เราทำอยู่ คิดว่ากิจกรรมที่เคยทำในระดับมหาวิทยาลัยมันช่วยหรือส่งผลกับการทำงานตอนนี้ยังไงบ้าง?
แมน ส่งผลมาก ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด จากนครศรีธรรมราช พอเข้ามากรุงเทพฯ มันก็จะเห็นความต่างระว่างเมืองกับชนบทชัด ทีนี้การที่เราออกค่ายบ้างหรือทำกิจกรรมเพื่อสังคมบ้าง มันก็จะทำให้เรามีความเข้าใจในเชิงประเด็นต่างๆ ว่าปัญหาของสังคมทั้งหมดมันเชื่อมโยงกัน มันมีต้นเหตุมาจากโครงสร้างที่อาจจะไม่อนุญาตให้คนเล็กคนน้อยเข้าไปมีปากมีเสียงหรือส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นก็คิดมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้วว่าเรียนจบก็คงจะมาทำงานแบบนี้แหละ คงจะไม่เข้าไปอยู่ในระบบเพราะคิดว่าการทำงานที่อยู่กับการทำกิจกรรมทางสังคมน่าจะมีส่วนช่วยให้อะไรดีขึ้น
ทราย สำคัญที่สุดทรายคิดว่ามันทำให้เรารู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด เพราะว่าตอนทรายเป็นนักศึกษา ทรายไม่ได้ทำในสภาพแวดล้อมที่มีครอบครัว มีเงินหรืออะไรที่ผูกพันตัวเรา ทรายทำจากสติปัญญาของเราจริงๆ ว่าทรายแสวงหาบางอย่าง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นประเด็นรับน้อง ประเด็นเสรีภาพในการพูด ประเด็นสิทธิ์ เราก็ทำเพราะเราเชื่ออย่างนั้นจริงๆ สิ่งนั้นมันติดมาในงานปัจจุบันนี้
พิธีกร มันเหมือนเป็นการปลูกฝังอุดมการณ์ให้มันแข็งแรง ชัดเจนขึ้น อย่างนั้นหรือเปล่า?
ทราย ก็อาจจะพูดแบบนั้นได้นะคะ หรือมันอาจจะเพิ่มสัญชาตญาณให้เราไม่ทำอะไรที่เราอาจจะเสียใจ
พิธีกร เกิดความรู้สึกที่ว่าในยุคสังคมก้มหน้าหรือในยุคเซลฟี่ เราแทบจะไม่เจอคนแบบทรายแบบแมนเลย อยากรู้ว่าความคิด อุดมการณ์เริ่มต้นที่ทำให้เราเข้ามาทำแบบนี้คืออะไร?
ทราย เราแสวงหามากกว่า แต่หลังจากนั้นสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง สิ่งที่เราทนไม่ได้ เราก็เข้าไปทำมัน พอทำไปเรื่อยๆ มันก็เกิด Momentum ขึ้นมาแล้วมันก็กลายเป็นตัวเรา แต่ถ้าถามว่าก่อนหน้านี้ครั้งแรกๆ ที่เหมือนเด็กจุ่มเท้าลงไปในน้ำ เรารู้ไหมว่ามันจะเป็นอย่างนั้น มันก็อาจจะไม่ได้สำนึกอะไรมากว่าเป็นอุดมการณ์อะไรขนาดนั้น หลายสิ่งหลายอย่างมันค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวมาเป็นเราทุกวันนี้ บางอย่างทำอาจจะเห็นว่าเพราะสนุก เพื่อพาไป แต่มันได้มาจริงๆ ติดเรามา
แมน สำหรับผมก็อาจจะเริ่มแค่มองไปนอกหน้าต่าง คือ ตอนเรียนมัธยมเรียนโรงเรียนประจำ มองไปนอกหน้าต่างเป็นทุ่งนา ก็เห็นคนทำนา เห็นลูกเขาวิ่งเล่นในนาก็คิดว่า ทำไมเขาอยู่ตรงนั้นแล้วเราอยู่ตรงนี้ ผมมาเรียนมหาวิทยาลัยก็เหมือนกัน เวลามองไปบางช่วงจะเห็นเกาะสีชัง แล้วก็เห็นเรือเต็มอ่าวไปหมดเลย เรือที่มาตรงแหลมฉบัง พอเรามองไปนอกหน้าต่าง นอกรั้วมหาลัยเราก็จะเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ตั้งคำถามกับมันว่ามันเกิดจากอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีคนได้เปรียบ คนที่เสียเปรียบ ทำไมคนได้เปรียบมันน้อย ทำไมคนเสียเปรียบมันเยอะจ จริงๆ แล้วผมคิดว่าทุกคนมองได้ มองออกไปนอกหน้าต่างได้ แล้วก็คิดกับมัน ตั้งคำถามกับมันได้ คือ การจะมาเป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมมันไม่ใช่เรื่องยากหรือเรื่องของคนกลุ่มน้อยหรือไกลตัว ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ เพียงแค่อาจจะลองมองภาพเดิมในมุมมองที่เปลี่ยนไป
พิธีกร คิดว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในยุคเซลฟี่ปัจจุบันนี้ เขามีการทำงานที่แตกต่างกับอดีตมากไหม อย่างไร?
แมน โซเชียลมีเดียมันเป็นเครื่องมือในการที่ทำให้นักศึกษาและคนรุ่นใหม่เปลี่ยนบทบาทจากผู้นำ คือ มันคงนำใครยากตอนนี้ เป็นผู้นำเสนอมากกว่า แล้วก็คอยสังเกตว่าการนำเสนอแบบไหนจะโดนใจคนส่วนใหญ่ เนื้อหาแบบไหนทำให้คนเห็นด้วย ทีนี้ก็ยอมรับผลที่มันจะกลับมา อันนี้น่าจะเป็นสไตล์ปัจจุบัน
ทราย ในแง่ความเป็นเหตุเป็นผลอาจจะไม่เหมือนกัน อย่างที่บอกถ้าเราทำโดยธรรมชาติ บางอย่างนักศึกษาในยุคของทรายเราเลือกเหมือนกันนะ เราไม่ถึงกับว่ายอมรับผลที่ตามมา เราต้องมีการตกผลึก ต้องคิดเหมือนกันว่าต้องทำแคมเปญอย่างไร ทีนี้ถ้าพูดถึงโซเชียลมีเดีย แน่นอนว่ายุคก่อนคงเขียนหนังสือ แปะป้ายอะไรกัน จริงๆ 6-7 ปีที่ผ่านมาเฟซบุ๊กจะบูม พวกหนูก็ทำกิจกรรมด้วยวิธีแปะกระดาษเหมือนกัน แต่ในยุคที่มันเปลี่ยนแปลงมาก ปีสุดท้ายเรากลับใช้โซเชียลมีเดีย
พิธีกร ถ้าเรามองกลับมาที่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปัจจุบัน ทั้งทรายและแมนมองว่าโซเชียลมีเดียคืออาวุธชั้นดีที่อยู่ในมือ แต่แปลกใจว่า ถ้าเรามองย้อนกลับไปในยุค 14 ตุลา 16 ที่ขบวนการนักศึกษาเข้มแข็ง เป็นหลักที่พึ่งให้กับทั้งสังคมได้ แต่ทำไมตอนนี้ถึงไม่เข้มแข็งขนาดนั้นทั้งที่เรามีอาวุธที่น่าจะพร้อมกว่า?
ทราย 2516, 2519 และ 2557 นักศึกษายังเหมือนเดิมคืออ่อนประสบการณ์ แต่แข็งที่เราไม่มีผลประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันในสังคมที่เปลี่ยนไป สังคมอาจจะไม่ตอบรับแต่ไม่ได้หมายความว่าเขาหายไปไหน เขายังอยู่ แต่สังคมไทยตอนนั้นกับตอนนี้ คนเยอะขึ้น และเราก็ถูกละลืมด้วยโซเชียลมีเดียแบบอื่น เช่น TU Cute ใครน่ารักอะไรแบบนี้มากมาย แต่ยังมีอยู่
แมน ผมว่าปี 2557 หรือช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่เขามีความเข้าใจว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีจุดดีและจุดด้อย และการที่จะไปเป็นอะไรไม่ได้แปลว่าเขาจะเลือกแบบนั้นทั้งหมด ผมคิดว่ามันมีคุณภาพมากขึ้น ความเข้มแข็งของคนรุ่นใหม่ตอนนี้คือเขามีการขีดเส้นบางระดับ เคารพพี่ๆ แต่ไม่เชื่อฟังทั้งหมด ไม่ได้เดินตามแบบนั้น ที่สำคัญคือ ปี 2516 ชัดเจนว่า แฟชั่นของนักศึกษาคือการสู้กับเผด็จการ คือการออกไปสู่กับเผด็จการนี่เป็นเรื่องเท่ แต่ตอนนี้เพียงแค่เราโพสต์เฟซบุ๊กว่าเราอยากจะได้เสรีภาพหรือต้องการการเลือกตั้ง เราก็จะถูกคนอีกกลุ่มหนึ่งประณามแล้วก็ได้ ซึ่งการเมืองที่มันซับซ้นขึ้นมันก็ส่งผลทำให้ความเข้มแข็ง การจะมารวมกันเป็นขบวนการเดียวกัน นักศึกษามากมายมหาศาลออกไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็อาจจะเกิดได้ยาก
พิธีกร มันเป็นไปได้ไหมทรายที่จะทำให้ขบวนการนักศึกษามันกลายเป็น pop culture ขึ้นมา?
ทราย คือในสังคมเสรีจริงๆ ถ้าไม่พูดถึงสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมที่สร้างขึ้น เราต้องเชื่อว่าเราอยากให้คนคิดเป็นโดยที่เขาไม่ต้องคิดเหมือนเรา ดังนั้นคนอาจจะอยากแสดงความเป็นเยาว์วัยของเขาในลักษณะของการเต้นเชียร์ลีดเลอร์สวยงาม หรือแต่งหน้า หรือเดินสยาม มันไม่เป็นอะไรหรอก แต่ถ้าเราสอนให้คนคิดได้คิดเป็น ถึงคนจะคิดไม่เหมือนกัน แต่ย่างน้อยมันก็ต้องสำเหนียกแหละ ถึงความเดือดร้อน ความไม่เท่าเทียม
พิธีกร คือมองว่าการทำให้เป็น pop culture มันตื้นเขินเกินไป?
ทราย มันเป็นสภาวะแวดล้อมที่เราจำลองขึ้นมาเพื่อให้คนเป็นแบบนั้น ซึ่งมันไม่มีประโยชน์ ถ้าเราหวังว่าจะให้สังคมนี้มันเข้มแข็ง ยั่งยืนและต่อยอด มันจะต้องมาจากหลายฝ่าย และมันคงเน้นสร้างอย่างเดียวไม่ได้ มันเหมือนเราอยากให้ลูกพูดภาษาญี่ปุ่นเป็นเราเลยบังคับให้เขาเรียน กับถ้าเขารักมันเอง เขาอาจจะติดวงโคฟเวอร์ แต่เขารักมัน แล้วทีนี้เขาคงเข้าใจไปถึงรากศัพท์
แมน ผมว่าความต่างคือเมื่อก่อน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2535 คนเป็นนักศึกษามาทำกิจกรรม จบไปก็เป็น NGO หรือนักกิจกรรมทางสังคมเป็นจำนวนมากเลย พื้นที่มันเปิดมาก แต่ว่ายุคนี้เรามาคุยกัน ก่อนผมจบก็เคยคุยกันว่าจบไปแต่ละคนจะทำอะไร บางคนก็ไม่ได้เลือกจะมาอยู่ในสายแบบพวกเรา ไมได้ไปเป็นนักข่าว ไม่ได้ทำกิจกรรมต่อ แต่ไม่ว่าเขาจะอยู่ตรงไหน เขายังคงมีความคิดที่อยากจะให้สังคมดีขึ้น อย่างผมเองมีรุ่นน้องและเพื่อนๆ หลายคนที่บางคนไปเป็นตำรวจ บางคนไปเป็นทหารก็มี บางคนไปเป็นนักธุรกิจหรือว่าอยู่ในบริษัท แต่ว่าก็ยังมีพื้นที่พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องสังคม คือการเป็นนักศึกษามันจำกัด แม้จะ pop เป็นกระแส อย่าง 14 ตุลาก็บอกแล้วว่าพอคุณเรียนจบไป ไปทำงานพบความเป็นจริงในชีวิต คุณก็อาจจะไม่สามารถที่จะพูดความคิดแบบเดิมได้ เราจึงตกผลึกเรื่องนี้ เราคิดว่า 4 ปีในมหาลัยมันจำกัด แต่จะทำอย่างไรในระหว่างที่เราทำกิจกรรมร่วมกันนี่ อย่างที่ทรายบอก ให้เราคิดได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็ตาม แต่ว่าให้มันมีพื้นที่ของการพูดคุยเพื่อให้สังคมดีขึ้น ผมว่านี่คือความ pop มันไม่ได้ต้องมารวมกันอยู่บนถนนทุกคนหรือว่าชูป้ายประท้วงทุกคน เราแค่เห็นคนติดป้ายโปรยใบปลิวมันก็ใช่
พิธีกร ถ้าเรามองปัจจุบันเป็นสังคมที่มีเงื่อนไข เราควรจะขับเคลื่อนกระบวนการของนักศึกษาต่อไปได้อย่างไรบ้าง?
แมน ผมคิดว่าสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ ก่อนที่จะแสดงความคิดเห็น บางเรื่องถ้าเรารู้ว่าเรารู้ไม่จริง เราก็ควรจะยอมรับว่าข้อมูลมันอาจจะหักล้างกันได้นะ เราอาจจะเคยเกลียดคนบางคนมากเพราะว่ารู้สึกว่าเขาทำให้สังคมตกต่ำ แต่ว่าวันหนึ่งเมื่อมันมีข้อมูลใหม่เราก็ต้องกล้าที่จะยอมรับ ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่น่าจะมีธรรมชาติแบบนี้คือกล้าจะออกมายอมรับว่าเราคิดผิด แล้วก็การที่ยังคงรักษาพื้นที่พูดคุยกันได้ น่าจะทำให้มีการทำกิจกรรมขับเคลื่อนร่วมกันต่อไปได้ ถ้าไม่มีพื้นที่พูดคุยเลยก็อาจจะเป็นศัตรูกันไปเลยตลอดกาล ก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย
ทราย ทรายคิดว่าหัวใจของคำถามนี้ก็คือเราต้องคิดก่อนว่า นี่คือประเทศที่จะไปต่อในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขแบบนี้เหรอ แล้วมันไม่ใช่แค่ภาระของคนรุ่นใหม่ เด็กหรือเยาวชนและนักศึกษาจริงอยู่เขาเป็นพลังส่วนหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ภาระของเขาคนเดียว คำถามนี้เราเองก็อาจจะต้องเอากลับไปคิด
พิธีกร สุดท้ายสังคมฝากความหวังกับนักศึกษาได้ขนาดไหน?
แมน ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้เอาหลักการเป็นตัวตั้ง หลักการที่สังคมต้องดีขึ้นโดยที่คนทั้งหมดที่มีความคิดหลากหลายเข้ามาร่วมกันคิด ส่วนวิธีการจะไปยังไง เราต้องสัมพันธ์กับใครบ้างเป็นเรื่องที่มันจะรองลงมา ดังนั้นในบางครั้งที่เราอาจจะเลือกใช้วิธีการบางอย่างแล้วไปกระทบต่อหลักการ เราก็จะไม่เลือกวิธีการนั้นๆ ก็จะยืนอยู่บนหลักการ อันนี้ผมคิดว่าเป็นธรรมชาติ คนๆ หนึ่งเรียนมา 18 ปี มาเรียนมหาลัยในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารขนาดนี้ เราต้องเชื่อว่าเขาคิดได้ ผู้ใหญ่ต้องเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกจ้างมา ถูกหลอก ถูกล้างสมองจากใคร เราต้องเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ถึงแม้จะมีปัญหาบ้าง แต่เราต้องเชื่อว่ามันก็ทำให้เราคิดได้ว่าอะไรเป็นหลักการที่จะทำให้สังคมดีขึ้น
ทราย อันนี้คือเดาว่าพูดเรื่องความสัมพันธ์กับหลักการด้วยใช่ไหม? เราต้องบอกเด็กทุกคนว่าการที่น้องรักษาหลักการและเป็นตัวของตัวเองในระยะยาวมันจะรักษาความสัมพันธ์ได้ด้วย และก็จะรักษาตัวเราไว้ได้ โลกมันกว้างแต่ทางมันแคบ คนมันมีอยู่แค่นี้ นี่คือบอกแบบเพื่อนแล้วกันเพราะทรายก็ไม่เชื่อในความเป็นพี่น้อง แต่จะขอฝากถึงผู้ใหญ่มากกว่า ว่าเด็ก เยาวชน นักศึกษา เขาก็เป็นอนาคตทั้งนั้นแหละ จะมาแทนเราบ้าง มันเป็นเรื่องน่าเศร้าถ้ารัฐบาลมองว่าเขาเป็นศัตรู บางทีก็หาว่าไปรับเงิน อยากจะฝากให้สังคมเชื่อมั่นในเขามากกว่าคนอื่น เพราะเขาเป็นพลังที่เราไว้วางใจได้
แน่นอนว่าภายใต้บริบทเศรษฐกิจ สังคมที่ไม่เหมือนเดิม พลังของนักศึกษา ไม่อาจจะทรงอิทธิพล เช่นในอดีต แต่การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ของนักศึกษาในช่วงที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตัวต่อสังคมในวงกว้าง เป็นการเคลื่อนไหวที่แสดงออกถึงพลังบริสุทธิ์ ในฐานะพลเมือง ท่ามกลางความหลากหลายทางความคิดในสังคมปัจจุบัน