เมื่อโจทย์การเรียนรู้ยังผูกโยงอยู่กับเรื่องการศึกษาในระบบ ความคาดหวัง และการหาทางออกกับโจทย์ต่าง ๆ ของผู้เรียน ผู้สอน และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรายวิชาที่มีการเรียนการสอนในห้องเรียน ที่กำลังได้รับความสนใจว่าจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับความต้องการและสร้างทักษะที่หลากหลายให้กับผู้เรียนจึงเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันออกแบบ รายการคุณเล่าเราขยาย ดำเนินรายการโดย วิภาพร วัฒนวิทย์ จึงชวนคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับวิชานอกตำรา(ควร)เรียน
วิชาเรียนที่หลากหลายมีอยู่ในโรงเรียน
“โรงเรียนที่ขนาดใหญ่มีคุณครูเยอะการที่จะมีวิชาเลือกตามความถนัดของคุณครูของผู้เรียนก็เกิดขึ้นได้ง่าย”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มประโยคสนทนาในรายการกับวิภาพร วัฒนวิทย์ ให้เห็นต้นทุนปัจจัยในห้องเรียน “เพราะเขาไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ สพฐ. มีโรงเรียนนวัตกรรมอยู่หลายโรงเรียนที่รายวิชาเลือกมีการสร้างกันอยู่ ต่อให้เป็นโรงเรียนใน สพฐ.เอง ก็มีหลายโรงเรียนที่มีวิชาเลือกที่เพิ่มขึ้น มีความหลากหลายอยู่ เพียงแต่สังคมยังไม่ได้มองเห็น อย่างเช่น โรงเรียนชลกันยานุกูล ที่ จ.ชลบุรี มีแม้กระทั่งวิชา globalization study (โลกาภิวัตน์) ก็ถูกสร้างขึ้นมาจากคุณครู สพฐ. เขาอาศัยพื้นที่ของหลักสูตรวิชาเพิ่มเติมทั้งหลาย ถ้าไปดูในโรงเรียนอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เด็กหลากหลายชาติพันธุ์ ถ้าโรงเรียนเขามีอิสระในการตัดสินใจมาก หลักสูตรแบบนี้ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะจัดสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนแบบนี้ขึ้นมา พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเป็นส่วนที่สนับสนุนแก่โรงเรียนให้สามารถออกแบบให้ตอบโจทย์ในอนาคต สนใจเด็กให้มากขึ้นซึ่งเป็นความท้าทาย
โรงเรียนที่มีสิทธิ์ตัดสินใจไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะทำได้ ด้วยโครงสร้างอำนาจรัฐอย่างโรงเรียนที่สังกัด สพฐ.ก็จะมีการไล่ลงมาของนโยบายของโครงการต่าง ๆ เข้าไปในโรงเรียนกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ ยังไม่นับถึงความคาดหวังทางสังคม เช่น พอเป็นโรงเรียนที่เน้นเรื่องของวิชาการ บางทีก็ไม่ค่อยมีอิสระในการออกแบบการเรียนให้สนุก ๆ มันก็จะไปเน้นเข้มของทางวิชาการ ถ้าเป็นโรงเรียนที่มีบุคลากรน้อยก็ไม่สามารถแบ่งรายวิชาที่มันหลากหลายมาก ด้วยภาระที่แบกไว้อยู่ก็เป็นข้อกำกัด ที่ใดที่อำนาจไม่สามารถเข้าไปถึงเยอะตรงนั้นจะมีอิสระในการตัดสินใจ
เราจะเห็นว่าขณะที่เราตื่นเต้นกับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงเรียนรอบนอกมักจะมีวิชาการศึกษาชุมชน ปกป้องพื้นที่สิ่งแวดล้อมในชุมชน เรียนในมิติวัฒนธรรมชุมชนเขาก็ทำกันมาตลอด 10 กว่าปีนี้แต่ยังไม่มีแสงส่องถึงเป็นเรื่องที่สังคมอาจจะต้องขานรับเสียงเพื่อสื่อสารถึงโรงเรียนว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่สังคมอยากที่จะเห็นมากขึ้น กระทรวงเองก็ต้องลดท่าทีที่จะเข้าไปกำกับติดตาม ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เพราะบางทีกระทรวงก็ไม่ได้มีการบังคับทั้งหมด เพียงแต่โรงเรียนก็จัดการการสอนให้ไม่โดนตรวจสอบมากนัก เอาตามที่คุ้นเคยกันผู้อำนวยการคิดว่าสิ่งนั้นดี เพราะฉะนั้นการถูกควบคุมก็มาจากระบบของโรงเรียนเอง จากเขต หรือส่วนกลาง ซึ่งระบบการถูกควบคุมมากน้อยแตกต่างกัน
วิชานอกห้องเรียนที่ถูกเพิ่มเข้าไปในหลักสูตรจะตอบโจทย์นักเรียนได้อย่างไร ?
ในหลักสูตรที่เราใช้กันอยู่ของปี 51 ที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ก็เริ่มมีพื้นที่ของวิชาเพิ่มเติมและพยายามใช้หลักสูตรแกนกลาง 70% ส่วนที่เหลือเป็นท้องถิ่นแต่พอทำเข้าจริง ๆ แล้ว นิยามคำถามท้องถิ่นนั้นไม่เหมือนกัน ก็กลายเป็นตอบสนองความต้องการของชุมชน เช่น พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกเรียนวิชาการมากขึ้น จึงนำพื้นที่วิชาเพิ่มเติมมาเติมวิชาการมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับผู้เรียนจริง ๆ และการกำหนดหลักสูตรนั้นจำเป็นต่อการเรียนรู้มุ่งเน้นว่าให้ตอบโจทย์เป้าหมายของโรงเรียนและสนองความหลากหลายของผู้เรียน
ตอนนี้หลักสูตรจริง ๆ ไม่ได้เขียนมาให้การเรียนการสอนออกแบบมาให้เหมือนกันทั้งประเทศ แต่คือความคุ้นเคยของโรงเรียนที่จัดการเรียนตามเกณฑ์ขั้นต่ำที่กระทรวงกำหนด และพยายามจะเพิ่มในรายวิชาที่จะมีผลต่อการประเมินโรงเรียน เช่น วิชาที่เกี่ยวข้องของการวัดผลระดับชาติ เช่น O-net น้ำหนักของการสอบวิทย์ คณิต จึงจะเข็มข้นมากยิ่งขึ้น พอเป็นวิชาที่จะเปิดให้เลือกโรงเรียนเองก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของคุณครูว่ากำลังในการสอนจะเพียงพอก็อาจจะมีความหลากหลายได้ คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่โรงเรียนจะมีอิสระในการตัดสินใจของหลักสูตรการเรียน เขตควรที่จะส่งเสริมให้โรงเรียนมีความยืดหยุ่นในหลักสูตรที่หลากหลายไปตามบริบทของผู้เรียนจริง ๆ
คุณครูหลาย ๆ คนก็อยากที่จะหาทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับวิชาของตัวเองควรที่จะเริ่มจากกลุ่มสาระ ว่าจะมีสัดส่วนรายวิชาเพิ่มเติมจัดให้อยู่ บางโรงเรียนก็ไปถึงการบูรณาการการเรียนรู้ข้ามกลุ่มสาระได้ ตอนนี้โรงเรียนส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการที่มอบหมาย เช่น กลุ่มสังคมเพิ่มเติมอีกกี่รายวิชา ภาษาไทยเพิ่มได้กี่รายวิชา ซึ่งเป็นเรื่องของการสื่อสารแสดงความคิดเห็นภายในกลุ่มสาระ หลายโรงเรียนที่เกิดเรื่องแบบนี้ได้เพราะว่าคุณครูสามารถร่วมตัวกันได้โดยเฉพาะคุณครูรุ่นใหม่ เนื่องจากอยู่กับประเด็นร่วมสมัย สนใจเรื่องการลงทุน สนใจเรื่องเท่าทันสื่อ จึงเกิดพื้นที่ให้คุณครูได้ร่วมกลุ่มกันและอาสากันมาเพื่อเปิดพื้นที่ในการเปิดวิชาเลือกเอง วิชาเพิ่มเติมที่สามารถออกแบบหลักสูตร และสอนกันเอง ก็เลยเกิดความอิสระในการทำงานนอกจากรายวิชาบังคับที่ต้องสอนเหมือนกัน จึงใช้พื้นที่นี้เป็นการทดลองของคุณครู ณ ปัจจุบันนี้โอกาสเกิดขึ้นมาก การประเมินคุณครูแบบ PA เปิดโอกาสให้คุณครูสามารถสร้างสรรค์ได้เยอะขึ้น อยู่ที่ว่าแต่ละโรงเรียนตีความเป็นในรูปแบบไหน ผู้อำนวยการเข้าใจหรือไม่ คุณครูจึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่ที่มีอยู่เพื่อใช้ทดลองอะไรที่มีส่วนในการเป็นเจ้าของและสร้างสิ่งนั้นขึ้นมาได้
รวมถึงการสอบที่เป็นกับดักเรื่องการประเมินผล ซึ่งยังคงติดกรอบอยู่กับการสอบทางการเพียงอย่างเดียวซึ่งจริง ๆ การวัดผลประเมินผลจริง ๆ แล้วนั้น มีมากกว่าการสอบทางการ และ 2 ปีที่ผ่านทุกคนได้เจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทุกคนได้รับรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องรอด้วยการสอบ เราสามารถประเมินด้วยอย่างอื่นได้ ยิ่งการศึกษาในปัจจุบันการสอบควรลดน้ำหนักลงมาอย่างมาก เพราะควรที่จะต้องเน้นสิ่งที่นักเรียนทำได้ เราควรเน้นการออกแบบเป็นงานที่มีความหมายให้เกิดบทเรียนที่เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มรูปแบบของเด็ก ซึ่งควรขึ้นอยู่กับคุณครูที่จะสร้างขึ้น และสิ่งที่ทุก ๆ เขตการศึกษาที่จะต้องเร่งสำหรับตอนนี้ คือ การสร้างความเข้าใจใหม่ของการวัดผลและประเมินผล เพราะจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะขับเคลื่อนการศึกษาและสมรรถนะ หากครูยังติดกรอบอยู่กับการวัดผลนั้น จะทำให้ไปต่อไม่ได้ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุด และเป็นเรื่องที่ต้องเขย่าโรงเรียน
ใน 1-2 ปีนี้ที่เจอโควิด-19 ทางโรงเรียนก็มีบทเรียนที่ว่า ไม่จำเป็นต้องรอสอบ หรือจัดสอบด้วยข้อสอบด้วยกระดาษแต่มอบหมายเป็นงาน คำถามที่เกิดขึ้น คืองานที่มอบหมายที่ตอบโจทย์ตามความต้องการหลักของการเรียนแล้วหรือไม่ ยังเป็นงานที่ยิบย่อยอยู่ไหม
ในชั่วโมงที่งานของคุณครูยังล้นมืออยู่การทำฐานสมรรถะที่นำร่องอยู่ควรเป็นอย่างไร ?
ทุกโรงเรียนสามารถเดินหน้าสู่การเรียนรู้จัดการฐานสมรรถะได้โดยที่ไม่ต้องรอหลักสูตร เพราะหลักสูตรที่มีอยู่ก็มีเกณฑ์ของเรื่องนี้อยู่ 5 ข้อ หากต้องหารเดินหน้าไปต่อก็ต้องคิดถึงหลักสูตรเพราะสถานการณ์ตอนนี้ แต่ละโรงเรียนคุณครูได้คุยกันมากยิ่งขึ้น ถ้าหากผู้อำนวยการเปิดพื้นที่ในการคุย หากมีการคุยข้ามกลุ่มสาระจะเห็นโอกาสความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายหลาย ๆ เรื่องที่ยังไม่ลงตัวของหลักสูตร
2 ปีมานี้ก็ทำให้เห็นได้ว่าไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ในห้องเรียน บางสิ่งไม่จำเป็นที่จะต้องสอนก็ไม่ได้มีความเสียหายในเรื่องของใจความสำคัญหลักของการเรียนการสอน สิ่งที่สำคัญก็คือต้องถอดบทเรียนในเรื่องของช่วง 2 ปีมานี้ ถ้าไม่จัดการหลักสูตรโรงเรียนจะทำให้ขยับต่อไปยากมาก การออกแบบต้องเคลื่อนไปกับการวัดผล ประเมินผลใหม่ ไม่อย่างนั้นต่อให้ออกแบบกิจกรรมดีเท่าใดก็ต้องมาตกม้าตายที่การสอบและติดอยู่ที่การแยกวิชา ยิ่งเป็นเด็กประถมศึกษายิ่งควรที่จะบูรณาการ เป็นเด็กโตควรที่จะเปิดพื้นที่ความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมปลาย เป็นวัยแห่งการค้นหาตัวเองเพื่อไปสู่สายวิชาชีพต่าง ๆ ที่สนใจ หลาย ๆ โรงเรียนก็เริ่มออกแบบหลักสูตรมัธยมปลายให้หลากหลายเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ควรปล่อยให้ความหลากหลายนั้น ไปผูกกับคณะหรือวิชา ควรที่จะผู้โยงไปกับความสนใจของผู้เรียนมากกว่า ให้มีทางเลือกที่นักเรียนเลือกได้
ในยุคที่ความสนใจมีหลากหลาย คุณครูยุคนี้ควรที่จะต้องเป็นเพื่อนเรียนรู้ไปกับนักเรียนถึงจะเป็นผู้ใหญ่กว่าแต่ยังคงต้องเป็นการเรียนรู้ระยะยาว ต้องยอมรับว่าเรามีหลายเรียนที่ยังไม่รู้เท่า ๆ เด็ก เพราะ 2 ปีมานี้ก็ทำให้รู้ได้ว่าเด็กไม่จำเป็นต้องเรียนรู้โดยที่มีคุณครูอยู่ข้าง ๆ ได้ แม้จะไม่ได้มีประสิทธิภาพที่สุด แต่เด็กก็สามารถเอาตัวรอดด้วยตนเองได้ เช่น การเรียนออนไลน์ที่บ้าน ทุกวันนี้เด็กมีโอกาสจัดการตัวเองในการเรียนรู้ได้แม้ยังไม่ชำนาญมากนัก ยิ่งเด็กมีความสนใจที่หลากหลายโรงเรียนควรที่จะต้องมีพื้นที่ให้เด็กเป็นคนออกแบบด้วยตนเองได้การมีวิชา IS อย่างแต่ก่อนก็ควรที่จะมีการเรียนรู้อย่างเปิดกว้างจริง ๆ ไม่ใช่คุณครูไปกำหนดหัวข้อให้กับนักเรียนควรเป็นการเรียนเพื่อเกิดการเรียนรู้ และคุณครูควรต้องวางตัวเองเป็นเพื่อนร่วมเรียนรู้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญหากคุณครูมองตนเองว่าเป็นเพื่อนคุณครูจะไม่ผูกขาดการออกแบบวิชา ต่อให้เป็นเรื่องที่น่าสนใจแค่ไหนคุณครูไปบังคับออกแบบไม่มีตัวเลือกก็ไม่สามารถตอบโจทย์เด็กได้”
คุณเล่าเราขยาย ยังติดตามและขยายมุมมอง เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนกัน เพราะการศึกษาไทยเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนในระยะยาวกับเด็กและเยาวชนจึงเป็นความคาดหวังและจำเป็นมาก ๆ ที่จะต้องเรียนรู้พัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่องทั้งระบบ