วันนี้ (11 ก.ย. 2560) เวลา 10.00 น. 5 ผู้ร่วมงานไทยศึกษาและต้องคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ประกอบด้วย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นายธีรพล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท ม.ช และ บก.สำนักข่าวประชาธรรม นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ นาย ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช.เข้าพบพนักงานอัยการ เพื่อรายงานตัว ที่สำนักงานอัยการคดีศาลเเขวงเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
โดยก่อนหน้า เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2560 ผู้ต้องคดีทั้ง 5คน ได้เข้าพบพนักงานสอบ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามที่ฝ่ายความมั่นคงระบุเหตุชูป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ระหว่างงานไทยศึกษาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2560 และได้แจ้งข้อหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ประชาชนทั่วไปผ่านมาพบเห็นโดยง่าย และอาจนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ. ซึ่งผู้ต้องคดีทั้ง 5 คนให้การปฏิเสธทั้งหมดและยืนยันเป็นเสรีภาพทางวิชาการ และในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวทีวิชาการซึ่งทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2560 5 ผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก เพื่อยื่นยันเจตนาบริสุทธิ์ พร้อมกับระบุ ประสงค์นำพยานนักวิชาการ 5 คน มาให้ปากคำเพิ่มเติม คือ 1.ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. ดร.จณิษฐ์ เฟื่องฟู อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 3. ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 4. รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 5. รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งพนักงานสอบสวนได้นัดหมายทั้ง 5 คน ให้เข้าพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งในวันที่ 11 ก.ย. 2560 เวลา 10.00 น.
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ได้มีมติที่ประชุมตำรวจเมื่อวันศุกร์ที่ 8 ก.ย. 2560 ให้นำสำนวนส่งเข้าสู่การพิจารณาของอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ในวันที่ 11 ก.ย. 2560 เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอัยการในการส่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุให้มา 5 ผู้ต้องคดีมารายงานตัวในวันนี้พร้อมทีมทนาย และได้ทำหนังสือส่งถึงสำนักงานอัยการ เพื่อร้องขอความเป็นธรรมโดยระบุให้มีการเรียกสอบพยานเพิ่มเติม
สำหรับขั้นตอนของอัยการในการรับสำนวนครั้งนี้ นายมนตรี นามขาย อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงเชียงใหม่ กล่าวว่า ทั้งผู้ต้องหาผู้ถูกกล่าวหาสามารถยื่นขอความเป็นธรรมได้ ซึ่งทางอัยการจะพิจารณาต่อว่ามีประเด็นหรือสาระสำคัญอะไร ที่จำเป็นต้องสอบสวนเพิ่มเติมจากที่พนักงานสอบสวน สอบสวนไว้อย่างไร หากเห็นว่ามีประเด็นที่จะต้องสอบสวนเพิ่ม ก็จะสั่งให้พนักงานสอบสวนเพิ่มเติมตามที่ร้องขอความเป็นธรรม แต่อาจจะไม่ทั้งหมดทุกประเด็น
จากนั้นทางพนักงานอัยการจะมีความเห็นทางคดี กรณีผู้ถูกกล่าวหาร้องข้อความเป็นธรรม อำนาจการสั่งคดีนี้ จะเป็นอำนาจของอธิบดีอัยการภาค 5 ส่วนการขอผัดฟ้องไว้ ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.การพิจารณาคดีในศาลเเขวง ซึ่งจะผัดได้ 5 ผัด ผัดละ6 วัน ก็จะต้องผัดต่อไปเรื่อยๆ ไม่เกิน 30 วัน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะต้องเดินทางมาเซ็นรับทราบทุกครั้ง หากไม่สามารถเดินทางมาได้ จะต้องมีหนังสือชี้เเจงเหตุขัดข้องมายังพนักงานอัยการ
และหากมีการสั่งฟ้อง ก็จะต้องขออำนาจจากอธิบดีอัยการภาค 5 ในการสั่งฟ้อง แต่หากสั่งไม่ฟ้องทางอัยการจะต้องทำสำนวนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบกรณีสั่งไม่ฟ้อง ก็ถือว่าคดีเสร็จสิ้น หากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เห็นแย้ง ก็จะต้องทำสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาดอีกครั้ง เเละถือเป็นการยุติ ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 15 ก.ย. 2560 เวลา 13.30 น. อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ได้นัดหมายทั้ง 5 ผู้ถูกกล่าวหาอีกครั้ง