น้ำท่วมอีกครั้ง..มูลนิธิรักษ์ไทย

น้ำท่วมอีกครั้ง..มูลนิธิรักษ์ไทย

  น้ำท่วมอีกครั้ง

บทเรียนของการถูกน้ำท่วมเกือบทุกปีทำให้ต้องหาวิธีการที่จะต้องอยู่กับน้ำให้ได้ แม้เราจะพบว่าบางชุมชนมีการปรับตัวที่จะอยู่กับน้ำด้วยการสร้างบ้านลอยน้ำเพื่อการอยู่รอดของทั้งคนและสัตว์ด้วยการเอาวัสดุใกล้ตัวมาประกอบ ไม่ว่าจะเป็นโฟม หรือถังพลาสติก   ซึ่งการทำแบบนี้หากมีน้ำท่วมจะได้ไม่ต้องอพยพไปนอนริมถนน แต่เมื่อน้ำท่วมจริงๆ ปัญหาไม่ใช่แค่ที่พักอาศัยแต่เป็น ข้าวของเครื่องใช้  อาหารและน้ำ รวมทั้งผลกระทบหลังน้ำลด ด้วย

เหตุการ์ณน้ำท่วมใหญ่ทางภาคใต้เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบเสียหายหลายจังหวัด ทางมูลนิธิรักษ์ไทยเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือเร่งด่วน ใน  2 จังหวัดคือ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เพราะเรามีสำนักงานในจุดนั้น จึงเข้าไปได้รวดเร็วกว่าหน่วยงานอื่นๆ  เราพบว่าในพื้นที่ อ.พุนพิน ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีน้ำท่วมขังมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ริมน้ำตาปี และเป็นช่วงที่อยู่ปลายน้ำ จึงรับน้ำมาจากตอนบน  พื้นที่แรกๆ คือที่ หมู่ที่ 7 ตำบลท่าข้าม  อำเภอพุนพิน  จังหวัดสุราษฏร์ธานี   ในจุดนี้เป็นโซนคุ้มบ้านในเสียด เป็นพื้นที่ทำสวน  มี ปลูกปาล์ม  ปลูกผัก  และเลี้ยงสัตว์ เช่นวัว  ไก่บ้าน   ทั้งนี้ชุมชนได้ตั้งเต้นท์เพื่อเป็นจุดประสานงานความช่วยเหลือ ริมถนนสายเอเชียหมายเลข 41 โดยจะมีแกนนำและอาสาสมัคร ในการรับสิ่งของช่วยเหลือและประสานชุมชนส่งต่อ การแจกจ่าย และเป็นท่าเรือสำหรับการเดินทางเข้าชุมชนอีกด้วย  สภาพพื้นที่ที่เราเห็นคือน้ำท่วมสูงเป็นบริเวณกว้าง ทางมูลนิธิ ฯต้องนั่งเรือเข้าไป  เพื่อนำสิ่งบรรเทาทุกข์เบื้องต้น อย่างน้ำดื่ม นมเด็กไปมอบก่อน    หรือเช่นที่หมู่ที 4  ต .ท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน  จังหวัดสุราษฏร์ธานี   จุดนี้เป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลเข้าถึงยากมีผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 120 ครอบครัว แต่มีประมาณ 7 ครอบครัว ที่น้ำท่วมหนักไม่สามารถอาศัยที่บ้านตนเองได้ จึงมาพักที่เต้นท์ ริมถนนสายเอเชีย หมายเลข 41  ที่ทางเราได้ทำไว้ ถือว่าโชคดีที่ได้เป็นจุดช่วยประสานความช่วยเหลือ ให้กับชุมชนไปด้วย ในตัว เมือข่าวน้ำท่วมกระจายไป เราได้รับการสนับสนุนจากเอกชน และคนทั่วไป บริจาคเงิน และถุงยังชีพเข้ามา เราได้จัดเตรียมสิ่งของ ว่าพวกเค้าต้องการอะไรบ้าง เช่น กางเกงใน น้ำดื่ม ยากันยุง จากนั้นพากันเดินทางเข้าไปที่หมู่ 4  รถซึ่งขับเข้าไปได้แค่ 5 กิโลเท่านั้น น้ำท่วมเต็มไปหมดเราจึงลงเรือท้องแบนต่อไปอีกกว่า 30 นาที  ชุมชนนี้เป็นชุมชนพี่น้องมุสลิม ขนาดมัสยิดยังโดนน้ำท่วมอยู่สูงเกือบ 1 เมตร  โต๊ะอิหม่ามได้ช่วยเราบริหารจัดการดูแลมอบถุงยังชีพร่วมกัน โดยประกาศเสียงตามสายเพื่อให้คนในชุมชนพายเรือออกมารับสิ่งของและคนที่ไม่สามารถลุยน้ำออกมาได้ก็มีคนในครอบครัวมารับแทนได้….. โล่งใจไปอีกชุมชน

เราเข้าไปที่ หมู่ที่3 ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน  จังหวัดสุราษฏร์ธานี   เป็นชุมชนติดทางรถไฟ ที่นี่เราแบ่งโซนการช่วยเหลือเป็น 2 โซน”โซนที่ 1 บางสวนผัก”  “  โซนที่ 2 รอบเกาะ “ น้ำสูงเกือบ 1 เมตร แต่เนื่องจากอยู่ลึก คนเข้าไปช่วยน้อย เราจึงไปถึงเป็นกลุ่มแรก ๆ  อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงาน เช่นชาวเมียนม่า การช่วยเหลือยังไปไม่ถึงหรือเป็นกลุ่มท้าย ๆ ที่จะได้รับการช่วย เพราะพวกเค้าไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่มีบัตรประชาชน บางทีทางรัฐก็แจกของให้ไม่ได้ เราเป็นองค์กรอิสระ จึงแจกตามหลักมนุษยธรรม  เพราะทุกคนก็เป็นผู้ประสบภัย  รักษ์ไทยจึงไม่ตึงกับระเบียบหลักการมากไป เราได้มอบของที่จำเป็นกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่พักอยู่บนแพลอยน้ำไว้ด้วย

นี่คือภาพรวมการช่วยเหลือในช่วงแรกของการน้ำท่วม ซึ่งการเข้าไปไม่เพียงแต่ไปแจกของ เราทำข้อมูลหลายอย่างเก็บไว้ เช่น สาเหตุ ปัญหา ผลกระทบ และสภาวะจิตใจ เพื่อมาวางแผนรับมือต่อไปด้วย ในช่วงสัปดาห์ที่สองของเหตุการ์ณแม้หลายจุดจะไม่มีฝนตกและน้ำเริ่มลดลงแล้ว แต่ในหลายพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง เช่น อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช คนที่บ้านสองชั้นก็สามารถกลับเข้าไปพักอาศัยได้ แต่คนที่เป็นบ้านชั้นเดียวยังไม่สามารถกลับเข้าพักอาศัย ต้องอาศัยเต็นท์กลาง  นอกจากสิ่งของยังชีพจากหลายหน่วยงานที่บริจาคผ่านมาทางมูลนิธิ ส่งไปถึงทางใต้และเราเดินทางลุยน้ำท่วมเอาเข้าไปให้ชาวบ้านแล้ว  รักษ์ไทยตะหนักเรื่องระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด เพราะสิ่งที่ตามมาคือความเครียด และรายได้ที่หายไป พอน้ำไปผลผลิตการเกษตรก็ตามไปกับน้ำด้วย  ภาวะเครียดจากค่าใช้จ่ายในครอบครัวก็ตามมา   จากการลงพื้นที่พบว่าพื้นที่การเกษตร  นาข้าว เสียหาย มากกว่า 90%  สวนปาล์มน้ำมันก็ได้รับผลกระทบไปหมด  รวมทั้งสวนผลไม้ ที่กำลังจะออกผลผลิต ทำให้หลายครอบครัวกังวลเรื่องหนี้สิน เพระต้องลงทุน ลงแรงกลับมาเริ่มปลูกกันใหม่   เด็กหลายคนยังไม่ได้ไปโรงเรียน หรือไม่มีชุดไปเรียนเพราะข้าวของไปกับน้ำหมดแล้ว นี่คือผลทั้งหมดจากน้ำท่วมหนักอีกครั้ง บทเรียนที่เราต้องต่อสู้รับมือร่วมกัน และช่วยกันวางแผนเพื่อรับมือน้ำท่วมครั้งหน้า และการเยียวยาหลังน้ำลดว่าเราจะช่วยพวกเค้าอย่างไรในวันข้างหน้า  เราควรไหวตัวทันกว่านี้ ทั้งการแจ้งเตือนที่มีทุกภาษา   การตั้งรับ หรืออุปกรณ์ การขนส่งที่พร้อมสรรพจากทางรัฐ  

“ คำว่าธรรมชาติ ไม่อาจจะคาดการ์ณได้ร้อยเปอรเซนต์ แม้เราจะวางแผนไว้ อย่างดี

 เพียงไร แต่เมื่อเหตุการ์ณเฉพาะหน้ามาถึง เราคนไทยก็พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือ  เต็มกำลังเสมอ  เหตุการ์ณนี้เราได้รับแรงใจ แรงเงินจากหลายฝ่าย ทั้งภาคเอกชน คนทั่วไป และจิตอาสาในพื้นที่ มูลนิธิรักษ์ไทย ขอบคุณแทนชาวใต้ที่ทุกคนมีน้ำใจช่วยเหลือกัน เพราะลำพังแค่มูลนิธิคงไม่สามารถทำได้มากเท่านี้ “

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ